TCP Spirit ปลูกจิตสำนึกในการปกป้องและฟื้นฟูธรรมชาติในคนรุ่นใหม่รักษ์โลก ผ่านคณะเศษสร้าง ปี 3 “เฮียนธรรมชาติ หมุนเวียน เบิ่งนกกระเรียนฟื้นคืน” ณ จังหวัดบุรีรัมย์ มอบประสบการณ์เรียนรู้และลงมือทำผ่านห้องเรียนวัฏจักรทางชีวภาพ การหมุนเวียนทรัพยากรในชุมชน และการฟื้นฟูระบบนิเวศเพื่อความยั่งยืน พร้อมสร้างแรงบันดาลใจให้อาสาสมัครนำความรู้ไปปรับใช้ในชุมชน เพื่อส่งต่อพลังการเปลี่ยนแปลงสู่โลกที่ดียิ่งขึ้น
TCP Spirit ปี 2567 ต่อยอดองค์ความรู้และสานต่อบทเรียนเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างเข้มข้นให้กับอาสาคนรุ่นใหม่ คณะเศษสร้าง ปี 3 ได้ไปสัมผัสวัฏจักรทางชีวภาพ (Biological Cycle) ที่จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งมีพื้นที่ชุ่มน้ำ เป็นแหล่งกักเก็บน้ำที่ช่วยสร้างความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการน้ำในชุมชนสู่การเป็นชุมชนต้นแบบที่อยู่กับธรรมชาติอย่างเกื้อกูล ซึ่งอาสาจะได้มาสัมผัสและเกิดความเข้าใจถึงความสัมพันธ์ของระบบนิเวศที่มีการหมุนเวียนและควรได้รับการฟื้นฟู (Regenerate) เพื่อสร้างสมดุลในโลกที่กำลังวิกฤต
นายสราวุฒิ อยู่วิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ TCP กล่าวว่า “TCP Spirit มุ่งปลูกฝังการรักษาและฟื้นฟูธรรมชาติผ่าน "คณะเศษสร้าง" ปี 3 ด้วยการเรียนรู้แบบลงมือทำจริงในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ที่ตั้งใจพาอาสารุ่นใหม่มาทำความเข้าใจเกี่ยวกับระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งเข้ามาแทนที่ระบบเศรษฐกิจแบบเส้นตรง เพื่อแก้ไขปัญหาทรัพยากรธรรมชาติ โดยเน้นการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดและเหลือทิ้งให้น้อยที่สุด กิจกรรมนี้จะเป็นแรงบันดาลใจให้อาสาได้นำความรู้ที่ได้ไปปรับใช้ในชุมชนพร้อมทั้งส่งต่อพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงให้กับคนรอบข้างและสังคม เพื่อร่วมกันรักษาและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมให้โลกของเราดียิ่งขึ้น”
๐ เปิดไฮไลต์ห้องเรียนธรรมชาติ
TCP Spirit เน้นการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์และการลงมือทำในห้องเรียนธรรมชาติ สัมผัสกับความหลากหลายของระบบนิเวศและชุมชนต้นแบบ เพื่อให้อาสาเกิดความเข้าใจอย่างเป็นรูปธรรมและสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้จริง
พื้นที่ชุ่มน้ำ พื้นที่แห่งการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
อาสาจะได้สำรวจและเรียนรู้จากศูนย์เรียนรู้พื้นที่ชุ่มน้ำ ซึ่งทำหน้าที่เป็นแหล่งกักเก็บและช่วยหมุนเวียนน้ำ ที่ช่วยแก้ปัญหาภัยแล้ง วิกฤตขาดแคลนน้ำ และสร้างความมั่นคงทางน้ำให้ชุมชน และที่แห่งนี้ยังแสดงถึงความสมดุลของระบบนิเวศ เห็นได้จากการกลับคืนของนกกระเรียนพันธุ์ไทยที่สูญหายไปหลายสิบปี
นกกระเรียนคืนถิ่น หลังสูญพันธุ์ไปแล้ว 50 ปี
อาสาจะได้เห็นด้วยตาตัวเองจากพื้นที่โครงการปล่อยนกกระเรียนพันธุ์ไทยคืนสู่ธรรมชาติที่ได้ความร่วมมือของชุมชนช่วยปกป้องฟื้นฟูและสร้างความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ให้นกกระเรียนดำรงชีวิตอยู่ได้ พร้อมลงมือปลูกหญ้าแห้วซึ่งเป็นแหล่งอาหารของนกกระเรียน เพื่อช่วยส่งเสริมการหมุนเวียนในระบบนิเวศ
เกษตรอินทรีย์ ดีต่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อม
ช่วยรักษาความอุดมสมบูรณ์ของดิน ลดผลกระทบต่อห่วงโซ่อาหารของสิ่งมีชีวิต และลดคาร์บอนจากการใช้เครื่องจักรและสารเคมีโดยอาสาจะได้เรียนรู้วิธีการทำเกษตรอินทรีย์ทั้งตีข้าว ฝัดข้าว และเพาะต้นกล้าด้วยตัวเอง
ทอผ้าไหม ใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน
เปิดประสบการณ์การทอผ้าไหมกับชุมชนต้นแบบบ้านหัวสะพานที่ทอผ้าโดยการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมแบบอินทรีย์ใช้ปุ๋ยจากขี้วัวและฟางเพื่อคงสภาพดิน ช่วยให้หนอนไหมกินใบหม่อนที่สามารถปลูกซ้ำได้ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับของเสียที่ได้ในกระบวนการผลิตและแปรรูปรังไหมและหนอนไหม
ดร.เพชร มโนปวิตร นักวิทยาศาสตร์ด้านการอนุรักษ์และครูใหญ่คณะเศษสร้าง เล่าถึงบทเรียนภาคต่อของเศรษฐกิจหมุนเวียนในครั้งนี้ว่า “เหล่าอาสาจะได้เรียนรู้วัฏจักรชีวภาพที่ศูนย์เรียนรู้พื้นที่ชุ่มน้ำ ถิ่นอาศัย ของสัตว์นานาชนิดและนกกระเรียนพันธุ์ไทยที่ครั้งหนึ่งเคยสูญพันธุ์ และปัจจุบันสามารถดำรงอยู่ได้ด้วยการฟื้นฟูระบบนิเวศ จัดการน้ำ และสร้างแหล่งอาหาร ด้วยความร่วมมือกันของนักอนุรักษ์และคนในชุมชนที่เข้าใจการอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างยั่งยืน โดยอาสาจะได้เข้าไปสัมผัสและลงมือทำด้วยตัวเอง ทั้งการทำเกษตรอินทรีย์ การปลูกหม่อนเลี้ยงไหมแบบยั่งยืน และการทอผ้าไหมที่ไม่ทิ้งของเสีย เพื่อให้เข้าใจวิธีการสร้างการหมุนเวียน การซ่อมแซม และฟื้นฟูทรัพยากร เพื่อรักษาความหลากหลายทางชีวภาพในระบบนิเวศ ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญในการรักษาสมดุลและความยั่งยืนของโลก”
ตลอดระยะเวลา 3 ปี คณะเศษสร้างได้จุดประกายคนรุ่นใหม่ให้เรียนรู้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน และเชื่อมโยงความรู้สู่การลงมือทำ เพื่อสานต่อภารกิจของ TCP Spirit ในการปลุกพลังเครือข่ายอาสารักษ์โลก ที่จะช่วยส่งต่อสู่ชุมชนและสังคมในวงกว้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงดีที่ขึ้นและยั่งยืน ตอกย้ำเป้าหมาย “ปลุกพลัง เพื่อวันที่ดีกว่า” ของกลุ่มธุรกิจ TCP
๐ จิตอาสาพร้อมสานต่อ สร้างประโยชน์สู่เศรษฐกิจ-สังคม-สิ่งแวดล้อม
นางสาวเปรมลัดดา ผงกุลา จิตอาสาที่เข้าร่วมโครงการ TCP Spirit คุณครูจากโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดอุบลราชธานี
บอกว่า สิ่งที่ได้รับจากค่ายนี้คือการนำทฤษฎีซึ่งเป็นเรื่องที่เคยเรียนมาแล้ว แต่เมื่อได้ปฏิบัติจริงทำให้เห็นสิ่งต่างๆ
ทั้งนโยบายบางอย่างที่เคยมองว่าเพ้อฝัน แต่พอลงพื้นที่เห็นว่าสามารถเกิดขึ้นจริงและยั่งยืนได้ซึ่งไม่ใช่โมเดลที่คนในเมืองมาบอกคนนอกให้ทำแต่เป็นสิ่งที่เขาทำอยู่แล้ว ความเข้มแข็งของชุมชน ซึ่งรู้สึกว่ามันสุดยอดมากๆ เช่น เรื่องฟางข้าว วัตถุดิบอินทรีย์ที่เรียนมาตั้งแต่เด็ก แต่พอมาฟังบรรยายได้เห็นคุณค่าด้านสังคมมากขึ้น นอกจากนี้ในเรื่องของนกกระเรียน โดยส่วนตัวชอบเรื่องสิ่งแวดล้อมมากอยู่แล้ว โดยเฉพาะเรื่องสัตว์ต่างๆ และจะนำความรู้กับประสบการณ์ที่ได้จากกิจกรรมนี้ไปใช้ประโยชน์ในการทำงานและสังคมรอบข้าง
ศิริมงคล คชภักดี จิตอาสาที่เข้าร่วมโครงการ TCP Spirit บอกว่า สิ่งที่ได้รับจากค่ายนี้ คือทำให้เปลี่ยนความคิดและเห็นว่าเศรษฐกิจหมุนเวียนทำได้จริงจากการได้มาเห็นชุมชนที่ทำเรื่องไหม มีการนำมาแปรรูป จำหน่ายได้ทั้งตลาดในและนอก ซึ่งคนทั่วไปจับต้องได้ ทำให้รู้สึกว่าถ้าเรามีกลุ่ม มีทีม หรือมีภาคีที่เข้มแข็ง มีจิ๊กซอว์ในงานแต่ละด้านมาต่อเติมกัน จะทำให้เกิดขึ้นได้จริง นอกจากนี้ ยังได้โอกาสรู้จักเพื่อนใหม่จากหลากหลายอาชีพ เช่น หมอ พยาบาล ครู ฯลฯ ที่มาร่วมกิจกรรมในค่ายนี้เช่นกัน มาจากหลายวงการ มีความรู้และเชี่ยวชาญต่างกัน แต่สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมเหมือนกัน
ธีรพล ปานคง จิตอาสาที่เข้าร่วมโครงการ TCP Spirit เล่าว่า ได้เข้าร่วมโครงการฯ เป็นครั้งแรกเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งเป็นเรื่องการแยกขยะ 44 ชนิด และการจัดการขยะแบบรักษ์โลกของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง โดยได้ไปเรียนรู้ที่ดอยตุง จังหวัดเชียงราย และนำความรู้ที่ได้รับกลับมาขยายผลทั้งการปรับเปลี่ยนการจัดการขยะในโรงงานอิเล็กทรอนิกส์ที่ทำงานอยู่ และมีโอกาสได้จัดกิจกรรมCSR ให้พนักงานแยกขยะพลาสติกเพื่อนำไปเข้ากระบวนการรีไซเคิลที่วัดจากแดง จังหวัดสมุทรปราการ และนำความรู้เกี่ยวกับการแยกขยะกลับไปใช้ที่บ้านอีกด้วย สำหรับการเข้าร่วมโครงการฯ ในปีนี้ เป็นรั้งที่สอง มาเป็นพี่เลี้ยง นอกจากจะได้ความรู้ใหม่เกี่ยวกับเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งเป็นอีกเรื่องที่สำคัญ ยังได้connection ใหม่ๆ เพิ่มอีกด้วย ./