เมื่อวันที่ 12 ธันวาคมที่ผ่านมา นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นผู้รับมอบประกันชีวิตและอุบัติเหตุให้กับเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ภายใต้ “โครงการประกันภัยอาสาสู้ไฟป่า ปี 2568” นับเป็นปีที่ 2 และขยายเพิ่มเกือบ 20,000 คน ครอบคลุมพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 39 จังหวัด
โดยมี ดร.เจน ชาญณรงค์ รองประธานสภาลมหายใจกรุงเทพฯ นางสาวภาวิณี อริยภิญโญ ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารกิจกรรมเพื่อสังคม นายพิเชษฐ สิทธิอำนวย กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท หลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) นายกิติศักดิ์ สุริยรัตนพิมล รองผู้อำนวยการธุรกิจลูกค้ารายย่อย บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) นายปิยะ ซอโสตถิกุล กรรมการ บริษัท เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพร์ จำกัด (มหาชน) และนางสาวเอด้า จิรไพศาลกุล กรรมการผู้จัดการเทใจดอทคอม เป็นผู้แทนในการส่งมอบ ณ ห้องประชุมชั้น 4 อาคารอเนกประสงค์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
นายอรรถพล กล่าวว่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และ “อาสาสมัครพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช” ขอขอบคุณที่เล็งเห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจากไฟป่าและวิกฤตหมอกควัน และฝุ่น PM 2.5 รวมถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมของประชาชนในท้องถิ่น โดยได้สนับสนุนประกันชีวิตและอุบัติเหตุให้แก่เครือข่ายอาสาสมัครป้องกันไฟป่าของกรมอุทยานฯ จำนวน 19,565 คน ครอบคลุมพื้นที่ป่าที่ประสบปัญหาไฟป่าซ้ำซาก 140 แห่ง แบ่งเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 129 แห่ง และพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 11 แห่ง รวม 39 จังหวัด และยังครอบคลุมพื้นที่ป่าแปลงใหญ่เสี่ยงเผาไหม้ทั้ง 14 กลุ่มป่า (cluster) โดยเป็นการต่อเนื่องจากปี 2567 ที่ได้มอบไปแล้วจำนวนเกือบ 5,000 คน ประกันฯ ดังกล่าว เปรียบเสมือนการมอบขวัญกำลังใจและสร้างความมั่นคงให้แก่อาสาสมัครภาคประชาชนและท้องถิ่น ซึ่งมีความเสียสละและอุทิศตน เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการสนับสนุนภารกิจด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า พลังการมีส่วนร่วมเหล่านี้ จะส่งผลให้การป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่ามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมถึงวิกฤตปัญหาหมอกควัน โดยเฉพาะในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือตอนบนของประเทศไทยจะมีแนวโน้มที่ดียิ่งขึ้น
โดยประกันฯ ดังกล่าว จะคุ้มครองระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 31 พฤษภาคม 2568 เป็นระยะเวลา 5 เดือน ตลอดช่วงฤดูไฟป่า ในกรณีที่เสียชีวิตหรือทุพพลภาพ จะได้รับการคุ้มครอง รายละ 100,000 บาท หากบาดเจ็บเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล จะได้รับการชดเชยการขาดรายได้ วันละ 200 บาท เป็นเวลาไม่เกิน 20 วัน การสนับสนุนดังกล่าวถือเป็นนิมิตหมายใหม่ที่ภาคธุรกิจและประชาชนต่างรวมตัวกันเพื่อคุ้มครองป้องกันอาสาสมัครป้องกันไฟป่าให้เกิดความมั่นคงปลอดภัย ถือเป็นการมีส่วนร่วมที่สำคัญต่อไป เราเชื่อมั่นว่ายิ่งประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้นเท่าไร ปัญหาไฟป่าย่อมจะลดลงตามลำดับ