จากกรณีเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) ร่วมกับนิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย. ) ร่วมแถลงผลทดสอบสารเคมีเกษตรในองุ่นไชน์มัสแคททั่วกรุงเทพและปริมณฑล ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเมื่อวันที่ 24 ต.ค.2567 จนเกิดกระแสคนตกใจกับข่าวนี้มาก และทำเอาไม่กล้ากินองุ่นไชน์มัสแคทอย่างรวดเร็ว
วานนี้ (25 ต.ค.2567) เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) โพสต์ชี้แจงคำว่า “สารพิษตกค้าง” ซึ่งหมายถึงคำว่า ‘สารเคมีตกค้างเกินมาตรฐาน’ บนเพจเฟซบุ๊ก เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช
(Thai-PAN) ว่า
ในตอนที่ได้ยินคำว่า ‘สารพิษตกค้าง’ หลายคนอาจจะกังวลขึ้นมาก่อน ว่าสารพิษเหล่านั้นคืออะไรและมีอันตรายไหม ในขณะที่หลายคนอาจจะคิดว่า ผลผลิตจากธรรมชาติก็ย่อมต้องมีอะไรตกค้างอยู่แล้ว อาจจะเป็นเชื้อรา หรือเชื้อโรคจากแมลงวันหรือนก ดังนั้นแค่ล้างก่อนรับประทานก็เพียงพอ
เพื่อให้ประชาชนมีความรู้ที่ถูกต้องในการนำไปพิจารณาประกอบการเลือกผลิตผลทางการเกษตรสำหรับบริโภคได้อย่างรอบด้าน เราจึงตั้งใจอธิบายคำว่า ‘สารเคมีตกค้างเกินมาตรฐาน’ ในโพสต์นี้ค่ะ
ในประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 387 พ.ศ.2560 เรื่อง อาหารที่มีสารพิษตกค้าง ได้ให้คำจำกัดความไว้ว่า
“สารพิษตกค้าง (Pesticide Residue)” หมายถึง สารตกค้างในอาหารที่เกิดจากการใช้วัตถุอันตรายทางการเกษตร และหมายความรวมถึงกลุ่มอนุพันธ์ของวัตถุอันตรายทางการเกษตรนั้น
ดังนั้น จึงได้มีการกำหนดลิมิตค่าปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุดไว้เป็นมาตรฐาน เรียกว่า Maximum Residue Limit ตัวย่อ MRL ซึ่งอาหารทุกชนิดต้องตรวจได้ค่าไม่เกินจากที่กำหนดไว้
ทั้งนี้ บางชนิดสาร เป็นสารที่ยังไม่มีข้อมูลการประเมินความปลอดภัยของปริมาณสารตกค้างสูงสุดที่ยอมรับได้ กฎหมายจึงยังไม่ได้กำหนดค่า MRL แต่ได้กำหนดเอาไว้ว่า สารใดๆ ที่ไม่ได้มีประกาศค่า MRL เอาไว้ ให้ตรวจพบได้ไม่เกินค่าดีฟอลต์ลิมิต (Default Limit) หรือไม่เกิน 0.01 มิลลิกรัมสารพิษตกค้างต่อกิโลกรัมอาหาร ยกเว้นจะมีประกาศกำหนดค่าดีฟอลต์ลิมิตเป็นค่าอื่น
ดังนั้น คำว่า “ผลตรวจสารพิษตกค้างเกินมาตรฐาน” ที่ Thai-PAN นำเสนอ จึงหมายถึง สารพิษตกค้างที่ตรวจวัดได้มากเกินกว่าค่าที่กฎหมายกำหนดไว้ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น ก็อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายและสุขภาพ
ยกตัวอย่างเช่น สารประเภท คลอร์ไพริฟอส เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เป็นสารที่ต้องตรวจไม่พบในอาหาร หากตรวจเจอสารชนิดนี้ไม่ว่าจะเป็นในผักหรือเนื้อสัตว์ ก็ถือว่าเป็นอาหารที่มี “สารพิษตกค้างเกินมาตรฐาน”
การล้างสารพิษตกค้างเกินมาตรฐานในผักผลไม้เป็นเรื่องที่ซับซ้อน และไม่มีวิธีการล้างที่สามารถกำจัดได้ทั้งหมดเสมอไป เนื่องจากสารพิษแต่ละชนิดมีความสามารถในการถูกชะล้างหรือดูดซึมเข้าไปในเนื้อเยื่อของพืชผักแตกต่างกัน และแม้จะเป็นสารชนิดเดียวกันแต่ตกค้างในผักผลไม้ต่างชนิดกัน ก็อาจทำให้การล้างสารนั้นๆออกจากพืชแต่ละชนิดแตกต่างกันด้วย
ดังนั้น นอกจากการล้างเพื่อลดปริมาณสารพิษ ผู้บริโภคควรต้องเลือกซื้อวัตถุดิบจากแหล่งที่น่าเชื่อถือหรือมีมาตรฐาน รวมทั้งพยายามเลือกซื้อผักผลไม้ที่ปลูกโดยวิธีธรรมชาติ หรือผักผลไม้ที่ได้รับการรับรองว่าปลอดสารพิษ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงในการบริโภคอาหารที่มีสารพิษตกค้าง
นอกจากนี้ เราทุกคนในฐานะผู้บริโภคยังมีอำนาจในการเลือกซื้อสินค้าและเรียกร้องความรับผิดชอบจากผู้ผลิต รวมทั้งการผลักดันให้เกิดการปรับปรุงการปฏิบัติในการควบคุมการผลิตหรือนำเข้าอาหารด้วย เพราะอาหารปลอดภัยไม่เพียงแต่เป็นสิทธิของผู้บริโภค แต่ยังเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาประเทศ
และอาจพูดได้ว่า การตรวจพบสารพิษตกค้างเกินมาตรฐาน เป็นสัญญาณเตือนให้เราทุกคนช่วยกันสร้างระบบอาหารที่ปลอดภัยและยั่งยืนร่วมกันค่ะ