xs
xsm
sm
md
lg

EXIM BANK ผนึกพันธมิตร ‘คณะวิศวฯ จุฬาฯ - วว.’ นำศาสตร์พระราชาผสานกับนวัตกรรมสีเขียว "สร้างงานสร้างอาชีพอย่างยั่งยืน" ให้กลุ่มเกษตรกรใน จ.น่าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) ได้นำเอาแนวคิดการดำเนินธุรกิจที่มุ่งเน้นความยั่งยืน โดยไม่หวังผลกำไรเพียงอย่างเดียว แต่คำนึงถึง 3 ปัจจัยหลักคือ ด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Environmental, Social, and Governance : ESG)

หนึ่งในแผนยุทธศาสตร์ขององค์กร เป็นส่วนหนึ่งของโครงการกิจกรรมเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมที่มีผลต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและสิ่งแวดล้อมขององค์กร (CSR-in-process) โดยเน้นสร้างความมั่นคง ความกินดีอยู่ดี แก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนให้กับสังคมและผู้มีส่วนได้เสียที่นอกเหนือจากผู้ส่งออกที่กำหนดในพันธกิจของธนาคาร โดยเน้นกลุ่มเปราะบาง กลุ่มผู้ด้อยโอกาส ผู้พิการ เริ่มจากกลุ่มที่อยู่อาศัยในพื้นที่ชุมชน 22 แห่งในเขตพญาไทที่อยู่รอบ ๆ ธนาคาร ด้วยการเปิดพื้นที่โรงอาหารของ EXIM BANK สำนักงานใหญ่ ให้กลุ่มเปราะบาง กลุ่มผู้ด้อยโอกาสและผู้พิการ นำสินค้ามาจำหน่าย ทำให้มีรายได้เลี้ยงครอบครัว และให้ความรู้ด้านการเงิน การทำบัญชีครัวเรือนเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินครัวเรือนอย่างยั่งยืน พัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดียิ่งขึ้น

นอกจากจะพัฒนาพื้นที่ชุมชนรอบ EXIM BANK สำนักงานใหญ่แล้ว ยังได้ขยายการทำ CSR-in-process ไปในพื้นที่ชุมชนห้วยน้ำเพี้ย บ้านเชตวัน ต.สันทะ อ.นาน้อย จ.น่าน ทำโครงการ “ชุมชนเข้มแข็ง ความเป็นอยู่ยั่งยืน” ให้ความรู้เรื่องการแก้ไขปัญหาหนี้สินครัวเรือนกับชาวบ้าน ให้คำปรึกษาด้านธุรกิจและสร้างงานสร้างอาชีพให้ชาวบ้านมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน


ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK เปิดเผยว่า ESG เป็นเครื่องมือสร้างมูลค่าระยะยาวต่อสังคมและเศรษฐกิจ จะต้องทำอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะเห็นผลเป็นที่ประจักษ์ EXIM BANK จึงน้อมนำศาสตร์พระราชาและปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่เน้นการจัดการและการอนุรักษ์ดิน น้ำ ป่า มาผสมผสานกับนวัตกรรมสีเขียว (Green Innovation) เปลี่ยนพื้นที่แห้งแล้งและไม่สามารถปลูกไม้ยืนต้นได้ให้เป็นพื้นที่ป่าที่สมบูรณ์ขึ้น โดยมีเป้าหมายลดการบุกรุกพื้นที่ป่าและการเผาตอซังจากการทำไร่ข้าวโพด ทำให้เกษตรกรมีรายได้และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ตั้งแต่ปี 2566 EXIM BANK ได้สานพลังกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และองค์การบริหารส่วนตำบลสันทะ (อบต.สันทะ) ในกิจกรรม “ค่ายวิศวพัฒน์” ลงพื้นที่สร้างแหล่งน้ำ ฝายกักน้ำ ฝายดักตะกอน ฝายน้ำบริโภค ให้กับชาวบ้านชุมชนห้วยน้ำเพี้ย ที่เป็นพื้นที่สูงชาวบ้านปลูกข้าวโพดเป็นหลัก ไม่สามารถปลูกพืชชนิดอื่นได้เนื่องจากไม่มีน้ำ EXIM BANK จึงได้ร่วมกับลูกค้าของธนาคาร ประกอบด้วย บริษัท ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี่ คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ร่วมสนับสนุน Solar Panel ขนาด 240 W จำนวน 42 แผ่น รวม 10 KW และ Inverter ขนาด 5 KW จำนวน 2 เครื่อง และบริษัท อีสเทอร์น พาวเวอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ร่วมสนับสนุน Solar Panel จำนวน 20 แผ่น รวม 6.5 KW ให้กับชุมชนเพื่อให้มีกระแสไฟฟ้าใช้ในการผันน้ำขึ้นไปกักเก็บบนบ่อในที่สูงเพื่อใช้ในการเกษตรทั้งปลูกพืชและเลี้ยงปลา จูงใจให้เกษตรกรลดพื้นที่ปลูกข้าวโพดเปลี่ยนเป็นปลูกไม้ผลอย่าง ทุเรียน โกโก้ อะโวคาโด และอินทผลัม

นอกจากนี้ กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งได้ขอคำปรึกษาจาก EXIM BANK ในการช่วยเหลือด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์และด้านการตลาด ให้ผลิตภัณฑ์น้ำผึ้งป่าที่ผลิตได้มีมูลค่าเพิ่มเพื่อจำหน่ายได้ราคาดี ยกระดับจากสินค้า OTOP สู่ตลาดส่งออก ซึ่ง EXIM BANK จะร่วมมือกับพันธมิตรอย่างสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ทำการวิจัยและพัฒนาน้ำผึ้งป่าของเกษตรกรให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสูงและมีคุณค่าทางโภชนาการและคุณสมบัติทางยา สามารถเพิ่มช่องทางจำหน่ายได้มากขึ้น


ดร.รักษ์ กล่าวว่า ชุมชนห้วยน้ำเพี้ยเป็นพื้นที่ประสบภัยแล้งหนักเป็นเวลานาน ทำให้พื้นดินปลูกพืชไร่ได้เพียงปีละครั้ง ผลผลิตขายได้ราคาต่ำ ดินเสียจากการใช้ยาฆ่าหญ้า ยาฆ่าแมลง และเผาตอซังข้าวโพดเป็นเวลานาน เกิดปัญหาเกษตรกรบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อเคลื่อนย้ายพื้นที่ปลูกพืชไร่ การนำ Green Innovation ไปใช้สร้างความกินดีอยู่ดีให้แก่ประชาชนในท้องถิ่น สอดคล้องกับบทบาท Green Development Bank เพื่อช่วยให้ชุมชนมีทั้งไฟฟ้าและน้ำใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคและทำการเกษตรได้ตลอดปี แก้ปัญหาภัยแล้ง ลดการบุกรุกพื้นที่ป่า ลดปัญหาสิ่งแวดล้อมจากดินเสียและมลพิษ สร้างโอกาสให้ชุมชนมีรายได้เพิ่มมากขึ้น นับเป็นการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมในชุมชนอย่างเป็นบูรณาการและยั่งยืน เนื่องจากเกษตรกรสามารถปลูกไม้ยืนต้นและไม้ผลอื่น ๆ เพื่อการบริโภคและสร้างรายได้ครัวเรือนได้มากขึ้น และผลผลิตมีมูลค่าสูงกว่าพืชไร่

“ในปี 2567 EXIM BANK ได้ขยายความร่วมมือกับพันธมิตรรายใหม่ ได้แก่ บริษัท กรีน เยลโล่ (ไทยแลนด์) จำกัด ลูกค้าของธนาคารซึ่งบริจาค Solar Panel ขนาด 540 WP จำนวน 40 แผ่น ที่ยังสามารถใช้งานได้ดีมาผลิตไฟฟ้าในโครงการเพิ่ม และในอนาคตจะเพิ่มจำนวนพันธมิตรให้มากยิ่งขึ้น” ดร.รักษ์ กล่าว

หลังจากได้ทำโครงการ “ชุมชนเข้มแข็ง ความเป็นอยู่ยั่งยืน” ให้กับชุมชนห้วยน้ำเพี้ย จ.น่าน อย่างต่อเนื่องในปี 2567 คณะผู้บริหารและพนักงาน EXIM BANK ได้ติดตามผลการดำเนินการและพบว่ามีความคืบหน้าและเห็นผลเป็นรูปธรรมมากขึ้น โดย รศ.ดร.สรรเพชญ ชื้อนิธิไพศาล อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ชาวชุมชนห้วยน้ำเพี้ยอยากจะพัฒนาชุมชนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

ในอนาคต ซึ่งค่ายวิศวพัฒน์สร้างบ้านดินเพื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้ในพื้นที่และจะสร้างเพิ่มขึ้นให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว เมื่อ EXIM BANK ได้เข้ามาเป็นพันธมิตรกับค่ายวิศวพัฒน์ ได้นำเอาแผงโซลาร์เซลล์มาใช้ผันน้ำขึ้นที่สูง ทำให้เพิ่มพื้นที่สีเขียวได้มากกว่า 100 ไร่ และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเกษตรกรใช้วิธีการปลูกพืชไร่อย่างโกโก้ กาแฟ คู่ไปกับการปลูกข้าวโพด การที่เกษตรกรยังต้องปลูกข้าวโพดเพราะระหว่างรอไม้ผลโตและเริ่มมีผลผลิต เนื่องจากต้องการรายได้เพื่อยังชีพและชำระหนี้ แต่มีแนวโน้มเพิ่มจำนวนการผลิตไม้ผลมากขึ้นเรื่อย ๆ




“ใน 1 ปีที่ผ่านมา มีชาวบ้านห้วยน้ำเพี้ยได้ปลูกบ้านดินเพิ่มจาก 1 หลัง เป็น 10 หลังแล้ว มีจำนวนประชากรมาอาศัยและปลูกพืชไร่มากขึ้น ทางคณะวิศวฯ จุฬาฯ ได้ร่วมมือกับกรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมการปกครองส่วนท้องถิ่น เข้ามาช่วยกันพัฒนาพื้นที่ให้เป็นสีเขียวและร่วมศึกษาที่จะขอคาร์บอนเครดิตให้กับโครงการนี้ จะทำให้มีรายได้จากการปลูกพืชสร้างพื้นที่สีเขียวนอกเหนือจากการขายผลผลิต ในระยะยาวจะลดพื้นที่ปลูกข้าวโพดให้ได้มากที่สุด ที่ทำได้ก็เพราะมีน้ำและศาสตร์พระราชาที่เน้นการรักษ์ดินและน้ำอย่างยั่งยืน การมีน้ำใช้ทำให้เปลี่ยนความแห้งแล้งเป็นความอุดมสมบูรณ์ ขณะนี้ชาวบ้านที่ปลูกโกโก้ก็เริ่มได้ผลผลิตมาขายแล้ว ทำให้มีรายได้มากขึ้น” รศ.ดร.สรรเพชญ กล่าว

นางแหม่ม ธิเขียว อายุ 48 ปี ชาวบ้านห้วยน้ำเพี้ย กล่าวว่า การที่ชุมชนมีไฟฟ้าใช้ผันน้ำขึ้นที่สูงทำให้เกิดงาน เกิดอาชีพมากขึ้น และเริ่มมีคนเข้ามาอยู่เป็นชุมชนเพื่อปลูกไม้ยืนต้นและไม้ผลมากขึ้น เป็นเรื่องที่ดีมาก ตนเองมีรายได้เพิ่มจากการที่เริ่มมีนักท่องเที่ยวเข้าพัก และขายผลโกโก้ที่ปลูกไว้ ส่วนพืชอื่น เช่น ทุเรียน ต้องรอให้ออกผลผลิตก่อนก็จะมีรายได้เพิ่ม การพัฒนาพื้นที่สูงได้เห็นผลชัดเจนในเรื่องการลดการบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อปลูกข้าวโพด เกษตรกรมีรายได้มากขึ้น ในพื้นที่ต่ำก็ได้มีการพัฒนาอย่างเห็นผลเป็นรูปธรรมเช่นกัน โดย จ.ส.อ.ธงชัย ใจดอนมูล ปลัด อบต.สันทะ จ.น่าน กล่าวว่า ทาง อ.นาน้อยได้มีโครงการสร้างงาน สร้างอาชีพให้กับแรงงานคืนถิ่น เช่น สตรีที่เคยออกไปทำมาหากินต่างถิ่นกลับมาประกอบอาชีพเกษตรกรรมและเลี้ยงผึ้งป่า ได้มีการส่งตัวแทนเกษตรกรไปศึกษาการเลี้ยงผึ้งป่าที่ม่อนภูยา จ.พะเยา มาสอนการเลี้ยงผึ้งให้กับชาวบ้าน กำลังการผลิตน้ำผึ้งที่กลุ่มเกษตรกรทำได้ปีละ 2,000 ลิตร แต่น้ำผึ้งที่ได้ยังต้องพัฒนาคุณภาพเนื่องจากมีการตกตะกอนและมีความชื้นสูงทำให้ขายสินค้าไม่ได้ราคา การที่ EXIM BANK และ วว. เข้ามาช่วย ทำให้การพัฒนาสินค้าและการตลาดดีขึ้น

ดร.ศิริพร บุตรสีโคตร นักวิจัย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมอาหารสุขภาพ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กล่าวว่า จากการวิจัยในเชิงลึกพบว่า น้ำผึ้งป่าจากพื้นที่มีความหวานจากน้ำตาลฟรุกโตสสูง ไม่มีซูโครสเลย ถือว่าเป็นน้ำผึ้งแท้ 100% แต่มีความชื้นสูงทำให้มียีสต์กับราเกินมาตรฐาน ดังนั้นจำเป็นต้องมีเครื่องไล่ความชื้น ต้องอบที่ความร้อน 60 องศาเซลเซียส นาน 6-12 ชั่วโมง จะได้น้ำผึ้งบริสุทธิ์ ราคาก็จะขยับสูงขึ้นได้อีก จากปัจจุบันที่เกษตรกรจำหน่ายอยู่ที่ 399 บาทต่อน้ำผึ้ง 750 มิลลิลิตร

“ทาง EXIM BANK และ วว. เข้ามาช่วยพัฒนาเครื่องอบไล่ความชื้นและเครื่องกรองน้ำผึ้ง และได้มอบให้กับ อบต.สันทะเพื่อให้เกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งมาใช้เมื่อต้องการลดความชื้นน้ำผึ้งที่จะนำไปจำหน่าย และได้ร่วมกันหาตลาดจำหน่ายน้ำผึ้งให้เกษตรกรด้วยการติดต่อผู้ซื้อใน จ.น่าน ที่ผลิตสินค้าอัตลักษณ์ของจังหวัดให้นำไปใช้ผสมอาหารและเครื่องดื่ม และในอนาคตจะพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้รักษ์โลกและพัฒนาคุณภาพให้ดีขึ้นอีกจนสามารถส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศได้” ดร.ศิริพร กล่าว

ผลที่เป็นรูปธรรมของ ESG in Action ที่ดำเนินการอยู่ ได้สร้างความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้กับชาวบ้านห้วยน้ำเพี้ย และชาวบ้านใน ต.สันทะ อ.นาน้อย จ.น่าน ที่มีมาอย่างต่อเนื่อง สามารถสร้าง Social Impact และสร้างรายได้เพิ่มขึ้นให้กับครัวเรือน ดร.รักษ์ กล่าวว่า โครงการนี้ได้สร้างรายได้ให้กับครัวเรือนที่เข้าร่วมโครงการเพิ่มปีละ 30,000 บาท จากรายได้เฉลี่ยของครัวเรือนใน จ.น่าน ปีละ 240,000 บาท

ดร.รักษ์ กล่าวต่อไปว่า การมีรายได้เพิ่มไม่ได้สร้างความยั่งยืนเท่ากับการบริหารเงินเป็น รู้จักใช้รู้จักออม ซึ่งทุกครั้งที่เดินทางมาดูความคืบหน้าของโครงการ จะแนะนำวิธีการบริหารและออมเงินเสมอ โดยการแนะนำกฎเหล็กของการจัดสรรรายได้คือ 20% ของรายได้ให้เก็บออมไว้ก่อน เงินที่เหลือ 50% สำหรับใช้จ่ายเพื่อดำรงชีวิต ซื้ออาหาร เสื้อผ้า ยารักษาโรค เป็นต้น อีก 30% ของรายได้ให้ใช้เพื่อสร้างความสุขในครอบครัว เช่น รับประทานอาหารนอกบ้าน ท่องเที่ยว ทำบุญ หากจะสร้างหนี้ต้องเป็นหนี้ดี เช่น หนี้เพื่อการศึกษา หนี้เพื่อซื้อที่อยู่อาศัย และหนี้ที่นำไปซื้อทรัพย์สินที่สร้างรายได้ และเมื่อเป็นหนี้ต้องมีวินัยในการจ่ายหนี้ ไม่นำเงินไปใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ใช้จ่ายเกินตัวและซื้อของที่ไม่จำเป็น

นับเป็นการสร้างความเข้มแข็งของชุมชน เพื่อต่อยอดการพัฒนาประเทศตั้งแต่ฐานราก EXIM BANK ในฐานะสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง พร้อมสานพลังกับทุกภาคส่วนขับเคลื่อนประเทศไทยและโลกสู่ความยั่งยืน