คณะกรรมการบริหาร DAD ยกทีมศึกษาดูเมืองสมาร์ท ซิตี้ และพลังงานสะอาด “บ้านผีเสื้อ” หวังใช้เป็นแนวทางพัฒนาเมืองศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ แจ้งวัฒนะ ขึ้นแท่นเมืองราชการต้นแบบเมืองสีเขียว ล่าสุดจัดงบ 32 ล้านบาทผุดอาคารกักเก็บพลังงาน ตั้งเป้า 1 ปีแล้วเสร็จ นำร่องใช้ในอาคารธนพิพัฒน์ สู่ต้นแบบอาคารพลังงานเป็นศูนย์ Net Zero building
ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ประธานกรรมการบริหาร และ ดร.นาฬิกอติภัค แสงสนิท กรรมการผู้จัดการ บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด หรือ DAD Asset Development ผู้บริหารจัดการศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ แจ้งวัฒนะ และนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ตามนโยบายรัฐบาล เดินทางพร้อมคณะผู้บริหาร พนักงาน เข้าศึกษาดูงาน โครงการ Smart City มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมี ผู้ช่วยศาสตรจารย์ทศพร พิชัยยา รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชาย รังสิยากูล ผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเมืองเพื่อความยั่งยืน ให้การต้อนรับและรับฟังการบรรยาย ณ ห้องประชุมบัวเรศ คำทอง อาคารสำนักงานมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นอกจากนั้นยังเดินทางเข้าเยี่ยมชมโครงการบ้านผีเสื้อ ต้นแบบการอยู่อาศัยแห่งอนาคตที่พึงพาหลังงานสะอาดจากโซล่าเซลล์และไฮโดรเจน โดยมี นายเซบาสเตียน ยุสตุส ชมิดท์
(Mr. Sebastian-Justus Schmidt) ผู้ผลิตอิเล็กโทรไลเซอร์เทคโนโลยี AEM และเป็นเจ้าของบ้านผีเสื้อ ให้การต้อนรับ นำเยี่ยมชมพร้อมให้ความรู้ ณ บ้านผีเสื้อ ตำบลสันผีเสื้อ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่
ดร.นาฬิกอติภัค แสงสนิท กรรมการผู้จัดการ DAD กล่าวว่า จะนำความรู้ที่ได้จากการศึกษาดูงานครั้งนี้ไปใช้ประโยชน์ในการดำเนินงานของ DAD เนื่องจากได้กำหนดนโยบายการดำเนินงานตามแผนยุทศาสตร์ 5 ปี ด้านการส่งเสริมบริหารจัดการอาคารด้วย BCG Model โดยจะยกระดับศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ เป็น “ต้นแบบเมืองสีเขียว คาร์บอนต่ำ” ภายในปี 2570 ปัจจุบันทยอยดำเนินการไปแล้วหลายส่วน เช่น การติดตั้งแผงโซล่าเซลล์ การเพิ่มพื้นที่สีเขียว การให้บริการรถรับ-ส่ง พลังงานสะอาด EV Shuttle Bus การใช้นวัตกรรมเพื่อบริหารจัดการน้ำ
ล่าสุดปีงบประมาณ 2568 ยังได้จัดสรรงบประมาณ 32 ล้านบาท ก่อสร้างอาคารกักเก็บพลังงาน เพื่อจ่ายพลังงานให้กับอาคารธนพิพัฒน์ ซึ่งเป็นอาคารสำนักงานของ DAD คาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดระบบใช้งานได้ในปลายปี 2568 ซึ่ง DAD มีเป้าหมายยกระดับอาคารธนพิพัฒน์เป็นต้นแบบอาคารพลังงานเป็นศูนย์ Net Zero building