xs
xsm
sm
md
lg

เตือนภัย 10 จว.เสี่ยงน้ำท่วมรุนแรงช่วง 10 ปีข้างหน้า “ระดับก๊าซเรือนกระจก” ตัวชี้วัด-รับมือ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมลดโลกร้อน เผยข้อมูลการวิเคราะห์คาดการณ์น้ำท่วมช่วง 10 ปีข้างหน้า (ปัจจุบัน - พ.ศ 2578) พบ 10 จังหวัดที่คาดว่าจะเกิดน้ำท่วมรุนแรง อยู่ในภาคตะวันตก ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน แนะมาตรการรับมือน้ำท่วมทั้งระยะสั้น-ระยะยาว


กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (กรมลดโลกร้อน) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ทำการวิเคราะห์จากแบบจำลองภูมิอากาศใน 2 กรณี คือ กรณีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับปานกลาง และกรณีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับสูง

พบว่า 10 จังหวัดที่คาดว่าจะเกิดน้ำท่วมรุนแรงในช่วง 10 ปีข้างหน้า ทั้ง 2 กรณี ส่วนใหญ่อยู่ในภาคตะวันตก ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน

10 จังหวัดที่คาดว่าจะเกิดน้ำท่วมรุนแรงในช่วง 10 ปีข้างหน้า กรณีมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับปานกลาง
ได้แก่ 1. ตาก 2. หนองคาย 3. บีงกาฬ 4. น่าน 5. แม่ฮ่องสอน 6. พะเยา 7. แพร่ 8. ตราด 9. เชียงใหม่ 10. นครพนม


10 จังหวัดที่คาดว่าจะเกิดน้ำท่วมรุนแรงในช่วง 10 ปีข้างหน้า กรณีมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับสูง
ได้แก่
1. ตาก 2. เพชรบุรี 3. มุกดาหาร 4. นครพนม 5. อุทัยธานี 6. ประจวบคีรีขันธ์ 7. ตราด 8. ราชบุรี 9. เชียงใหม่ 10. กาญจนบุรี

กรณีมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับปานกลาง หมายถึง สถานการณ์สมมติที่โลกมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ณ ปี 2100 ใกล้เคียงกับปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ณ ปัจจุบัน ซึ่งคาดว่าจะทำให้อุณหภูมิพื้นผิวโลกเฉลี่ยเพิ่มขึ้นประมาณ 2.7 องศาเซลเซียส ในช่วงปี 2081-2100

ส่วนกรณีมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับสูง หมายถึง สถานการณ์สมมติที่โลกมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ณ ปี 2100 เพิ่มขึ้นสองเท่าเมื่อเทียบกับปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ณ ปัจจุบัน ซึ่งคาดว่าจะทำให้อุณหภูมิพื้นผิวโลกเฉลี่ยเพิ่มขึ้นประมาณ 4.4 องศาเซลเซียส ในช่วงปี 2081-2100


ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่าประชาคมโลกยังห่างไกลเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกตามที่ต้องการ เมื่อผลกระทบมันรุนแรงขึ้น สิ่งที่รัฐบาลมองถึงการแก้ไขปัญหาการลดก๊าซเรือนกระจกนั้นทำได้ 2 แนวทางคือ การลดจากแหล่งปล่อยโดยตรงและการเพิ่มการดูดกลับให้มากขึ้น ผ่าน 2 กลไก คือ การพัฒนาใช้เทคโนโลยีการดักจับคาร์บอน และการเพิ่มพื้นที่ป่า เพื่อให้ความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกในอากาศไม่ส่งผลกระทบสิ่งมีชีวิต รวมถึงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

“เลิกกล่าวโทษธรรมชาติ เข้าใจ ยอมรับ ปรับตัว แล้วลงมือทำ ลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เปลี่ยนมาใช้พลังงานสะอาด ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า เพิ่มพื้นที่สีเขียวดูดซับคาร์บอน พร้อมกับชักชวนเพื่อนรอบข้างมาช่วยกันลดภาวะโลกเดือดไปด้วยกัน”

จากรายงานของ IPCC หรือ คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปี ค.ศ. 2023 ชี้ว่า ภายในปี ค.ศ.2030 - 2035 มีแนวโน้มที่ อุณหภูมิเฉลี่ยโลกจะสูงถึง 1.5 องศาเซลเซียส (เทียบกับช่วงก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม) และหากประเมินจากนโยบายสภาพภูมิอากาศของแต่ละประเทศ ภายในปี ค.ศ. 2100 อาจจะทำให้อุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นถึง 3.2 องศาเซลเซียส

สภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ ทวีส่งผลกระทบต่อสภาพอากาศและสภาพอากาศสุดขั้วในหลายภูมิภาคทั่วโลก เกิดความเสียหายในวงกว้าง ทั้งระบบนิเวศ ปัญหาน้ำท่วมหลากทั้งตามชายฝั่งและจากภูเขา การขาดแคลนน้ำจืด การสูญเสียแหล่งอาหารที่สำคัญของคนทั้งโลก เวลานี้และในอนาคตอันใกล้ผู้คนนับล้านจะขาดแคลนอาหาร และแหล่งที่อยู่อาศัย

ส่วนการรักษาอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียสนั้นจะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้อย่างน้อย 43% ภายในปี 2030 (เทียบกับระดับในปี 2019) และอย่างน้อย 60% ภายในปี 2035



ไทยติด10 อันดับแรกกลุ่มเสี่ยงภัยน้ำท่วมสูงที่สุด

จากรายงานของกลุ่มธนาคารโลกที่เผยแพร่ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2021 เคยระบุว่า การเพิ่มขึ้นของอุทกภัยในไทยเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) และพบว่าประเทศไทยเป็น 1 ใน 10 ประเทศที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมมากที่สุดในโลก โดยแต่ละปีน้ำท่วมสร้างมูลค่าความเสียหายให้กับประเทศเฉลี่ยปีละ 2,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 98,800 ล้านบาท) ซึ่งคิดเป็นเกือบ 100% ของมูลค่าความสูญเสียที่เกิดจากภัยพิบัติในประเทศ

การศึกษาดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าอุบัติการณ์น้ำท่วมทั่วประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทำให้ฝนตกหนักบ่อยครั้งมากขึ้น ก่อให้เกิดน้ำล้นตลิ่งผิดปกติเข้าท่วมบ้านเรือนในเขตเมือง และเกิดดินถล่มและน้ำท่วมฉับพลันในพื้นที่ภูเขา


ในปีนี้ (พ.ศ.2567) ดูเหมือนความถี่ของเหตุการณ์ฝนตกหนัก (มากกว่า 100 มิลลิเมตรใน 1 วัน)ได้บอกเราถึงแนวโน้มที่จะเป็นเรื่องปกติมากขึ้น นั่นคือผลกระทบมาจากภาวะโลกร้อนทวีความรุนแรงด้วย ตามรายงานอ้างข้อมูลจากกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCC) ได้คาดการณ์ว่าจะมีพายุไต้ฝุ่นเพิ่มขึ้นในประเทศไทยระหว่างปี 2013-2043 ขณะที่พายุมรสุมจะค่อนข้างคงที่ในช่วงเวลาเดียวกัน

สอดคล้องกับบทวิเคราะห์ German watch องค์กรพัฒนาเอกชนที่ไม่แสวงผลกำไรของประเทศเยอรมนี ที่ประเมินและจัดอันดับประเทศที่มีความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก ระหว่างปี พ.ศ. 2540 - 2559 (The Long-Term Climate Risk Index (CRI): World Map of the Global Climate Risk Index ค.ศ. 1997 – 2016

เมื่อปี 2561 ประเทศไทยถูกจัดให้อยู่ในอันดับ 9 ของประเทศที่มีความเสี่ยงสูงที่สุดในโลกที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระยะยาว ทั้งจากอุณหภูมิเฉลี่ยที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นในฤดูน้ำหลากและน้อยลงในฤดูแล้ง ซึ่งส่งผลให้เกิดภัยธรรมชาติ อาทิ อุทกภัย ภัยแล้ง และวาตภัย ที่รุนแรงและบ่อยครั้งขั้น ผลกระทบส่งผลเสียหายต่อภาคเศรษฐกิจที่สำคัญ เช่น การเกษตร การท่องเที่ยว อุตสาหกรรม เป็นต้น รวมถึงการบริหารจัดการน้ำ การพัฒนาเมือง การย้ายถิ่นฐานของประชากร การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และการแพร่กระจายของโรค


กรมลดโลกร้อน ชูมาตรการรับมือน้ำท่วมรุนแรง

กรมลดโลกร้อน แนะนำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำข้อมูลการคาดการณ์แนวโน้มการเกิดน้ำท่วมในช่วง 10 ปีข้างหน้า ไปใช้ประกอบการวางแผนการบริหารจัดการน้ำในระยะยาว การจัดลำดับความสำคัญของพื้นที่เพื่อดำเนินมาตรการด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในส่วนที่เกี่ยวข้อง

10 มาตรการรับมือน้ำท่วม (ระยะสั้น)
1. คาดการณ์ ชี้เป้าและแจ้งเตือนพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมและพื้นที่เสี่ยงฝนทิ้งช่วง
2. ทบทวน ปรับปรุง เกณฑ์บริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำ อาคารควบคุมบังคับน้ำอย่างบูรณาการในระบบลุ่มน้ำและกลุ่มลุ่มน้ำ
3. เตรียมความพร้อมเครื่องจักรเครื่องมือ อาคารชลศาสตร์ ระบบระบายน้ำ โทรมาตร บุคลากรประจำพื้นที่เสี่ยงและศูนย์อพยพให้สามารถรองรับสถานการณ์ในช่วงน้ำหลากและฝนทิ้งช่วง
4. ตรวจสอบพร้อมติดตามความมั่นคงปลอดภัย คันกั้นน้ำ ทำนบ พนังกั้นน้ำ
5. เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำของทางน้ำอย่างเป็นระบบ
6. ซักซ้อมแผนเผชิญเหตุ ตั้งศูนย์ส่วนหน้าก่อนเกิดภัย และฟื้นฟูสภาพให้กลับสู่สภาพปกติ
7. เร่งพัฒนาและเก็บกักน้ำในแหล่งน้ำทุกประเภทช่วงปลายฤดูฝน
8. สร้างความเข้มแข็งเครือข่ายภาคประชาชนในการให้ข้อมูลสถานการณ์
9. สร้างการรับรู้ ศูนย์บริการข้อมูลสถานการณ์น้ำ และประชาสัมพันธ์
10. ติดตามประเมินผลปรับมาตรการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ภัย

4 มาตรการรับมือน้ำท่วม (ระยะยาว)
1. อนุรักษ์ป่าต้นน้ำและการป้องกันการพังทลายของดิน
2. พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น แหล่งชะลอน้ำ พื้นที่แก้มลิง เป็นต้น โดยใช้แนวคิดการแก้ไขปัญหาโดยอาศัยธรรมชาติเป็นพื้นฐาน (Nature-based Solution : NbS)
3. จัดทำผังน้ำและผังการระบายน้ำ ในระดับลุ่มน้ำ
4. เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในเขตชุมชนเมืองและพื้นที่สำคัญทางเศรษฐกิจ




กำลังโหลดความคิดเห็น