ถึงเดือนสุดท้ายของปี 2567 แต่สภาพอากาศแปรปรวนสุดขีดจากโลกร้อนยังส่งผลต่อเมืองไทยไม่เลิกรา
"เราเจอน้ำท่วมใหญ่มาตลอด ท่วมฉับพลันแบบ Flash Flood มีตั้งแต่แม่สาย เมืองเชียงราย แม่แตง เชียงใหม่ บ้านไร่ (อุทัย) ภูเก็ต 2-3 รอบ ก่อนมาถึงน้ำท่วมหนักในภาคใต้ตอนล่างแบบหลายคนบอกว่าไม่เคยพบเคยเห็น น่าสงสัยว่าปีหน้าโลกจะเป็นอย่างไรกันบ้าง เราจะเจออะไรอีกไหมหนอ จึงตั้งใจเขียน 5 คำทำนายคาดการณ์จากข้อมูลต่างๆ ในปัจจุบันให้ชาวคาร์บอนมาร์เก็ตคลับโดยเฉพาะ"
ทำนายแรก – โลกอยู่ในภาวะแบบไหน ปรกติหรือลานินญา
เป็นประเด็นที่สร้างความสับสนให้หลายคนเพราะคิดว่าเราโดนลานินญาตั้งแต่ปีนี้ แต่แท้ที่จริงเรายังอยู่ในภาวะปรกติ (Neutral) อาจเป็นไปได้ว่าจะเข้าลานินญาในปีหน้า แต่ยังไม่มีการฟันธงได้ชัดเจน ไม่เหมือนปีที่แล้วที่เราโดนเอลนีโญแบบเต็ม ๆ และบอกได้ชัด
ขนาดไม่ใช่ลานินญา น้ำยังท่วมซะจากเหนือสุดจรดใต้สุดประเทศ (เชียงราย-ยะลา) สภาพที่เกิดขึ้นบ่งบอกว่าต่อให้โลกอยู่ในภาวะปรกติ ความแปรปวนของสภาพอากาศในยุคนี้ทำให้เกิดอะไรเมื่อไหร่ก็ได้ และยังสร้างหวาดหวั่นว่าขนาดปรกติยังระดับนี้ ถ้าบังเอิญเข้าช่วงลานินญาจะขนาดไหน ก็ได้แต่หวังว่าปีหน้าจะค่อยๆ เข้าลานินญาหรือเป็นภาวะปรกติต่อไปอีกสักนิด
ทำนายสอง – Rain Bomb เกิดบ่อยขึ้นและหนักขึ้น
เมื่อดูจากปริมาณน้ำฝนที่ทำให้น้ำท่วมทั้งเหนือและใต้ เราเจอปริมาณน้ำฝนตกแบบที่ไม่เคยเห็นมาก่อน เช่น 300-400 มม. ยังเจอระดับเกิน 100 มม.บ่อยขึ้นอย่างพอเห็นได้ หมายถึงโลกร้อนจัดจนทำให้เกิดฝนตกหนักเป็นจุด ๆ และยิ่งโลกร้อนเพิ่มมากขึ้นเท่าไหร่ สถานการณ์แบบนี้จะยิ่งน่าเป็นห่วง ไม่ใช่เฉพาะตามภูเขา ยังหมายถึงที่ราบที่น้ำไหลมารวมกัน หรือแม้แต่พื้นที่ราบไม่มีภูเขา เช่น กรุงเทพ พัทยา ฝนก็ตกหนักพอให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันเป็นจุด ๆ เมื่อมองไปข้างหน้าในปี 2568 เราคงเจอสภาพเช่นนี้ต่อไป ได้แต่เตือนภัยกันแบบฉุกละหุกและเรียนรู้เพื่อที่จะรับมือ
ทำนายสาม – ระบบนิเวศทางทะเลยังคงย่ำแย่ พะยูนยังคงตาย
ระบบนิเวศที่ได้รับผลกระทบจากโลกร้อนแบบรุนแรงอย่างไม่เคยเจอมาก่อนคือแนวปะการังและแหล่งหญ้าทะเล ปะการังฟอกขาวรุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์เกิดในเดือนพฤษภาคม/มิถุนายนที่ผ่านมา ปะการังในเขตน้ำตื้นตายไปมากกว่าครึ่ง แม้จะรอด การฟื้นตัวของปะการังเกิดขึ้นช้าและยังเกิดโรคบางชนิด นอกจากนี้ กัลปังหาและปะการังอ่อนในบางพื้นที่หายไป ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวดำน้ำ ควาหลากหลายของสัตว์บางชนิดยังลดลงอย่างรวดเร็ว บางกลุ่มหายไปหมดในบางพื้นที่ เช่น เม่นทะเล ส่งผลต่อสมดุลของระบบนิเวศ สถานการณ์ที่เกิดขึ้นเช่นนี้บ่งบอกว่า แนวปะการังคงใช้เวลานานหลายปีกว่าจะฟื้นตัว ที่น่าเป็นห่วงยิ่งกว่านั้นคือจะฟื้นหรือไม่ เมื่อสภาพท้องทะเลแปรปรวนและยังมีเอลนีโญหนหน้ารออยู่ในอีกไม่กี่ปี
หญ้าทะเลได้รับผลกระทบรุนแรงกว่าปะการัง ข้อมูลล่าสุดของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งพบว่า แหล่งหญ้าทะเลเสื่อมโทรมในอันดามันไม่มีแนวโน้มว่าจะฟื้นตัว แต่พื้นที่ได้รับผลกระทบขยายตัวออกไปจนครอบคลุมแหล่งหญ้าทะเลในตรัง กระบี่ อ่าวพังงา ภูเก็ต และสตูล ยังเป็นปีที่พะยูนตายอย่างที่ไม่เคยเจอมาก่อน ตัวเลข 23 เดือน (ปี 66-67) รวมกันเกือบ 80 ตัว เมื่อมองไปในปีหน้า พะยูนอาจตายน้อยลงบ้าง ไม่ใช่เพราะหญ้าทะเลฟื้นหรือเราปลูกหญ้าได้ แต่เป็นเพราะพะยูนตายจนจำนวนลดลงเกินครึ่ง ทำให้ยอดตายลดลงตามจำนวนประชากร
ทำนายสี่ – คนหากินกับทะเลยังคงเดือดร้อน
คนหากินกับทะเลในที่นี้ไม่ใช่เพียงแค่ชาวประมง แต่ยังรวมถึงผู้ประกอบการท่องเที่ยว ตลอดคนที่อยู่ริมฝั่งทะเลทั้งหลาย แม้อาจไม่ได้ประกอบอาชีพในทะเลโดยตรง แต่อาจมีอาชีพเสริมหรือจับสัตว์น้ำหาเช้ากินค่ำ เมื่อระบบนิเวศล่มสลาย แนวปะการังส่งผลโดยตรงกับการท่องเที่ยว ขณะที่หญ้าทะเลจะส่งผลต่อความหลากหลายทางชีวภาพและความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์น้ำชายฝั่ง ยังส่งผลต่อการท่องเที่ยวชมสัตว์หายากบ้าง เช่น พะยูน กิจการเหล่านี้จะได้รับผลกระทบ และจะส่งผลต่อเนื่องมาสู่ราคาซีฟู้ด เช่น ปูม้า ตลอดจนราคาอาหารทะเลแบบท้องถิ่น มองไปในปี 68 ทุกอย่างจะไม่ดีขึ้นแต่จะย่ำแย่ลงเพราะระบบนิเวศของเราทรุดโทรมลงเรื่อย ๆ
ทำนายห้า -- ปี 68 คือปีแห่งการเรียนรู้และปรับตัว
ผลกระทบที่เกิดจากสภาพภูมิอากาศแปรปรวนสุดขีดและระบบนิเวศเสียหายยับเยิน ทำให้การไปต่อของประเทศไทยต้องปรับตัวอย่างเร่งด่วน ยังรวมถึง พรบ.โลกร้อนที่คาดว่าจะออกมาในปีหน้า จะส่งผลต่อชีวิตประจำวันและการจับจ่ายใช้สอย จึงเป็นปีที่พวกเราคนไทยจะได้เรียนรู้การอยู่ในโลกยุคโลว์คาร์บอนอย่างจริงจัง บริษัทต่างๆ จะเข้มงวดเรื่อง SD และโลว์คาร์บอนยิ่งขึ้นเพื่อให้เข้ามาตรฐานโลก ตลาดคาร์บอนมาร์เก็ตจะเริ่มเปิดกว้างกว่าเดิมเมื่อมีกฎหมายรองรับ ความเสี่ยงจากสภาพอากาศแปรปรวนคือสิ่งที่ทุกคนต้องเรียนรู้และหาทางรับมือแบบช่วยตัวเอง ขณะที่ระบบนิเวศเสื่อมโทรมจะทำให้เรารับรู้ข่าวเศร้าเรื่อย ๆ ไม่มีสิ้นสุด เช่น พะยูนตาย ยังทำให้วิถีชีวิตและอาชีพการงานของคนที่หากินกับทะเลได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง แม้แต่การเรียนการสอนของนักเรียนนิสิตนักศึกษาก็ต้องปรับตัวครั้งใหญ่เพื่อรองรับกับความรู้และอาชีพใหม่ๆ ในอนาคต
ปี 2568 จึงเป็นปีเปลี่ยนผ่าน จากความไม่รู้เรื่องโลกร้อน มาเป็นรู้เรื่องโลกร้อน จากที่เคยคิดว่าไกลตัว มาเป็นความตระหนกตกใจเมื่อโลกร้อนส่งผลมากกว่าที่เราเคยคาดคิด ปี 2568 คือปีที่เราได้ประสบการณ์มากขึ้น ระมัดระวังมากขึ้น มีกฎหมายมารองรับ จึงเป็นจังหวะสำคัญอย่างยิ่งยวดสำหรับพวกเราหากอยากเอาตัวรอดในยุคใหม่ให้จงได้
อวยพรปีใหม่กับคุณผู้อ่านทุกท่าน อยากบอกตามตรงว่า โลกไม่หายร้อนหรอก โลกจะร้อนขึ้นอีก ก๊าซเรือนกระจกยังไม่ถึงจุดพีค ความเดือดร้อนจะเพิ่มมากขึ้น ขณะที่กฎกติกาของภาคธุรกิจจะทำให้ชีวิตการทำงานไม่ง่ายเหมือนเดิม ภาษีคาร์บอนจะส่งผลกระทบต่อการจับจ่ายใช้สอย แต่ทั้งหมดนั้น หากเราหาข้อมูลให้ดี วางแผนให้รอบคอบ คิดให้ทัน เตรียมการให้เร็ว ทำความเข้าใจมากไปกว่าแค่ฟังเขาบอกมา เราจะหาทางไปต่อได้ และอาจเป็นยุคแห่งโอกาสใหม่ๆ รออยู่
คำอวยพรจึงสั้นง่าย – ขอทุกท่านจงมีสติและรอบคอบ ขอให้ความสุขความเจริญเกิดขึ้นต่อคนที่มีความพยายามจะเรียนรู้และหาทางช่วยตัวเอง ขอให้ตนเป็นที่พึ่งแห่งตนครับ
บทความโดย ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์
ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศทางทะเล และรองคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
อ้างอิง : Carbon Markets Club