อีกงานอีเวนต์ใหญ่ที่แสดงจุดยืนประเทศไทย หนุนหลายภาคส่วนเข้าร่วมขับเคลื่อนเพื่อแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศให้โลกในระยะยาว รวมถึงผลักดันธุรกิจแบบเก่าก้าวผ่านโดยใส่ใจ “คาร์บอนฟุตพริ้นต์” ด้วยการส่งเสริมแผนความยั่งยืน-เทคโนโลยีสีเขียว
งาน “Green Technology Expo 2024 เปิดประตูสู่อนาคต” Driving Sustainable Solutions : Advancing Business Through Green Technology ส่งเสริมแผนงานความยั่งยืน ขับเคลื่อนธุรกิจด้วยเทคโนโลยีสีเขียว อีกทั้งเป็นแพลตฟอร์มสำหรับการแลกเปลี่ยนความรู้ แนวคิด และนวัตกรรมทางเทคโนโลยีเพื่อสร้างธุรกิจและเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยความร่วมมือของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงพลังงาน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงอุตสาหกรรม สมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ไทย-จีน และหน่วยงานภาครัฐของสาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ 24-26 ตุลาคมที่ผ่านมา ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค
ทุกวันนี้ เทคโนโลยีสีเขียว หรือ Green Technology ครอบคลุมและนำมาประยุกต์ใช้ได้ในหลากหลายกลุ่มอุตสาหกรรม เช่น พลังงานทดแทน ระบบขนส่ง ก่อสร้าง เกษตรกรรม และการจัดการของเสีย เป็นต้น มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาและปฏิวัติวงการอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่องในอนาคต
สมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ไทย-จีน และคณะผู้จัดงาน เล็งถึงความสำคัญในการสนับสนุนเพื่อการลดปัญหาสภาพภูมิอากาศโลกและส่งเสริมการพัฒนาแบบยั่งยืน (SDG) รวมทั้งสนับสนุนนโยบายของประเทศด้านการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งภาคอุตสาหกรรมและครัวเรือน รวมทั้งสนับสนุนนโยบายของประเทศด้านการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งภาคอุตสาหกรรมและครัวเรือน เพื่อบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2025 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี 2065
ศาสตราจารย์นายแพทย์เกษม วัฒนชัย องคมนตรี ในฐานะนายกสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทย-จีน กล่าวว่า ปัจจุบันนานาชาติต่างยอมรับว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นปัญหาของโลกและจำเป็นต้องมีความร่วมมือแก้ไขในระยะยาว โดยให้เป็นนโยบายสำคัญของสหประชาชาติ ซึ่งมีการประชุมและให้สัตยาบันในข้อตกลงกรุงปารีส ประเทศสหรัฐอเมริกาก็กลับมาใช้สนธิสัญญาปารีส โดยประกาศลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงให้ได้ร้อยละ 50-52 ขณะที่สหภาพยุโรปได้ประกาศแผน green deal มุ่งสู่ความเป็นกลาง ทางคาร์บอนภายในปี 2050 ประเทศจีนก็ประกาศแผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้มากที่สุดภายในปี 2030
สำหรับประเทศไทยได้ให้สัตยาบัน ณ กรุงปารีส โดยประกาศจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Green House Gas : GHG)ให้ได้ร้อยละ 20-25 ภายในปี 2030 หรือ พ.ศ.2573 และได้ประกาศการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ด้วย Bio-Circular-Green Economy หรือ BCG ในปี พศ. 2567
เนื่องจากการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม หลังการปฏิวัติอุตสาหกรรมในศตวรรษที่ 18 ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของโลกและการดำเนินชีวิตของทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในศตวรรษที่ 20 มีการใช้ทรัพยากร ธรรมชาติเพื่อการผลิตทั้งภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมในอัตราที่สูงมาก ทำให้มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และเกิดการสะสมของก๊าซเรือนกระจก เป็นเหตุให้มีการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม สภาพภูมิอากาศเป็นอย่างมาก
สมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ไทย-จีน เป็นสมาคมที่จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญในการส่งเสริมความร่วมมือในการพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี การแลกเปลี่ยนและถ่ายทอดเทคโนโลยี สู่ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม ระหว่างหน่วยงานวิจัย มหาวิทยาลัย ภาคธุรกิจ และภาคอุตสาหกรรม ทั้งภาครัฐและเอกชนในประเทศไทย สาธารณรัฐประชาชนจีน และนานาชาติ
ศาสตราจารย์นายแพทย์เกษม กล่าวอีกว่า "การนำเสนอเทคโนโลยีสีเขียวหรือ Green Technology ในงานนี้จากบริษัท และหน่วยงานชั้นนำจากประเทศไทย สาธารณรัฐประชาชนจีนและประเทศต่างๆ มุ่งเน้นเทคโนโลยีสีเขียวในด้านต่างๆ ซึ่งการพัฒนาธุรกิจและอุตสาหกรรมที่ยั่งยืนจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีสีเขียวเพื่อลดใช้ทรัพยากร ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์และของเสียจากกระบวนการผลิต"
ด้านศาสตราจารย์ ดร.พิชัย สนแจ้ง เลขาธิการสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทย-จีน กล่าวว่า การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม หลังการปฏิวัติอุตฯ โดยเฉพาะในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา มีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติเพื่อการผลิตทั้งภาคอุตสาหกรรม และเกษตรกรรมมีผลต่อสิ่งแวดล้อม การเพิ่มพื้นที่เมืองและลดพื้นที่ป่า สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม เกิดการสะสม Green House Gas (GHG) เกินกว่าที่ธรรมชาติจะรับได้ จนเกิดปัญหาภาวะโลกร้อน หรือ Global Warming ย้อนกลับมามีผลกระทบต่อการผลิตในภาคอุตสาหกรรม เกษตรกรรม ภาคบริการ และการใช้ชีวิตประจำวันอย่างที่ทุกคนรับทราบ และพวกเราต้องเผชิญกับปัญหาร่วมกัน ซึ่งปัญหาดังกล่าวทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันแก้ไขโดยสมาคมเห็นว่าการแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนต้องเกิดจากความร่วมมือจากทุกภาคส่วนโดยเฉพาะการปรับเปลี่ยนการผลิตและกระบวนการทั้งภาคอุตสาหกรรม เกษตรกรรม และบริการ ซึ่งต้องใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการพัฒนานวัตกรรม
การจัดงาน “Green Technology Expo 2024” ครั้งนี้ ช่วยให้เกิดการกระจาย การใช้การพัฒนาเทคโนโลยีและการสร้างนวัตกรรม โดยเป็นพื้นที่ให้เกิดการพบปะ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างเจ้าของเทคโนโลยี นักธุรกิจ ผู้ประกอบการ นักวิจัย และผู้สนใจทั่วไปที่จะร่วมกันเสนอเทคโนโลยีและความคิดใหม่ ต่อยอดความรู้ แก้ปัญหา และสนองความต้องการ ซึ่งจะเกิดทั้ง Business Matching และ Technology Matching สร้างธุรกิจที่สนองนโยบาย SDG และ BCG-Economic ของ UN
อีกทั้งนโยบายของประเทศไทยที่จะขับเคลื่อนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม และให้ความสำคัญกับการสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในประเทศต่างๆ โดยยึดหลัก mutual benefit และ sincerity ซึ่งในการจัดงานปี 2023 ที่ผ่านมาเราได้ร่วมมือกับประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน เกาหลีใต้ จีน ไต้หวัน และประเทศอื่นๆ ทำให้เกิดความร่วมมือในการลงทุน การพัฒนาอุตฯ นวัตกรรม เทคโนโลยี พลังงานจากไฮโดรเจน การจัดการน้ำเสียและอื่นๆ
"ผมมองว่าเราต้องใส่ใจเรื่องคาร์บอนฟุตพริ้นต์ (Carbon Footprint) ให้ความสำคัญในคำมั่นสัญญาที่ได้ให้ไว้กับ สหประชาชาติ ต้องพัฒนาทรัพยากรที่มีอยู่ให้มีคุณค่ามากขึ้นเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจให้ดีขึ้นนั่นเอง"
ศ.ดร.พิชัย ย้ำว่า การจัดงานครั้งนี้ได้นำเทคโนโลยีต่างๆ มาเผยแพร่ในประเทศไทย เพื่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างประเทศไทย ประเทศจีนและนานาชาติ ส่งผลให้เกิดการส่งเสริมการใช้ Green Technology ในการเพิ่มมูลค่าการผลิตด้านอุตสาหกรรม หรือกิจกรรมอื่นๆ ในแต่ละภาคส่วน
"อย่างเช่น ภาคอสังหาฯ มีส่วนสำคัญในการนำนวัตกรรมเรื่องกรีนไปใช้ในกระบวนการก่อสร้างบ้าน ดูแลพื้นที่โครงการ ดูแลเรื่องน้ำ ก็มีส่วนช่วยลดมลภาวะได้ และนำไปสู่คุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัย และต้นทุนของโครงการในระยะยาว หรืออย่างที่ ม.มหิดล นำเทคโลยีการอบแห้งสับปะรดโดยใช้เครื่องอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ร่วมกับเทคโนโลยี Corona Wind ผลงานโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เจษฎาภรณ์ ปริยดำกล จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ และ Carbon Polymerizing System : ระบบการผลิตพลาสติกชีวภาพจากคาร์บอนแบบอัตโนมัติ ผลงานโดยสตาร์ทอัพ BrainTeazer จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ เป็นต้น"
ธุรกิจยุคใหม่ ควรทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์องค์กร
เนื่องจากการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร (Carbon Footprint for Organization : CFO หรือ Corporate Carbon Footprint: CCF) เป็นวิธีการประเภทหนึ่งในการแสดงข้อมูลปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยจากการดำเนินงานขององค์กรที่จะนำไปสู่การกำหนดแนวทางการบริหาร จัดการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งในระดับโรงงาน ระดับอุตสาหกรรม และระดับประเทศ
ปัจจุบัน องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ TGO ได้จัดทำโครงการส่งเสริมการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร คือ คาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรในภาคอุตสาหกรรม และคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
คาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร คือ ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากกิจกรรมต่างๆ ขององค์กร เช่น การเผาไหม้ของเชื้อเพลิง การใช้ไฟฟ้า การจัดการของเสีย และการขนส่ง วัดออกมาในรูปตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า โดยพิจารณาจาก 3 ส่วนหลัก แบ่งเป็น SCOPE ดังนี้
SCOPE I: การคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ทางตรง (Direct Emissions) จากกิจกรรมต่างๆ ขององค์กรโดยตรง เช่น การเผาไหม้ของเครื่องจักร การใช้พาหนะขององค์กร (ที่องค์กรเป็นเจ้าของเอง) การใช้สารเคมีในการบำบัดน้ำเสีย การรั่วซึม/รั่วไหล จากกระบวนการหรือกิจกรรม เป็นต้น
SCOPE II: การคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ทางอ้อมจากการใช้พลังงาน (Energy Indirect Emissions) ได้แก่ การซื้อพลังงานมาใช้ในองค์กร ได้แก่ พลังงานไฟฟ้า พลังงานความร้อน พลังงานไอน้ำ เป็นต้น
SCOPE III: การคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ทางอ้อมด้านอื่นๆ การเดินทางของพนักงานด้วยพาหนะที่ไม่ใช่ขององค์กร การเดินทางไปสัมมนานอกสถานที่ การใช้วัสดุอุปกรณ์ต่างๆ เป็นต้น
ประโยชน์ของการทำ CFO
ภาคธุรกิจ : สามารถประเมินปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากกิจกรรมขององค์กร สามารถจำแนกสาเหตุของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มีนัยสำคัญและหาแนวทางเพื่อลดขนาดของ CFO โดยปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดลง อาจนำไปขายเป็นคาร์บอนเครดิต หรือทำการชดเชยคาร์บอนกับองค์กรอื่นๆ
ภาครัฐ : ใช้ในการขับเคลื่อนให้เกิดการบริหารจัดการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กร เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศ