วันนี้ที่รอคอย ใกล้มาถึง ก.พาณิชย์ ประกาศห้ามนำเข้าเศษพลาสติกในทุกพื้นที่ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 เป็นต้นไป 4 องค์กรภาคประชาสังคม ออกแถลงการณ์ชื่นชมทางการเอาจริง แต่ยังต้องติดตามผลการบังคับใช้กฎหมาย
เมื่อวันที่ 16 ธันวาคมที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ได้ออกประกาศฉบับที่ 2 กำหนดให้เศษพลาสติกภายใต้พิกัดศุลกากรประเภท 39.15 เป็นสินค้าที่ต้องห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักร โดยผู้ประกอบการจะไม่สามารถนำเข้าเศษพลาสติกมาในประเทศไทยนับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2568 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ ประกาศกระทรวงพาณิชย์ฉบับแรก กำหนดให้ต้องขออนุญาตนำเข้าเศษพลาสติก เฉพาะกรณีที่ไม่มีเศษพลาสติกในประเทศ หรือมีในปริมาณไม่เพียงพอ โดยผู้ประกอบการต้องขอใบอนุญาตนำเข้า และต้องนำเข้าให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2567
ถือว่าเป็นข่าวดีต้อนรับปีใหม่ เพราะการออกประกาศครั้งนี้มีความชัดเจน และมีผลทางกฎหมายแน่นอน รวมถึงอาจจะทำให้การรีไซเคิลขยะพลาสติกในประเทศเพิ่มมากขึ้น ตราบใดที่ประเทศไทยเองยังไม่มีกฎหมายควบคุมการใช้พลาสติก การจัดการขยะ แยกขยะอย่างถูกต้อง
อารดา เฟื่องทอง อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ หน่วยงานผู้ออกกฎหมายดังกล่าว เผยว่าช่วงที่ผ่านมาประเทศไทยประสบปัญหาการลักลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ปะปนมากับขยะพลาสติก ประกอบกับปริมาณขยะพลาสติกในประเทศเพิ่มขึ้นจำนวนมาก ครม.จึงมีมติเห็นชอบนโยบายกำกับการนำเข้าเศษพลาสติก ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2566 โดยมาตรการควบคุมการนำเข้าเศษพลาสติกทั้ง 2 ฉบับ จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการรีไซเคิลเศษพลาสติกในประเทศเพิ่มขึ้น ตลอดจนช่วยลดมลพิษที่จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขอนามัยของประชาชน
4 องค์กรภาคประชาสังคม ออกแถลงการณ์ชื่นชม
หลังออกกฎหมายห้ามนำเข้าเศษพลาสติก 4 องค์กรภาคประชาสังคมประกอบด้วย มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) มูลนิธิความยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อม (EJF) กรีนพีซ ประเทศไทย (Greenpeace Thailand) และแทรชฮีโร่ (Trash Hero)ได้ออกแถลงการณ์ชื่นชมมาตรการดังกล่าว และมีความเห็นว่า การห้ามนำเข้าขยะพลาสติกเป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องดำเนินการอย่างจริงจัง เพื่อป้องกันไม่ให้ประเทศไทยกลายเป็นแหล่งรองรับขยะพลาสติกจากต่างชาติ และป้องกันผลกระทบจากมลพิษพลาสติกภายในประเทศไม่ให้รุนแรงยิ่งขึ้น โดยจะช่วยตัดวงจรอุปทานของโรงงานจัดการขยะและรีไซเคิลพลาสติกนำเข้าอันตราย นอกจากนี้ นโยบายดังกล่าวยังเป็นการปกป้องระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนภายในประเทศ รวมไปถึงรายได้และวิถีชีวิตของกลุ่มซาเล้งและคนเก็บขยะ
ภาคประชาสังคมมองว่า หลังจากที่กฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ในปีหน้าแล้ว ทางรัฐบาลไทยจะต้องดำเนินการให้มีการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวอย่างเคร่งครัดจริงจัง
“การห้ามนำเข้าขยะพลาสติกของประเทศควรเกิดขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2564 แต่คณะอนุกรรมการฯ ได้ผ่อนผันให้กับบริษัทผู้นำเข้าและผู้ประกอบการรีไซเคิลได้มีเวลาปรับตัวเป็นเวลาสามปี ซึ่งก็ครบกำหนดแล้ว แม้การออกกฎหมายจะล่าช้าไปบ้าง แต่การประกาศใช้กฎหมายนี้ถือเป็นสิ่งที่ดีมาก และประเทศไทยถือเป็นผู้นำภูมิภาคอาเซียนที่มีกฎหมายห้ามนำเข้าขยะพลาสติก ดังนั้น ภาคประชาสังคมจะต้องติดตามเรื่องนี้อย่างต่อเนื่องต่อไป ว่าผลการบังคับใช้กฎหมายนี้จะเป็นอย่างไรต่อไป และจะยังมีการลักลอบนำเข้าเหมือนขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่กฎหมายห้ามนำเข้าแล้ว แต่ก็ยังมีการลักลอบนำเข้าอีกจำนวนมากหรือไม่” เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) กล่าว
“เมื่อมีกฎหมายแล้ว หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมศุลกากร กรมโรงงานอุตสาหกรรม และกรมควบคุมมลพิษ ที่เป็นหน่วยงานหลักจะต้องร่วมมือกันในการป้องกันไม่ให้มีการนำเข้าขยะพลาสติกภายใต้พิกัดศุลกากร 39.15 จะต้องพัฒนาระบบและแนวทางการทำงานเพื่อการติดตามและตรวจจับการนำเข้าขยะผิดกฎหมาย รวมไปถึงการส่งคืนแก่ประเทศต้นทาง นอกจากนี้ กฎหมายปัจจุบันไม่ได้มีการควบคุมการส่งผ่าน นั่นหมายความว่า ประเทศไทยอาจยังถูกใช้เป็นทางผ่านในการส่งขยะพลาสติกไปประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน นี่เป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องป้องกันไม่ให้เกิด” ปุณญธร จึงสมาน นักวิจัยโครงการพลาสติก มูลนิธิความยุติธรรมเชิงสิ่งแวดล้อม (EJF) กล่าว
พิชามญชุ์ รักรอด หัวหน้าโครงการรณรงค์ยุติมลพิษพลาสติก กรีนพีซ ประเทศไทย กล่าวเสริมว่า “กฎหมายฉบับปัจจุบันเป็นการห้ามนำเข้าสินค้าภายใต้พิกัดศุลกากร 39.15 เพียงพิกัดเดียว แต่ที่ผ่านมา พบว่ามีการนำเข้าขยะพลาสติกโดยสำแดงภายใต้พิกัดศุลกากรอื่น เช่น สำแดงว่าเป็นกระดาษ รัฐบาลไทยควรประเมินและตรวจหาพิกัดศุลกากรที่มีความเสี่ยงในประเด็นนี้ เพื่อพิจารณาขยายขอบเขตของการห้ามนำเข้าหากเหมาะสม ในการทำงานเหล่านี้ ภาครัฐควรเปิดให้ภาคประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วมและมีการสื่อสารการดำเนินงานต่อสาธารณชนอย่างโปร่งใส”
การห้ามนำเข้าขยะพลาสติกในปี พ.ศ. 2568 จะทำให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในผู้นำของภูมิภาคอาเซียนในการแก้ไขปัญหาอาณานิคมขยะ ไทยควรใช้โอกาสและบทบาทนี้ในการผลักดันการควบคุมและยับยั้งปัญหาการค้าขายขยะข้ามพรมแดนในระดับภูมิภาคและในระดับโลก โดยสามารถส่งมอบประสบการณ์และองค์ความรู้ให้กับประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมไปถึงพัฒนาแนวทางในการควบคุมการนำเข้าขยะมาในภูมิภาคอาเซียน และการควบคุมการค้าขายและเคลื่อนย้ายข้ามพรมแดนภายในภูมิภาคเองด้วย