xs
xsm
sm
md
lg

UNGCNT - สหประชาชาติประเทศไทย ชู Inclusive Business พลิกอนาคต สู่สังคมเท่าเทียมยั่งยืน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


GCNT Forum 2024 : Inclusive Business for Equitable Society
สมาชิกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (UNGCNT) รวมพลังสมาชิก 141 องค์กร พร้อมภาคีเครือข่ายด้านความยั่งยืน ร่วมกับองค์การสหประชาชาติในประเทศไทย (United Nations in Thailand) จัดประชุมผู้นำความยั่งยืนภาคเอกชนประจำปี "GCNT Forum 2024 : Inclusive Business for Equitable Society” พลิกธุรกิจแห่งอนาคต สร้างสังคมที่เท่าเทียมและยั่งยืน ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ ย้ำจุดยืนเดินหน้าธุรกิจยั่งยืน ชูแนวคิด Inclusive Business เน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เพื่อสร้าง การเติบโตทางธุรกิจ ควบคู่ไปกับสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะการสนับสนุน ธุรกิจฐานราก ขนาดย่อย ขนาดย่อม และขนาดกลาง (MSMEs) ในห่วงโซ่อุปทาน เพื่อบรรลุเป้าหมาย การพัฒนาที่ยั่งยืน ภายในปี 2030 โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธานในงาน ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพมหานคร

ในงานนี้ นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้ นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานร่วมงานและกล่าวปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “ธุรกิจแบบมีส่วนร่วม – เร่งสร้างสังคมไทย ที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” (Inclusive Business – A Catalyst for Change to An Equitable Society) ว่า ตอนนี้แนวโน้มเศรษฐกิจไทยกำลังไปได้ดี รัฐบาลพยายามดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่อย่างต่อเนื่อง อาทิ เราจะเป็นศูนย์กลางของ Data Center และ AI ซึ่งเป็นทิศทางของโลก ที่เราต้องเร่งส่งเสริมในเรื่องนี้

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
ขณะเดียวกันกระทรวงพาณิชย์ก็พยายามส่งเสริมให้มี เอสเอ็มอีรุ่นใหม่ โดยเน้นการขับเคลื่อนทุกภาคธุรกิจแบบมีส่วนร่วม ตามแนวทางของรัฐบาลในการส่งเสริมเศรษฐกิจการค้าสู่ความยั่งยืนให้ผู้ประกอบการดำเนินธุรกิจเติบโต ไปพร้อมกับสังคมและสิ่งแวดล้อม ผ่านนโยบายสำคัญ อาทิ (1) นโยบาย ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส ดูแลค่าครองชีพลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนและสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพเพิ่มช่องทางการค้าทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ให้เอสเอ็มอีเข้าถึงตลาด ทั้งในและต่างประเทศมากขึ้น (2) การบริหารให้เกิดความสมดุลระหว่างผู้บริโภค เกษตรกรและผู้ประกอบการ (3) การขับเคลื่อนนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก และ (4) ส่งเสริมผู้ประกอบการให้เข้าถึงตลาดสินค้าสิ่งแวดล้อม ตอบสนองความต้องการของตลาดที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งขณะนี้โลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เราต้องเร่งพัฒนาให้ทันต่อตลาด โดยใช้จุดแข็งต่างๆชูซอฟต์พาวเวอร์ของไทยให้สามารถขายสินค้าได้ ซึ่งคนไทยเก่ง มีศักยภาพ ขอให้ทุกภาคส่วนช่วยกัน

“Inclusive Business เป็นทางออกสำคัญในการสร้างสังคมที่ยั่งยืนและเท่าเทียม เป็นการวางรากฐานสำคัญเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนในอนาคต ด้วยความร่วมมือกันของทุกภาคส่วน” นายพิชัย กล่าว

นายศุภชัย เจียรวนนท์ นายกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (UNGCNT) และประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด
ด้านนายศุภชัย เจียรวนนท์ นายกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (UNGCNT) และประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด กล่าวรายงานในหัวข้อ “เร่งบรรลุเป้าหมาย 2030 สร้างธุรกิจแห่งอนาคต สู่สังคมที่เท่าเทียม” (Forward Faster to 2030 for Inclusive Business) โดยกล่าวถึงความก้าวหน้าในการดำเนินงานของสมาชิกในมิติต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประกาศนโยบายด้านความยั่งยืน และการนำนโยบายไปปฏิบัติเป็นรูปธรรม โดยมีมาตรการป้องกันความเสี่ยงและการเปิดเผยผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง การอบรมพนักงานในประเด็นความยั่งยืนต่างๆ นอกจากนี้พบว่า สมาชิกมีความพยายามในการลดผลกระทบเชิงสิ่งแวดล้อม โดยเริ่มนำพลังงานสะอาดมาใช้ในการดำเนินธุรกิจ เริ่มผลิตสินค้าและบริการที่ลดการใช้พลังงานในกระบวนการผลิต ลงทุนโครงการความยั่งยืนต่างๆ อย่างไรก็ดีพบว่า สมาชิกจำเป็นต้องเร่งลงมือทำ ต่อยอดขยายผลการดำเนินงานไปยังระดับคู่ค้าและห่วงโซ่อุปทาน พร้อมการตั้งเป้าหมาย และการจัดเก็บข้อมูลและการรายงานผลอย่างเป็นระบบ ต่อเนื่อง นำไปสู่การแข่งขันกันทำธุรกิจที่รับผิดชอบ

นายศุภชัย ยังได้กล่าวถึง ความท้าทายด้านความยั่งยืนที่โลกกำลังเผชิญ ที่เรียกว่า 3D ในการขับเคลื่อนให้ประเทศไทยและโลกบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ภายในปี ค.ศ. 2030 ได้แก่ Deglobalization การทวนกลับของกระแสโลกาภิวัตน์ Decarbonization การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และก๊าซเรือนกระจกอื่นๆ ที่ทุกประเทศยังดำเนินการล่าช้า และ Digitalization การเปลี่ยนแปลงสู่ยุคดิจิทัล เพื่อรับมือกับข้อท้าทายข้างต้น UN Global Compact สำนักงานใหญ่ ได้ระบุ 5 ประเด็นเป้าหมาย ที่ภาคเอกชนสามารถร่วมสร้าง

การเปลี่ยนแปลงได้มากที่สุด เป็นที่มาของโครงการ Forward Faster ได้แก่ (1)การบรรลุความเสมอภาคทางเพศ (2)การลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (3) การกำหนดค่าจ้างที่เหมาะสมกับการดำรงชีพ หรือ Living Wage (4) การฟื้นคืนแหล่งน้ำ และ (5) การเงินและการลงทุนด้าน SDGs
นายศุภชัย เสนอให้ ประเทศไทยผลักดันให้มี ปัจจัยพื้นฐานใหม่ 4 ประการ เพื่อเร่งให้บรรลุเป้าหมาย

การพัฒนาที่ยั่งยืนโดยเร็ว ได้แก่ เร่งส่งเสริมการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียม นอกจากการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอน ให้เสริมด้วยการปรับสถานประกอบการธุรกิจ เป็นศูนย์การเรียนรู้ หรือ Learning Center ที่ผนวกทั้งความรู้ด้านวิชาชีพ และจิตสำนึกด้านความยั่งยืน เร่งส่งเสริมการเข้าถึงดิจิทัลเทคโนโลยี โดยเฉพาะการสนับสนุนให้นักเรียน ผู้ประกอบการ Start-ups เกษตรกร เข้าสู่คลังข้อมูลออนไลน์ ควบคู่ไปกับการพัฒนาสื่อดิจิทัลสร้างสรรค์ให้เข้าถึงได้ง่าย เร่งส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งการเงินในรูปแบบใหม่ๆ ทั้งระบบ fintech และ virtual banking เพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านการเงิน โดยเฉพาะเศรษฐกิจฐานราก เอสเอ็มอี กลุ่มเปราะบาง และสุดท้าย เร่งส่งเสริมระบบประกันพื้นฐาน ที่น่าสนใจ คือ การประกันด้านเกษตรกรรม เพื่อพลิกวิกฤติจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นโอกาสทางธุรกิจ ตอบโจทย์ทั้งสถาบันการเงินและเกษตรกร

“เราต้องเร่งทำงานเชิงรุก แข่งกับเวลา เพื่อ “พลิก” ความเหลื่อมล้ำ เป็นความเสมอภาคเท่าเทียม เร่งให้ทุกคนเข้าถึง 4 ปัจจัยพื้นฐานใหม่ “พลิก” ธุรกิจของเรา เป็นธุรกิจแห่งอนาคต และ “พลิก” โลกปัจจุบัน เป็นโลกที่ยั่งยืน” นายศุภชัย กล่าว

นางมิเกลล่า ฟิลแบรย์-สตอเร่ (Michaela Friberg-Storey) ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำ ประเทศไทย
ในขณะที่ นางมิเกลล่า ฟิลแบรย์-สตอเร่ (Michaela Friberg-Storey) ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำ ประเทศไทย กล่าวว่า ในประเทศไทย รัฐบาลเป็นผู้สนับสนุนหลักในการกำกับดูแลและนโยบายกระตุ้นการลงทุนเพื่อดึงดูดการลงทุน แต่ 75% ของการลงทุนในปีที่ผ่านมา มาจากแหล่งภาคเอกชน และคิดเป็น 90% ของ GDP และ 90 % ของการจ้างงาน นอกจากนี้ เอสเอ็มอี คิดเป็น 99.6% ของธุรกิจทั้งหมดในประเทศไทย แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของภาคเอกชนในการเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงสีเขียว และความต้องการแรงงานสีเขียวอย่างมาก

นอกจากนี้ ยังได้ชี้ 3 ประเด็นที่เชื่อมโยงกับการดำเนินธุรกิจแบบมีส่วนร่วม คือ (1) การบรรลุการเปลี่ยนแปลงที่ยุติธรรมโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยสร้างโอกาสให้กับทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่มีความเสี่ยง ทั้งเยาวชน ผู้หญิง ผู้พิการ ผู้อพยพ และผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยง โดยต้องให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการศึกษา ตั้งแต่ปฐมวัย ไปจนถึงการลงทุนในความรู้ด้านดิจิทัล พลังงานทดแทน เทคโนโลยีคาร์บอนต่ำ และระบบหมุนเวียน รวมทั้งการเพิ่มแนวคิดและทักษะด้านความยั่งยืนให้กับแรงงาน 

(2) การควบคุมเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อความเท่าเทียม โดยเร่งการเปลี่ยนผ่านสู่เทคโนโลยีสีเขียว การลงทุนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อบรรลุเป้าหมาย SDGs และจัดการกับความท้าทายด้านสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งการส่งเสริมกลไกทางการเงิน สภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยที่ส่งเสริมการลงทุนและการเป็นผู้ประกอบการ โดยเฉพาะสตาร์ทอัพ และ SMEs 

(3) การปลดล็อกการจัดหาเงินทุนที่ยั่งยืนเพื่อการเปลี่ยนแปลง ซึ่งประเทศไทยได้แสดงความเป็นผู้นำแล้ว โดยระดมทุน 19 พันล้านดอลลาร์สำหรับโครงการริเริ่ม ESG และวางแผนที่จะออกพันธบัตรที่เชื่อมโยงกับความยั่งยืนมูลค่า 3.8 พันล้านดอลลาร์ในปีงบประมาณ 2568 และองค์การสหประชาชาติในประเทศไทยจะร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อสร้างคาร์บอนเครดิตที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชนที่เปราะบาง โดยเปลี่ยนการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศให้เป็นโอกาสในการเติบโต

“เส้นทางสู่อนาคตที่เท่าเทียมขึ้น จะต้องมีทั้งภาคธุรกิจ ภาครัฐ ภาคประชาสังคม และองค์กรระหว่างประเทศ ทำงานร่วมกันขับเคลื่อนทุกองคาพยพของสังคม เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตามความมุ้งหมาย อีกทั้งจะต้องส่งเสริมนวัตกรรม และเร่งผลักดันการบรรลุ SDGs ไปพร้อมกันด้วย” นางมิเกลล่า กล่าว

นอกจากนี้ ยังมีเวทีเสวนา 3 หัวข้อสำคัญ ได้แก่ การเสวนาของผู้นำธุรกิจ สมาชิก UNGCNT และพันธมิตรในภาคส่วนต่างๆ เพื่อแสดงทัศนะเกี่ยวกับแนวคิดธุรกิจแบบมีส่วนร่วม ได้แก่ (1) Inclusive Business Landscape
เปิดมุมมองของ CEO ถึงภาพรวมของ Inclusive Business Landscape ในประเทศไทย พร้อมแนวทางการปฏิบัติที่ดี (Best Practices) ความท้าทายที่เผชิญ และโอกาสทางธุรกิจที่เกิดจากการนำแนวคิดนี้ไปสู่การปฏิบัติจริง
(2) Bold Step, Lasting Change – Collective Actions to Accelerate Human Capital ไขกุญแจสำคัญในการพัฒนาทุนมนุษย์ ผ่านการแบ่งปันทรัพยากร ความรู้ และประสบการณ์ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพและผลลัพธ์ที่ยั่งยืน (3) Environment/Agri/Food System Transformation แชร์วิสัยทัศน์ธุรกิจด้วยโมเดล Inclusive Business เติบโตไปพร้อมกับสังคม ชุมชน ลูกค้า และสิ่งแวดล้อม

เวทีเสวนา 3 หัวข้อสำคัญ
ทั้งนี้ การประชุม GCNT Forum 2024 “พลิกธุรกิจแห่งอนาคต สู่สังคมที่เท่าเทียมและยั่งยืน” จัดขึ้น ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ โดยมี UN Agency องค์กรสมาชิก และพันธมิตรด้านความยั่งยืน เข้าร่วมงานกว่า 400 คน อาทิ บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) บริษัท เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ธนาคารยูโอบี จำกัด (มหาชน) บริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) สำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.)
พร้อมด้วย 8 องค์กรเยาวชน และตัวแทนเยาวชน SDGs Young Creator จาก 9 สถาบันการศึกษา


กำลังโหลดความคิดเห็น