xs
xsm
sm
md
lg

สร้างคน-วัฒนธรรมองค์กร สไตล์ธ.กรุงศรี มุ่ง “ยั่งยืน” / ดร.สุวัฒน์ ทองธนากุล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ยุคนี้ผู้บริหารองค์กรที่ทันสมัยมักจะอ้างอิงผลลัพธ์ “ความยั่งยืน”(Sustainability)เป็นจุดมุ่งหมาย ตามแนวทาง “การพัฒนาที่ยั่งยืน” น่าสนใจว่า สิ่งที่เกิดขึ้นจริงในวงการธุรกิจเป็นอย่างไรบ้าง

แน่นอน..การดำเนินงานก็ต้องคำนึงถึง3มิติของ ESG คือ Environmental > เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ Social > สร้างผลดีต่อสังคมและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย Governance > มีธรรมาภิบาล

โดยเฉพาะ มีการบริหารด้วยหลักธรรมาภิบาล คือซื่อสัตย์สุจริต ทำสิ่งที่ถูกต้องและเป็นธรรม ต่อผู้เกี่ยวข้อง ก็จะป้องกันความเสี่ยง จากการทุจริตทำผิดกฎหมายหรือถูกต่อต้านจากสังคม เพราะมีระบบกำกับดูแลกิจการที่ส่งผลดีต่อผู้ส่วนได้ส่วนเสีย เช่น คนภายในองค์กร ลูกค้า คู่ค้าและชน

ESG จึงกลายเป็นคุณสมบัติในกติกาของธุรกิจโลกยุคใหม่ ซึ่งเริ่มรณรงค์มาจากวงการตลาดทุนสากล จนทำให้หน่วยงานกำกับและบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ต้องปรับชุดความคิดและแนวปฏิบัติให้เป็นไปตามนโยบายและมาตรการส่งเสริมการทำธุรกิจและการลงทุนอย่างรับผิดชอบต่อผลการกระทำ(Accountability)

ธนาคารแห่งประเทศไทยก็มีบทบาทในทิศทางนี้เช่นกัน โดยจัดตั้งหน่วยงานส่งเสริมการธนาคารที่ยั่งยืน (Sustainable Banking) เพื่อกระตุ้นให้ธุรกิจธนาคารพัฒนาหรือสร้างผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินสีเขียว ที่อิงหลักESG และสนองตอบแนวโน้มของโลกที่ให้ความสำคัญกับ 17 เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)

แม้ว่าทุกวันนี้ ธุรกิจที่ทันสมัยต่างนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้ในระบบการจัดการและบริการ เพื่อเพิ่มคุณภาพและประสิทธิภาพ

แต่การจะให้เกิดผลลัพธ์เชิงคุณภาพและความผูกพันที่ดี มีจิตสำนึกรับผิดชอบต่อลูกค้า ต่อสังคม และต่อโลกนั้น “ทุนมนุษย์”ที่มีความพร้อม ก็ยังสำคัญ เพื่อทำตามแผนกลยุทธ์ให้ได้ผล

จึงขอนำตัวอย่างที่ดีของกิจการที่ให้ความสำคัญในการพัฒนาส่งเสริมศักยภาพพนักงาน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ภายในองค์กร ให้ก้าวหน้าไปพร้อมกับองค์กร อย่างมียุทธศาสตร์และยุทธวิธี

ผมได้มีโอกาสสนทนากับ ดร.วศิน อุดมรัชตวนิชย์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านทรัพยากรบุคคล ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เมื่อเร็วๆนี้

ได้ทราบจุดมุ่งหมายที่ทันกระแสโลกว่า ธ.กรุงศรีต้องการ “เป็นผู้นำสถาบันการเงินที่ยั่งยืน” ซึ่งก็ต้องมีความก้าวหน้าในแนวทางสู่ความยั่งยืนในระดับนำของประเทศและของภูมิภาคอาเซียนเป็นเป้าหมาย

หัวใจสำคัญอยู่ที่จุดมุ่งหมายชัดเจน และมีความมุ่งมั่นสร้างคุณลักษณะความคิด ทัศนคติและแนวการทำงาน ที่สั่งสมกลายเป็นวัฒนธรรมองค์กร(Corporate Culture) ของ “คนกรุงศรี” ซึ่งตกผลึกจาก3เสาหลัก คือ3C ที่เป็นวิถีปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ที่สอดคล้องกับกฎระเบียบได้แก่

Care : การใส่ใจดูแล ระหว่างพนักงานและลูกค้า เพื่อเติบโตไปด้วยกัน มีความจริงใจ เห็นอกเห็นใจ และปฏิบัติต่อกันด้วยความถูกต้อง เป็นธรรม

Communication : สื่อสาร การทำงานมีทิศทางและวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน การติดต่อพูดคุยอย่างซื่อสัตย์และโปร่งใส เพื่อตัดสินใจได้ทันการ

Coach : โค้ช ใช้เทคนิคการโค้ชที่ส่งเสริมผู้ร่วมงานและลูกค้า ให้มีการพ้ฒนาหรือได้สิ่งที่ดีขึ้น โดยฟังอย่างตั้งใจและใช้คำถามที่มีพลังกระตุ้นความคิด ให้ข้อคิดเห็นเชิงสร้างสรรค์ที่สนับสนุนการเติบโต

"ถ้าเปรียบเป็นภูเขาน้ำแข็ง 3Cก็คือส่วนยอดที่อยู่พ้นน้ำของภูเขาน้ำแข็ง หรือเป็นผลการดำเนินงานส่วนที่แสดงเห็นได้ ที่ผู้คนหรือผู้เกี่ยวข้องรับรู้ได้"

แนวทางในการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่นี่จึงสอดคล้องกับหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน จะเห็นได้ว่า

มีการสร้างสภาพแวดล้อมในการทำงาน ที่ทุกคนสามารถเป็นตัวของตัวเองได้ในเวอร์ชั่นที่ดีที่สุดทุกวัน ขณะที่มีความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างพนักงานและความร่วมมือข้ามฝ่ายงานได้ดี

มีการสร้างระบบที่เอื้อให้พนักงานมีส่วนร่วมกับกิจกรรมขององค์กร โดยไม่มองว่าพนักงานมาทำงานเท่านั้น แต่ให้ความสำคัญกับความเป็นอยู่ที่ดี ให้มีความสุขกายสบายใจ เพื่อทำงานสร้างสรรค์ในการดูแลลูกค้า และสร้างการเติบโตทางธุรกิจได้ดี

การสนับสนุนและส่งเสริมความก้าวหน้าของพนักงาน

ธ.กรุงศรี มีการส่งเสริมให้พนักงานพัฒนาชุดความคิดแบบเติบโต (Growth Mindset)เป็นคนเปิดกว้าง ใฝ่เรียนรู้ คืดบวกและพูดเป็น มีโอกาสเข้าถึงการเรียนรู้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม รวมทั้งการพัฒนาทักษะที่จำเป็นในปัจจุบันและเตรียมพร้อมสำหรับอนาคต

ช่วยให้พนักงานเกิดความสำเร็จประจำวัน และทำในสิ่งที่มีคุณค่า

อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้พนักงานได้เติบโตไปในสายงานที่ถนัด จึงมีระบบการหมุนเวียนการทำงานภาคบังคับ (Job Rotation) ข้ามหน่วยงานให้ทีมงานได้หมุนเวียนเปลี่ยนงานได้ตามความเหมาะสม

ขณะเดียวกันก็เปิดโอกาสให้แสดงศักยภาพ และสนับสนุนให้เติบโตในสายอาชีพ ควบคู่กับการเติบโตในแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน พร้อมกับการแสดงให้เห็นภาวะความเป็นผู้นำ ที่มีศักยภาพสูง

มี 2 เครื่องมือซึ่งเป็นตัวอย่าง ที่ยืนยันถึงการให้ความสำคัญในการใส่ใจดูแลพนักงาน ซึ่งน่าจะเป็นผลดีทั้งการพัฒนางานและเพิ่มความผูกพันของพนักงานต่อองค์กร ผมขอกล่าวถึง ก็คือ VOK และ KARE

VOK ย่อมาจาก Voice of Krungsri ผลการสำรวจความพึงพอใจของพนักงานกรุงศรีทุกคน ในทุกแง่มุม ถ้าเรื่องสภาพแวดล้อมในการทำงาน ขั้นตอนการทำงาน ความรู้สึกต่อหัวหน้างาน และเพื่อนร่วมงาน ทุกคนสามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างอิสระ

ข้อดีที่องค์กรเปิดรับฟัง แล้วนำประเด็นที่มีผลกระทบต่อชีวิตการทำงาน นำไปปรับปรุงแก้ไข และเป็นข้อมูลในการพัฒนาแนวคิดที่สำคัญ ในการเสริมสร้างสภาพแวดล้อมของระบบงาน ที่ส่งเสริมวัฒนธรรมองค์กรเพื่อความยั่งยืน

"กรุงศรีให้ความสำคัญกับทุกเสียงของพนักงาน และมุ่งมั่นสู่ความเป็นองค์กรที่น่าทำงานด้วยมากที่สุด นำไปสู่การเป็นองค์กรแห่งความสุขสำหรับพนักงานอย่างแท้จริง"

KARE เป็นชื่อ Application ที่รวมอักษรตัวแรกของคำสำคัญ ได้แก่ Krungsri - Application - Relationship - Employee ที่ออกแบบมาเพื่อช่วยพนักงานให้สะดวกในการติดต่องาน และมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับคนในองค์กร
●รวมทุกบริการของระบบภายในธนาคารที่พนักงานต้องติดต่อด้วย
●เพิ่มศักยภาพด้านดิจิทัลให้พนักงานใช้งานง่าย เพื่อจะมีเวลาไปสร้างสรรค์งานใหม่หรือเพิ่มผลิตภัณฑ์ให้ลูกค้า
●ช่วยให้พนักงานสามารถติดตามข่าวสารสำคัญ และข้อมูลใหม่ขององค์กรได้สะดวก

เข้าถึงข้อมูลผ่าน HR Online Chatbot และมีระบบช่วยให้พนักงานจัดการเรื่องต่างๆได้สะดวกรวดเร็วด้วยตนเอง เช่น การขออนุมัติลางาน ขอสลิปเงินเดือน ขอเรียน e-learning หรือบริการอื่น


ข้อคิด ….

เมื่อไม่กี่วันมานี้ผมได้รับข้อมูลข่าวจากPwCประเทศไทย เผยแพร่ผลสำรวจที่เปิดเผยล่าสุดในเดือนกันยายน 2567 พบว่าคนทำงานไทย 1,000 คน 65% ที่มีความพึงพอใจต่อสถานที่ทำงานของตนปีนี้ลดลง 14 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับผลสำรวจปีก่อนระดับความพอใจอยู่ที่ 79%

ขณะที่มีคน 45% ต้องการขอเพิ่มเงินเดือน มี 35% ต้องการเลื่อนตำแหน่ง และมี 28% ที่ต้องการเปลี่ยนนายจ้าง
นี่เป็นสิ่งสะท้อนแนวโน้มผลกระทบด้านผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder)ในกลุ่มคนทำงาน ซึ่งมีโอกาสเป็นปัจจัยบวกหรือลบก็ได้ ขึ้นอยู่กับการปรับเปลี่ยน

ชุดความคิด(Mindset)จุดมุ่งหมาย(Purpose)ที่ผู้บริหารองค์กรจะดำเนินกลยุทธ์ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกธุรกิจยุคดิจิทัล

กรณีของธนาคารกรุงศรี เราได้เห็นความเคลื่อนไหวพัฒนากระบวนการและการดำเนินงานที่ให้ความสำคัญต่อการหนุนเสริมศักยภาพ และความสามารถคนทำงาน ที่เพิ่มโอกาสความก้าวหน้าในชีวิตและการงาน สั่งสมกลายเป็นวัฒนธรรมองค์กร

ผลงานที่ผ่านมาสายงานการบริหารทรัพยากรบุคคล ที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เป็นที่ยอมรับและยืนยันด้วยรางวัล รวมทั้งเมื่อต้นปีนี้ก็ได้รับ 4 รางวัลยอดเยี่ยมด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลแห่งปีจากเวทีระดับสากล โดยเฉพาะ
รางวัลTop 50 Employers in Thailand 2024 ในฐานะองค์กรที่คนรุ่นใหม่อยากทำงานด้วยมากที่สุด

ดังนั้นด้วยจุดมุ่งหมาย ต้องการเป็น “ผู้นำสถาบันการเงินที่ยั่งยืน”ซึ่งก็ต้องมีการพัฒนาอย่างสมดุลทั้งESG ซึ่งผู้บริหารและพนักงาน เป็นส่วนหนึ่งของS ที่ธนาคารให้ความสำคัญและดำเนินการอย่างได้ผลยืนยันด้วยรางวัลในอดีต ที่มุ่งสู่รางวัลแห่งเป้าหมายในอนาคต

suwatmgr@gmail.com


กำลังโหลดความคิดเห็น