xs
xsm
sm
md
lg

Enactus ผลักดันเยาวชนไทย มุ่งเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงระดับโลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



มูลนิธิรากแก้วเตรียมเป็นเจ้าภาพการแข่งขัน “Enactus World Cup 2025” ที่จะจัดขึ้นในประเทศไทยในปีพ.ศ.2568 ชี้เป็นโอกาสที่ภาคเอกชน ภาคการศึกษา และภาคประชาสังคม ร่วมกันเพื่อแสดงพลังของเยาวชนไทยบนเวทีสากล พร้อมขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืน มุ่งสร้างคนรุ่นใหม่ที่มีหัวใจของผู้นำที่มุ่งมั่นเพื่อสังคม ไม่เพียงเป็นทรัพยากรสำคัญของประเทศไทย แต่ยังเป็นพลเมืองโลกที่มีศักยภาพในการสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน


ผศ.นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ ประธานกรรมการมูลนิธิรากแก้ว กล่าวว่า มูลนิธิรากแก้วก้าวเข้าสู่ปีที่ 18 ของการดำเนินงานในการขับเคลื่อนพลังเยาวชนเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ความสำเร็จของมูลนิธิฯ ในวันนี้เกิดขึ้นได้จากความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยผู้ก่อตั้งมูลนิธิรากแก้ว ที่ได้สร้างรากฐานที่มั่นคง และกำหนดทิศทางที่ชัดเจนขณะที่ ประธานกรรมการในอดีตทุกท่าน ที่ได้มุ่งมั่นสานต่อพันธกิจของมูลนิธิฯ ด้วยความเสียสละ และความวิริยะอุตสาหะ ประกอบกับทีมงานทั้งในอดีตและปัจจุบัน ที่ทำงานด้วยจิตวิญญาณของการสร้างความเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคม รวมทั้ง สถาบันอุดมศึกษา รวมถึงผู้บริหาร คณาจารย์ และนิสิตนักศึกษา ที่ร่วมมือกันขับเคลื่อนโครงการต่างๆ ด้วยความมุ่งมั่น ตลอดจน ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ที่ให้การสนับสนุนในด้านทรัพยากร ความเชี่ยวชาญ และโอกาส เพื่อส่งเสริมศักยภาพของเยาวชนไทย

“การสนับสนุนจากทุกท่านไม่เพียงแต่ช่วยส่งเสริมภารกิจของมูลนิธิ แต่ยังช่วยสร้างอนาคตที่สดใสให้กับเยาวชนไทย โดยเราหวังเห็นพวกเขาได้พัฒนาตนเองอย่างเต็มศักยภาพ เป็นทั้งคนดี คนเก่ง และมีความสุข เป็นพลเมืองคุณภาพของประเทศไทยและของโลก”ผศ.นพ.เฉลิมชัย กล่าวย้ำ

สำหรับภารกิจสำคัญของมูลนิธิรากแก้วในอนาคต กำลังก้าวเข้าสู่บทใหม่ที่สำคัญ โดยมุ่งเน้นบทบาทการเป็นองค์กรบูรณาการเครือข่ายภาคการศึกษา และภาคส่วนต่างๆ เพื่อสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ที่เชื่อมโยงเยาวชนไทยเข้ากับแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืน พร้อมผลักดันให้พวกเขามีบทบาทสำคัญในระดับสากล หนึ่งในเป้าหมายสำคัญในปีหน้า คือ การเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน “Enactus World Cup 2025” ที่ประเทศไทย ซึ่งถือเป็นโอกาสอันล้ำค่าในการแสดงศักยภาพของเยาวชนไทย และสร้างความร่วมมือในระดับโลก

โดยประโยชน์ 3 ด้านที่จะเกิดขึ้นดังนี้คือ

1. เวทีระดับโลก ในการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน Enactus World Cup จะเป็นพื้นที่ที่เยาวชนจากกว่า 30 ประเทศทั่วโลกมารวมตัวกัน เพื่อแลกเปลี่ยนแนวคิดและประสบการณ์ในการสร้างสรรค์นวัตกรรมทางสังคม

2. ส่งเสริมศักยภาพเยาวชนไทย มูลนิธิรากแก้วจะสนับสนุนนิสิตนักศึกษาไทยให้ได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ ความเป็นผู้นำ และความมุ่งมั่นในการสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคม

และ 3. ขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน งานนี้ไม่เพียงแต่แสดงถึงศักยภาพของเยาวชน แต่ยังสร้างความเข้าใจ และความร่วมมือระหว่างประเทศในการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ มูลนิธิรากแก้วยังคงมุ่งมั่นดำเนินโครงการต่างๆ เพื่อพัฒนาศักยภาพของเยาวชนอย่างต่อเนื่อง ผ่านการสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างภาคการศึกษาและภาคส่วนต่างๆ เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนเป็น ผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลง มีวิสัยทัศน์ และสามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกในระดับประเทศและระดับโลก

สำหรับบทบาทของ Enactus ประเทศไทย ที่ดำเนินการโดยมูลนิธิรากแก้ว ไม่เพียงสนับสนุนการแข่งขัน แต่ยังทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงเยาวชนไทยเข้ากับเครือข่าย Enactus ทั่วโลก โดยมุ่งหวังสร้างประโยชน์ 4 ส่วน ดังนี้

1. การเรียนรู้เชิงปฏิบัติ ผ่านโครงการที่ส่งเสริมให้นิสิตนักศึกษาใช้ทักษะด้านธุรกิจ นวัตกรรม และความรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อแก้ไขปัญหาในชุมชน

2. การพัฒนาทักษะผู้ประกอบการ (Entrepreneurial Skills) มูลนิธิรากแก้วมุ่งเน้นสนับสนุนให้นิสิตนักศึกษาได้เรียนรู้ทักษะที่จำเป็นต่อการประกอบอาชีพในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นการวางแผนธุรกิจ การบริหารจัดการทรัพยากร และการคิดเชิงสร้างสรรค์ โดยประยุกต์ใช้โครงการที่พวกเขาทำเพื่อช่วยเหลือสังคมให้เกิดผลกระทบที่ยั่งยืน

3. ความร่วมมือจากเครือข่ายนิสิตนักศึกษา ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ระหว่างเยาวชนจากหลากหลายประเทศ เพื่อพัฒนาความคิดที่หลากหลายและสร้างผลกระทบที่ยั่งยืน

และ4. การเติบโตของเครือข่ายระดับโลก ทำให้เยาวชนไทยมีบทบาทสำคัญในเครือข่าย Enactus ระดับโลก พร้อมยกระดับภาพลักษณ์ของประเทศไทยในฐานะประเทศที่สนับสนุนเยาวชนสู่ความเป็นพลเมืองโลก

“Enactus ย่อมาจาก Entrepreneurial in Action is Us มูลนิธิรากแก้วยังคงมุ่งมั่นที่จะเป็นแรงผลักดันให้เยาวชนไทยก้าวไปสู่อนาคตที่สดใส ด้วยความมุ่งมั่นต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และการสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมในทุกระดับ เป้าหมายของเราชัดเจนคือการสร้างคนรุ่นใหม่ที่มีหัวใจของผู้นำที่มุ่งมั่นเพื่อสังคม พร้อมด้วยความสามารถในการวิเคราะห์และแก้ไขปัญหาที่โลกกำลังเผชิญ เรามุ่งหวังให้เยาวชนเหล่านี้ไม่เพียงแต่เป็นทรัพยากรสำคัญของประเทศไทย แต่ยังเป็นพลเมืองโลกที่มีศักยภาพในการสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน”

“เชื่อมั่นว่า หากเราร่วมมือกัน ภารกิจของมูลนิธิรากแก้วจะสามารถบรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ และประเทศไทยจะมีพลเมืองที่เก่ง ดี มีความสุข และพร้อมที่จะเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงในระดับสากล เพื่ออนาคตที่ยั่งยืนของเยาวชนไทยและสังคมโลกโดยรวม” ผศ.นพ.เฉลิมชัย ทิ้งท้าย


๐ การสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน

นายจิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา องคมนตรี กล่าวถึงความสำคัญของพลังนิสิตนักศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ในโอกาสที่มูลนิธิรากแก้วก้าวเข้าสู่ปีที่ 18 ปี ว่า เป็นองค์กรที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนานิสิตนักศึกษาให้กลายเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ที่สร้างสรรค์สังคมอย่างยั่งยืน เริ่มดำเนินการโครงการ SIFE (Students in Free Enterprise) คือ การประกวดโครงการพัฒนาเพื่อชุมชนระดับโลก เพื่อส่งเสริมนิสิตนักศึกษานำความรู้ทางธุรกิจไปพัฒนาชุมชนให้มีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ทีดีขึ้นตาม triple bottom line คือ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งวัดผลได้อย่างเป็นรูปธรรม ภายหลัง SIFE ได้เปลี่ยนชื่อองค์กรเป็น Enactus ย่อมาจาก Entrepreneurial in Action is Us

นิสิตนักศึกษาไม่ใช่เพียงคนรุ่นใหม่ที่กำลังเติบโต แต่คือ “ผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่” ที่มีความคิดสร้างสรรค์ กล้าท้าทายสิ่งเดิม และพร้อมที่จะสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ความสามารถเหล่านี้จะกลายเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการพัฒนาประเทศ ในปี 2025 ปีที่โลกจะทบทวนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ซึ่งทุกประเทศ รวมถึงประเทศไทย จะต้องแสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้า และนิสิตนักศึกษา คือ “ตัวแปรสำคัญ” ที่จะช่วยให้เราบรรลุเป้าหมายดังกล่าวนี้

2.1 โอกาสในการสร้างนวัตกรรมที่ยั่งยืน

ในโลกยุคใหม่ “นวัตกรรม” จะเป็นหัวใจสำคัญในการแก้ปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม นิสิตนักศึกษาที่มีความรู้ความสามารถ จะกลายเป็นผู้คิดค้นและพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ซึ่งหากได้รับการสนับสนุนจากภาคการศึกษาและภาคเอกชน จะสามารถขยายผลในวงกว้างได้อย่างแน่นอน

2.2 การเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงในชุมชน

นิสิตนักศึกษา ไม่ใช่เพียงผู้นำทางความคิด แต่ยังเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ในชุมชน ที่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงจากระดับรากหญ้าได้ หากมีหน่วยงานรัฐ บริษัทเอกชน ผู้ใหญ่ที่ใจดี ให้การสนับสนุนอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะในด้านทรัพยากร การฝึกอบรม และการให้คำปรึกษา โครงการเล็กๆ ในวันนี้ อาจกลายเป็นโครงการระดับชาติ หรือเป็นธุรกิจเพื่อสังคมต่อไปในอนาคต

3. บทบาทของภาคการศึกษา และภาคเอกชน ในการร่วมสร้างอนาคตที่ยั่งยืน

ความสำเร็จในการพัฒนาที่ยั่งยืน ไม่สามารถเกิดขึ้นได้เพียงลำพังจากนิสิตนักศึกษาเท่านั้น แต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ได้แก่

3.1 ภาคการศึกษา ศูนย์กลางแห่งการพัฒนาเยาวชน
มหาวิทยาลัย ควรเป็นพื้นที่เปิดกว้างสำหรับการทดลองนวัตกรรมใหม่ๆ และเป็นแหล่งบ่มเพาะผู้นำรุ่นใหม่ โดยเน้นการเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติจริง และการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับภาคธุรกิจให้มากขึ้น

3.2 ภาคเอกชน พลังสนับสนุนที่สำคัญ
ภาคเอกชนมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนโครงการของนิสิตนักศึกษา ไม่ว่าจะเป็นการให้ทุน การสนับสนุนในรูปแบบของที่ปรึกษา หรือการนำโครงการเหล่านี้ไปใช้จริงในองค์กร ซึ่งไม่เพียงแต่จะเป็นการสร้างความยั่งยืนให้กับสังคม แต่ยังเป็นการลงทุนในอนาคตของธุรกิจเองด้วย

องคมนตรี ย้ำว่า “ในท้ายที่สุด การพัฒนาที่ยั่งยืนคือภารกิจร่วมกันของพวกเราทุกคน และนิสิตนักศึกษา คือหัวใจสำคัญของการเปลี่ยนแปลงนี้”


4 ตัวอย่างเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

๐ จากโครงการRakkaew Expo 2024

โครงการแรก “ผการันดูล” มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์
– ทีมนักศึกษาผการันดูล พัฒนาธุรกิจผ้าทอและจักสานของวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ โดยออกแบบลายผ้าและลายจักสานใหม่ แปรรูปผลิตภัณฑ์ ขยายช่องทางการตลาดออนไลน์ ช่วยเพิ่มรายได้ให้กลุ่มสตรีและวิสาหกิจชุมชนได้มากถึง 3 เท่า
ทีมแนะนำกระบวนการผลิตที่ใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติและการรมควัน เพื่อเพิ่มความคงทนของผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ ยังเกิดกลุ่มเยาวชนที่เข้ามาเรียนรู้และฝึกทักษะงานหัตถกรรม เพื่อสืบสานวัฒนธรรมและพัฒนาพื้นที่ให้เป็นศูนย์การเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม


โครงการที่สอง “โกโก้ โกกรีน” จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย – ทีมนิสิตพัฒนาโครงการเพื่อแก้โจทย์ชุมชนเกษตร
ควบคู่กับการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในจังหวัดน่าน โดยใช้ผลโกโก้ตกเกรดมาทำอาหารโคขุน ด้วยการนำนวัตกรรมการศึกษาวิจัยคุณประโยชน์ของผลโกโก้ที่สามารถช่วยลดการผลิตก๊าซมีเทนในกระเพาะโพ ซึ่งมีผลต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ให้กลับมาเป็นพลังงานในการเสริมสร้างเนื้อโคขุมให้มีคุณภาพดีขึ้น จึงสามารถเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรผู้ปลูกโกโก้และเกษตรกรผู้เลี้ยงโคได้ 15% และช่วยลดต้นทุนค่าอาหารโค 35%ต่อวัน นอกจากนี้ ยังมีแผนพัฒนาผลโกโก้ตกเกรดและเปลือกเหลือทิ้งจากกระบวนการแปรรูปให้เป็นสารเสริม เพื่อใช้ทำอาหารโคขุนสูตรคาร์บอนต่ำในอนาคต


๐ จากโครงการEnactus World Cup 2024

โครงการแรก “BOVITA” Tunis Business School ประเทศตูนีเซีย - ทีมนักศึกษาพัฒนาโครงการ “BOVITA”เพื่อจัดการปัญหาโรคเต้านมอักเสบระบาดในวัว โดยการพัฒนายาฉีด ครีม และเจลน้ำมันที่ทำจากพืชธรรมชาติ เพื่อใช้ทดแทนยาต้านแบคทีเรียแบบเดิมที่ทำจากสารเคมี ช่วยลดต้นทุนการรักษาโรคให้เกษตรกร ลดการใช้สารเคมีและยาต้านแบคทีเรียที่อาจปนเปื้อนในธรรมชาติและในเนื้อวัว ถ่ายทอดความรู้ให้เกษตรกรสามารถดูแลและรักษาโรคของวัวได้ดีขึ้น ตลอดจนสนับสนุนการทำปศุสัตว์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม


โครงการที่สอง “EPIC” Mohammadia School of Engineers ประเทศโมร็อกโก - ทีมนักศึกษาพัฒนาโครงการ “EPIC”นำเสนอเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเลี้ยงและปกป้องสุขภาพผึ้งคิดค้นระบบติดตามและแจ้งเตือน ช่วยเกษตรกรดูแลสุขภาพผึ้งได้อย่างมีประสิทธิภาพ โครงการได้เพิ่มมูลค่าขี้ผึ้งด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ เช่น สบู่ และภาชนะ
จากขี้ผึ้งที่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ เป็นการลดการใช้พลาสติกและสารเคมี นอกจากนี้ ยังช่วยลดความยากจนในชุมชน โดยการสร้างโอกาสทางอาชีพ การจ้างงาน กระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน และส่งเสริมความยั่งยืนของชุมชน ./


กำลังโหลดความคิดเห็น