สถาบันไทยพัฒน์ มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดผลสำรวจสถานภาพความยั่งยืนของกิจการไทย ในงาน “The State of Corporate Sustainability in 2024” พร้อมนำเสนอเครื่องมือ S3ER (Scope 3 Emission Reduction) ให้ภาคธุรกิจใช้บริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกในขอบข่ายที่ 3 เน้นออกแบบให้กิจการสามารถคำนวณหาปริมาณมลอากาศที่เกิดขึ้นในห่วงโซ่ธุรกิจได้ด้วยตัวเอง
สถาบันไทยพัฒน์ ในฐานะผู้บุกเบิกการพัฒนาฐานข้อมูลความยั่งยืนของธุรกิจ ได้ริเริ่มสำรวจข้อมูลสถานภาพความยั่งยืนของกิจการในประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ.2561 ขณะนั้นมีประชากรในกลุ่มสำรวจจำนวน 100 ราย และได้ทยอยเพิ่มกิจการที่ทำการสำรวจเรื่อยมาเป็นลำดับ จนในปีปัจจุบัน มีกิจการที่ได้ทำการสำรวจ อยู่จำนวน 930 ราย วัตถุประสงค์ของการสำรวจนี้ เป็นไปเพื่อต้องการประมวลพัฒนาการด้านความยั่งยืนของธุรกิจไทย สะท้อนผ่านผลสำรวจของกลุ่มกิจการที่ดำเนินการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนทั้งในมุมมองที่สอดคล้องกับมาตรฐานการรายงานสากล (GRI) การคำนึงถึงปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) และการตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) ในบริบทของกิจการ
นายวรณัฐ เพียรธรรม ผู้อำนวยการ สถาบันไทยพัฒน์ ได้กล่าวในการเปิดผลสำรวจสถานภาพความยั่งยืนของกิจการ ปี 2567 ที่จัดขึ้นวันนี้ (28 พฤศจิกายน 2567) ว่า “ผลการประเมินสถานภาพการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนของกิจการที่ทำการสำรวจทั้งหมด 930 ราย พบว่า ในปี 2567 มีคะแนนรวมโดยเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 4.13 จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วและปีก่อนหน้าที่มีคะแนนรวมโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 3.53 คะแนน (ปี 2566 จากการสำรวจ 904 ราย) และ 2.46 คะแนน (ปี 2565 จากการสำรวจ 854 ราย)”
นางสาววีรญา ปรียาพันธ์ ผู้อำนวยการ ประชาคมการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืน สถาบันไทยพัฒน์ กล่าวว่า “ประเด็นความยั่งยืนที่มีการเปิดเผยสูงสุดในสามอันดับแรก ได้แก่ การต้านทุจริต (83.33%) อาชีวอนามัยและความปลอดภัย (73.33%) และการจ้างงาน (71.29%) ขณะที่ประเด็นด้าน ESG ที่มีการเปิดเผยสูงสุดในสามอันดับแรก ได้แก่ ความหลากหลายในโครงสร้างคณะกรรมการบริษัท (87.10%) จริยธรรมและการต้านทุจริต (85.38%) และความเป็นอิสระในคณะกรรมการบริษัท (78.92%) ส่วนการตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ที่ภาคธุรกิจมีการเปิดเผยสูงสุดในสามอันดับแรก ได้แก่ เป้าหมายที่ 5 ความเท่าเทียมทางเพศ เป้าหมายที่ 8 งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ และเป้าหมายที่ 9 อุตสาหกรรม นวัตกรรม และโครงสร้างพื้นฐาน”
นายฌานสิทธิ์ ยอดพฤติการณ์ นักวิจัยอาวุโส สถาบันไทยพัฒน์ กล่าวเสริมว่า “ผลสำรวจเรื่องการประเมินสาระสำคัญ (Materiality Assessment) เพื่อระบุประเด็นความยั่งยืนสำหรับการดำเนินงานและการรายงานของกิจการ พบข้อมูลที่น่าสนใจว่า 61% ของกิจการที่ถูกสำรวจ ยังไม่มีการประเมินสาระสำคัญ ส่วนกิจการที่มีการประเมินสาระสำคัญมีจำนวน 37% และมีเพียง 2% ที่มีการประเมินสาระสำคัญสองนัย (Double Materiality Assessment) โดยในจำนวน 2% นี้ กลับพบว่า มีกิจการถึง 4 ใน 5 แห่ง ที่ยังมีการประเมินสาระสำคัญสองนัย ไม่สอดคล้องตามหลักการที่ควรจะเป็น ซึ่งเป็นโจทย์ที่ท้าทายในการให้ความรู้และสร้างความเข้าใจแก่องค์กรผู้จัดทำรายงานให้สามารถประเมินได้อย่างถูกต้อง”
นอกจากการเปิดเผยข้อมูลผลสำรวจประจำปีนี้ สถาบันไทยพัฒน์ ยังได้จัดให้มีการเสวนาแนะนำเครื่องมือ S3ER (Scope 3 Emission Reduction) เพื่อการบริหารมลอากาศในขอบข่ายที่สาม (Value Chain) ของกิจการ และเครื่องมือ TCAF (Thaipat Carbon Attribution Factors) เพื่อการจัดการมลอากาศที่สืบเนื่องจากการลงทุนและการให้สินเชื่อของสถาบันการเงินด้วย
ในงานครั้งนี้ สถาบันไทยพัฒน์ ยังจัดพิธีมอบรางวัล Sustainability Disclosure Award ประจำปี 2567 ให้แก่องค์กรสมาชิกประชาคมการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืน 1 (Sustainability Disclosure Community: SDC) ที่ได้เปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนอันประโยชน์ต่อกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียของกิจการ โดยรางวัลที่มอบให้กับองค์กรในปีนี้ ประกอบด้วย Sustainability Disclosure Award จำนวน 58 รางวัล Sustainability Disclosure Recognition จำนวน 57 รางวัล และ Sustainability Disclosure Acknowledgement จำนวน 29 รางวัล รวมทั้งสิ้น 144 รางวัล