สกสว.เปิดเวทีระดมความเห็นหน่วยปฏิบัติการ นักวิชาการ และตัวแทนชุมชน เพื่อหาแนวทางปรับปรุงระบบเตือนภัยพิบัติเพื่อลดความเสียหายจากน้ำท่วมและดินถล่ม ย้ำรัฐบาลต้องเข้าใจและวางระบบบริหารจัดการภัยพิบัติใหม่ ขณะที่กระทรวง อว.ต้องหนุนเสริมการสร้างองค์ความรู้และเทคโนโลยี ทำงานเชื่อมโยงกับหน่วยงาน เพื่อลดความสูญเสียของประชาชน แนะต้องเร่งทำ ‘แผนที่น้ำท่วม พร้อมสร้างความพร้อม’ ในพื้นที่เสี่ยงสูงและเน้นระบบเตือนภัยที่สื่อสารถึงประชาชนได้ง่าย
รศ. ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรม (สกสว.) เป็นประธานเปิดการประชุมและแถลงข่าว “แนวทางการปรับปรุงระบบเตือนภัยพิบัติเพื่อลดความเสียหาย (น้ำท่วม ดินถล่ม)” ณ ห้องประชุม สกสว. เพื่อรับทราบสถานะของระบบป้องกันและแจ้งเตือนภัยในปัจจุบัน เทคโนโลยีของการป้องกันและเตือนภัย ข้อจำกัดและการปรับปรุงที่ควรมี ตลอดจนแนวทางการจัดการในพื้นที่ และงานวิจัยที่ควรดำเนินการในอนาคต
ผู้อำนวยการ สกสว. ระบุว่า ระบบป้องกันและเตือนภัยพิบัติน้ำท่วมและดินถล่มในปัจจุบันยังบูรณาการข้อมูลระหว่างหน่วยงานไม่ทันกาล ทำให้การประมวลผลและตัดสินใจล่าช้า รวมถึงปัญหาความแม่นยำของการคาดการณ์สถานการณ์ และโครงสร้างพื้นฐานทั้งอุปกรณ์ตรวจวัดและระบบเครือข่ายยังไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่เสี่ยง จึงจำเป็นต้องเร่งพัฒนาระบบฐานข้อมูลกลาง และใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ ที่ทันสมัยเพื่อวิเคราะห์ข้อมูลแบบเรียลไทม์และเพิ่มความแม่นยำในการคาดการณ์ สกสว.เห็นความสำคัญของปัญหาดังกล่าวและได้หนุนเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อพัฒนาระบบป้องกันและแจ้งเตือนภัยพิบัติที่มาโดยตลอด การจัดประชุมและแถลงข่าวในครั้งนี้ได้ระดมความเห็นจากหน่วยงานในระดับปฏิบัติการ ภาควิชาการ และผู้นำท้องถิ่น เพื่อนำไปสู่การวางแผนและจัดสรรงบประมาณสนับสนุนทุนวิจัยในการพัฒนาองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ตลอดจนนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์แก่หน่วยงานต่าง ๆ และชุมชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดความแม่นยำและแจ้งเตือนได้ทันท่วงทีต่อสถานการณ์ และลดความสูญเสียต่อประชาชน
ด้าน รศ. ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ ผู้อำนวยการแผนงานการนำผลงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์ ด้านการบริหารจัดการน้ำ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า ระบบเตือนภัยของไทยยังมีปัญหาในระดับปฏิบัติการ การเชื่อมโยง ข้อมูลที่เข้าถึงพื้นที่ยังไม่เพียงพอและไม่ทันการณ์ สื่อสารไม่ทั่วถึงและเข้าใจยากสำหรับชุมชน กระทรวง อว.จึงควรเข้ามามีบทบาทหนุนเสริมทางวิชาการโดยเน้นการสร้างองค์ความรู้ พัฒนาระบบเตือนภัย และร่วมพัฒนาความสามารถของชุมชนในพื้นที่ให้สามารถตอบโจทย์ในพื้นที่ ทั้งการสนองต่อสถานการณ์ได้จริงและเข้าถึงประชาชนได้ง่าย โดยจากนี้ไปจะต้องจัดลำดับความสำคัญเพื่อพัฒนางานวิจัยและทำงานเชื่อมโยงกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งในระยะสั้น-กลาง-ยาว เพื่อให้เห็นว่าวิชาการช่วยประชาชนในพื้นที่ได้จริง โดยมีสถาบันการศึกษาในพื้นที่เป็นพี่เลี้ยง สิ่งสำคัญที่สุดคือการจัดทำแผนที่น้ำท่วมเพื่อเตรียมรับมือในพื้นที่เสี่ยงสูง
ที่ผ่านมา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) (สสน. )ได้พัฒนาขีดความสามารถของเทคโนโลยีเฝ้าระวังและคาดการณ์อุทกภัย ทั้งการคาดการณ์จากดัชนีอุณหภูมิผิวน้ำทะเลและปริมาณฝนล่วงหน้า 6-12 เดือน เทคโนโลยีข้อมูลจากการสำรวจ โทรมาตร ดาวเทียมและเรดาร์ รวมถึงระบบคาดการณ์ 1-7 วัน เพื่อเตือนภัยและสนับสนุนการปฏิบัติงาน พัฒนาต่อยอดเพื่อใช้งานทุกระดับและเป็นระบบคลังข้อมูลน้ำแห่งชาติและศูนย์ข้อมูลน้ำจังหวัดที่ทันสมัยและทันต่อเหตุการณ์ ซึ่งสถานการณ์น้ำท่วมที่ผ่านมา สสน.ได้เชื่อมโยงข้อมูลกับกรมอุตุนิยมวิทยาได้ดี มีข้อมูลออกสู่สาธารณชนมากขึ้น และเริ่มถึงเชิงลึกรายพื้นที่ แต่ปัญหาในพื้นที่เฉพาะยังไม่ตอบสนองสถานการณ์ได้เพียงพอ มีผู้ประสบภัยติดอยู่ในพื้นที่น้ำท่วม และรถจมน้ำจำนวนมาก ซึ่งเป็นตัวชี้วัดถึงประสิทธิภาพของระบบเตือนภัยและการบริหารจัดการน้ำท่วม
ขณะที่ รศ. ดร.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยว่า การปรับปรุงระบบเตือนภัยและบริหารจัดการน้ำต้องอาศัยการมีส่วนร่วมจากชุมชน โดยมีภาควิชาการเข้าไปช่วยเหลือ ชุมชนต้องแข็งแรงและมีความรู้ ไม่เน้นเทคนิคมากมายแต่เน้นการพัฒนาชุมชนให้มีระบบเตือนภัยฐานชุมชน ซักซ้อมเพื่อช่วยเหลือกันเอง รวมถึงสนับสนุนปราชญ์ชุมชนด้านภัยพิบัติ และพร้อมรับข้อมูลจากวิทยาการภายนอกเข้าเสริม เช่นเดียวกับ รศ. ชูโชค อายุพงศ์ หัวหน้าศูนย์วิชาการสนับสนุนด้านการบริหารจัดการน้ำ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวถึง ระบบเตือนภัยน้ำท่วมสำหรับพื้นที่เสี่ยงสูงต้องเริ่มมาจากการพยากรณ์น้ำล่วงหน้าที่แม่นยำและมีเวลามากพอ มีเครื่องมือสนับสนุนให้ประชาชนตะหนักถึงความลึกของระดับน้ำท่วมที่จะเกิดขึ้นในบริเวณต่าง ๆ โดยเครื่องที่ทำได้ก่อนใช้งบประมาณและเวลาไม่มาก ได้แก่ แผนที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมและหมุดหมายระดับน้ำท่วมครอบคลุมพื้นที่น้ำท่วม ซึ่ง อว. สามารถสนับสนุนองค์ความรู้ให้ภาคส่วนต่างๆ ได้
สำหรับเสียงสะท้อนจากตัวแทนผู้นำชุมชนซึ่งเป็นเครือข่ายวิจัย พบว่าทิศทางการพัฒนาระบบเตือนภัยพิบัติให้มีประสิทธิภาพจะต้องได้รับความร่วมมือจากส่วนราชการและวิชาการ ปัจจุบันชาวบ้านในชุมชนเ น้ นการแจ้งเตือนกันเองตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เช่น การโทรศัพท์ ใช้วิทยุสื่อสาร รวมถึงปัญหาสำคัญในการสื่อสารด้วยศัพท์ทางวิชาการของหน่วยงานที่เข้าใจยาก การสื่อสารข้อมูลจากส่วนกลางที่น่าเชื่อถือ รับฟังและนำไปปฏิบัติได้ยังเป็นจุดอ่อนที่ต้องหาทางแก้ไข นอกจากนี้ยังต้องซ้อมแผนเผชิญเหตุในเชิงนโยบายและระบุอำนาจของผู้นำ อปท. ว่าสามารถดำเนินการอะไรได้บ้าง และจะมีหน่วยงานใดเข้าไปช่วยเหลือได้ทันที
นายอาร์ม จินตนาดิลก ผู้อำนวยการส่วนวิชาการการเตือนภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เสริมว่า ปกติจะมีการทบทวนแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยทุก 5 ปี แต่ประชาชนต้องให้ความตระหนักในการฝึกซ้อมด้วย รวมถึงส่งเสริมอุปกรณ์ที่จำเป็นตามงบประมาณที่ได้รับการจัดสรร ขณะนี้แผนของจังหวัดมีอยู่แล้วแต่แผนของ อปท. ยังไม่ครอบคลุมแต่จะส่งเสริมให้เต็มทั่วทุกพื้นที่ และจะรื้อฟื้นเครือข่าย “มร.เตือนภัย” ให้ใช้ได้อีกครั้ง
นอกจากนี้ ในเวทียังมีข้อเสนอในระยะยาวว่าควรออกกฎหมายการควบคุมการก่อสร้างในพื้นที่เสี่ยง การควบคุมการใช้ประโยชน์ที่ดินและวางระบบการบริหารจัดการน้ำท่วมในพื้นที่เสี่ยง โดยปรับโครงสร้างเดิมที่จัดตั้งศูนย์เฉพาะกิจตาม พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำมาเป็นสถาบันมืออาชีพ มีกลไกจัดการควบคุมการใช้ประโยชน์ที่ดินเนื่องจากเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาและต้องทำจากพื้นที่ เพื่อจะได้ทราบว่ามีพื้นที่ใหม่ๆ ที่น้ำท่วมอยู่ตรงไหน และหารือเรื่องออกผังน้ำกับกรมโยธาธิการและผังเมือง เพื่อปรับเปลี่ยนเกณฑ์การก่อสร้าง พื้นที่สีเขียว การวางระบบจัดการ การควบคุมการใช้ที่ดิน และการจัดการของชุมชนให้ไปด้วยกันอย่างเหมาะสม มีการแบ่งอำนาจส่วนกลางกับท้องถิ่นให้สอดคล้องและชัดเจน ซึ่งรัฐบาลต้องเข้าใจและวางระบบบริหารจัดการภัยพิบัติใหม่ และหวังว่านักการเมืองจะเริ่มเข้าใจถึงความจำเป็นในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารจัดการภัยพิบัติตามแนวคิดใหม่