xs
xsm
sm
md
lg

มูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์และกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ ร่วมเฉลิมฉลอง 60 ปีแห่งพันธมิตร ในงาน AsiaXchange 2024

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


(จากซ้าย) นางอลิซเบธ ยี รองประธานบริหารฝ่ายกลยุทธ์และบุคคล มูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นางนาตาลี ปาคิน ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ มูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ และนางดีปาลี คันนา รองประธาน สำนักงานภูมิภาคเอเชีย มูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์
วานนี้ (2 ต.ค.67) มูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ จัดงาน AsiaXchange 2024 ที่กรุงเทพฯ ภายในงานมีพันธมิตรกว่า 250 คน เข้าร่วมงานเพื่อเร่งบรรลุเป้าหมายสู่การเปลี่ยนแปลงสีเขียวอย่างเท่าเทียมในภูมิภาคเอเชีย 

ตลอดระยะเวลา 3 วันของการจัดงานภายใต้หัวข้อ “มุ่งสู่การเปลี่ยนแปลงสีเขียวอย่างเท่าเทียม ด้วยการดำเนินการทั้งระบบเพื่อรับมือกับสภาพภูมิอากาศ” (Accelerating Asia’s equitable green transformation: Taking a systems approach for climate action) การประชุมครั้งนี้ประกอบไปด้วยการอภิปรายแนวทางการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบที่ขับเคลื่อนโดยความร่วมมือระหว่างภาคบุคคล ชุมชน ภาครัฐ องค์กรเอกชน และองค์กรด้านการเงิน การประชุมครั้งนี้ยังจัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 60 ปีแห่งพันธมิตรระหว่างมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์และกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ เชื่อมโยง และเร่งการลงทุนในแนวทางการแก้ปัญหาด้านสภาพภูมิอากาศสำหรับภูมิภาค

นางดีปาลี คันนา รองประธาน สำนักงานภูมิภาคเอเชีย มูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ เน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นขององค์กรที่ดำเนินงานด้านพัฒนาสังคมที่ได้ดำเนินงานมามากกว่า 111 ปี ในการสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ต่อการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ พร้อมกล่าวว่า “ภูมิภาคเอเชียมีศักยภาพในการเป็นผู้นำในการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ ด้วยความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้า บรรดาผู้นำที่มีความโดดเด่น และเทคโนโลยีที่ทันสมัย ภูมิภาคนี้จะสามารถสร้างอนาคตสีเขียวที่ครอบคลุมและยืดหยุ่นสำหรับทุกคนได้ เรามุ่งมั่นที่จะช่วยให้พันธมิตรบรรลุวิสัยทัศน์ด้วยการผลักดันให้เกิดการแก้ปัญหาด้านสภาพภูมิอากาศอย่างสร้างสรรค์ ในชุมชนที่กำลังต้องการความช่วยเหลือมากที่สุด”

ด้าน นางอลิซเบธ ยี รองประธานบริหารฝ่ายกลยุทธ์และบุคคล มูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ ได้ย้ำถึงโอกาสของภูมิภาคเอเชียในการก้าวสู่ตำแหน่งผู้นำด้านการรับมือกับสภาพภูมิอากาศ โดยมีนายโฮ เรน ฮวา ประธานคณะผู้บริหารของ บริษัท ไทยวา จำกัด (มหาชน) และนายอัลเบิร์ต ปาร์ค ประธานด้านเศรษฐศาสตร์ของธนาคารพัฒนาเอเชีย ร่วมหารือเกี่ยวกับแผนงานของเอเชียในการสร้างสมดุลระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจในภูมิภาคและการฟื้นตัวของสิ่งแวดล้อม

ขณะที่ นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นเช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค ที่เข้าใจดีถึงความเร่งด่วนในการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ ประเทศไทยจึงได้ผลักดันวาระการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศภายใต้ร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในระหว่างการพิจารณาของรัฐสภา โดยการปฎิบัติตามข้อผูกพันด้านสภาพภูมิอากาศระดับชาติที่ได้ร่วมลงนามไว้ หรือ National Determined Contribution (NDC) ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 40% ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากนานาชาติ การยกเลิกการใช้พลังงานถ่านหินภายในปี 2030 เพื่อบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050 และการจำกัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดให้เป็นศูนย์ภายในปี 2065 

เพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายดังกล่าว นายประเสริฐ กล่าวว่า “ครั้งนี้เป็นโอกาสอันดีที่ผู้แทนจากทุกภาคส่วนในประเทศไทยและในภูมิภาคจะได้หารือถึงแนวทางแก้ปัญหาในการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศและการจัดหาเงินทุนสำหรับแนวทางดังกล่าว การประชุมครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่าองค์กรด้านพัฒนาสังคมสามารถเข้ามามีบทบาทสำคัญในการจัดการกับปัญหาด้านสภาพภูมิอากาศอย่างมีประสิทธิภาพ ประเทศไทยมีความพร้อมที่จะร่วมมือกับพันธมิตรทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลกเพื่อแบ่งปันวิสัยทัศน์ในการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยที่ความเชี่ยวชาญ ทรัพยากร และเครือข่ายของทุกท่านจะช่วยส่งเสริมให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศของเราได้”

นอกจากนี้ ยังได้ย้ำถึงความสำคัญของการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลในการสร้างเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืน “บทบาทของการใช้ข้อมูลในการวางแผนรับมือกับสภาพอากาศและการวิเคราะห์การลงทุนสำหรับภาครัฐและเอกชนคือหัวใจสำคัญ ประเทศไทยได้กำหนดวิสัยทัศน์เศรษฐกิจ 4.0 เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัลในทุก ๆ อุตสาหกรรม อาทิเช่น แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับชาติของไทย หรือ Thailand National Digital Platform ซึ่งเป็นโครงการที่ริเริ่ออกแบบเพื่อช่วยรวบรวม วิเคราะห์ และเผยแพร่ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศ ซึ่งช่วยให้หน่วยงานต่างๆสามารถตัดสินใจด้านนโยบายอย่างชาญฉลาด และดำเนินการอย่างตรงเป้าหมาย”

ในการประชุมช่วงเช้ายังได้มีการอภิปรายถึงการเติบโตที่รักษ์สิ่งแวดล้อมและยืดหยุ่นในภูมิภาคเอเชีย นำโดยนายโจ จิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Energy Foundation China นายแฟรงก์ ไรส์เบอร์แมน ผู้อำนวยการทั่วไปของสถาบัน Global Green Growth และ นางสาวแคสซาดี้ วอลเตอร์ส์ กรรมการผู้จัดการด้านพลังงานและสภาพอากาศ มูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์

ในช่วง “Vox Populi” เป็นการร่วมประชุมพันธมิตรในเอเชียก่อนงาน COP 29 ที่กำลังจะมาถึง โดยมีการแบ่งปันข้อมูลเชิงลึกจากผู้นำต่าง ๆ อาทิเช่น นายซีเค มิชรา อดีตเลขาธิการกระทรวงสิ่งแวดล้อม ป่าไม้ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของอินเดีย และ นางลิน หยาง รองเลขาธิการบริหารของ UNESCAP ในการประชุมรอบบ่ายนี้กล่าวถึงประเด็นต่าง ๆ เกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศ โดยผู้เข้าร่วมได้หารือเกี่ยวกับการดำเนินการด้านสุขภาพที่คำนึงถึงสภาพภูมิอากาศ แนวทางการขยายการลงทุนในท้องถิ่นผ่านการเงินแบบผสมผสาน และแบ่งปันประสบการณ์เกี่ยวกับเส้นทางสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียและแปซิฟิกได้เป็นเจ้าภาพในการจัดการประชุมเกี่ยวกับการเพิ่มจำนวนโมเดลธุรกิจที่ครอบคลุมและยั่งยืน ในขณะที่องค์กร แพลน อินเตอร์เนชันแนล (Plan International) ได้นำการพูดคุยถึงประเด็นสำคัญเกี่ยวกับเสียงของเยาวชนในการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศทั่วภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

ปิดท้ายการประชุมวันแรกด้วยการร่วมรับประทานอาหารค่ำ เพื่อเฉลิมฉลอง 60 ปีแห่งพันธมิตรระหว่างมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์และกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ ประจำประเทศไทย โดยมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ได้ดำเนินงานในประเทศไทยมานานกว่าศตวรรษ และยังคงเป็นผู้นำในการริเริ่มการเปลี่ยนแปลงทั่วทั้งภูมิภาคผ่านสำนักงานประจำภูมิภาคเอเชียในกรุงเทพฯ

ซึ่งใน 2 วันสุดท้ายของการประชุม ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากทุกภาคส่วนจะได้สนทนาและอภิปรายอย่างเจาะลึกในประเด็นต่างๆ เกี่ยวกับวิธีการผลักดันการดำเนินงานด้านสภาพภูมิอากาศที่เน้นผู้คนเป็นศูนย์กลาง และความร่วมมือเชิงระบบ รวมไปถึงการระดมทุนระดับประเทศ ภูมิภาค และนานาชาติที่เหมาะสมกับภูมิภาคเอเชีย


กำลังโหลดความคิดเห็น