“คนชอบถามเชอรี่ว่า ทำไมถึงหันมาสนใจปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อม และอะไรทำให้เปลี่ยน”
“เข็มอัปสร สิริสุขะ” (เชอรี่) นักแสดงสาวมากความสามารถ ที่หันมาสวมหมวกนักสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง ราว 10 ปีก่อนหน้า พยายามอธิบายให้คนรอบข้างเข้าใจ และขยันตอบคำถามซ้ำๆ อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย
เธอรู้ดีว่า ยิ่งขยายการรับรู้ประเด็นสิ่งแวดล้อม 1 ใน 3 ขา “ESG” (Environment สิ่งแวดล้อม, Social สังคม และ Governance ธรรมาภิบาล) ออกไปมากเท่าใด ผู้คนก็จะตื่นตัว และเริ่มตระหนักถึงผลกระทบจากการละเลยสิ่งแวดล้อม มากขึ้นเท่านั้น
หลายปีก่อนหน้า เธอก็ใช้ชีวิตสังคมเมืองแบบคนทั่วไป เห็นข่าวไฟป่า น้ำท่วม ภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ก็ให้ความสนใจในฐานะของนักอ่าน นักดู แต่ไม่ได้สนใจใคร่รู้จริงๆ จังๆ
“ถามว่าสนใจไหม ก็สนใจนะ แต่สนใจแบบเป็นข่าวหน้าหนังสือพิมพ์ แต่ไม่ได้เอามาเปลี่ยนในการใช้ชีวิตประจำวันของเรา เพราะ 1. เป็นเรื่องไกลตัว 2. เป็นเรื่องที่ยาก และ 3.เป็นภาระติดตามมา”
เวลาผ่านไป ความคิดของเธอ ค่อยๆ เปลี่ยนทีละนิด เมื่อเล็งเห็นปัญหาสิ่งแวดล้อม ถูกตีแผ่ผ่านสื่อมากขึ้น จากสิ่งที่น่ารู้ (nice to know) กลายเป็น สิ่งที่จำเป็นต้องรู้ (need to know)
“พอรับรู้ปัญหา รู้ว่าตัวเราส่งผลกับโลกใบนี้มาก ก็มีผลทำให้เปลี่ยนการใช้ชีวิตประจำวันของเราไปเลย เราค่อยๆ เปลี่ยน ไม่ได้ถูกบังคับ หรือไม่ได้ถูกตัดสินจากใคร ว่าเราจะต้อง green นะ เพราะจะทำให้เราดูดีขึ้น ดูเป็นคนดีขึ้น ดูรับผิดชอบมากขึ้น มันไม่มีการตัดสินใดๆ เกิดขึ้น แต่ลงมือทำเพราะรู้สึกว่า นี่คือสิ่งที่เราสนใจ และเป็นสิ่งที่เราอยากทำ” เชอรี่อธิบาย
เธอเริ่มต้น เดินไปตามแนวทาง ESG จากประเด็นสิ่งแวดล้อม ในฐานะนักเคลื่อนไหวไม่มีนอกไม่มีใน (non profit) ทุกอย่างไหลลื่น ลองผิดลองถูกไปตามธรรมชาติ อย่างที่มันควรจะเป็น
แต่ถึงแม้ว่าเธอจะมีต้นทุนเป็นคนดัง บังเอิญหน้าตาดี แต่การเดินเข้าหาชุมชนด้วยหัวใจอยาก save the world ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เพราะมันมีคำถามอยู่ในหัวชาวบ้านเต็มไปหมดว่า ดารามาทำอะไรที่นี่?
“จะไหวเร้ออ...” “หยิบโหย่งรึป่าว” “สร้างภาพไหมเนี่ยย” อื่นๆ อีกมากมาย
“ตอนเข้าไปแรกๆ มันก็มีความสงสัยในสายตาคนอยู่แล้ว ด้วยความที่เราเป็นนักแสดง คนก็จะเอ๊ะ! ในตัวเรา เรามีความสามารถแค่ไหน ที่จะมาทำงานสิ่งแวดล้อม เรามีความจริงใจแค่ไหน หรือเรามีความจริงจังต่อเนื่องแค่ไหน มันเป็นสิ่งที่ชุมชนเขาคิดได้ รู้สึกได้อยู่แล้ว แต่เป็นหน้าที่ของเรา ในการพิสูจน์ความจริงใจ และความจริงจังของเราในการลงมือทำ”
การฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม ไม่สามารถทำได้ ถ้าไม่ทำงานร่วมกับชุมชน เชอรี่บอกว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือ การทำให้คนรู้สึกว่า เขาเป็นมนุษย์ที่สมควรได้รับเกียรติ เธอรับฟังชาวบ้านแบบฟังจริงๆ ว่าความต้องการคืออะไร ไม่ว่าทำธุรกิจหรือทำงานกับชุมชน ต้องประเมินให้ได้ว่า ความต้องการนั้นสอดคล้องกับเป้าประสงค์ไหม สามารถปรับความต้องการให้ตรงกัน ในรูปแบบไหนได้บ้าง พอปรับได้แล้ว โครงการถึงจะไปต่อได้ และ trust เป็นสิ่งสำคัญมากที่สุด
๐ จาก non profit สู่ social enterprise
ในช่วงแรกที่เชอรี่ทำโครงการแบบไม่หวังผลกำไร ก่อนยกระดับมาเป็นบริษัทเพื่อสังคม เธอเข้าไปดูแลโครงการปลูกป่า 2 หมื่นต้น ระยะเวลา 3 ปี ควบคู่ไปกับสร้างอาชีพให้ชุมชน จากการวางระบบน้ำ วางระบบฝาย ถือเป็นการปักหมุดเส้นทาง ESG ครั้งแรก ที่ต้องพิสูจน์ความตั้งใจจริง
“เชอรี่หาสตางค์ หาองค์ความรู้ เป็นหัวหน้าโครงการการสร้างฝาย ใช้อาสาสมัครมาลงชื่อทำ 45 วันให้แล้วเสร็จ แต่เอาเข้าจริงๆ ใช้เวลาเพียง 20 วัน เพราะชุมชนแห่กันมาลงชื่อ มาช่วยกันทำ พอฝายตัวแรกเสร็จ ตัวต่อๆ ไปก็ตามมา บอกได้เลยว่า energy ของคนจะเปลี่ยนไป เวลาที่เราเข้าไปในชุมชน จากเดิมที่สงสัยว่า เรามาแค่ชั่วคราวหรือเปล่า พอเราทำจริงแล้ว เขาเห็น เขาก็เอาด้วยกับเรา พอเราได้ใจเขาแล้ว อะไรก็จะง่ายขึ้นเยอะมาก”
เมื่อกองทัพเดินด้วยท้อง การใส่ใจสิ่งแวดล้อมของชุมชน ก็ต้องคำนึงถึงปากท้องเป็นฐานแรก จะได้ win win game ไปด้วยกัน ว่าชาวบ้านจะได้ประโยชน์อะไร จากการมาร่วมด้วยช่วยกันอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เป็นหนึ่งในเหตุผลหลัก ที่เธอต้องผันตัวเองจาก non profit มาอยู่ในรูปของบริษัทเพื่อสังคม โดยการรับซื้อข้าวออร์แกนิก ในราคาตลาด และนำมาสร้างคุณค่าต่อเนื่อง ตลอดสายพาน green marketing
ปัจจุบัน เชอรี่ดำรงตำแหน่งซีอีโอ บริษัท สิริอัปสร จำกัด ดูแลแบรนด์ “สิริไทย” (Sirithai) จำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากข้าวออร์แกนิก เช่น ไอศกรีมข้าว, ชาข้าวคั่ว, ครีมอาบน้ำจากน้ำมันรำข้าว, เทียนหอมจากสารสกัดข้าว
“ทุกอย่างเน้นเรื่องของ well being เรื่องของการไม่มีเคมี เน้นเรื่องตอบโจทย์อย่างไร ในการสนับสนุนเกษตรกร สร้างความร่วมมือกับหลากหลายแบรนด์”
รวมถึงนั่งบริหารงานอีก 2 บริษัท ได้แก่ “Little Big Green” เป็นคอมมูนิตี้แหล่งข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการใช้ชีวิตให้กรีนในหลากหลายรูปแบบ นำเสนอข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ภายใต้คอนเซปต์ "AS GREEN AS YOU CAN" (เขียวได้เท่าที่ใจไหว) และ 3. บริษัท Mission Earth จำกัด ธุรกิจบริการให้คำปรึกษาหลักสูตรฝึกอบรมด้าน ESG โดยลงทุนร่วมกับหุ้นส่วน
การเปลี่ยนบทบาทจากนักเคลื่อนไหวกิจกรรม มาเป็นผู้ประกอบการ micro SMEs เชอรี่มองว่า เป็นจุดพลิกที่ทำให้เข้าสู่โหมด sustainability โดยตรง เพราะถ้าเราอยากให้ความยั่งยืนเกิดขึ้น มันไม่ใช่แค่เรื่องของสิ่งแวดล้อมและสังคม แต่การเงินเป็นสิ่งที่สำคัญด้วยเหมือนกัน ทำอย่างไรให้ ESG ไปด้วยกันได้กับธุรกิจ จึงต้องหาโจทย์ที่เป็นจุดร่วม ทำให้ทั้งความยั่งยืน เกษตรกร และธุรกิจไปต่อได้
๐ ESG จะยั่งยืนได้ ถ้ายืนอยู่บน 3 ขา
สุดคนึง ขัมภรัตน์ นายกสมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย (PMAT) วิเคราะห์มุมมองที่น่าสนใจว่า โมเดลการทำธุรกิจเพื่อสังคมของ บริษัท สิริอัปสร จำกัด ภายใต้การนำของเชอรี่ เป็นหนึ่งในแบบอย่างของผู้นำตัวเล็กๆ ที่มี passion อยากทำเรื่องสิ่งแวดล้อม ขณะที่การทำ sustainability หรือ ESG ต้องประกอบกันหลายส่วนทั้ง growth, profit และ sustain เป็นความสมดุล 3 ขา เพื่อให้ไปกันได้ตลอดรอดฝั่ง
“ถ้าคิดถึงแต่เรื่องความยั่งยืน หรือการเติบโตอย่างเดียว โดยที่เราไม่มีกำไร ก็คงไม่มีใครมาร่วมระดมทุนกับเรา ถือเป็นอีกแง่มุมที่น่าสนใจของวิชาชีพ HR ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับคน เพราะจริงๆ แล้ว HR ไม่ได้ทำงาน HR เพื่อ HR แต่เราทำเรื่อง business people และ organization นี่คือโจทย์ของธุรกิจ การทำทุกอย่างจึงต้องมีกลยุทธ์ ต้องมีเป้าหมาย”
สถาบัน AIHR (Academy to Innovate HR) กำหนดความสำคัญของ ESG ในมิติ HR ไว้ 3 ด้านคือ
1. environmental ระบบ HR ที่ดี ต้องมีนโยบายที่ชัด มีแนวปฏิบัติ ที่สอดคล้องกับการดำเนินธุรกิจ ว่าเราต้องไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม HR จะเกี่ยวข้องกับคน โดยจะสนับสนุนคนอย่างไร ให้ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม หรือใช้ทรัพยากรสิ้นเปลืองเกินไป เช่น การใช้ไฟ ใช้น้ำ ใช้กระดาษ สิ้นเปลืองมากน้อยแค่ไหน บางคนไม่คิดว่าบริษัทเป็นบ้าน ถ้าเป็นบ้านเรา เราจะใช้อย่างไรให้คุ้มค่าและประหยัด เป็น mindset ตัวแรกที่ HR ต้องสะท้อนให้คนในองค์กรเห็น ว่าถ้าเราทำเรื่องที่ดี มันจะดีกับตัวเรา กับองค์กร กับประเทศ และโลกใบนี้
2. social ที่เน้นแต่ข้างนอก ทำ CSR ไปปลูกป่า แต่หันกลับมาดูคนในองค์กร เป็นโรคซึมเศร้า พูดจากันไม่ดีในองค์กร หัวหน้าไม่เข้าใจลูกน้อง อันนี้เป็นสาเหตุหลัก ทุกวันนี้โลกเปลี่ยนไปแล้ว เทคโนโลยีทำให้คนใจร้อน ผู้นำหลายคนไม่ได้ตั้งใจทำไม่ดีกับลูกน้อง เพียงแต่ไม่มีชุดความคิด ไม่มีทักษะ เพราะฉะนั้น ทำอย่างไรให้คนในสังคมองค์กร มี well being เพราะคนในองค์กรสำคัญไม่แพ้คนภายนอก
3. governance คือแนวปฏิบัติ การดูแลพนักงานทุกระดับ จนถึงบอร์ดผู้บริหาร อย่างเป็นธรรม ทั้งการจ่ายค่าตอบแทน การบริหารธุรกิจอย่างเป็นธรรม และโปร่งใส
๐ คนที่เป็น HR ดีที่สุดคือ เจ้าของธุรกิจ
นายกสมาคม PMAT กล่าวว่า ธุรกิจขนาดเล็ก อย่าง micro SMEs ไม่จำเป็นต้องมี HR เพราะคนที่เป็น HR ที่ดีที่สุดคือเจ้าของธุรกิจ อยู่บนความเชื่อ บนค่านิยมที่เจ้าของกิจการยึดถืออยู่แล้ว ไม่ต้องไปหา HR มืออาชีพ โดยที่เจ้าของบริษัท อย่างกรณีของเชอรี่ สามารถดูแลคนได้ง่ายๆ ผ่านโมเดล The Role of HR in Sustainable Business Practices คือ
1. Recruitment & Selection เข้าใจองค์กรว่าชอบคนแบบไหน ถึงจะประชุมด้วยกันสนุก คุยกันถูกคอ จะหาใครเข้ามาบริษัท ต้องมี DNA value ต้องมีชุดความเชื่อที่คล้ายกัน เรียกว่า core value องค์กร การสัมภาษณ์เพื่อคัดเลือกคน ต้องตั้งคำถามเชิงพฤติกรรม เพื่อดักจับความเชื่อของคนว่า เป็นความเชื่อชุดเดียวกันกับองค์กร ต้องถามให้ตรงประเด็น บางแห่งไม่มีตัวเลือกคนเก่ง เพราะไม่เคยทำ employer branding ถ้าบริษัทมีการทำ employer branding มีการทำ purpose ก็ต้องสื่อสารออกไป ว่าเรามีชุดความเชื่ออะไร
2. Training & Development เวลามีคนมาอยู่กับองค์กร ต้องพัฒนาให้เก่งขึ้น ดีขึ้น ทั้งวิธีคิด ทักษะ
ชุด mindset ให้พนักงานเข้าใจ ESG ผ่านแพลทฟอร์มออนไลน์ต่างๆ ที่มีให้ใช้ฟรี
3. Performance Management การจ่ายค่าตอบแทนที่สัมพันธ์กัน ระหว่าง KPI กับ core value ฝังระบบ ESG เข้าไปมีส่วนร่วมในระบบประเมินผล
4. Compensation & Benefits สร้างผลตอบแทนที่ไปเชื่อมโยงกับ ESG เช่น ให้สวัสดิการรถไฟฟ้า หรือให้รถ EV เป็นรถประจำตำแหน่ง ได้ฝังลงในแนวปฏิบัติ HR แล้วหรือยัง เป็นสวัสดิการที่สามารถปรับทิศทางองค์กรไปสู่ที่คาดหวัง ใช้ ESG เป็นเนื้อเป็นตัว ไม่ใช่เน้นใช้การเขียนรายงาน แต่อยากให้อยู่ในสายเลือด และวิธีการปฏิบัติงาน
๐ สร้างคนให้มี ESG ในแบบ “สิริอัปสร”
เชอรี่บอกว่า การเป็นบริษัท micro SMEs เวลาเลือกคนมาทำงาน จะต้องเลือกคนที่มองทิศทางเหมือนๆ กัน ถ้าคนอยากเติบโตในบริษัทใหญ่ๆ กำไรมหาศาล ก็ต้องไปป้ายหน้าแล้ว สิ่งสำคัญคือ ต้องหาคนที่คิดเหมือนเรา ต้องการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม และมองว่ามันจำเป็นต้องทำให้มัน profitable เพื่อที่ว่าบริษัทจะไปต่อได้ คนเราพอมีความสนใจแบบเดียวกัน จะสนุกกับการทำงาน
ข้อดีของบริษัทขนาดเล็กคือ มีความเป็น DEI สูง (Diversity ความหลากหลาย, Equity ความเป็นธรรม ความเท่าเทียม และ Inclusive ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง) ไม่มีแนวทางปฏิบัติชัดๆ แบบ HR แต่เน้นการพูดคุยสื่อสาร ทำให้คนทำงานรู้สึกว่า เจ้าของธุรกิจเป็นที่ปลอดภัย สามารถพูดคุยได้ตรงไปตรงมา ไม่ใช่เป็นเจ้านาย แล้วผูกขาดความคิดไปหมด การเน้นรับฟังกัน ทำให้การประชุมสนุก ไอเดียลื่นไหล
ไม่ว่าเป็นองค์กรเล็กหรือใหญ่ คนสำคัญมากๆ ไม่เฉพาะแค่องค์กร แต่ขับเคลื่อนประเทศ ขณะที่ประเด็น ESG เป็นทางสายใหม่ของการปรับเปลี่ยน เพื่อเบนเข็มไปในเส้นทางที่ยังไม่เคยมีใครไป เป็นเส้นทางที่ทั้งคนและองค์กรต้องไป เพื่อแก้ปัญหาโลกเดือด ยังเป็นเรื่องใหม่สำหรับทุกคน HR จึงมีบทบาทมากในการให้ความรู้ ให้ข้อมูลคนทำงาน
เหตุผลสำคัญที่ทำให้เชอรี่เปลี่ยนตัวเอง หันมาสนใจปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ มาจากการศึกษาหาความรู้ ยิ่งลงลึก ก็อยากจะลงมือทำ พอยิ่งรู้ ยิ่งอยากทำให้มากขึ้น พอยิ่งทำ ก็ยิ่งอยากรู้มากขึ้น ก็ไปหาความรู้ต่อเนื่อง เพราะฉะนั้น ความรู้คือสิ่งสำคัญที่ทำให้คนเปลี่ยนได้ และ HR มีหน้าที่ทำให้คนเต็มใจที่จะทำ เพราะถ้าถูกบังคับให้ทำ ก็จะเกิดแรงเสียดทาน
“ESG ไม่ใช่เรื่องของแผนกใดแผนกหนึ่ง แต่เป็นเรื่องของความยั่งยืน บางองค์กรขนาดใหญ่ตั้งแผนก sustainability ขึ้นมา ซึ่งไม่สอดคล้องกับการทำงานแผนกอื่นในบริษัทเลย ทำให้ความยั่งยืนเกิดยาก ต้องมองว่าความยั่งยืนเป็นเป้าหมายหลักของบริษัท และทุกแผนกต้อง align ความคิดแบบนี้ เพื่อการเติบโตขององค์กรในอนาคต ไปอย่างยั่งยืนทั้งหมดด้วยกัน โดยมี HR เป็นคนประสานทุกแผนกให้ทำงานร่วมกัน”
ความยั่งยืนเกิดขึ้นได้ทุกวัน ถ้าเพียงแต่ลงมือทำ ตราบเท่าที่การเดินทางไกล เริ่มต้นที่ก้าวแรก ทางของ ESG ถึงแม้ยาวไกล แต่ก็ใช่ว่าจะไปไม่ถึง
เรียบเรียงจากงานสัมมนา Thailand HR Day 2024 หัวข้อ “Integrating ESG into HR Practices: A Strategic Approach” จัดโดย สมาคม PMAT วันที่ 27 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา ณ โรงแรม Centara Grand at Central Plaza Ladprao Bangkok