xs
xsm
sm
md
lg

ESG Triple Up Plan: แผนขับเคลื่อนความยั่งยืน ปี 2568 / ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เป็นที่รับรู้กันว่า กระแสเรื่องความยั่งยืนที่ส่งทอดสู่ภาคธุรกิจผ่านทางปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) ได้ส่งผลให้บริษัทมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจ ทั้งจากการรับเงื่อนไขและกฎเกณฑ์ด้าน ESG ต่าง ๆ มาดำเนินการโดยสมัครใจ และจากการถูกกำหนดเป็นข้อบังคับให้ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบใหม่ ๆ ด้าน ESG และกฎหมายต่าง ๆ ที่ออกมาใหม่อย่างต่อเนื่อง

ข้อบังคับที่กำหนดให้บริษัทต่าง ๆ ในสหภาพยุโรปมีรายงานที่ต้องเปิดเผยเพิ่มขึ้นตาม EU Sustainable Finance Disclosures Regulation (SFDR) ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2566 และ Corporate Sustainability Reporting Directive (CSRD) ซึ่งได้ประกาศบังคับใช้ในปี 2567 เป็นตัวอย่างชัดเจนในทางปฏิบัติที่เพิ่งเกิดขึ้นและผ่านมาไม่นาน

ล่าสุด Corporate Sustainability Due Diligence Directive (CSDDD) ที่มีผลบังคับใช้เมื่อเดือนกรกฎาคม 2567 เป็นกฎระเบียบสำหรับใช้ในการกำกับดูแลและความรับผิดชอบในการประกอบธุรกิจที่เคารพสิทธิมนุษยชนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปมีเวลา 2 ปี ในการปรับกฎหมายภายในประเทศเพื่อบังคับใช้กับภาคธุรกิจตามขนาดกิจการ โดยกฎระเบียบนี้ จะส่งผลโดยตรงและโดยอ้อมต่อบริษัททั้งภายในและภายนอกสหภาพยุโรป รวมถึงให้อำนาจแก่ประเทศสมาชิกกำหนดบทลงโทษและข้อห้ามการนำเข้าสินค้าและบริการที่ละเมิดสิทธิมนุษชนหรือทำลายสิ่งแวดล้อม

ผู้ประกอบการไทยที่เกี่ยวข้อง ต้องปฏิบัติตามมาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อมที่กำหนด และต้องเตรียมข้อมูลการตรวจสอบสถานะ (Due Diligence) ของห่วงโซ่คุณค่า โดยต้องปรับปรุงกระบวนการผลิตสินค้าและบริการให้สอดคล้องกับมาตรฐานที่อาจเข้มงวดขึ้น

กฎระเบียบนี้ อาจเป็นปัจจัยผลักดันให้ผู้ประกอบการไทย ต้องลงทุนในเทคโนโลยีและกระบวนการผลิตที่เคารพสิทธิมนุษยชนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงการพัฒนาความรู้แก่บุคลากรเพื่อเตรียมความพร้อมในการปฏิบัติตามข้อกำหนดใหม่ และยังต้องมีการประเมินและจัดการความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อมในห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งหากพบว่าการดำเนินธุรกิจส่งผลกระทบเชิงลบต่อสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม ทางบริษัทต้องเตรียมแนวทางการปรับปรุงแก้ไขหรือลดผลกระทบเชิงลบดังกล่าวให้สอดคล้องกับเกณฑ์ที่กำหนดว่าด้วยสิทธิและข้อห้ามที่รวมอยู่ในกลไกด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ตลอดจนข้อห้ามและข้อบังคับที่รวมอยู่ในกลไกด้านสิ่งแวดล้อม

ผู้ประกอบการไทย จำเป็นต้องมีแผนขับเคลื่อนความยั่งยืน ผ่านทางปัจจัยด้าน ESG ที่กิจการมีความเกี่ยวข้องและอยู่ในข่ายที่ต้องปฏิบัติตาม เพื่อรับมือกับกฎระเบียบต่าง ๆ เหล่านี้อย่างเหมาะสม

เนื่องจากแต่ละกิจการจะมีความเกี่ยวโยงกับกฎระเบียบดังกล่าวมากน้อยแตกต่างกันไป เช่น กิจการไทยที่มีรายได้สุทธิเกิดขึ้นในสหภาพยุโรปรวมมากกว่า 16,000 ล้านบาท หรือได้รับค่าสิทธิ์ (Royalties) ที่เกิดขึ้นในสหภาพยุโรป มูลค่าเกิน 800 ล้านบาท และมีรายได้สุทธิเกิดขึ้นในสหภาพยุโรปมากกว่า 3,000 ล้านบาท ในสองปีการเงินติดต่อกัน (หรือเป็นบริษัทแม่ในลำดับสูงสุดของกิจการดังกล่าว) จะเข้าหลักเกณฑ์ตามกฎระเบียบนี้โดยตรง

ผู้ประกอบการไทยซึ่งอยู่ในห่วงโซ่คุณค่าของกิจการไทยที่เข้าเกณฑ์ หรือกิจการในประเทศอื่นที่อยู่ในข่าย อาจถูกร้องขอให้มีการจัดทำรายงานการตรวจสอบสถานะในฐานะคู่ค้า เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อมที่กำหนดโดยกิจการเหล่านั้น

โดยความเข้มข้นของการตรวจสอบสถานะขึ้นกับลำดับว่าเป็นคู่ค้าทางตรง/คู่ค้าลำดับแรก (Tier 1 Suppliers) หรือเป็นคู่ค้าทางอ้อม/คู่ค้าที่ผลิตหรือให้บริการแก่คู่ค้าลำดับแรกอีกทอดหนึ่ง (Non-Tier 1 Suppliers) หรือขึ้นกับความสำคัญว่าเป็นคู่ค้าที่มีมูลค่ายอดซื้อสูง หรือเป็นคู่ค้าที่มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ซึ่งมีผลกระทบสูงต่อความได้เปรียบในการแข่งขัน หรือเป็นคู่ค้าที่มีน้อยรายและไม่สามารถหาทดแทนได้ เป็นต้น

แผนขับเคลื่อนเรื่องความยั่งยืน ในระยะแรก จะเป็นการ Catch Up หรือตามกฎระเบียบให้ทัน เพื่อที่บริษัทจะได้รักษาสถานะการเป็นคู่ค้าตามลำดับในห่วงโซ่คุณค่าของกิจการที่ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบด้าน ESG ดังกล่าว ในระยะต่อมา จะเป็นการ Step Up หรือดันมูลค่าการซื้อขายให้เติบโต เพื่อที่บริษัทจะได้เลื่อนระดับขึ้นเป็นคู่ค้าสำคัญในห่วงโซ่คุณค่าของกิจการที่ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบด้าน ESG ดังกล่าว และในระยะที่สาม จะเป็นการ Value Up หรือแสดงให้เห็นคุณค่าของบริษัทต่อผู้มีส่วนได้เสียอื่น เพื่อที่บริษัทจะสามารถแสวงหาโอกาสตลาดจากห่วงโซ่คุณค่าของกิจการอื่นที่ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบด้าน ESG ดังกล่าวเพิ่มเติม

แผนขับเคลื่อนเรื่องความยั่งยืนผ่านทางปัจจัยด้าน ESG ทั้งสามระยะ รวมเรียกว่า ESG Triple Up Plan ถูกออกแบบให้เป็นแผนงานด้าน ESG สำหรับผู้ประกอบการซึ่งมุ่งประสงค์ที่จะลดความเสี่ยง (Risks) ทางธุรกิจจากการถูกลบชื่อออกจากรายชื่อผู้ค้า (Vendor List) ของกิจการที่ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบด้าน ESG รวมทั้งเพิ่มโอกาส (Opportunities) ทางการตลาดจากการได้บรรจุเป็นผู้ค้าใหม่ในห่วงโซ่คุณค่าของกิจการอื่นที่ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบด้าน ESG อีกต่อหนึ่ง

การปฏิบัติตามแผน ESG Triple Up Plan ข้างต้น โดยเนื้องานของการดำเนินการ ยังช่วยสร้างให้เกิดผลกระทบ (Impacts) ทางบวก จากการประกอบธุรกิจที่เคารพสิทธิมนุษยชนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนด้วย

หวังว่า ในปี 2568 ผู้ประกอบการไทย จะได้ใช้ประโยชน์จากแผนขับเคลื่อนความยั่งยืน ESG Triple Up Plan ที่ได้นำเสนอมานี้ ไม่มากก็น้อย สวัสดีปีใหม่ครับ!

บทความโดย ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ประธานสถาบันไทยพัฒน์


กำลังโหลดความคิดเห็น