ลอรีอัล กรุ๊ป บรรลุเป้าหมายการใช้พลังงานหมุนเวียน 100% ในสถานประกอบการ¹ ทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกใต้ ตะวันออกกลาง และแอฟริกาเหนือ (SAPMENA) รวมทั้งประเทศไทยในสิ้นปี 2566
ซึ่งครอบคลุมโรงงาน ศูนย์กระจายสินค้า สำนักงาน และศูนย์วิจัยและนวัตกรรมทั้งหมดภายในภูมิภาค ถือเป็นก้าวสำคัญในเส้นทางความยั่งยืนของภูมิภาค และเกิดขึ้นในช่วงเวลาของการเติบโตอย่างคึกคักของธุรกิจของลอรีอัล กรุ๊ปใน SAPMENA ที่มีการเติบโตของทั้งการผลิตและยอดขายในระดับเลขสองหลักตั้งแต่ปี 2564
“ความยั่งยืนคือหัวใจสำคัญของกลยุทธ์การเติบโตทางธุรกิจของเรา ภูมิภาค SAPMENA ของลอรีอัลครอบคลุมพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ที่กว้างใหญ่มาก ตั้งแต่นิวซีแลนด์ไปจนถึงโมร็อกโก และเป็นกลไกการเติบโตที่สำคัญของลอรีอัล กรุ๊ป โดยผู้บริโภครายใหม่หนึ่งในสองคนจะมาจากภูมิภาคนี้ในทศวรรษหน้า ภูมิภาคนี้เป็นหนึ่งในภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากที่สุด และในฐานะผู้นำด้านความงามระดับโลก จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งที่เราจะต้องนำแนวปฏิบัติที่ยั่งยืนมาใช้ในการดำเนินงานของเราในขณะที่เราเติบโต การบรรลุเป้าหมายการใช้พลังงานหมุนเวียน 100% ถือเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญ และผมภูมิใจในความพากเพียรของทีมงานในการเร่งและบรรลุเป้าหมายนี้ได้สำเร็จก่อนกำหนดในปี 2568 เรายังไม่หยุดเพียงเท่านี้ นี่เป็นเพียงก้าวหนึ่งในหลายๆ ก้าวบนเส้นทางความยั่งยืนของเรา พันธสัญญาของเราขยายครอบคลุมกว่านี้อีกมาก” วิสเมย์ ชาร์มา ประธานของลอรีอัล กรุ๊ป ภูมิภาค SAPMENA กล่าว
โซลูชันที่หลากหลายสำหรับภูมิภาคที่หลากหลาย
ลอรีอัล SAPMENA มีสถานประกอบการ 23 แห่งที่ครอบคลุมพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ที่กว้างใหญ่ จึงจำเป็นต้องมีโซลูชันพลังงานหมุนเวียนที่หลากหลาย ตั้งแต่การติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์ไปจนถึงเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำที่มีอยู่เดิม ไปจนถึงการเลือกหม้อผลิตไอน้ำไฟฟ้าแทนหม้อต้มน้ำที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ในกรณีที่ไม่สามารถผลิตพลังงานหมุนเวียนในสถานที่ได้ ลอรีอัล SAPMENA ได้ทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว (PPA) และ/หรือใช้สัญญาจัดหาพลังงานสีเขียวและมาตรฐานการรับรองคุณลักษณะทางพลังงาน
กลยุทธ์แบบหลายแนวทางของลอรีอัล SAPMENA เพื่อบรรลุเป้าหมายการใช้พลังงานหมุนเวียน 100% ประกอบด้วย
1) การลดการและเลิกการใช้พลังงานทั่วทั้ง SAPMENA: มีการนำเครื่องมือและแนวปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพด้านพลังงานมาใช้ในสถานประกอบการทั้ง 23 แห่ง¹ ในปี 2566 ความเข้มข้นของการใช้พลังงานโดยรวมทั่ว SAPMENA ลดลง 18% เมื่อเทียบกับปี 2562
2) โรงงานใช้โซลูชันพลังงานหมุนเวียนที่หลากหลาย: โรงงานทั้งสี่แห่งของลอรีอัล SAPMENA ในอียิปต์ อินเดีย และอินโดนีเซีย ใช้พลังงานหมุนเวียนจากลม ชีวมวล พลังน้ำ หรือพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อลดก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นระหว่างการดำเนินงาน ตัวอย่างเช่น โรงงานทั้งสี่แห่งเลิกใช้หม้อผลิตไอน้ำที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล และใช้หม้อผลิตไอน้ำไฟฟ้าหรือชีวมวล/เชื้อเพลิงชีวภาพแทน
3) การเพิ่มการผลิตพลังงานหมุนเวียนในสถานประกอบการอื่นๆ ทั้งหมด: ในกรณีที่เป็นไปได้ ลอรีอัลได้ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ที่สำนักงานและศูนย์กระจายสินค้า ซึ่งมีตั้งแต่ระบบติดตั้งบนพื้นดิน การติดตั้งบนหลังคา และหลังคาที่จอดรถ
สำหรับประเทศไทยนั้น ลอรีอัลมุ่งมั่นลดผลประทบจากการดำเนินธุรกิจด้วยวิธีการที่หลากหลาย ตั้งแต่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยการเริ่มนำรถบรรทุกพลังงานไฟฟ้ามาใช้สำหรับการขนส่งสินค้าในกรุงเทพฯ และปริมณฑล การจำกัดการนำเข้าสินค้าทางอากาศ ศูนย์กระจายสินค้าสีเขียว ไปจนถึงการออกแบบสำนักงานแห่งใหม่ที่มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมยิ่งขึ้น ด้วยระบบควบคุมการใช้พลังงานอัจฉริยะ ทั้งระบบแสงสว่างและการควบคุมอุณหภูมิ อันเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนองค์กรไปสู่ธุรกิจที่มีความยั่งยืนอย่างแท้จริง
มุ่งสู่ Net Zero
ความยั่งยืนเป็นการเดินทางอย่างต่อเนื่องที่ครอบคลุมทุกขั้นตอนของห่วงโซ่คุณค่า และการบรรลุเป้าหมายการใช้พลังงานหมุนเวียน 100% ในปี 2566 ซึ่งเร็วกว่าพันธสัญญาในปี 2568 ถึงสองปี ถือเป็นก้าวสำคัญในความพยายามด้านความยั่งยืนที่เข้มข้นขึ้นของลอรีอัล SAPMENA ลอรีอัลจะยังคงลงงบประมาณและรักษาพันธสัญญาในการดำเนินงานด้วยพลังงานหมุนเวียน 100% และจัดการพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพในทุกสถานประกอบการของเราในปีต่อๆ ไป
ลอรีอัลมุ่งมั่นที่จะลดคาร์บอนในบรรจุภัณฑ์ โลจิสติกส์ และการขนส่ง และลงทุนในการยกระดับทักษะและให้ความรู้แก่ซัพพลายเออร์เชิงกลยุทธ์ ภายในปี 2573 เราจะสร้างนวัตกรรมเพื่อให้ผู้บริโภคของเราสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันเกิดจากการใช้ผลิตภัณฑ์ของเราลง 25% เมื่อเทียบกับปี 2559 โดยเฉลี่ยและต่อผลิตภัณฑ์
L'Oréal for the Future คือโปรแกรมด้านความยั่งยืนระดับโลกที่เริ่มในปี 2563 สะท้อนความทะเยอทะยานด้านความยั่งยืนของลอรีอัล กรุ๊ป ผ่านการทำงานบนแนวคิดเชิงกลยุทธ์หลักๆ 3 แกนหลัก ได้แก่:
1) การเปลี่ยนแปลงกิจกรรมทางธุรกิจเพื่อเคารพขอบเขตของโลก: โดยการจำกัดผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศ น้ำ ความหลากหลายทางชีวภาพ และทรัพยากรธรรมชาติ
2) การเสริมสร้างศักยภาพระบบนิเวศทางธุรกิจของตนเพื่อเปลี่ยนผ่านสู่โลกที่ยั่งยืน
3) การมีส่วนร่วมในการแก้ไขความท้าทายของโลก โดยการสนับสนุนความต้องการทางสังคมและสิ่งแวดล้อมเร่งด่วน