•สภากรุงเทพมหานคร มีมติผ่านร่างข้อบัญญัติใหม่ ปรับเพิ่มค่าธรรมเนียมเก็บขยะสำหรับบ้านที่ไม่คัดแยกขยะ เป็นเดือนละ 60 บาท เริ่มบังคับใช้ในอีก 180 วัน
•‘พรพรหม ณ.ส. วิกิตเศรษฐ์’ แจงยิบอัตราการเก็บเพิ่ม 3-4 เท่าจากปัจจุบัน เป็น game changer ที่สำคัญในมิติของการส่งเสริมให้ภาคครัวเรือนแยกขยะ
เมื่อวันก่อน (30 ต.ค.2567) ที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร เห็นชอบด้วยคะแนนเสียง 34 เสียง ให้ กทม.จัดเก็บค่าธรรมเนียมขยะ โดยญัตติเห็นชอบครั้งนี้ เป็นการแก้ไขข้อบัญญัติให้บ้านที่แยกขยะจะเสียค่าธรรมเนียม 20 บาทต่อเดือน ส่วนบ้านที่ไม่แยกขยะจะเสียค่าธรรมเนียม 60 บาทต่อเดือน ซึ่งภายหลังจากลงทะเบียนและเจ้าหน้าที่ตรวจสอบว่ามีการแยกขยะจริง จะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในอัตราเดิม 20 บาท
นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ปัจจุบันกรุงเทพมหานครต้องรับภาระจัดการขยะในปริมาณสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในแต่ละวันต้องจัดการขยะเฉลี่ยหลายพันตัน ซึ่งมีใช้ค่าใช้จ่ายในการกำจัดอยู่ที่ 2,300 บาทต่อตัน เมื่อปริมาณขยะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ การแยกขยะจึงเป็นอีกแนวทางสำคัญที่จะช่วยลดภาระในด้านการจัดการขยะ โดยจะมีผลบังคับใช้ในอีก 180 วัน
หากพิจารณาอัตราค่าธรรมเนียมใหม่ แบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ บ้านที่มีการคัดแยกขยะ หากมีการจัดการขยะไม่เกิน 20 ลิตรต่อวัน จะมีค่าบริการเพียง 10 บาทต่อเดือน, หากขยะเกิน 20 ลิตร แต่ไม่เกิน 1 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน จะมีค่าบริการทุก 20 ลิตร หน่วยละ 60 บาท, หากขยะเกิน 1 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ค่าบริการจะอยู่ที่ 3,250 บาทต่อหน่วย
ส่วนกลุ่มที่ 2 บ้านที่ไม่มีการคัดแยกขยะ หากมีการทิ้งขยะไม่เกิน 20 ลิตรต่อวัน จะมีค่าบริการ 30 บาทต่อเดือน, หากขยะเกิน 20 ลิตร แต่ไม่เกิน 1 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน จะมีค่าบริการทุก 20 ลิตร หน่วยละ 60 บาท, หากขยะเกิน 1 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ค่าบริการจะอยู่ที่ 4,750 บาทต่อหน่วย
ทั้งนี้ การปรับอัตราค่าธรรมเนียมดังกล่าวเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการลดและคัดแยกขยะอย่างจริงจัง อีกทั้งข้อบัญญัติใหม่ยังมุ่งหวังให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของการรักษาความสะอาดและการจัดการสิ่งแวดล้อม
สำหรับการประชาสัมพันธ์ข้อมูลเกี่ยวกับการปรับอัตราค่าธรรมเนียมและการคัดแยกขยะจะถูกดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ทางกรุงเทพมหานครจะเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ ผ่านสมาร์ตโฟนในแอปพลิเคชัน BKK ของ กทม. หรือ วอล์กอินมาที่ฝ่ายรักษาความสะอาด สำนักงานเขตทั้ง 50 เขต
แจงอัตราการเก็บใหม่เพิ่ม 3-4 เท่าจากปัจจุบัน
นายพรพรหม ณ.ส. วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้บริหารด้านความยั่งยืนกรุงเทพมหานคร ขยายความผ่าน เฟซบุ๊ค พรพรหม วิกิตเศรษฐ์ - Pornphrom Vikitsreth ว่า ทางสภากรุงเทพมหานครได้ผ่านข้อบัญญัติค่าธรรมเนียมการจัดการขยะของกรุงเทพฯที่ฝ่ายบริหารเราเสนอแล้ว
ที่ผ่านมา เราใช้ของปี 2546 เท่ากับว่าใช่ของเดิมมาเกิน 20 ปีแล้ว ซึ่งของเดิมก็ไม่สอดคล้องกับสภาพปัจจุบัน แต่แน่นอนว่าเรื่องจากเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ ก็จะมีข้อสงสัยเยอะเป็นปกติ ผมเลยขอให้ข้อมูล 3 ประเด็นที่ได้รับการสอบถามมากที่สุด
1. จะเพิ่มอัตราเป็นเท่าไหร่? สำหรับใครบ้าง?
2. มีลดหย่อนสำหรับบ้านที่แยกขยะจริงไหม?
3. ทำไมถึงต้องเพิ่มอัตรา?
ประเด็นที่ 1 - จะเพิ่มอัตราเป็นเท่าไหร่? สำหรับใครบ้าง?
คำตอบ เราจะเพิ่มอัตราการเก็บ 3-4 เท่าจากปัจจุบัน ขึ้นอยู่กับปริมาณขยะของท่าน
กลุ่ม 1: ในกรณีที่ท่านมีขยะไม่เกิน 20 ลิตร (4 กก.) ต่อวัน ท่านจะอยู่ "กลุ่ม 1" ซึ่งครัวเรือนส่วนมากจะอยู่ในกลุ่มนี้ มีอยู่เกิน 2 ล้านครัวเรือน
ที่ผ่านมาท่านจ่ายอยู่ 20 บาทต่อเดือน และเราจะเพิ่มขึ้นเป็น 60 บาทต่อเดือน หรือ 3 เท่า อันนี้จะเป็นการจ่ายแบบ "flat rate" แปลว่าไม่ว่าท่านจะมีขยะ 1 ลิตร/วัน หรือ 20 ลิตร/วัน ท่านก็จะจ่ายเท่ากันที่ 60 บาท
แต่ข้อพิเศษของข้อบัญญัติฉบับนี้ สำหรับบ้านที่แยกขยะ กทม.จะเปิดให้ท่านลงทะเบียนเพื่อลดหย่อนค่าธรรมเนียมกลับมาเป็น 20 บาทได้ (เดี๋ยวรายละเอียดเพิ่มจะอยู่ในประเด็นที่ 2)
กลุ่ม 2: สำหรับผู้ที่มีขยะเกิน 20 ลิตร (4 กก.) ต่อวัน แต่ไม่เกิน 1,000 ลิตร (200 กก.) จะเป็นกลุ่ม 2 ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นห้องแถว ร้านอาหาร ร้านสะดวกซื้อ
ท่านจะต้องจ่ายเป็น "อัตราก้าวหน้า" หรือจ่ายต่อหน่วย (หน่วยละ 20 ลิตร) ซึ่งจะต่างจากแบบ "flat rate" เหมือนกลุ่มที่ 1
ที่ผ่านมาท่านจ่ายหน่วยละ 40 บาท และเราจะเพิ่มเป็นหน่วยละ 120 บาท หรือเพิ่มขึ้น 3 เท่า (เท่ากับกลุ่ม 1)
ตัวอย่างเช่น ถ้าท่านเป็นร้านอาหารมีขยะ 100 ลิตรต่อวัน จะเท่ากับว่าท่านจะต้องจ่าย 5 หน่วย แปลว่าที่ผ่านมาท่านจ่าย 200 บาทต่อเดือน (5 × 40) แต่ในอัตราใหม่ ท่านจะต้องจ่าย 600 (5 × 120)
แต่ท่านต้องการที่จะลดค่าธรรมเนียม ท่านก็สามารถทำได้ถ้ามีการแยกขยะไปใช้ประโยชน์ ซึ่งจะทำให้ลดปริมาณขยะที่จะทิ้งให้กับกทม.
เช่น ถ้าขยะลดลงจาก 100 ลิตร/วัน เป็น 60 ลิตร/วัน จะเท่ากับหน่วยขยะลดลงจาก 5 หน่วยเป็น 3 หน่วย ซึ่งในอัตราใหม่ก็จะลดลงจาก 600 บาท/เดือน เป็น 360 บาท/เดือน
กลุ่ม 3: สำหรับผู้ที่มีขยะเกิน 1,000 ลิตร (200 กก.) หรือ 1 ลบ.ม. จะเป็นกลุ่ม 3 ซึ่งสถานประกอบการต่างๆ เช่น ห้าง ตลาด สำนักงาน โรงแรม จะอยู่ในกลุ่มนี้
กลุ่ม 3 นี้ จะเป็นการจ่ายแบบ "อัตราก้าวหน้า" เหมือนกลุ่ม 2 โดยเราจะคิดเป็น หน่วยละ 1 ลบ.ม.
ที่ผ่านมาท่านจ่ายหน่วยละ 2,000 บาท และเราจะเพิ่มเป็นหน่วยละ 8,000 บาท หรือเพิ่มขึ้น 4 เท่า
เนื่องจากเป็นการจ่ายแบบ "อัตราก้าวหน้า" เหมือนกับกลุ่มที่ 2 กลุ่มนี้ก็จะสามารถลดอัตราค่าธรรมเนียมถ้ามีการลดปริมาณขยะที่ส่งให้กทม. ได้เช่นกัน
ท่านอาจจะสงสัยว่าทำไมสำหรับกลุ่ม 1 กับ 2 เราเพิ่มอัตรา 3 เท่า แต่กลุ่ม 3 เราเพิ่ม 4 เท่า อันนี้มี 2 เหตุผลหลัก
1) กลุ่ม 3 ซึ่งเป็นสถานประกอบการขนาดใหญ่จะมีประสิทธิภาพในการลดขยะมากกว่าอีก 2 กลุ่ม ถ้ามีการคัดแยกขยะแล้วมีปริมาณรีไซเคิลอยู่มาก ก็จะสามารถขายได้ มีคนพร้อมมารับซื้อ ส่วนเศษอาหารถ้ามีปริมาณมากก็มีเกษตรกรพร้อมมารับถึงที่
2) เรามองว่าการเพิ่มค่าธรรมเนียมสำหรับประชาชนทั่วไปและ SME ในอัตราที่เท่ากับเอกชนรายใหญ่อาจจะไม่ใช่เรื่องที่เป็นธรรม
ประเด็นที่ 2 - มีลดหย่อนสำหรับบ้านที่แยกขยะจริงไหม?
สำหรับกลุ่มที่ 1 กทม.จะเปิดให้บ้านที่แยกขยะสามารถลงทะเบียนเพื่อลดหย่อนค่าธรรมเนียมกลับมาเป็น 20 บาท/เดือนได้ (จาก 60 บาท/เดือน)
มาตรการนี้นับว่าเป็น game changer อันสำคัญในมิติของการส่งเสริมให้ภาคครัวเรือนแยกขยะ
ที่ผ่านมาเราทำได้แค่ "ส่งเสริม" "ขอความร่วมมือ" "สมัครใจ" ซึ่งก็ดีแต่ก็ต้องยอมรับว่าไม่พอ ถ้าคนทำดีก็ดีไป แต่คนส่วนใหญ่ที่ไม่สนใจ เราก็ทำอะไรเขาไม่ได้ ก็ต้องปล่อยไปตามเดิม
มาตรการนี้เป็นครั้งแรกที่จะมีการใช้ "กลไกทางเศรษฐศาสตร์" เข้ามาช่วยในการส่งเสริมให้ประชาชนมีการแยกขยะ เป็นแรงจูงใจให้คนอยากแยกเพราะเนื่องจากประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อม ยังสามารถลดค่าใช้จ่ายได้ด้วย ส่วนถ้าไม่แยกก็จ่ายอัตราเต็มไป
คำถามสำคัญที่หลายคนถามคือ แล้วจะรู้ได้อย่างไร ว่าใครแยก ไม่แยก?
ก่อนอื่นต้องให้ข้อมูลว่า กทม.จะมีเวลา 180 วันระหว่างวันที่ราชกิจจาฯ ออกกับวันบังคับใช้อัตราใหม่ ที่ทางกทม. จะออกระเบียบ จัดทำระบบรองรับ (ได้มีการเตรียมมาก่อนเสนอข้อบัญญัติอยู่แล้ว) และที่สำคัญจะต้องสื่อสารกับประชาชน ซึ่งเพราะวันนี้ข้อบัญญัติผ่านแล้ว เราจะเริ่มการสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจเรื่อยๆ
แต่ในเบื้องต้นจะเป็นการลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการแยกขยะ "บ้านนี้ไม่เทรวม" + การส่งหลักฐานผ่านระบบที่เตรียมไว้ + จะมีแจกอุปกรณ์ส่งเสริมการคัดแยกที่จะช่วยให้เจ้าหน้าที่สังเกตง่ายขึ้นด้วยครับ
ประเด็นที่ 3 - ทำไมถึงต้องเพิ่มอัตรา?
เรื่องนี้ผมเคยโพสต์แล้ว แต่อยากจะสื่อสารอีกครั้งถึงความจำเป็นที่จะต้องเพิ่ม เนื่องจากอัตราปัจจุบันทำให้สัดส่วนของรายจ่ายด้านจัดการขยะต่างกับรายได้จากค่าธรรมเนียมอย่างมาก
ผมได้เปรียบเทียบค่าใช้จ่ายด้านการจัดการขยะ vs. รายได้ค่าเก็บขยะจากอัตราปัจจุบัน
ค่าบริหารจัดการขยะทั้งหมดต้องใช้งบประมาณ เกิน 7,000 ล.บ. แต่จัดเก็บอยู่ที่ 522 ล.บ.
**ต่อ 1 บ้าน: กทม. มีค่าใช้จ่าย 9.12 บาท/วัน ซึ่งในอัตราปัจจุบันเราเก็บบ้านละ 0.67 บาท/วัน**
**ต่อ 1 กก.: กทม. มีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 2.28 บาท แต่อัตราปัจจุบันเก็บเพียง 0.1675 บาท**
เท่ากับว่ากทม. จ่ายอยู่ 93% ส่วนประชาชนจ่ายเพียง 7% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด
"ตอนนี้อัตราที่ต่ำทำให้ภาระตกอยู่ที่ท้องถิ่นหมด ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ไม่สนใจเพราะอัตราต่ำ และไม่มีแรงจูงใจให้ลดหรือคัดแยกขยะ
สาระสำคัญที่ผมได้เขียนในโพสต์นี้ อาจจะเป็นข้อมูลเบื้องต้นที่อยากจะให้ข้อมูล และสื่อสารถึงที่มาและหลักคิดของมาตรการนี้ ซึ่งหลังจากวันนี้เราจะมีการให้ข้อมูลและสื่อสารประเด็นนี้อย่างต่อเนื่อง"