การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกำลังเป็นประเด็นใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติทั่วโลก โดยเฉพาะทรัพยากรดินที่สำคัญต่อทุกชีวิตบนโลกอย่างมหาศาล จึงได้มีการกำหนดให้ทุกวันที่ 5 ธันวาคมของทุกปีเป็นวันดินโลก เมื่อดินที่เป็นเหมือนหัวใจของการเกษตรกำลังได้รับผลกระทบถือเป็นปัญหาใหญ่สำหรับประเทศไทยที่เป็นประเทศเกษตรกรรม หากดินดีย่อมทำให้เกษตรกรได้ผลผลิตคุณภาพดีในปริมาณสูงและช่วยสร้างรายได้หล่อเลี้ยงชีวิต หากดินสูญเสียความสมบูรณ์ย่อมทำให้ผลผลิตของเกษตรกรลดลงและต้องหันไปพึ่งพาปุ๋ยเคมีมากขึ้น
โดยทั่วไปแล้ว พืชจะเติบโตได้ดีในดินที่มีปริมาณน้ำ อากาศ และธาตุอาหารเพียงพอ โดยเฉพาะธาตุอาหารหลักเช่น ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม หากดินเสื่อมคุณภาพลงซึ่งอาจเกิดได้จากหลายปัจจัยทั้งสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง การปลูกพืชเชิงเดี่ยวเป็นเวลานาน การใช้สารเคมีและขาดการปรับปรุงดิน ย่อมส่งผลกระทบต่อผลผลิตของเกษตรกร แต่สำหรับเกษตรกรไทยยังมีอีกหนึ่งทางเลือกที่ช่วยเพิ่มผลผลิตได้แบบไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมคือการใช้ “น้ำกากส่า” สารปรับปรุงดินที่เป็นผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตแอลกอฮอล์ (กากน้ำตาลจากอ้อย) ซึ่งมีธาตุอาหารหลักที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืช ทั้งไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม รวมถึงจุลินทรีย์ที่ช่วยให้ดินอุดมสมบูรณ์ทำให้หลายพื้นที่ในประเทศไทยเริ่มหันมาใช้สารปรับปรุงดินแทนสารเคมี ซึ่งไม่เพียงส่งผลดีต่อผลผลิตของเกษตรกร แต่ยังช่วยฟื้นฟูดินและสร้างความยั่งยืนให้สิ่งแวดล้อมในระยะยาว
โรงงานสุรารวงข้าว ซึ่งมีผลพลอยได้จากกระบวนการกลั่นสุราอย่างน้ำกากส่าที่เป็นสารปรับปรุงดินชั้นดี มุ่งสร้างความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และหวังเพิ่มผลผลิตให้แก่เกษตรกรรอบโรงงานควบคู่ไปกับการฟื้นฟูดินเสื่อมโทรมเช่นที่ โรงงานอธิมาตร จังหวัดบุรีรัมย์ ได้ริเริ่ม “โครงการเปิดบ้านอธิมาตรต้อนรับสมาชิกใหม่ Athimart Open House & Open Heart”ขึ้นในปี 2566 เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจถึงประโยชน์ของสารปรับปรุงดินให้แก่เกษตรกรรอบโรงงานและอำเภอข้างเคียง เช่น สตึก แคนดง และคูเมือง ซึ่งเกษตรกรนิยมปลูกอ้อย ยางพารา มันสำปะหลัง พร้อมทั้งทดลองทำแปลงปลูกอ้อยและหญ้าเนเปียร์โดยใช้สารปรับปรุงดินเพื่อช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้เกษตรกรนำไปใช้กับแปลงของตนเองจนเกิดผลผลิตที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และลดการใช้สารเคมีลง ไม่เพียงแค่บุรีรัมย์ โรงงานแก่นขวัญ ในอำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น โรงงานสุรารวงข้าวอีกแห่งหนึ่ง ได้ทดลองใช้น้ำกากส่าในแปลงนาข้าวของเกษตรกรรอบโรงงาน จำนวน 11 ไร่ จากการทดลองเป็นระยะเวลากว่า 7 เดือน ผลผลิตเพิ่มขึ้นถึง 133 กิโลกรัมต่อไร่ และช่วยลดค่าใช้จ่ายในการซื้อปุ๋ยเคมีลดลง 1,140 บาท ต่อไร่ ต้นทุนการผลิตลดลงอย่างชัดเจนแต่ผลผลิตและดินมีคุณภาพดีขึ้น และช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างโรงงานและชุมชน
หากทุกคนร่วมมือกันใช้ทรัพยากรดินอย่างยั่งยืน ด้วยการลดการใช้สารเคมีและหันมาใช้ตัวช่วยเป็นสารปรับปรุงดินที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ย่อมช่วยลดการสะสมของสารพิษในดิน ฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ และช่วยเพิ่มอัตราการเจริญเติบโตของพืชได้ดีขึ้น และสร้างอนาคตที่ยั่งยืนให้กับเกษตรกรและโลกของเราได้ในระยะยาวอย่างแน่นอน