เนื่องจากอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยกำลังปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ทางธุรกิจเพื่อรับมือกับการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานอันเกิดจากความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ กลยุทธ์การจ่ายค่าตอบแทนพนักงานจึงได้เริ่มมุ่งเป้าไปที่การบริหารด้านต้นทุนและการเพิ่มประสิทธิภาพกำลังคนอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อรับมือกับความท้าทายมากมายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
ทิศทางและข้อมูลเชิงลึกสำหรับปี 2568
โดยจากการสำรวจค่าตอบแทนรวมประจำปี 2567 ของ Mercer เผยว่าอุตสาหกรรมยานยนต์คาดว่าจะมีการปรับขึ้นค่าจ้างเฉลี่ยอยู่ที่ 5% ในปี 2568 ซึ่งเป็นปริมาณเท่า ๆ กับอัตราการปรับขึ้นค่าตอบแทนของอุตสาหกรรมอื่น ๆ
อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยควรปรับตัวอย่างไรเพื่อกระตุ้นการรักษาและดึงดูดบุคลากรไปพร้อม ๆ กับการควบคุมต้นทุนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม?
การเสนอแผนค่าตอบแทนรวมที่ครอบคลุมองค์ประกอบสำคัญ อันรวมไปถึงสวัสดิการ
อุตสาหกรรมยานยนต์ไทย นับว่าเป็นผู้นำในด้านสวัสดิการ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแพ็คเกจค่าตอบแทนรวมของพนักงาน โดยจากการศึกษาข้อมูลของ Mercer พบว่า สวัสดิการและสิทธิประโยชน์พิเศษที่มอบให้คิดเป็นสัดส่วนถึง 21% ของค่าตอบแทนรวมทั้งหมดในภาคยานยนต์ สูงที่สุดเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ชีววิทยาศาสตร์, ไฮเทค, เคมีภัณฑ์, สินค้าอุปโภคบริโภค และประกันภัย อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาความสามารถในด้านค่าตอบแทน ยังคงแข่งขันได้น้อยกว่าอุตสาหกรรมเหล่านี้ ซึ่งสะท้อนการพัฒนารากฐานที่แข็งแกร่งของอุตสาหกรรมเพื่อให้สามารถเทียบเคียงกับตลาดได้ด้วยแพ็คเกจค่าตอบแทนแบบครบวงจรที่รวมถึงประกันสุขภาพ แผนเกษียณอายุ โบนัส และโอกาสพัฒนาความก้าวหน้าในสายอาชีพซึ่งสามารถเพิ่มความพึงพอใจและความภักดีของพนักงานได้อย่างมาก ด้วยการให้ความสำคัญกับการจ่ายค่าตอบแทนในแนวทางแบบองค์รวม ภาคยานยนต์ของไทยจะสามารถส่งเสริมแรงจูงใจของพนักงานและขับเคลื่อนนวัตกรรม
สวัสดิการแบบยืดหยุ่น – ออกแบบแพ็คเกจที่รองรับความหลากหลาย
มีเพียง 8% ขององค์กรในอุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศไทย ที่มีการให้สวัสดิการแบบยืดหยุ่น ซึ่งถือว่าเป็นสัดส่วนที่ค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่น ๆ ในประเทศไทย โดย 25% ขององค์กรผู้ตอบแบบสอบถามมีการเสนอตัวเลือกดังกล่าวให้คนในองค์กร แม้ว่าค่าตอบแทนและสวัสดิการที่น่าจูงใจจะเป็นปัจจัยสำคัญในการดึงดูดและรักษาบุคลากรที่มีความสามารถ แต่ผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคลในอุตสาหกรรมยานยนต์ก็มุ่งเน้นและสนับสนุนให้พัฒนาและทบทวนแพ็คเกจค่าตอบแทนที่สนับสนุนการเติบโตของบุคลากรและความสำเร็จขององค์กร โดยเริ่มมีการพิจารณาการสวัสดิการแบบยืดหยุ่น (Flexible benefits) ที่สอดคล้องกับความหลากหลายส่วนบุคคล เป็นหนึ่งในกลยุทธ์สำคัญ เพื่อตอบสนองความต้องการ ไลฟ์สไตล์ ของคนในแต่ละช่วงวัย โดยสวัสดิการเหล่านี้รวมไปถึงตัวเลือกที่พนักงานสามารถนำไปเบิกได้ เช่น ค่าเดินทางเครื่องบิน ค่าอุปกรณ์สนับสนุนสุขภาพ และค่าสมัครสมาชิกยิม และสวัสดิการที่รองรับความหลากหลายทางสังคมที่มากขึ้น ไอเดียที่สร้างสรรค์เหล่านี้สามารถแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นขององค์กรในการส่งเสริมความหลากหลายและความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงานได้อย่างครอบคลุมมากยิ่งขึ้น
แม้ว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ยังตามหลังในการเสนอสวัสดิการแบบยืดหยุ่นเมื่อเทียบกับหลาย ๆ อุตสาหกรรม อย่างไรก็ตามมีบริษัทยานยนต์หลายแห่ง เริ่มให้ความสนใจในการเสนอแผนสวัสดิการแบบยืดหยุ่น (ข้อมูลจากการวิจัยของ Mercer) ซึ่งเน้นย้ำถึงจุดเปลี่ยนที่สำคัญเนื่องจากแนวโน้มนี้กำลังได้รับความนิยมไปทั่วโลก
ขยายขอบเขตการเปรียบเทียบค่าตอบแทนไปนอกอุตสาหกรรม
ในภาคยานยนต์ บริษัทในอุตสาหกรรมอาจมีการเปรียบเทียบแพ็คเกจค่าตอบแทนภายในอุตสาหกรรมยานยนต์เท่านั้นอย่างไรก็ตาม ทาง Mercer เริ่มสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรม บริษัทยานยนต์หลายแห่ง เริ่มเปรียบเทียบการจ่ายค่าตอบแทนกับตลาดโดยรวม หรืออุตสาหกรรมอื่น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมไฮเทคมากขึ้น ยิ่งทำให้เห็นชัดเจนมากยิ่งขึ้นว่ามีการขยายมุมมองการเปรียบเทียบการแข่งขันต่างไปจากเดิม ที่โฟกัสที่อุตสาหกรรมยานยนต์เพียงอย่างเดียว
บรรลุเป้าหมายแห่งความสำเร็จ
เป็นสิ่งสำคัญสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในการออกแบบแพ็คเกจค่าตอบแทนรวมที่มีความครอบคลุม เพื่อรักษาระดับการแข่งขันความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ด้วยการเสนอสวัสดิการที่ครอบคลุมมากกว่าโครงสร้างเงินเดือนแบบเดิม เพื่อบริษัทสามารถดึงดูดและรักษาบุคลากรที่มีความสามารถได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเพื่อสร้างแรงจูงใจ และสร้างความมุ่งมั่นให้พนักงาน
สำหรับผู้นำอุตสาหกรรม ปี 2568 ไม่เพียงแต่เป็นปีที่เรากลับมาให้ความสนใจกับแนวโน้มการจ่ายค่าตอบแทนของตลาดเท่านั้น แต่ยังเป็นโอกาสสำคัญในการเร่งการเปลี่ยนแปลง และกำหนดอนาคตอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยให้เป็นผู้นำระดับโลกด้านนวัตกรรมและความเป็นเลิศด้านบุคลากร
บทความโดย พิรทัต ศรีสัจจะเลิศวาจา
กรรมการผู้จัดการ และผู้อำนวยการสายธุรกิจที่ปรึกษาทรัพยากรมนุษย์ บริษัท เมอร์เซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด