สถานการณ์การจ้างงานคนพิการในประเทศไทย โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ข้อมูลเดือนสิงหาคม 2567 พบว่า ในจำนวนคนพิการทั้งหมด 2.2 ล้านคน มีคนพิการอยู่ในวัยแรงงาน 850,396 คน ในจำนวนนี้มีคนพิการที่ประกอบอาชีพ 186,136 คน และมีคนพิการที่ไม่ได้ประกอบอาชีพ 419,069 คน ส่วนคนพิการมากไม่สามารถประกอบอาชีพได้มีอยู่ 206,481 คน ที่เหลือ 38,710 คน ไม่ประสงค์ให้ข้อมูลด้านอาชีพ
เมื่อเจาะลึกโอกาสการมีงานทำของคนพิการ ข้อมูลเดือนตุลาคม 2566 พบว่า การจ้างงานคนพิการในหน่วยงานรัฐ มีจำนวนต้องจ้าง 18,798 คน แบ่งเป็น จ้างแล้ว 3,471 คน และต้องจ้างเพิ่ม 15,327 คน ส่วนการจ้างงานคนพิการในสถานประกอบการ มีจำนวนต้องจ้าง 68,147 คน แบ่งเป็น จ้างแล้ว 66,669 คน (มาตรา 33 จำนวน 38,590 คน มาตรา 34 จำนวน 15,714 คน และมาตรา 35 จำนวน 12,365 คน) และต้องจ้างเพิ่ม 1,439 คน
จากข้อมูลดังกล่าว จึงเห็นได้ว่า แม้นโยบายหรือกฎหมายที่มีอยู่คือ พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2556 จะสนับสนุนให้เกิดการจ้างงานคนพิการและทำให้คนพิการมีโอกาสได้งานทำ แต่ยังมีคนพิการจำนวนมากที่ไม่มีงานทำ และควรจะมีโอกาสได้งานทำมากกว่านี้
๐ ปลดล็อค-เร่งเครื่องนวัตกรรมการจ้างงาน
เริ่มด้วยเชิงสังคม - ขยายสู่กระแสหลัก
มูลนิธินวัตกรรมทางสังคม หรือ Social Innovation Foundation (SIF) ดำเนินโครงการส่งเสริมโอกาสการมีงานทำของคนพิการ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิต จากจุดเริ่มต้นกว่า 10 ปีที่ผ่านมา ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นแล้วจากการจ้างงานเชิงสังคมคือความสำเร็จกว่า 50,000 โอกาสงาน และรายได้กว่า 5,500 ล้านบาท ถึงมือคนพิการโดยตรง
เส้นทางการดำเนินการส่งเสริมโอกาสการมีงานทำของคนพิการ เริ่มจากในปีพ.ศ.2557 เกิดการทดลองโมเดลการจ้างงานเชิงสังคม และในปี 2558 มีการจ้างงานคนพิการเชิงสังคม 220 อัตรา จากนั้น เพิ่มเป็น 1,200 อัตรา ในปี 2559 และในปี 2560 เกิดจุดเปลี่ยนอย่างก้าวกระโดด เมื่อมีแรงผลักดันจากนโยบายสานพลัง “ประชารัฐเพื่อสังคม” ที่ตั้งเป้าจ้างงานคนพิการ 10,000 อัตรา โครงการ SIF เกิดการจ้างงานถึง 4,000 อัตรา และการแก้ไขข้อติดขัดที่เปรียบเหมือนการปลดล็อคคือการแก้ไขให้คนพิการที่ได้รับการจ้างงานจากบริษัทที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ แต่ทำงานอยู่ในท้องถิ่นสามารถใช้สิทธิประกันสังคมตามมาตรา 33 ได้ ทำให้คนพิการทำงานได้อย่างสบายใจ รวมทั้ง การเข้าถึงบริษัทใหญ่ๆ
“เราอยากทำเรื่องการจ้างงานกระแสหลักตั้งแต่แรก แต่ทำไม่ได้และเราไม่ปล่อยทิ้ง จึงเกิดการจ้างงานเชิงสังคม เราพลิกหาโอกาส ช่วง 3 ปีแรกยากมากเพราะไม่มีคนเชื่อ แต่ประชารัฐฯ E 6 หรือ Econonic 6 คือการมีงานทำของคนพิการ นี่คือจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ เพราะทุกส่วนทั้งตลาดหลักทรัพย์ฯ และบริษัทใหญ่ๆ เช่น ปตท. เอไอเอส เอสซีจี ฯลฯ รวมทั้ง ธนาคารทั้งหมดในไทย เข้ามาช่วย เปลี่ยนจากการส่งเงินตามมาตรา 34 มาเป็นการทำมาตรา 35 เราก็เร่งเครื่องทันที นโยบายประชารัฐเป็นเหมือนการกดปุ่ม ทำให้เข้าถึงซีอีโอของบริษัทต่างๆ จากที่ก่อนหน้านี้เข้าไม่ถึง” จินรัตน์ เทียมอริยะ ที่ปรึกษามูลนิธินวัตกรรมทางสังคม กล่าว
นวัตกรรมการจ้างงานเชิงสังคมเกิดผลเชิงบวก เพิ่มโอกาสให้คนพิการมีงานทำและเกิดการจ้างงานอย่างแท้จริง เห็นได้ชัดจากสถิติการจ้างงานคนพิการในสถานประกอบการเกิดการเปลี่ยนแปลงชัดเจน โดยการส่งเงินเข้ากองทุนตามมาตรา 34 ตั้งแต่ปี 2556 – 2560 ลดลงต่อเนื่องคือ 27,069 คน 24,690 คน 23,083 คน 21,411 คน และ16,529 คน หรือลดเหลือ 20% จากเดิม 40% ขณะที่การจ้างงานตามมาตรา 35 ตั้งแต่ปี 2556 – 2560 เพิ่มขึ้นต่อเนื่องคือ 3,430 คน 5,415 คน 6,561 คน 7,657 คน และ 11,518 คน ตามลำดับ หรือจาก 9% เพิ่มเป็น 20%
ต่อมาในปี 2561 มีบริษัทที่เข้าร่วมจ้างงานคนพิการเชิงสังคม 397 แห่ง และเกิดฐานข้อมูลคนพิการจ้างงานกระแสหลัก 288 คน ที่ทำงานร่วมกับศูนย์บริการนักศึกษาพิการ หรือ Disability Support Service Center : DSS ในมหาวิทยาลัย 16 แห่งจากโครงการส่งเสริมการทำงานระหว่างเรียนของนักศึกษาพิการ หรือ Work and Study จากนั้นในปี 2562 เกิดการสำรวจสุขภาวะคนพิการที่ได้รับการจ้างงาน 1,691 คน พบว่า คนพิการดูแลสุขภาพตนเองได้ดีขึ้น 87.85% จากนั้น จึงมีการนำร่องนักสร้างเสริมสุขภาวะ เพื่อช่วยขยายการสร้างเสริมสุขภาพไปสู่ประชาชน
๐ ก้าวอย่างเป็นระบบ
เตรียมพร้อมเพื่อยั่งยืน
หลังจากดำเนินการมา 5 ปี โอกาสการมีงานทำของคนพิการเกิดความก้าวหน้าและเห็นผลสำเร็จดังกล่าว ดังนั้น เพื่อยกระดับการขับเคลื่อน ในปี 2563 จึงเกิดการพัฒนากลไกระดมทุน "วันละ 10 บาท" โดยรวมพลังคนพิการที่ได้รับจ้างงานเชิงสังคมร่วมกันสนับสนุนทุน เพื่อสร้างกลไกระดมทุนในการจ้างงานอย่างยั่งยืน สร้างอาชีพให้คนพิการที่รอรับการจ้างงาน และสร้างความภาคภูมิใจในตนเองที่ได้ส่งต่อโอกาสให้คนพิการด้วยกัน
นอกจากนี้ ยังพัฒนาระบบติดตามประเมินผลการทำงานคนพิการ และนำร่องการจ้างงานกระแสหลักผ่านโครงการบ่มเพาะบัณฑิตพิการ หรือ Inclusive Workplace Working Center จากนั้น ในปี 2564 จึงจัดตั้งสมาคมสร้างเสริมโอกาสและอาชีพคนพิการไทย (ส.อ.ค.) เพื่อเตรียมความพร้อมรับไม้ต่อจากมูลนิธินวัตกรรมทางสังคมเพื่อนำไปสู่เป้าหมายการจ้างงาน เป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนโอกาสและการจ้างงานคนพิการให้ก้าวไปได้อย่างต่อเนื่อง โดยคนพิการด้วยกันเองเป็นกลไกหลัก
รวมทั้ง ยังมีการทดลองขับเคลื่อนศูนย์บริการนักศึกษาพิการ โดยมูลนิธินวัตกรรมทางสังคมได้ขับเคลื่อนโครงการจ้างงานกระแสหลัก หรือ Inclusive Workplace เพื่อช่วยให้นักศึกษาและบัณฑิตพิการมีโอกาสทำงานและฝึกงานมากขึ้น โดยทำงานร่วมกับศูนย์บริการนักศึกษาพิการในมหาวิทยาลัย เพื่อส่งเสริมทักษะการทำงานขณะเรียน และเตรียมความพร้อมในการทำงานจริง
โดยได้รับการสนับสนุนจากบริษัทตามมาตรา 35 เพื่อฝึกทักษะและความรับผิดชอบ ทำงานสัปดาห์ละ 15-20 ชั่วโมง ระยะเวลา 12 เดือน ส่งเสริมโมเดลการเตรียมความพร้อมนักศึกษาพิการเพื่อเปลี่ยนผ่านจากการศึกษาสู่การทำงาน หรือ Transition to Work ผลลัพธ์ที่ได้เป็นไปตามเป้าหมายของโครงการ นักศึกษาพิการมีความกระตือรือร้น สามารถเพิ่มทักษะการทำงานได้จริง มีความรับผิดชอบ สามารถทำงานเป็นทีม จัดการเวลาและลำดับความสำคัญเป็น รวมทั้งตระหนักถึงการวางแผนอาชีพที่ชัดเจน นอกจากนี้ ยังมีความเป็น Active Student มีการแสดงออกอย่างเหมาะสม เป็นผู้นำคนพิการ และมีความภูมิใจในตัวเอง เพราะมีรายได้เพื่อแบ่งเบาภาระครอบครัว และสร้างลักษณะนิสัยในการช่วยเหลือผู้อื่น
ความก้าวหน้าในการส่งเสริมคนพิการมีพัฒนาการมาโดยตลอด ซึ่งในปี 2565 เกิดระบบสนับสนุนการทำงานสำหรับคนพิการ หรือ SIF Portal เพื่อช่วยสร้างคนพิการต้นแบบ สุขภาพดี และมีเงินออม จนถึงปี 2566 สมาคมสร้างเสริมโอกาสละอาชีพคนพิการไทย (ส.อ.ค.) สามารถดำเนินการเสริมความเข้มแข็งให้เกิดกลไกสนับสนุนการจ้างงานคนพิการเชิงสังคม รวมทั้ง การมีมาตรฐานการจ้างงานคนพิการในพื้นที่ เป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาศักยภาพของคนพิการและหน่วยงาน ขณะที่ ศูนย์บริการนักศึกษาพิการ หรือ Disability Support Service Center : DSS มีความพร้อมสู่การจ้างงาน และล่าสุดในปี 2567 การส่งเสริมโอกาสการมีงานทำของคนพิการเป็นการหนุนเสริมการจ้างงานคนพิการเชิงสังคม ควบคู่กับการพัฒนากลไกการจ้างงานกระแสหลักอย่างยั่งยืน
“เราสนับสนุนการทำงานระหว่างเรียน คือนักศึกษาเป็นรูปแบบ Work and study หรือจบเป็นบัณฑิตฝึกงานเป็น Internship โดยใช้มาตรา 35 เราจึงเจาะไปที่ DSS โดยใช้คอนเซ็ปต์การจัดการ เราเชื่อว่าคนเราฝึกฝนได้ แต่ไม่ใช่ด้วยการบอกกล่าว ต้องเป็นการลงมือปฏิบัติ หรือ On the job training และนำมาตรา 35 มาประยุกต์ เกิดเป็นนวัตกรรมการจ้างงานกระแสหลัก โดยจะได้เงินแสนกว่าบาทที่หารออกมาเป็นรายเดือนตามวุฒิ เมื่อมาฝึกงานกับเรา ต่อจากนั้น เราทำ Job Placement มีการเปิด Inclusion Job Fair มหกรรมการจ้างงานคนพิการ ทำให้นายจ้างกับลูกจ้างมาเจอกันด้วยการคัดสรร ต้องมีความพร้อมทั้งสองฝ่ายจึงมาได้ เราทำมา 3 ปีแล้ว พบว่าได้รับความสนใจจากทั้งสองฝ่ายมากขึ้น”
“เราจึงเป็นตัวกลางให้ฝั่งคนพิการเชื่อมกับฝั่งนายจ้างที่เรารู้จัก 200-300 ราย และตอนนี้มี 33 มหาวิทยาลัยที่เชื่อมโยงกับเรา เป็นแหล่งคนพิการที่มีคุณภาพสามารถคัดเลือกได้ หรือบริษัทกังวลก็สามารถใช้วิธีการจ้างเป็น Internship มีโอกาสประเมินการทำงาน 7-8 เดือน และระหว่างนั้นก็ได้เรียนรู้ความพิการไปด้วย ขณะที่เรามีโปรแกรมพัฒนามากมาย มี Empower หลากหลาย เช่น soft skill ที่สำคัญ และ mindset ที่จำเป็น เพื่อให้เป็นคนพิการคนแรกที่ใครๆ ก็รัก”
“เราบอกคนพิการเสมอว่าสังคมไม่รู้จักคนพิการ ก็เป็นเรื่องของสังคม แต่เราจะเป็นคนพิการแบบไหนที่ทำให้เขารู้สึกว่าเป็นคนพิการที่มีคุณค่า รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสังคม อยู่ที่ตัวเรา เมื่อเกิดความประทับใจที่ดี เราจะได้รับการสนับสนุน เราหวังว่า การทำงานแบบ Work Inclusion จะค่อยๆ ขยับเป็น Inclusive Education เป็น Inclusive Workplace เป็น Inclusive Society สังคมที่เกื้อกูลกัน” ที่ปรึกษามูลนิธินวัตกรรมทางสังคม กล่าว
ผลลัพธ์ในวันนี้ ทำให้เห็นชัดว่า นวัตกรรมการจ้างงานเชิงสังคมและนวัตกรรมการจ้างงานกระแสหลัก เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้นโยบายหรือหลักเกณฑ์ที่มีอยู่สามารถนำมาปฏิบัติให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรมได้จริง แต่คนพิการในวัยทำงานที่ยังไม่มีงานทำและคนพิการที่ต้องการการจ้างงาน ยังเป็นโจทย์ท้าทายให้ขับเคลื่อนกันต่อไป สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลกด้วยการไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ให้ทุกคนได้ใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่า และมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
๐ สสส.รุกปรับ mindset คนในสังคม
ด้วยกิจกรรมสร้างประสบการณ์ตรง
ภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้ช่วยผู้จัดการ สสส.และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ (สำนัก 9) กล่าวว่า สสส.มีหน้าที่ในการทำเรื่องการสร้างเสริมสุขภาพ แต่จะทำไม่ได้ถ้าปากท้องยังไม่อิ่ม นี่คือเรื่องสำคัญที่สุดที่ทำให้เขามีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และพึ่งพาตนเองได้ นำไปสู่สุขภาวะที่ดี ที่ผ่านมา เป็นการแก้โจทย์ใหญ่ได้ในระดับหนึ่ง และพิสูจน์ได้ว่างบประมาณ 50 ล้านบาทในช่วงเวลา 10 ปี มีความคุ้มค่า เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นคือคนพิการได้รับการจ้างงาน 5 หมื่นกว่าโอกาสงาน และเงินจำนวน 5.5 พันล้านบาทถึงมือคนพิการโดยตรง หรือแต่ละปีเกิดการจ้างงานประมาณ 7 พันอัตรา โดยมีสถานประกอบการเข้าร่วมประมาณ 400 แห่ง นี่คือภาพรวม
แต่หน้างานหรือในทางปฏิบัติมีรายละเอียดมาก ทั้งการเสาะหา พัฒนาและเติมเต็มทักษะ รวมทั้งหาตำแหน่งงานที่เหมาะสมกับคนพิการแต่ละคน เช่น การสร้างความมั่นใจ ฯลฯ ซึ่งไม่สามารถทำแบบเหมาโหล จนกระทั่งอีกด้านหนึ่งต้องเข้าไปทำในระดับมหาวิทยาลัย ให้ช่วยพัฒนาคนพิการที่ตอบโจทย์ เช่น การปรับปรุงหลักสูตรที่เหมาะสม ฯลฯ
“สสส.สนับสนุนกระบวนการจับคู่ให้เกิดการจ้างงานที่เหมาะสมและมีระบบโค้ชชิ่งประคับประคองคนพิการให้อยู่ในตำแหน่งอย่างน้อย 1 ปี เพราะการได้งานทำ แต่ระหว่างทางมีปัญหามากเกินไป เช่น รายได้ไม่พียงพอกับรายจ่าย หรือไม่รู้จะปรึกษาพูดคุยกับใคร หรือรู้สึกไม่มีคุณค่าเพราะถูกจ้างมาให้อยู่เฉยๆ ไม่ได้ทำงานจริงๆ ฯลฯ จึงทำให้คนพิการต้องออกจากงานจำนวนมาก เรื่องนี้เป็นความละเอียดอ่อนในการขับเคลื่อนดำเนินการ”
ต่อจากนี้ สิ่งที่ควรจะเกิดขึ้นคือ ศูนย์บริการคนพิการทั่วไป ซึ่งเป็นจุดที่ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุดและควรจะเป็นหน่วยเชี่ยวชาญในเรื่องความพิการ ซึ่งถ้าหน่วยงานนี้ดำเนินการได้ดี ชีวิตคนพิการจะเปลี่ยนไปในระดับพื้นที่ นี่จึงเป็นงานที่เรามีความตั้งใจที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงต่อไป นอกจากนี้ การขับเคลื่อนอีกด้านคือจะต้องปรับ mindset ของคนทั่วไปในสังคม ที่ไม่ใช่แค่เรื่องสงสารหรือสงเคราะห์คนพิการ แต่เป็นการเห็นคุณค่าในตัวคนพิการ เห็นศักยภาพในความเป็นตัวเขา และยอมรับสิ่งนั้นให้เข้ามาอยู่ในสังคมอย่างเท่าทันอคติ ยอมรับและเข้าใจความหลากหลาย โดยจะมีการออกแบบกิจกรรมต่างๆ มากมาย เช่น การดูหนัง การวิ่ง สร้างประสบการณ์ตรงที่ทำร่วมกันระหว่างคนพิการกับคนทั่วไป เพื่อจะทำให้เกิดความเข้าใจและเปลี่ยนแปลงได้ง่ายขึ้น แต่กิจกรรมเช่นนี้ในแต่ละครั้งทำได้ในหลักสิบหลักร้อยคนเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาเริ่มทำไปส่วนหนึ่งแล้ว ผลที่ได้คือคนที่ร่วมกิจกรรมเปลี่ยนทัศนคติต่อคนพิการได้อย่างรวดเร็ว เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อเนื่อง
๐ คุณภาพชีวิต 4 มิติ
ความสำเร็จที่แท้จริง
มนิษา อนันตผล เลขาธิการ สมาคมสร้างเสริมโอกาสและอาชีพคนพิการไทย (ส.อ.ค.) กล่าวว่า “ในการทำงานนี้เราเห็นพัฒนาการการขับเคลื่อนเพราะเราทำงานกับคนพิการทุกประเภท เห็นว่าโครงการนี้เป็นจุดเปลี่ยนของสังคม โดยเฉพาะสังคมชนบท ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้กับคนพิการฐานราก เพราะเป็นกลุ่มที่ไม่ได้รับการศึกษาหรือมีการศึกษาในระดับประถมเท่านั้น ขณะที่ แนวคิดของคนทั่วไปในสังคม ยังมองเป็นการสงเคราะห์หรือเวทนานิยมมากกว่าการเห็นศักยภาพหรือคุณค่าของคนพิการ ดังนั้น หน่วยงานจะมองไม่เห็นคนพิการกับงานที่ต้องใช้ทักษะมากๆ หรืองานที่นั่งอยู่ในออฟฟิศ”
“ดังนั้น ทุกตำแหน่งงานของคนพิการจึงเริ่มต้นจากการเป็นแม่บ้าน ภารโรง งานสวน งานครัว แต่สิ่งที่เห็นคือการพัฒนางาน หรือ Transaction to Work ที่ดี จะเห็นว่าผ่านไป 3-4 ปี คนพิการสามารถขยับขึ้นมา เช่น เป็นนักบริการชุมชน เป็นผู้ช่วยหมอฟันใน รพสต. เป็น care giver เป็น Self help ให้กับชุมชน เป็นงานที่ต้องใช้ทักษะสูงขึ้น ดังนั้น การที่บริษัทให้โอกาสคนพิการด้วยการเปลี่ยนจากการจ่ายเงินเข้ากองทุนมาสู่การจ้างงานจริงๆ และเราได้หน่วยงานท้องถิ่นที่มองการบริการเชิงพัฒนา และมองโอกาสการพัฒนาคนพิการด้วย ทำให้คนพิการได้เติบโตทั้งความคิด วิถีชีวิต และมีตัวตนในชุมชนอย่างแท้จริง สุดท้ายการมีคุณภาพชีวิตของคนพิการใน 4 มิติ ทั้งงานดี สุขภาพดี มีเงินออม และการมีโอกาสในการสร้างผลกระทบเชิงบวกในสังคม นี่คือความสำเร็จของเรา”
๐ ตัวอย่างภาครัฐ กทม.เร่งจัดทำโมเดล
คู่มือการจ้างงานยั่งยืน
ข้อมูลการจ้างงานคนพิการในหน่วยงานรัฐระบุว่า มีการจ้างงานเพียง 3 พันกว่าคน และยังต้องจ้างเพิ่มกว่า 1.5 หมื่นคน อย่างไรก็ตาม กรุงเทพมหานครเป็นหน่วยงานที่มีความตื่นตัวในเรื่องนี้ ภาณุมาศ สุขอัมพร ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกทม. กล่าวว่า จากนโยบายกรอบใหญ่ของผู้ว่าฯ ชัชชาติ สิทธิพันธ์ ที่ต้องการให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน ซึ่งในมิติคนพิการเกิดเป็นนโยบายการจ้างงานคนพิการเพื่อทำงานในทุกสำนักงานเขตของกทม. โดยรับสำนักงานเขตละ 6 คน ทั้งหมด 50 เขต โดยมีสำนักพัฒนาสังคมฯ เป็นผู้ดูแล ขณะที่ รองผู้ว่าฯ ศานนท์ หวังบุญสร้าง ซึ่งรับผิดชอบในเรื่องนี้โดยตรงต้องการเห็นโมเดลการจ้างงานคนพิการเพื่อเป็นแนวปฏิบัติให้ดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยขณะนี้อยู่ในระหว่างการจัดทำคาดว่าจะดำเนินการเสร็จประมาณเดือนกันยายน 2568
“การจัดทำโมเดลนี้จะเป็นประโยชน์อย่างมาก เพราะมีการทำวิจัยและศึกษาประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวกับการทำงานของคนพิการ เช่น สาเหตุที่ทำให้ลาออกจากงาน , วิธีการปฏิบัติต่อคนพิการ ฯลฯ อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมามีการปรับปรุงและแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น เช่น การจัดให้มีล่ามสำหรับคนพิการหูหนวกในระหว่างที่มีการจัดสอบ เพื่ออำนวยความสะดวกให้คนพิการตามที่ต้องการ เป็นต้น”
“นโยบายของกทม.ต้องการการจ้างงานคนพิการอย่างยั่งยืน และให้หน่วยงานอื่นๆ สามารถเรียนรู้การจ้างงานคนพิการได้ด้วย นโยบายของผู้ว่าฯ ต้องการให้คนพิการทำงานจริง สามารถเลี้ยงดูตนเองได้จริง เพื่อจะเกิดความภูมิใจในตนเองจริงๆ ดังนั้น การจ้างงานคนพิการของกทม.ควรจะสามารถใช้หรือดึงศักยภาพของคนพิการออกมา พร้อมไปกับการพัฒนางานของกทม.โดยออกแบบหรือสร้างสรรค์งานใหม่ๆ หรือพัฒนาทักษะให้คนพิการทำงานในหน้าที่ใหม่ๆ เช่น ให้ผู้พิการไปตรวจวัดทางเดินเท้าว่าเป็นไปตามมาตรฐานหรือสะดวกต่อการใช้งานของคนพิการด้วยหรือไม่ ซึ่งไม่ใช่งานเดิมๆ ซ้ำๆ ที่มีอยู่แล้ว เช่น ธุรกิจ และพัสดุ เป็นต้น สำหรับการแก้ปัญหาตำแหน่งงานคนพิการที่ยังว่างอยู่ มีการเน้นย้ำให้หน่วยงานแจ้ง เพื่อประชาสัมพันธ์ให้คนพิการรับทราบได้ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม การใช้งบประมาณและการจ้างงานคนพิการต้องทำอย่างถูกต้อง คนพิการต้องทำงานได้จริง”
ทั้งนี้ กทม.ดำเนินโครงการจ้างงานคนพิการประจำปีงบประมาณ 2568 จำนวน 266 ราย (ข้อมูล ณ 21 ตุลาคม 2567) แบ่งเป็น พิการประเภททางการมองเห็น 30 ราย ทางการได้ยินหรือสื่อความหมาย 75 ราย ทางการเคลื่อนไหวหรือร่างกาย 89 ราย จิตใจหรือพฤติกรรม 14 ราย ทางสติปัญญา 16 รายทางการเรียนรู้ 4 ราย ออทิสติก 24 ราย และพิการซ้ำซ้อน (มากกว่า 1 ประเภท) 14 ราย โดยดำเนินการตามโครงการจ้างงานคนพิการเพื่อปฏิบัติงานในสำนักพัฒนาสังคมและสำนักงานเขต 50 แห่ง ตามแผนปฏิบัติราชการ กทม.ปี 2568
๐ ตัวอย่างเอกชนทำจริง - ต่อเนื่อง
เซ็นทรัลจ้างงาน - สร้างอาชีพเกินเกณฑ์
นโยบายหลักของกลุ่มเซ็นทรัลมุ่งเน้นให้เกิดการจ้างงานคนพิการ เพื่อให้คนพิการมีอาชีพ มีงานทำและมีรายได้ที่มั่นคงโดยผ่านการจ้างงาน ปัจจุบันโดยรวมกลุ่มเซ็นทรัลมีการสร้างอาชีพให้คนพิการมากกว่า 1,100 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 1.7 ของจำนวนพนักงานประจำทั้งหมดขององค์กรที่มีมากถึง 64,824 คน กลุ่มเซ็นทรัลเปิดโอกาสให้คนพิการมีอาชีพมากกว่าจำนวนที่กฎระเบียบ กำหนดให้มีการจ้างงานคนพิการที่ 1% ทั้งการเปิดโอกาสรับเข้าเป็นพนักงานประจำ ทั้งการทำงานในสายงานออฟฟิศ ศูนย์การกระจายสินค้า หรือพนักงานทั่วไป สายงานพนักงานหน้าร้าน รวมถึงพนักงานที่มีศักยภาพด้านกีฬา มีการรับเป็นพนักงานสังกัดสโมสรกีฬาเซ็นทรัลในการเป็นตัวแทนแข่งกีฬาคนพิการต่างๆ และมีสวัสดิการเทียบเท่าพนักงานปกติ
ด้วยการมุ่งมั่นให้คนพิการมีความก้าวหน้าในสายงานที่ทำ มีการปรับตำแหน่งตามความเหมาะสมกับศักยภาพ โดยมีคนพิการที่ทำงานในองค์กร 327 คน หากคุณสมบัติหรือศักยภาพที่ไม่เอื้ออำนวยในการทำงานประจำ ยังมีโครงการสร้างอาชีพให้กับคนพิการเหล่านั้น รวม 773 คน เพื่อเสริมสร้างความเท่าเทียมของคนพิการในสังคมในภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ
“กลุ่มเซ็นทรัลเห็นถึงความสำคัญในการสร้างสังคมที่เท่าเทียมและยั่งยืน โดยสนับสนุนคนพิการและนักกีฬาคนพิการผ่านโครงการต่างๆ หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนพิการและนักกีฬาคนพิการพัฒนาตนเอง และแสดงศักยภาพได้เต็มที่ คือการมีอุปกรณ์ที่เหมาะสม มีการฝึกอบรม การพัฒนาศักยภาพ และการสร้างแรงบันดาลใจ ซึ่งไม่เพียงช่วยเพิ่มโอกาสและคุณภาพชีวิตคนพิการ แต่ยังสร้างแรงบันดาลใจและการรวมกลุ่มในสังคม ทำให้สังคมมีความเท่าเทียมและยั่งยืนอย่างแท้จริง” พิชัย จิราธิวัฒน์ กรรมการบริหาร กลุ่มเซ็นทรัล กล่าว
สำหรับโครงการที่กลุ่มเซ็นทรัลทำเป็นต้นแบบและประสบความสำเร็จในการสร้างอาชีพให้คนพิการ ได้แก่
• โครงการศูนย์บริการลูกค้า Contact Center ไทวัสดุ และเพาเวอร์บาย
ณ มูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อพัฒนาคนพิการพัทยา จังหวัดชลบุรี ที่มีความบกพร่องทางการเคลื่อนไหว ซึ่งสามารถจ้างงานคนพิการในตำแหน่ง Contact Center กว่า 80 คน และรับอย่างต่อเนื่อง
• ในกลุ่มธุรกิจโรงแรม โรงแรมเซ็นทารา
เปิดโอกาสให้คนพิการที่บกพร่องทางการได้ยินเข้าทำงาน เป็นพนักงานประจำในหลากหลายตำแหน่ง อาทิ พนักงานบริการโรงแรม พนักงานต้อนรับ พนักงานแผนกครัว ซักรีด
• บริษัท เซ็นทรัล เรสเตอรองส์ กรุ๊ป
จ้างงานคนพิการที่บกพร่องทางการได้ยินในตำแหน่งพนักงานหน้าร้าน กว่า 80 คน เพื่อให้บริการลูกค้า
• โครงการสนับสนุนนักกีฬาคนพิการสโมสรกีฬาเซ็นทรัล
โดยเป็นพนักงานของบริษัทในกลุ่มเซ็นทรัล 34 คน ซึ่งนักกีฬาคนพิการทำผลงานสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศในระดับนานาชาติ ซึ่งมหกรรมกีฬา "พาราลิมปิกเกม ปารีส 2024" ครั้งนี้ มี นายชาคร แก้วศรี นักกีฬาว่ายน้ำ และนางสาวนภัสกร รอดกลาง นักกีฬาจักรยาน ถือเป็นตัวแทนและความภาคภูมิใจของคนไทยทั้งประเทศ
นอกจากนี้ กลุ่มเซ็นทรัลยังมอบโอกาสเพื่อเสริมสร้างความเท่าเทียมของคนพิการในสังคม โดยให้ความสำคัญกับคนพิการและรวมถึงผู้ดูแลคนพิการ โดยส่งเสริมให้มีอาชีพ มีงานทำ และมีรายได้ ผ่านการดำเนินโครงการต่างๆ เพื่อให้คนพิการที่อยู่ทั่วภูมิภาคต่างๆ ในไทยมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น
ปีที่ผ่านมา กลุ่มเซ็นทรัลดำเนินโครงการต่างๆ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ 19 จังหวัด ผ่านการส่งเสริมอาชีพ 37 โครงการ ในกลุ่มคนพิการกว่า 1,100 คน อาทิ โครงการสานตะกร้าพลาสติก สมาคมรวมใจคนพิการ จ.อุดรธานี
,โครงการเลี้ยงเป็ดพันธุ์ไข่เพื่อจำหน่าย จ.สุพรรณบุรี , โครงการส่งเสริมอาชีพจิตรกรออทิสติก , โครงการส่งเสริมพัฒนาการให้เด็กพิเศษผ่านการบำบัดด้วยศิลปะ , โครงการนวดผ่อนคลายในสำนักงาน โครงการส่งเสริมอาชีพโดยเปิดโอกาสให้คนพิการนำศักยภาพของตนเอง ออกมาใช้เพื่อสร้างอาชีพ สร้างรายได้ สร้างความภาคภูมิใจ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น รวมทั้ง สัมปทานให้พื้นที่จำหน่ายลอตเตอรี่ และสนับสนุนพื้นที่ให้คนพิการนำสินค้ามาจำหน่าย เช่น งานฝีมือ งานจักสาน เป็นต้น
๐ เสียงจากคนพิการ
งาน - สังคม - การใช้ชีวิต
คนพิการในกลุ่มเซ็นทรัล ธนวัฒน์ เกตุแก้ว Sourcing executive CRC อายุงาน 10 ปี 11 เดือน “บอกถึงงานที่ทำอยู่ว่า เป็นงานที่ได้โชว์ศักยภาพและความสามารถตรงตามที่ได้เรียนมา ทำให้รู้สึกมีคุณค่า ทำให้มีรายได้ดูแลตัวเองและครอบครัว และอยากทำอาชีพนี้ที่นี่ไปตลอด เพราะมีความสุขกับทุกคนที่ทำงาน และได้ทำงานที่รัก พัฒนาตัวเองให้เก่งขึ้น”
อธิวัฒน์ พงษ์กิจการุณ waiter อายุงาน 1 ปี 7 เดือน บอกว่า “รู้สึกดี ได้ประสบการณ์ ได้รู้จักมิตรภาพ ชอบที่ได้เจอเพื่อนๆ ที่ทำงาน ซึ่งการมีงานทำและมีรายได้ทำให้ได้ใช้ชีวิตตามที่ต้องการ เพราะเป็นเงินที่ได้มาจากการทำงานของตัวเอง ได้ซื้อความสุขให้ตัวเอง และอยากทำงานนี้ไปเรื่อยๆ”
ศรัญยา ศรีขัดเค้า Inbound & Complaint Service Staff อายุงานกว่า 4 ปี บอกว่า งานที่ทำอยู่เป็นงานที่ดี ได้บริการลูกค้า ได้มองเห็นหลายๆมุม เรื่องของการบริการ และได้เก็บเอามาพัฒนาตัวเอง ซึ่งการมีงานทำและมีรายได้ให้ทุกอย่างและความเป็นอยู่ของชีวิตดีขึ้นภายใน 4 ปี ทั้งตัวเองและครอบครัว คิดว่าอยากทำงานจนกว่าจะเกษียณ และมีความคาดหวังว่าตัวเองสามารถโตได้ในสายงานนี้ ซึ่งปัจจุบันก็สามารถทำได้แล้ว จาก Staff เป็น Supervisor
๐๐ จากหน่วยงานจ้างงานคนพิการเชิงสังคม (มาตรา 35)
ไพรวัลย์ ปะกิระเนย์ เหรัญญิก สมาคมคนพิการและผู้ด้อยโอกาส อำเภอวาปีปทุม จ. มหาสารคาม บอกถึงงานที่ทำอยู่ว่า เป็นงานที่สร้างคุณค่าให้กับตนเอง และคนพิการในชุมชน เพราะว่า สำหรับตัวเองที่เกิดมาพิการ แค่ดูแลตัวเองก็ไม่ต้องเป็นภาระครอบครัวหรือคนอื่นๆ ไม่ต้องได้รับการสงเคราะห์ สงสาร แต่ก่อนตัวเราเองและคนในพื้นที่ มองว่าคนพิการคงไม่มีงานที่ทำงานให้เป็นประโยชน์ต่อคนพิการ ครอบครัวและชุมชนได้ การที่ได้รับโอกาสการจ้างงานเชิงสังคมการจ้างงานคนพิการ มาตรา 35 จากการประสานงานของสมาคมสร้างเสริมโอกาสและอาชีพคนพิการไทย มูลนิธินวัตกรรมทางสังคม ทำให้ตัวเราเอง ภาคภูมิใจ มีพลัง ได้ทำงานที่สร้างโอกาสการให้คนพิการเข้าถึงการจ้างงานคนพิการ และสร้างความเปลี่ยนแปลงให้คนพิการ เป็นส่วนหนึ่งของงานคนพิการ ร่วมทำงานกับภาคีเครือข่ายต่างๆ ที่เกี่ยวกับคนพิการ ได้ส่งต่อโอกาสการจ้างงานคนพิการในชุมชนมากขึ้น อีกทั้ง ได้ช่วยเหลือพัฒนาศักยภาพด้านต่างๆ คนพิการและผู้ด้อยโอกาส เป็นต้นแบบคนพิการ นำความรู้ที่ได้ไปพัฒนาส่งเสริมให้คนในพิการในชุมชนที่ขาดโอกาส ให้เกิดความเข้มแข็งขึ้น พึ่งพาตนเองได้ มีอาชีพ มีรายได้ สามารถออกมาใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุข
การมีงานทำและมีรายได้ของตนเองทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านความคิดด้านบวก เติบโต พัฒนาตนเอง การใช้ชีวิตและการทำงาน มีเป้าหมายในชีวิต ในการออม การดูแลสุขภาพและอาชีพมากขึ้น เป็นที่ยอบรับของคนในชุมชน การที่คนพิการมีงานแบบนี้ ทำให้สังคมในจังหวัดมองงานคนพิการมีความหมายอย่างมาก มีเงินเป็นของตนเองได้ใช้จ่ายสะดวกสบาย ชื้อของจำเป็นในชีวิต ปรับที่อยู่ให้มีความลอดภัย มีเงินเก็บออม ครอบครัวพ่อแม่ ภูมิใจในตัวเรา สามารถปลดหนี้สินของพ่อแม่ ที่กู้ยืมมานานแล้วเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายให้เราตั้งแต่ที่ยังไม่มีรายได้จากการทำงาน และทำให้เป็นเสาหลักของครอบครัวได้ จึงอยากจะทำงานนี้ไปตามที่การจ้างงานยังจ้างอยู่และร่างกายยังไปต่อได้ ก่อนถึงเวลาเกษียณ วางแผนบริหารจัดการเงิน ไม่ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ปัจจุบันออมเงินทุกเดือนอย่างมีวินัย และถ้าไม่ได้รับการจ้างงานแล้วอยากจะทำงานที่เกี่ยวกับงานคนพิการจิตอาสาต่อไป
สมัย เจริญยิ่งนายกสมาคมคนพิการอำเภอหนองกี่จังหวัดบุรีรัมย์ บอกว่า มีความภาคภูมิใจกับการนำพาคนพิการออกมาใช้ชีวิตอยู่ในสังคม การขยายโอกาสการจ้างงานและอาชีพให้กับคนพิการในจังหวัดบุรีรัมย์ ทุกปีจะมีคนพิการได้รับการจ้างงานไปประจำหน่วยงานของภาครัฐ และได้รับโครงการอาชีพเพิ่มขึ้น งานที่ทำเป็นการสร้างการเปลี่ยนแปลงกับคนพิการและผลกระทบกับสังคม สร้างคุณภาพชีวิตให้กับคนพิการและครอบครัวได้มีอาชีพ มีความมั่นคงทางรายได้ ความเป็นอยู่ดีขึ้น ไม่เป็นภาระของครอบครัว สามารถใช้ชีวิตไม่มีอุปสรรค สามารถพึ่งพาตัวเองได้ ไม่ทำให้เขาไปสร้างหนี้สิน ได้ใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัว นอกจากมีอาชีพ มีรายได้ ครอบครัวมีความสุขได้ดูแลกันและกัน ไม่ต้องทิ้งครอบครัวไปรับจ้างงานต่างจังหวัด มีคุณภาพการใช้ชีวิตที่ดี อยู่ร่วมกับชุมชนและสังคมได้อย่างมีความสุข
การมีงานทำและสิ่งที่ได้มากกว่าเงินเดือนที่ได้รับคือ สามารถเลี้ยงดูแลตัวเองและครอบครัว ไม่เป็นภาระครอบครัว และยังเป็นหลักสำคัญในการดูแลและสร้างอาชีพให้กับครอบครัว รวมทั้ง ได้รับการพัฒนาศักยภาพในการทำงานและการใช้ชีวิตในสังคม การพัฒนาตนเองจนมีประสบการณ์และความชำนาญ เป็นที่ยอมรับเชิงประจักษ์จากผลงานที่ทำมาจนได้รับตำแหน่งและมีบทบาทหน้าที่ในการขับเคลื่อนกลไกการจ้างงานคนพิการเชิงสังคมของจังหวัดบุรีรัมย์ และสิ่งที่มากกว่าการจ้างงานคือ การออม การสร้างอาชีพเสริม และการมีสุขภาพที่ดี วางแผนการเงินนำมาใช้ในการลงทุนทำเกษตรผสมผสาน และการทำกิจกรรม90 วันมหัศจรรย์ของฉัน ในการดูแลสุขภาพ การออกกำลังกาย การปรับพฤติกรรมการกินอาหาร มาสร้างกิจกรรมร่วมกับครอบครัวเพื่อสร้างพฤติกรรมสุขภาพที่ดีร่วมกัน
“จะทำงานจนกว่าการจ้างงานคนพิการนี้ยังมีอยู่ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงนโยบาย เพราะยังมีคนพิการอีกจำนวนมากในจังหวัดนี้ที่ยังขาดโอกาสเข้าไม่ถึงการจ้างงานและการมีอาชีพ ผมมีแผนงานใน3 ปี ในการขยายพื้นที่การทำงานกับหน่วยงานรายใหม่ เพิ่มโอกาสการจ้างงานคนพิการ และโครงการอาชีพ จำนวน15 พื้นที่ เพื่อให้คนพิการได้รับการจ้างงานและโครงการอาชีพ อย่างน้อยปีละ20 อัตรา และในอนาคตผมมีแผนจะพัฒนาให้เกิดกลไกเครือข่ายการจ้างงานคนพิการในจังหวัดบุรีรัมย์”
รุ่งนภา ท่านกเอี้ยง ผู้ประสานโครงการสมาคมสร้างเสริมโอกาสและอาชีพคนพิการไทย (ส.อ.ค.) บอกว่า รู้สึกดีใจมากที่มีงานทำ เพราะคนพิการที่นั่งวีลแชร์จะหางานทำยากมาก ส่วนงานที่ทำปัจจุบันเป็นงานที่ท้าทายมาก เพราะเป็นงานที่ไม่เคยทำมาก่อน มีทั้งงานด้านวิชาการ งานด้านการประสานงาน และงานอื่นๆ ชอบงานที่ทำมากเพราะทำให้ได้เรียนรู้อะไรหลายอย่าง เป็นการพัฒนาตัวเองไปด้วย การมีงานทำและมีรายได้ทำชีวิตเปลี่ยนไป จากไม่มีเงินทำ ต้องรับงานพิมพ์เล็กๆ น้อย ๆ มีรายได้ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย แต่หลังจากได้รับการจ้างงานทำให้มีรายได้เลี้ยงตัวเองและช่วยเหลือครอบครัว และยังมีเงินเหลือเก็บไว้ใช้ในอนาคต จึงอยากทำงานจนถึงอายุ60 ปี และวางแผนจะเก็บเงินไว้ให้ได้มากที่สุด และตั้งใจว่าเมื่อเกษียณอายุแล้วจะเปิดร้านค้าร้านหนึ่งเพื่อหารายได้ในวันสูงอายุ
นันท์นภัส หาญนอก ผู้ช่วยเจ้าหน้าที่ประสานงานโครงการศูนย์บริการคนพิการมูลนิธินวัตกรรมทางสังคม บอกว่า งานที่ทำอยู่ปัจจุบันเป็นงานด้านสื่อสาร แนะนำการส่งรายงาน และช่วยเหลือแก้ปัญหาที่คนพิการมีข้อสงสัยในข่าวสารและกิจกรรมต่างๆ ของหน่วย รวมถึงช่วยแนะนำการใช้ระบบช่วยเจ้าหน้าที่ งานที่ทำจึงเป็นงานที่ช่วยฝึกทักษะ การเจรจา การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ซึ่งในแต่ละสถานการณ์และบุคคลที่ต้องเจอถือเป็นการเรียนรู้ที่เราได้นำมาพัฒนาในการทำงานเรื่อยมา และมีความสุขที่ได้ทำงานเพราะรู้สึกเหมือนได้ช่วยพี่ๆ น้องๆ คนพิการ ในการแนะนำ ไขข้อสงสัยในส่วนที่พวกเขาไม่เข้าใจ และพวกเขากลับไปทำมันได้สำเร็จ ถือเป็นความสำเร็จในหน้าที่งานที่เราได้ทำ
๐๐ จากหน่วยงานจ้างงานคนพิการกระแสหลัก (มาตรา 33)
ณิชกานต์ กวีวรญาณDisability Inclusion Associate โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย United Nations Development Programme in Thailand บอกว่า งานที่ทำอยู่เป็นงานที่มีคุณค่ามาก เปิดโอกาสให้ตนเองได้ทำ ได้พูดในฐานะคนพิการคนหนึ่ง ในการส่งเสริมความตระหนักรู้ของคนไม่พิการที่มีต่อคนพิการและส่งเสริมสิทธิของคนพิการ ขณะเดียวกันตนเองก็ได้พัฒนาทักษะหลายอย่างควบคู่กับการทำงานจริง ไม่ว่าจะเป็นการวางแผนจัดการ การตัดสินใจ การพูดในที่สาธารณะ การทำงานเอกสาร และทักษะภาษาอังกฤษ
การมีงานทำและมีรายได้ทำให้รู้สึกว่าในแต่ละวันมีความหมาย รู้ว่าตื่นเช้ามาแล้วเราจะทำอะไรในแต่ละวันบ้าง เห็นคุณค่าในตัวเอง และได้พัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง เพิ่มความมั่นใจและความภาคภูมิใจ นอกจากนี้ ยังได้สังคม ได้พบปะผู้คน ฝึกมนุษยสัมพันธ์ รวมถึง ช่วยเพิ่มอำนาจในการต่อลอง/ตัดสินใจ การมีรายได้เป็นของตัวเองทำให้สามารถเลือกซื้อของ เลือกรับประทานอาหารที่ชอบได้ สามารถที่จะชวนครอบครัวไปรับประทานอาหารนอกบ้าน ไปเที่ยวพักผ่อนได้ โดยไม่ต้องเป็นฝ่ายรอและรับอย่างเดียว เป็นการสร้างความเป็นอิสระในการคิด การตัดสินใจและความเป็นผู้นำ จึงอยากทำงานนี้ต่อไปเรื่อยๆ ตราบใดที่เรายังรู้สึกว่าเรามีประโยชน์และสนุกกับการทำงาน ไม่ได้กำหนดเป็นช่วงเวลา เพราะที่ทำงานปัจจุบันเป็นการต่อสัญญาแบบปีต่อปี และอาจจะมีความไม่แน่นอนเกิดขึ้นได้เสมอ เพียงแต่ทำทุกวันนี้ให้ดีที่สุด
พรเทพ จันทร์เวชIT SupportKPMG Thailand บอกว่า การทำงานในวันนี้ เป็นการทำตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายให้ได้มากที่สุดระหว่างทำงานอาจจะมีผิดพลาดบ้างแล้วก็ยังมีในส่วนที่เราทำได้ดี ซึ่งเอาจริงๆ แค่อยากทำให้ได้ตามความคาดหวังและความคาดหมายของตัวเองแล้วก็หัวหน้า รวมถึงเพื่อนร่วมงานด้วย สำหรับการทำงานและมีรายได้ให้หลายอย่าง แต่ที่ตอบได้ชัดเจนคือให้โอกาสสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า เพราะทำให้สามารถดูแลตัวเองได้โดยที่ไม่เป็นภาระของใครเลย อธิบายให้ง่ายคือเราเป็นแค่มนุษย์ที่ทำงานเลี้ยงชีพตัวเองแค่คนพิการมีข้อบกพร่องซึ่งเป็นอุปสรรคเล็กๆน้อยๆในการทำงานหรือการใช้ชีวิตเมื่อเทียบกับคนทั่วไปที่เป็นคนปกติแต่เราเป็นแค่คนๆหนึ่งเหมือนกัน ส่วนการจะทำงานไปนานแค่ไหน ตอบเป็นตัวเลขชัดเจนไม่ได้ คงทำไปเรื่อยๆ จนกว่าจะหมดไฟหรือมีอะไรใหม่ๆให้ทำ
วิรุตม์ อภัยวงศ์ นักวิชาการศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มศว. มองว่า งานที่ทำอยู่ เป็นงานที่มีเกียรติ มีคุณค่า มีโอกาสได้ดูแลและเยียวยาทางด้านจิตใจ เพื่อส่งเสริมให้ทุกคนมีสุขภาพใจที่ดี มีความสุข สำหรับการมีงานทำและมีรายได้ ทำให้เกิดความภูมิใจในตนเอง ครอบครัวรู้สึกภาคภูมิใจ ทำให้ชีวิตมีคุณค่า สามารถดูแลตนเองได้ และมีรายได้ดูแลครอบครัว คิดว่าอยากทำงานนี้ต่อไปตลอด ยังไม่คิดจะเลิกทำตอนไหน อยากเห็นการเติบโตและพัฒนาในแง่จิตใจ อยากเป็นนักจิตวิทยาการปรึกษาที่มีความเชี่ยวชาญมากขึ้น แล้วได้ทำงานกับองค์กรภายนอกเพื่อช่วยเหลือสังคมในภาพรวม
เอกกมล แพทยานันท์ นายกสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย บอกว่า “ถ้าคนในสังคมมองว่า คนพิการเป็นคนไม่มีความสามารถ ต้องให้คนช่วยตลอดเวลา ก็จะเป็นการปิดกั้นโอกาสของคนพิการ ถ้ามองว่าทำอะไรไม่ได้ บริษัทต่างๆ ก็ไม่อยากจะรับคนพิการเข้าทำงาน แต่ถ้าคนในสังคมมีความเชื่อมั่น สื่อต่างๆ นำเสนอภาพลักษณ์ในเชิงบวก เข้าใจอย่างถูกต้อง จะทำให้คนพิการมีโอกาสทั้งด้านการศึกษา การประกอบอาชีพ และการทำธุรกรรมต่างๆ รวมถึงการดำเนินชีวิตประจำวันได้ตามปกติมากขึ้น”
ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา การขับเคลื่อนโอกาสการมีงานทำของคนพิการเกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ มีการสร้างเครื่องมือและกลไกต่างๆ ทำให้การมีงานทำของคนพิการไม่ได้เป็นเพียงแค่โอกาสชั่วคราว แต่เป็นโอกาสที่ไม่มีอยู่อย่างต่อเนื่อง และสามารถเกิดขึ้นจริงเป็นรูปธรรม พร้อมกับการพัฒนาและยกระดับการหนุนเสริมให้การจ้างงานคนพิการ ก้าวไปได้อย่างยั่งยืน
แต่แม้มีความสำเร็จให้เห็นในวันนี้ ความท้าทายก็ยังคงอยู่ อย่างไรก็ตาม ทุกคนในสังคมสามารถมีส่วนร่วมได้ทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม เพื่อให้งานของคนพิการสร้างคุณค่าได้เพิ่มขึ้น ให้คนพิการมีโอกาสในการทำงานและได้รับการจ้างงานมากขึ้น เพื่อจะไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง และร่วมกันขับเคลื่อนโลกของเราไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้อย่างแท้จริง
ที่มา - บทความชิ้นนี้ผลิตโดยนักข่าวที่เข้าร่วม UNDP Media Fellowship on Sustainable Development