•นีลเส็นไอคิว (ประเทศไทย) เผยผลสำรวจคุณภาพรถยนต์นั่งคัดใหม่ในประเทศไทย จากผู้ซื้อรถยนต์จำนวน 3,390 คน บอกให้รู้ว่า ผู้ขับขี่รุ่นใหม่นิยมรถอีวี 100% (BEV)มากขึ้น
•แต่ยังสะท้อนถึงปัญหาหลักที่ผู้ขับพบเจอในช่วง 1 ถึง 6 เดือนแรกหลังจากซื้อรถคันใหม่ไปแล้ว
•ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ SCB EIC คาดการณ์ปีหน้า (2568) รถยนต์นั่งไฟฟ้า (Hybrid และ BEV) จะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง คาดยอดขายจะอยู่ราว 2.1 แสนคัน หรือคิดเป็น 30% ซึ่งบอกถึงรถยนต์นั่งอีวี เติบโตเร็วกว่าที่เคยประเมินไว้
นีลเส็นไอคิว (ประเทศไทย) สำรวจคุณภาพของรถยนต์ใหม่ โดยการวัดจากจำนวนปัญหาที่พบต่อรถยนต์ 100 คัน หรือ PP100 ทั้งนี้แบรนด์ใดคะแนน PP100 ยิ่งต่ำยิ่งแสดงถึงคุณภาพที่สูงของรถยนต์
จากผลการสำรวจพบว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายในการยกระดับคุณภาพรถยนต์ โดยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicles: BEV) ที่มีความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยที่ผู้ขับขี่รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยกลุ่มหลักเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ (อายุต่ำกว่า 40 ปี) ที่มีสัดส่วนถึง 66% และมีรายได้สูงถึง 95,000 บาทต่อเดือนขึ้นไปกว่า 41%
นอกจากนี้ ผลการสำรวจยังแสดงให้เห็นว่า 81% ของผู้ขับขี่รถยนต์ไฟฟ้าเคยใช้รถยนต์เครื่องยนต์สันดาปมาก่อน ก่อนที่จะตัดสินใจเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า โดยผู้บริโภคในกลุ่มนี้มีความคาดหวังสูงในเรื่องของประสบการณ์การขับขี่และการใช้งานที่สะดวกสบาย
อย่างไรก็ตามผู้ขับขี่รถยนต์ไฟฟ้าส่วนใหญ่ยังคงเผชิญกับปัญหาหลายประการ โดยเฉพาะในด้านการออกแบบรถยนต์ รวมถึงปัญหาทั่วไปและปัญหาด้านเทคโนโลยี โดยปัญหาหลักที่พบในรถยนต์ไฟฟ้า ได้แก่
1. ประสบการณ์ในการขับขี่ – ไม่ว่าจะเป็นปัญหาระบบกันสะเทือนที่ส่งผลต่อความสะดวกสบายในการขับขี่และการควบคุมรถยนต์ ซึ่งรถยนต์ไฟฟ้าประสบปัญหาดังกล่าวถึง 22.3 PP100 ขณะที่รถยนต์ทั่วไปพบปัญหานี้ที่ 12.6 PP100
2. ระบบปรับอากาศ (HVAC) – การทำงานของระบบปรับอากาศในรถยนต์ไฟฟ้ายังไม่เป็นที่น่าพอใจ เช่น เย็นช้ากว่าที่คาดหวัง โดยมีปัญหาที่ 17.7 PP100 ขณะที่รถยนต์ทั่วไปพบเพียง 10.0 PP100
3. มอเตอร์/การชาร์จไฟ/ระบบเกียร์ – ยังคงเป็นประเด็นที่ต้องได้รับการแก้ไข ซึ่งพบปัญหามากกว่าในรถยนต์ไฟฟ้า โดยมีคะแนน 12.0 PP100 เทียบกับรถยนต์ทั่วไปที่ 7.8 PP100
อีกหนึ่งปัญหาสำคัญในรถยนต์ไฟฟ้า คือ ความเร็วในการชาร์จไฟ ซึ่งผู้บริโภคกว่า 56% ต้องรอชาร์จแบตเตอรี่นานกว่า 8 ชั่วโมง ขณะที่ระยะทางในการขับขี่เฉลี่ยต่อการชาร์จหนึ่งครั้งอยู่ที่ 412 กิโลเมตร ซึ่งยังไม่ตรงตามความคาดหวังของผู้ใช้หลายราย
ผลการสำรวจยังเผยให้เห็นว่าผู้ขับขี่รถยนต์ไฟฟ้าร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาการรองรับการสั่นสะเทือนที่ไม่เหมาะสม (13.1 PP100) ระบบปรับอากาศที่ไม่มีประสิทธิภาพ (10.8 PP100) เบาะนั่งที่ไม่สะดวกสบาย (7.2 PP100) ที่วางแก้วน้ำที่ใช้งานไม่สะดวก (5.7 PP100) และความสูงรถที่ไม่เพียงพอ (4.3 PP100) ซึ่งพบได้บ่อยกว่าผู้ขับขี่รถยนต์เครื่องยนต์สันดาปประเภทอื่นๆ ทั้งกลุ่มรถเก๋ง รถอเนกประสงค์ และรถกระบะ
ด้านเทคโนโลยีที่ทันสมัยในรถยนต์ไฟฟ้ากลับกลายเป็นสาเหตุของความไม่พึงพอใจสำหรับผู้ขับขี่หลายราย โดยเฉพาะ ระบบนำทางที่ไม่แม่นยำ (2.0 PP100) แอปพลิเคชันเชื่อมต่อมือถือที่ใช้งานยาก (1.9 PP100) และระบบชาร์จไฟไร้สายที่ไม่เสถียร (1.5 PP100) ซึ่งทำให้ประสบการณ์การใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าไม่เป็นไปตามที่ผู้บริโภคคาดหวัง
มณีณัฐฐา จิระเสวีจินดา ผู้อำนวยการอาวุโส ข้อมูลเชิงลึกด้านผู้บริโภคและการตลาด นีลเส็นไอคิว ประเทศไทย กล่าวว่าคุณภาพของรถยนต์ไม่เพียงแต่ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพการผลิต แต่ยังเกี่ยวข้องกับการออกแบบที่มุ่งสร้างประสบการณ์การใช้งานที่สะดวกสบายและปลอดภัยให้ผู้ขับขี่ด้วย
“การเพิ่มฟีเจอร์หรือเทคโนโลยีใหม่อาจน่าสนใจ แต่หากผู้ใช้ไม่สามารถปรับตัวได้ทัน อาจส่งผลกระทบต่อประสบการณ์การขับขี่ได้ แม้แต่การออกแบบฟังก์ชันเล็กๆ เช่น มือจับประตูที่แตกต่างจากรถทั่วไป ก็สามารถเพิ่มความซับซ้อนได้ ดังนั้น ผู้ผลิตควรคำนึงถึงการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีจากมุมมองการใช้งานของผู้ขับขี่เป็นหลัก”
ในขณะเดียวกัน “เทสล่า โมเดล 3” ถือได้ว่าเป็นข้อยกเว้นท่ามกลางปัญหาคุณภาพของรถยนต์ไฟฟ้า โดยมีคะแนน PP100 ต่ำสุดในกลุ่มนี้ที่เพียง 92 PP100 ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความน่าเชื่อถือและคุณภาพในการออกแบบของรถยนต์รุ่นนี้
การสำรวจในครั้งนี้ย้ำเตือนถึงความสำคัญในการปรับปรุงเทคโนโลยีและการออกแบบรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในยุคที่เทคโนโลยีก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว
ผลจากการจัดลำดับสูงสุดของการศึกษาวิจัยคุณภาพรถยนต์ในแต่ละกลุ่ม ได้แก่
รถยนต์ขนาดเล็ก: นิสสัน อัลเมร่า (144 PP100)
รถยนต์ขนาดกลางระดับต้น: ฮอนด้า ซิตี้ (165 PP100)
รถยนต์ขนาดกลาง: ฮอนด้า ซีวิค (137 PP100)
รถยนต์อเนกประสงค์ขนาดเล็ก: นิสสัน คิกส์ (153 PP100)
รถยนต์อเนกประสงค์ขนาดใหญ่ (PPV): มิตซูบิชิ ปาเจโร สปอร์ต (147 PP100)
รถกระบะตอนเดียว: โตโยต้า รุ่นมาตรฐาน 4x2 (140 PP100)
รถกระบะตอนขยาย: อีซูซุ วี-ครอส 2 ประตู 4x4 (100 PP100)
รถกระบะ 4 ประตู: ฟอร์ด ดับเบิ้ลแค็บ 4x4 (118 PP100)
รถยนต์ไฟฟ้า: เทสล่า โมเดล 3 (92 PP100)
หมายเหตุ : เกี่ยวกับการศึกษาคุณภาพรถยนต์ NielsenIQ Car Quality Study เป็นการศึกษาเกี่ยวกับคุณภาพรถยนต์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินปัญหาที่ผู้บริโภคเผชิญในช่วงหกเดือนแรกของการเป็นเจ้าของรถยนต์ โดยเก็บข้อมูลระหว่างช่วงเดือนมิถุนายนถึงกันยายน 2567 มีผู้เข้าร่วมสำรวจทั้งหมด 3,390 คน ซึ่งเป็นผู้ที่ซื้อรถใหม่ระหว่างเดือนธันวาคม 2566 ถึงสิงหาคม 2567
ปี 2568 รถอีวี ครองตลาด 30 %
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB EIC) คาดการณ์รถยนต์นั่งไฟฟ้า (Hybrid และ BEV) ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ภายในปี 2568 ยอดขายรถกลุ่มนี้จะอยู่ราว 2.1 แสนคัน หรือคิดเป็น 30% ของยอดขายรถยนต์ในประเทศทั้งหมด โดยตลาดรถไฮบริดเป็นแรงส่งสำคัญเพราะผู้บริโภคมีการเปิดรับรถกลุ่มนี้มากขึ้น ทั้งในรถระดับกลาง (ราคา 5 แสน – 1 ล้านบาท) รวมถึงตลาดรถหรู ขณะที่ยอดขายรถ BEV (อีวี 100%) มีแนวโน้มขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป คาดว่าส่วนแบ่งตลาดในระยะปานกลางจะทรงตัวอยู่ที่ 10% ของยอดขายรถยนต์ในประเทศ
ด้านปัจจัยฉุดรั้งการเปิดรับรถ BEV จากฝั่งผู้บริโภคเกิดจากความกังวลใน 4 ประเด็นสำคัญ (ภาพกราฟฟิก) ขณะทางด้านพัฒนาการห่วงโซ่อุปทาน EV พบว่า กำลังการผลิตรถยนต์ BEV ในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด คาดการณ์ว่าภายในปี 2568 - 2571 จะขยายตัวสู่ระดับ 6 แสนคัน/ปี ไม่เพียงเท่านี้ การลงทุนในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องอื่น ๆ ก็จะเติบโตสอดรับกับการผลิตรถยนต์เช่นกัน โดยเฉพาะการผลิตรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า สถานีอัดประจุ/สลับแบตเตอรี่ และธุรกิจผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์ EV จะได้รับความสนใจอย่างมากจากผู้ประกอบการไทย