ในยุคโลกกำลังหันหลังให้กับพลังงานฟอสซิลที่ล้าหลังอย่างถ่านหิน พร้อมเร่งเดินหน้าไปสู่พลังงานหมุนเวียนที่สะอาดและเป็นธรรม หรือเทคโนโลยีเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ทว่างาน “โลกเย็นที่เป็นธรรม : 5 ปีแห่งการต่อสู้ของคนอมก๋อย สู่ความท้าทายในวิกฤตโลกเดือด” กลับสะท้อนความเป็นจริงที่ว่าประเทศไทยยังเดินสวนโลก
กลุ่มเครือข่ายเฝ้าระวังอมก๋อย จัดงาน ที่คริสตจักรกะเบอะดิน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ เมื่อ 7 ธันวาคมที่ผ่านมา นำเสนอความท้าทายที่ชุมชนชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองต้องเผชิญ ไม่ว่าจะเป็นวาทกรรมตีตราในวิถีชีวิตและการโยนความผิดให้ชนเผ่าพื้นเมืองว่าเป็นผู้ก่อวิกฤตโลกเดือด ความล้มเหลวของระบบธรรมาภิบาลโลกและการเจรจาพหุภาคีด้านสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพในการปกป้องวิถีชีวิตของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง รวมทั้งการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนจากระบบการดำเนินการของรัฐและบริษัทยักษ์ใหญ่ ซึ่งก่อให้เกิดวิกฤตสภาพภูมิอากาศและผลกระทบต่อชุมชนชาติพันธุ์ ชนเผ่าพื้นเมือง และประชาชนที่ไม่ได้เป็นผู้ก่อมลพิษแต่กลับต้องได้รับผลกระทบของความสูญเสียและเสียหายมากที่สุด
ในงานจัดวงเสวนาจากชุมชน 2 วง ได้แก่ 5 ปีแห่งการต่อสู้ของคนอมก๋อย การเดินทาง จุดยืนและความหวัง พร้อมเรื่องราวการไม่สยบยอมให้เกิดโครงการเหมืองถ่านหินของชุมชนหมู่บ้านกะเบอะดิน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์การต่อสู้ของชุมชนผู้นำนักปกป้องสิทธิ ที่ไม่ยอมอยู่ภายใต้อำนาจนายทุนให้เข้ามาทำลายทรัพยากรธรรมชาติและลดทอนคุณค่าของกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง
และวงเสวนา “โลกเย็นที่เป็นธรรม:การต่อสู้ของคนอมก๋อย สู่ความท้าทายในวิกฤตโลกเดือด” ที่แลกเปลี่ยนประเด็นด้านความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศที่ต้องเกิดขึ้น รวมถึงประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชนและสิทธิทางสิ่งแวดล้อม
นางสาวพรชิตา ฟ้าประทานไพร เยาวชนหญิงจากหมู่บ้านกะเบอะดิน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า “ชุมชนได้ร่วมกันต่อสู้เพื่อสิทธิชุมชนของกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง เราเรียกร้องความเป็นธรรมเข้าสู่ปีที่ 5 และจะยืนยันต่อสู้เพื่อให้ได้รับความเป็นธรรมและจะไม่ยอมให้โครงการเหมืองแร่ถ่านหินเกิดขึ้นในชุมชน เพราะจะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ สิ่งแวดล้อม และตัวโครงการไม่ควรละเมิดสิทธิชุมชน สิทธิกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองไม่ว่าจะเรื่องใดก็ตาม”
“บริษัทและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องปลดระวางถ่านหินเพราะจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงในอนาคตและควรหันกลับมาใช้พลังงานสะอาดที่เป็นธรรมและยั่งยืนเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับโลกใบนี้”
นายสุมิตรชัย หัตถสาร ทนายความสิทธิมนุษยชน ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น กล่าวว่า “เราจะไม่เรียกร้องเฉพาะการยกเลิกการขอประทานบัตร แต่เราจะยกเลิกแหล่งถ่านหินเพื่อไม่ให้ใครขอประทานบัตรได้อีก รัฐไม่เคยรักษาคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ต่อประชาชนและนานาชาติ จึงนำมาสู่การเรียกร้องสิทธิในวันนี้”
“เราค้นพบว่าความล่าช้าในกระบวนการยุติธรรมในคดีที่ชาวอมก๋อยยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง จ.เชียงใหม่กรณีโครงการเหมืองถ่านหินอมก๋อย และสิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญล้วนแล้วแต่ไม่มีความชอบธรรม เช่น กระบวนการยุติธรรมที่ล่าช้ากว่า 2 ปี และยังคลุมเคลือต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียซึ่งมันยังเป็นความเสี่ยงต่อชุมชนเพราะถ่านหินมันยังคงอยู่ในพื้นที่ เราจึงอยากได้คำตัดสินที่สร้างความชัดเจนไปเลยว่าพื้นที่อมก๋อยนี้ต้องห้ามประทานบัตรทำโครงการเหมืองถ่านหินอีก เพราะรัฐต้องให้ความสำคัญต่อประเด็นสิทธิในการพัฒนาตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิในการพัฒนาที่ได้ระบุถึงพื้นฐานการพัฒนาพื้นที่จะต้องให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเป็นคนตัดสินใจและมีวัตถุประสงค์เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมโดยในสิทธินี้ยังหมายถึงการบรรลุถึงสิทธิในการกำหนดเจตจำนงของตนเองอย่างเต็มที่ด้วย”
ด้านนายอรรถพล พวงสกุล นักรณรงค์ด้านการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่สะอาดและเป็นธรรม กรีนพีซ ประเทศไทย ให้ข้อสังเกตว่า “ในประเด็นด้านการปลดระวางถ่านหิน ประเทศไทยถือว่าเป็นวาระที่ควรถูกยกระดับให้เป็นวาระเร่งด่วน เพราะไทยได้เข้าร่วมเป็นภาคีความตกลงปารีสตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 และได้ให้ข้อเสนอการมีส่วนร่วมของประเทศในการลดก๊าซเรือนกระจกและดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับประชาคมโลก (National Determined Contribution; NDC) ซึ่งมีการตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศให้ได้ร้อยละ 20 – 25 ภายในปี 2573
“อย่างไรก็ตาม ภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจในประเทศยังคงมีการดำเนินกิจการที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับถ่านหิน ซึ่งเป็นพลังงานที่ล้าหลังและส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ การปนเปื้อนสารพิษในดิน ลำน้ำ ทรัพยากรธรรมชาติ ตลอดจนความหลากหลายทางชีวภาพ และในงานวิจัยของกรีนพีซ สากล และเครือข่าย Endcoal ยังชี้ให้เห็นว่า ในแต่ละปี ผู้คนมากกว่า 350,000 คนทั่วโลกต้องเสียชีวิต จากมลพิษทางอากาศจากภาคอุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานถ่านหิน โดยรวมถึงโรงไฟฟ้าถ่านหินด้วยเช่นกัน”