xs
xsm
sm
md
lg

“คาร์บอนเครดิต” เอื้อฟอกเขียว ! กรีนพีซ-ภาคี ติดเบรกก่อนไป COP29

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เครือข่ายประชาชนเพื่อความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศและหยุดคาร์บอนเครดิต รวมตัวออกมาเรียกร้อง Climate Justice ก่อนรัฐบาลไทยไปเจรจาในเวทีประชุมสภาพภูมิอากาศโลก COP29

เมื่อวันที่ 14-15 ตุลาคมที่ผ่านมา ภาคประชาชนประชาชน ชุมชนจากหลายภาคส่วนในไทย เครือข่ายและนักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม เช่น กรีนพีซ ประเทศไทย รวมตัวจัดกิจกรรมเรียกร้องความเป็นธรรมด้านสภาพภูมิอากาศ (Climate Justice) “ยุติภาวะโลกเดือดที่ต้นเหตุ: System Change Not Climate Crisis” บริเวณหน้าองค์การสหประชาชาติ (UN) กรุงเทพฯ พร้อมการแถลงข่าวเรียกร้องรัฐบาลต้องยุติการเอื้อให้อุตสาหกรรมผู้ก่อมลพิษฟอกเขียว และต้องแก้ไขปัญหาวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่ต้นเหตุและเป็นธรรม

ภายในกิจกรรมมีวงเสวนาเกี่ยวกับความเป็นธรรมด้านสภาพภูมิอากาศ ปัญหาของคาร์บอนเครดิต นโยบายรัฐที่ยังคงโอบอุ้มกลุ่มนายทุนที่แสวงหากำไรจากทรัพยากร กิจกรรมไฮด์ปาร์คจากเครือข่ายภาคประชาชน วงดนตรีและการเล่นเกมคำศัพท์เกี่ยวกับคาร์บอนเครดิต โดยเช้าวันที่ 15 ต.ค. ตัวแทนเครือข่ายฯ ได้ยื่นหนังสือจดหมายเปิดผนึกถึงเลขาธิการบริหารกรอบอนุสัญญาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC Executive Secretary) และเคลื่อนขบวนต่อไปยังกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) พร้อมกางป้ายผ้า “People Before Profit - หยุดฟอกเขียวยักษ์ใหญ่คาร์บอน” บนอาคาร ทส.








นายธารา บัวคำศรีผู้อำนวยการกรีนพีซ ประเทศไทย กล่าวว่า ในการประชุมด้านสภาพภูมิอากาศโลก COP29 ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 11 – 22 พฤศจิกายน 2567 ณ กรุงบากู สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน จะเป็นโอกาสสำคัญที่รัฐบาลไทยได้แสดงจุดยืนที่ชัดเจนต่อผู้คนในประเทศและประชาคมโลกเพื่อสอดประสานอนุสัญญา 2 ฉบับนี้เข้าด้วยกัน ว่าจะเลือกความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศที่รับรองสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดีและมีสุขภาวะของประชาชน หรือการล่มสลายทางนิเวศวิทยาจากอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิล อุตสาหกรรมอาหาร/เนื้อสัตว์ และอุตสาหกรรมขุดเจาะทรัพยากรธรรมชาติที่ปัดภาระรับผิดต่อผลกระทบจากโลกเดือด

"พวกเราเห็นพ้องว่า นโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของรัฐบาลที่ผ่านมา ยังคงเอื้อประโยชน์ให้กับบรรษัทยักษ์ใหญ่ เช่น อุตสาหกรรมฟอสซิล อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร และอุตสาหกรรมขุดเจาะทรัพยากรธรรมชาติเดินหน้าก่อวิกฤตโลกเดือดผ่านการฟอกเขียว ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมต่อประชาชน ชุมชนท้องถิ่นที่เป็นกลุ่มคนที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยที่สุด แต่กลับเป็นกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศมากที่สุด


ด้านนายณัฐวุฒิ กรมภักดี ตัวแทนขบวนสภาชุมชนริมรางเมืองขอนแก่น กล่าวว่า “วิกฤตโลกเดือดคือการก่อมลพิษของบริษัทขนาดใหญ่ซึ่งเป็นคนไม่กี่เปอร์เซ็นต์ของโลกใบนี้ แต่กลุ่มคนที่ต้องแบกรับผลกระทบจากโลกร้อนมากที่สุดคือคนจน มีปัจจัยซับซ้อนที่ทำให้โลกเดือดมีความรุนแรง ตั้งแต่ผังเมือง นโยบายการจัดการเมืองที่ไม่มีคนจนอยู่ในนั้นด้วย

“เพื่อความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศ เครือข่ายประชาชนเพื่อความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศและหยุดคาร์บอนเครดิตไม่อาจยอมให้ภาครัฐเดินหน้าฟอกเขียวให้กับอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิล อุตสาหกรรมเกษตรและอาหารยักษ์ใหญ่ อุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ และอุตสาหกรรมขุดเจาะทรัพยากรธรรมชาติได้อีกต่อไป”




กำลังโหลดความคิดเห็น