ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) ได้กลายเป็นเทคโนโลยีที่ร้อนแรงที่สุด และน่าจับตายิ่งในเวลานี้ เนื่องจากตัวเทคโนโลยีเองได้พิสูจน์ให้เห็นถึงขีดความสามารถที่พัฒนาขึ้นอย่างก้าวกระโดด จากกำลังของฮาร์ดแวร์ที่สามารถรองรับการประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ได้อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน และสมรรถนะของซอฟต์แวร์ตัวแบบภาษาขนาดใหญ่ (Large Language Model: LLM) ที่ถือเป็นพื้นฐานของปัญญาประดิษฐ์เพิ่มพูน (Generative AI) ซึ่งสามารถโต้ตอบและสร้างรูปแบบการสนทนาได้เสมือนมนุษย์ และตัวปัญญาประดิษฐ์เอง กำลังเรียนรู้เพิ่มเติมทั้งความฉลาดและความแม่นยำขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผ่านข้อมูลจำนวนมหาศาลที่ป้อนเข้าได้อย่างไม่จำกัด
ขณะเดียวกัน การทุ่มเททรัพยากรจำนวนมาก เพื่อใช้พัฒนาปัญญาประดิษฐ์อย่างขนานใหญ่ในเวลานี้ ก็ทำให้เกิดข้อกังขาถึงความคุ้มค่าในเชิงเศรษฐศาสตร์ เช่น ขนาดการลงทุนที่ไม่สัมพันธ์กับรายได้ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดภาวะฟองสบู่ หรือการลงทุนที่กระจุกตัวในบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่เพียงไม่กี่รายที่ไม่ก่อให้เกิดการกระจายรายได้และความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ ฯลฯ
รวมทั้งผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมจากการพัฒนาและการใช้งานปัญญาประดิษฐ์ เช่น การละเมิดความเป็นส่วนตัวหรือทรัพย์สินทางปัญญา การล่อลวงให้เกิดความเสียหายทางทรัพย์สินและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความตึงตัวทางพลังงานไฟฟ้าและทรัพยากรน้ำที่เพิ่มขึ้น (จากการใช้ประมวลผลข้อมูล) ฯลฯ ซึ่งเป็นประเด็นที่จำเป็นต้องมีการกำกับดูแลเพื่อให้เกิดการใช้ปัญญาประดิษฐ์อย่างรับผิดชอบ (Responsible AI) และเป็นเทคโนโลยีที่มีความยั่งยืน
บทความนี้ จะเป็นการประมวล 10 แนวทางการใช้ปัญญาประดิษฐ์ ช่วยธุรกิจและอุตสาหกรรม ยกระดับสู่ความยั่งยืน ได้แก่
1. การรายงานที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน
แม้ว่าจะยังอยู่ในขั้นแรกเริ่ม Generative AI มีศักยภาพที่จะช่วยนำทางธุรกิจสู่ดินแดนแห่งวิวัฒนาการของความยั่งยืน แพลตฟอร์มฐานปัญญาประดิษฐ์เพิ่มพูนในระดับองค์กร ไม่เพียงแต่จะใช้ติดตาม วัดผล และสรุปข้อสนเทศทางธุรกิจได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ แต่ยังช่วยให้มีกลยุทธ์การรายงานความยั่งยืนได้อย่างทั่วถึงทุกภูมิภาค โดยที่เครื่องมือดังกล่าวช่วยสร้างความมั่นใจ เมื่อต้องมีการติดตามความก้าวหน้าในประเด็นสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG)
2. การแปรสภาพเพื่อใช้ใหม่ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ปัญญาประดิษฐ์ สามารถใช้ในการจัดการของเสียและกระบวนการแปรสภาพเพื่อใช้ใหม่ ไปจนถึงการแยกจำพวกอัตโนมัติ การป้องกันการปนเปื้อน และการทำนายความต้องการซ่อมบำรุง แนวทางดังกล่าว ช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพการแปรสภาพเพื่อใช้ใหม่ และเพิ่มความยั่งยืนโดยการส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน
3. การจัดการสายอุปทาน
การปฏิบัติและการหาความเหมาะสมต่อปริมาณสินค้าคงคลังที่ขับเคลื่อนด้วยปัญญาประดิษฐ์ สามารถใช้ลดสินค้าคงคลังส่วนเกิน การขนส่งที่เหมาะสม และเพิ่มความลงตัวและการทำงานร่วมกันระหว่างโรงงานและผู้ส่งมอบ แนวทางดังกล่าว เอื้อให้ผู้ผลิตระดับโลกปรับแนวการดำเนินการล้อตามลำดับความสำคัญที่มีนัยต่อการผลิตที่มีประสิทธิภาพและการส่งมอบที่ตรงเวลา ทั้งนี้ ยังช่วยลดของเสีย และปรับปรุงความยั่งยืนตลอดสายอุปทานและในการผลิต
4. การตรวจสอบการดำเนินการทางธุรกิจ
ด้วยการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยียานที่ควบคุมจากระยะไกลให้เคลื่อนที่ได้โดยอัตโนมัติ (Dynamic remotely operated navigation equipment: Drone) แฝงกำลังของปัญญาประดิษฐ์ ที่ติดตั้งอุปกรณ์รับรู้ทางสิ่งแวดล้อม ธุรกิจสามารถดำเนินการตรวจสอบสภาพแหล่งดำเนินงานทางอากาศตามเวลาจริง พร้อมระบุแหล่งกำเนิดมลพิษ และประเมินผลกระทบเชิงนิเวศ แนวทางเชิงรุกดังกล่าว ช่วยเสริมกำลังให้บริษัทสามารถรับมือกับประเด็นสิ่งแวดล้อมได้อย่างฉับพลัน ทำให้แน่ใจว่าได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎระเบียบด้านความยั่งยืน และลดรอยเท้าคาร์บอนให้เหลือน้อยที่สุด
5. การปรับปรุงการค้นพบวัสดุ และการออกแบบแบตเตอรี่
ในสาขาการค้นพบวัสดุและเคมีดิจิทัล ปัญญาประดิษฐ์สามารถให้การหยั่งรู้ที่แม่นยำ ซึ่งช่วยให้นักวิจัยทำนายคุณสมบัติทางเคมี ที่อำนวยต่อการใช้ประโยชน์ของทรัพยากรได้ดีขึ้น รวมถึงยังช่วยทำนายความทนทานและสมรรถนะของแบตเตอรี่ ซึ่งช่วยปรับความเหมาะสมของกระบวนการผลิตพลังงานและหน่วยเก็บพลังงานให้ยั่งยืน อันนำไปสู่การอนุรักษ์ทรัพยากร และการสร้างของเสียที่ลดน้อยลง
6. การติดตามการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบแบบทันที
จากที่บรรทัดฐานด้าน ESG ได้มีวิวัฒนาการไปทั่วโลก ปัญญาประดิษฐ์สามารถช่วยกิจการในการติดตามการเปลี่ยนแปลงและข้อเสนอทางกฎระเบียบได้แบบทันท่วงที เพื่อให้แน่ใจว่าการปฏิบัติได้เป็นไปตามกฎระเบียบในทั่วทุกภูมิภาค แนวทางเชิงรุกดังกล่าว ช่วยลดเบี้ยปรับ และปกป้องชื่อเสียงของบริษัท ด้วยหลักประกันว่าได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎระเบียบ ไม่เพียงแต่ธุรกิจได้ชื่อว่ามีมาตรฐานปฏิบัติตามกฎหมายแล้ว ยังได้สถานะผู้นำที่แสดงให้เห็นถึงคำมั่นในการปฏิบัติอย่างมีจริยธรรมและอย่างยั่งยืน
7. การวิเคราะห์ข้อมูลความยั่งยืน
เมื่อพิจารณาถึงพลังของปัญญาประดิษฐ์ในการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ เปรียบเสมือนมีผู้เชี่ยวชาญความยั่งยืน คอยช่วยทบทวนการดำเนินการในทุกแง่มุม ตลอด 24 ชั่วโมง ทุก ๆ วัน รวมทั้งให้ข้อเสนอแนะได้อย่างปัจจุบันทันที เพื่อให้แน่ใจว่ากิจการมีความเป็นสีเขียว (เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม) เท่าที่เป็นไปได้ ทั้งนี้ การตรวจสอบดูแลอย่างต่อเนื่อง หมายถึง ธุรกิจสามารถปรับตัวและมีวิวัฒนาการอย่างยั่งยืนในแบบทันที ซึ่งช่วยให้ก้าวพ้นภยันตรายทางสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้น
8. การทำนายวงจรชีวิตอุปกรณ์
การทำนายวงจรชีวิตที่แม่นยำสำหรับอุปกรณ์ ช่วยปรับปรุงความยั่งยืนอย่างมีนัยสำคัญ บริษัทส่วนใหญ่ มีอุปกรณ์ที่ไม่สามารถมีช่วงเวลาหยุดทำงาน หรือไม่สามารถที่จะทำการสำรองอุปกรณ์ทดแทนไว้ เป็นผลให้ระบบที่ยังทำงานได้ จำต้องถูกขายหรือทิ้ง เมื่อครบกำหนดตามตัวเลขอายุที่ระบุไว้ ด้วยเหตุนี้ การปรับปรุงการทำนายวงจรชีวิต และการใช้ประโยชน์จากระบบให้ได้ยาวนานขึ้น จะสามารถช่วยลดผลกระทบของธรรมเนียมปฏิบัติดังกล่าวได้อย่างมีนัยสำคัญ
9. การจัดการกำลังไฟฟ้าที่ใช้ในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ
บ่อยครั้งที่การปฏิบัติการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ มิได้ถูกพิจารณาให้เป็นประเด็นในการผลักดันความยั่งยืนขององค์กร ด้วยการทำงานผ่านปัญญาประดิษฐ์ องค์กรสามารถพยากรณ์ การใช้ขีดความสามารถของอสังหาริมทรัพย์ รายการซอฟต์แวร์ และที่สำคัญคือ ขีดความสามารถของศูนย์ข้อมูล ด้วยระดับความแม่นยำสูง แนวทางดังกล่าว เปิดทางให้องค์กรเคลื่อนจากการจัดการกำลังไฟฟ้าเชิงรับ มาสู่การจัดการกำลังไฟฟ้าเชิงรุก ที่ตอบสนองต่อการบรรลุเป้าหมายความยั่งยืนได้ดียิ่งขึ้น
10. การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืน
ปัญญาประดิษฐ์ สามารถเพิ่มแรงงัดในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ยั่งยืน ผ่านทางการวิเคราะห์ชุดข้อมูลขนาดใหญ่ เพื่อระบุงานออกแบบที่ยั่งยืน และบรรจุภัณฑ์สำหรับการขนส่งผลิตภัณฑ์ใหม่ดังกล่าว อีกทั้งปัญญาประดิษฐ์ สามารถมองหาเส้นทางการใช้วัสดุที่หมุนเวียนได้ดีกว่าในกระบวนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ซึ่งช่วยในการพัฒนาปรับปรุงความยั่งยืน
อย่างไรก็ดี ศ.ดารอน อะเซโมกลู จากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) ให้ความเห็นไว้ว่า ความสามารถของปัญญาประดิษฐ์ในปัจจุบันยังห่างไกลจากที่คาดหวัง โดยเชื่อว่าปัญญาประดิษฐ์จะมาทำงานแทนมนุษย์ได้เพียง 5% ของงานทั้งหมด ซึ่งหมายความว่าศักยภาพของปัญญาประดิษฐ์ไม่เพียงพอที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาลในอนาคตอันใกล้ และด้วยการลงทุนอย่างมหาศาลเมื่อเทียบกับสิ่งที่ปัญญาประดิษฐ์จะมาทำงานแทนได้เพียง 5% อาจส่งผลให้เงินจำนวนมากถูกใช้ไปโดยเปล่าประโยชน์
ในความเป็นจริง ปัญญาประดิษฐ์ ตามชื่อก็คือ สิ่งประดิษฐ์ที่มนุษย์คิดค้นและพัฒนาขึ้น เพื่อใช้ ‘ทุ่นแรง-ทุ่นเวลา’ ในการทำงานและการดำเนินชีวิต แต่จะไม่สามารถใช้งานเพื่อ ‘ทดแทนมนุษย์’ ได้เฉกเช่นปัญญาจริงของมนุษย์
บทความโดย ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ประธานสถาบันไทยพัฒน์