ทีดีอาร์ไอ หวั่นภาวะโลกร้อนทวีความรุนแรง ก่อภัยพิบัติธรรมชาติซ้ำ กระทบเศรษฐกิจ-สังคม เสนอปรับไทยตั้งรับความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับ 5 ความท้าทาย ชวนร่วมหาคำตอบ “ปรับประเทศไทย…ให้อยู่รอดได้ในยุคโลกเดือด” 30 ต.ค.นี้ ในเวทีวิชาการประจำปี
ดร. สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวถึงปัญหาอุทกภัยอย่างรุนแรงในประเทศไทยในปัจจุบันว่า การที่ภัยพิบัติเช่น น้ำท่วมเกิดขึ้นบ่อยครั้งและมีความรุนแรงมากขึ้น สาเหตุหนึ่งมาจากการที่อุณหภูมิโดยเฉลี่ยของโลกสูงขึ้นต่อเนื่องจนเข้าข่าย “โลกเดือด” ซึ่งสร้างความเสียหายอย่างมากต่อเศรษฐกิจและสังคม โดยที่ผ่านมาหลายประเทศได้เร่งปรับตัวให้เข้ากับสภาพภูมิอากาศ และควบคู่ไปกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้โลกร้อนแล้ว แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ภาครัฐทั้งส่วนกลางและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ธุรกิจเอกชนและประชาชนไทยยังให้ความสำคัญค่อนข้างน้อยต่อการปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศ แม้จะมีแนวคิดในบางด้านอยู่บ้าง เช่น การจัดการน้ำเพื่อรับมือภัยแล้งและน้ำท่วม แต่ก็แทบยังไม่มียุทธศาสตร์การรับมือกับผลกระทบในด้านอื่น
ดร. สมเกียรติ ย้ำว่า "โจทย์สำคัญของประเทศจะทำอย่างไรให้ไทยมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสามารถอยู่รอดได้ในยุค “โลกเดือด” ไม่ว่าจะเป็นการปรับภาคเกษตรให้พร้อมรับมือกับวิกฤตภัยแล้งสลับกับน้ำท่วมฉับพลัน การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานของเมืองเพื่อให้ประชาชนสามารถรับมือกับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป การพัฒนาระบบเตือนภัยพิบัติล่วงหน้าที่แม่นยำ ตลอดจนการพัฒนาระบบการเงินและเครื่องมือประกันภัยที่จะช่วยในการปรับตัวและกระจายความเสี่ยงจากภัยทางธรรมชาติต่างๆ
การปรับตัวให้อยู่รอดในยุคโลกเดือดนอกจากต้องมียุทธศาสตร์ที่เหมาะสมแล้วจะต้องคำนึงถึงความเป็นธรรม โดยมาตรการต่าง ๆ จะต้องคุ้มครองประชาชนในวงกว้าง ไม่มีกลุ่มใดตกหล่น โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่มีความสามารถในการปรับตัวต่ำ และต้องไม่สร้างผลกระทบจากการปรับตัวที่ไม่เหมาะสม เช่น การใช้มาตรการที่ช่วยรับมือกับผลกระทบในพื้นหนึ่ง แต่ก่อให้เกิดผลกระทบรุนแรงขึ้นในพื้นที่อื่น หรือเพิ่มความเสี่ยงขึ้นในอนาคต ด้วยเหตุผลเหล่านี้การจัดงานสัมมนาวิชาการประจำปีของทีดีอาร์ไอในปีนี้ ซึ่งเป็นปีที่ทีดีอาร์ไอครบรอบ 40 ปี จึงให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าว โดยทีมนักวิจัยของทีดีอาร์ไอจะนำเสนอทิศทางด้านนโยบายและมาตรการในการเตรียมการปรับประเทศไทยไปสู่เศรษฐกิจและสังคมที่มีภูมิคุ้มกันต่อสภาพภูมิอากาศ ภายใต้หัวข้อ “ปรับประเทศไทย … ให้อยู่รอดได้ในยุคโลกเดือด” เพื่อให้ประเทศไทยมีความยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างเป็นธรรมต่อประชาชนกลุ่มต่างๆ มากที่สุด
จัดการเมือง ตั้งรับภัยพิบัติ ลดความเสี่ยง
ด้านดร. สุเมธ องกิตติกุล รองประธานทีดีอาร์ไอ ระบุว่า เมืองจะเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศรุนแรงขึ้น โดยเมืองในประเทศไทยเจอกับภัยจากความร้อน น้ำท่วม และน้ำทะเลเซาะชายฝั่ง จึงต้องมีแนวทางตั้งรับปรับตัวในระยะยาวที่พิจารณาทุกมิติของการพัฒนาเมืองอย่างรอบคอบ ทั้งการประยุกต์ใช้โครงสร้างพื้นฐานหลากหลายรูปแบบในการลดความรุนแรงของภัยพิบัติ การจัดการผังเมือง และการเก็บข้อมูลภัยเสี่ยงและกลุ่มเปราะบาง
“หน่วยงานภาครัฐทั้งส่วนกลางและท้องถิ่น จำเป็นต้องมีความเข้าใจต่อภัยธรรมชาติ กลุ่มเปราะบางในเมือง และความสามารถในการตั้งรับปรับตัวของเมือง เพื่อนำไปสู่การลดความเสี่ยงของภัยพิบัติที่จะรุนแรงขึ้น ถ้าไม่สามารถปรับตัวให้ตอบโจทย์กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ ประชาชนและภาคเศรษฐกิจจะประสบปัญหาความยากลำบากในการใช้ชีวิตและทำธุรกิจมากขึ้น” ดร.สุเมธ ระบุ
ดร. สุเมธ กล่าวว่า หากประเทศไทยยังอยู่แบบนี้ต่อไป โดยไม่มีการปรับเพื่อเปลี่ยนเมืองให้สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ ก็จะส่งผลต่อการบริหารจัดการของภาครัฐ ทำให้ต้นทุนของภาครัฐในการบรรเทาผลกระทบจากเกิดภัยพิบัติสูงขึ้น ประสิทธิภาพการใช้งบประมาณของประเทศจะต่ำลงเรื่อยๆ เพราะงบประมาณในส่วนนี้ที่นำไปบรรเทาผลกระทบสามารถนำไปใช้แก้ไขในปัญหาระยะยาว หรือไปพัฒนาประเทศในด้านอื่นๆได้ ดังนั้นจะเกิดความเสี่ยงและฉุดรั้งเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ แต่หากมีการวางยุทธศาสตร์ แก้ไขปัญหาอย่างตรงจุด และมีประสิทธิภาพก็จะสามารถรับมือกับสถานการณ์ภัยพิบัติในอนาคตได้ ซึ่งข้อเสนอแนะทั้งหมดจะถูกนำเสนอในงานสัมมนาวิชาการประจำปีของทีดีอาร์ไอ หรือTDRI Annual Public Conference ในวันที่ 30 ตุลาคมนี้
ชวนร่วมหาคำตอบ “ปรับประเทศไทย…ให้อยู่รอดได้ในยุคโลกเดือด” 30 ต.ค.นี้
สำหรับงาน TDRI Annual Public Conference 2024 “ปรับประเทศไทย…ให้อยู่รอดได้ในยุคโลกเดือด” จะจัดขึ้นในวันที่ 30 ตุลาคม 2567 ที่ สามย่านมิตรทาวน์ฮอลล์ โดยภายในงานจะมีการนำเสนอ 5 หัวข้อจากนักวิชาการทีดีอาร์ไอ ประกอบด้วย 1. ปรับประเทศไทย…ให้ยืดหยุ่นต่อสภาพภูมิอากาศ โดยดร. สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ 2. ช่วยภาคการผลิต…ไม่ติดปัญหาท่วม-แล้ง โดยดร. นิพนธ์ พัวพงศกร และ ดร. นพรุจ จินดาสมบัติเจริญ 3. สร้างเมืองใหม่…ให้ยืดหยุ่นต่อสภาพภูมิอากาศ โดยดร. สุเมธ องกิตติกุล 4. รับมือภัยพิบัติ…จัดการวิกฤตภัยธรรมชาติ โดยดร. เสาวรัจ รัตนคำฟู และนายณัฐสิฎ รักษ์เกียรติวงศ์ และ5. การเงิน-ประกันภัย…ปรับอย่างไรรับโลกรวน? โดยดร. ชาริกา ชาญนันทพิพัฒน์
นอกจากนี้ยังมีเสวนาในหัวข้อ “เคลื่อนประเทศ ปรับไทยให้รอด ในยุคโลกเดือด” โดยมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ส.ส.และหัวหน้าพรรคประชาชน นางสาวสฤณี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการ บ.ป่าสาละ จำกัด มาร่วมแลกเปลี่ยนความเห็น และนางสาวณัฏฐา โกมลวาทิน ผู้อำนวยการฝ่ายข่าว The Standard เป็นผู้ดำเนินรายการ
ทั้งนี้ผู้สนใจเข้าร่วมงานทั้งทาง Onsite และ Online สามารถลงทะเบียนภายในวันที่ 18 ตุลาคมนี้ ได้ที่นี่ (คลิก)
https://tdri.or.th/2024/10/5-challenges-fighting-climate-change/