กรมลดโลกร้อน ส่องแนวทางเพิ่มพื้นที่ป่าดอยตุง ตัวอย่างลดหายนะจากภัยพิบัติน้ำท่วม ฝุ่นPM2.5 ทั้งตอบโจทย์ประเทศและโลกมุ่งสู่ NET Zero บรรลุเป้าหมายข้อตกลงปารีส มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ชี้หนทางรอดด้วยการปลูกป่า-ปลูกคน ต้องใช้กระบวนการธรรมชาติบำบัดและการมีส่วนร่วมของชุมชน
หัวใจของความสำเร็จที่ประเทศไทยจะบรรลุตามข้อตกลงปารีส ประกอบด้วยการใช้กระบวนการทางธรรมชาติ และการมีส่วนร่วมของชุมชน ซึ่งเป็นการสรุปบทเรียนมาจากการปลูกป่าบนดอยตุงของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ที่ดำเนินมาครบ 36 ปี
ย้อนกลับไปกว่าสามสิบปีก่อน พื้นที่บนดอยสูงในเขตอำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย หากมองจากมุมมองของนก คงเป็นเพียงผืนดินสีน้ำตาลแดงของภูเขาหัวโล้นทอดยาวสุดลูกหูลูกตา แซมด้วยจุดสีเขียวเล็กจ้อยกระจายตัวอยู่เพียงประปราย
ดอยตุงในอดีตคือดินแดนที่ผู้คนในพื้นที่แห่งนั้นเข้าไม่ถึงสาธารณูปโภคพื้นฐานและขาดความรู้ด้านการเกษตร มีชีวิตที่แร้นแค้นและตกอยู่ในวังวนของปัญหา นำมาซึ่งการประกอบอาชีพผิดกฎหมาย ปลูกและค้าสิ่งเสพติดขายให้กองกำลังชนกลุ่มน้อย มีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่ต้องกลายเป็นส่วนหนึ่งของวงจรการขายและเสพยาเสพติด รวมถึงการค้าประเวณีเพื่อหวังจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จนนำมาสู่การสูญเสียที่ประเมินค่าไม่ได้
โครงการพัฒนาดอยตุงฯ เริ่ม ‘ปลูกคน’ ด้วยการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนในพื้นที่ให้ดีขึ้นอย่างเป็นขั้นเป็นตอน บนความเชื่อสำคัญที่ว่า หากสร้างหนทางให้ชาวบ้านหลุดพ้นจากวงจร ‘ความเจ็บป่วย ความยากจน ความไม่รู้’ ได้ ปัญหาสังคมและการทำลายธรรมชาติเพื่อความอยู่รอดก็จะหมดไปในที่สุด สมเด็จย่าจึงมีพระราชปณิธานที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงทั้งพื้นที่และชีวิตชาวไทยภูเขา ดังพระราชดำรัสที่ว่า
“ตกลงฉันจะมาปลูกบ้านที่นี่ แต่ถ้าไม่มีโครงการดอยตุง ฉันก็จะไม่มาปลูกบ้านที่นี่ ฉันอยากปลูกป่ามาสิบกว่าปีแล้ว แต่ไม่มีใครรับปากฉัน”
ตลอดระยะเวลาที่ปลูกป่าบนดอยตุง มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ฟื้นฟูป่าแล้วประมาณ 90,000 ไร่ ทั้งยังสร้างอาชีพที่ดีแก่ประชาชนกว่าหนึ่งหมื่นคน และได้รับการรับรองปริมาณคาร์บอนเครดิตจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) กว่า 410,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่ภาคีต่างๆ ในระยะยาว
เพิ่มพื้นที่ป่าชุมชน ชูแบบอย่างปลูกป่า ปลูกคนบนดอยตุง
ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่าปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลกระทบอย่างเห็นได้ชัดจากน้ำทะเลร้อนขึ้นทำให้โอกาสการเกิดพายุไต้ฝุ่นมากขึ้นและรุนแรงขึ้นด้วย เช่นเหตุการณ์พายุยางิที่ผ่านมา ทำให้พื้นที่อยู่อาศัยประสบภาวะน้ำท่วมหนักและรุนแรง เพราะปริมาณของฝนที่เพิ่มขึ้น
ตอนนี้โลกอยู่ในจุดใกล้อันตราย (tripping points) ปัจจุบันอุณหภูมิโดยเฉลี่ยทั่วโลกเพิ่มขึ้น 1.3 องศาเซลเซียสนับตั้งแต่ปี 1850 ยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรม และจากภาวะโลกร้อนขณะนี้กำลังทวีความรุนแรงกลายไปสู่โลกเดือด ซึ่งผลกระทบต่อบ้านเราคงเห็นแล้วจากระดับอุณหภูมิเฉลี่ยที่สูงขึ้น จำนวนพายุมากขึ้นจนทำให้มีปริมาณฝนตกมากและเกิดน้ำท่วมหนัก
ประเทศไทยในฐานะภาคีสมาชิกกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความตกลงปารีส (UNFCCC) ซึ่งจะต้องดำเนินการควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม และพยายามจำกัดให้ไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส เพื่อนำไปสู่การจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ร่วมกับประชาคมโลก รวมทั้งการบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ทั้งเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality)ภายในปี ค.ศ. 2050 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG emission) ภายในปี ค.ศ. 2065 รวมทั้งเป้าหมายการมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
นอกจากนี้ประเทศไทยได้รับรอง กรอบงานคุนหมิง - มอนทรีออลว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพของโลก (Kunming-Montreal Global Biodiversity Framework: KM – GBF) เพื่อหยุดยั้งการสูญเสียและฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ นำไปสู่การบรรลุพันธกิจ ค.ศ. 2030 (2030 Mission ) และวิสัยทัศน์ ปี ค.ศ. 2050 ให้ประชาคมโลกมีคุณภาพชีวิตที่ดีควบคู่กับการมีธรรมชาติที่สมบูรณ์
เมื่อผลกระทบมันรุนแรงขึ้น สิ่งที่รัฐบาลมองถึงการแก้ไขปัญหาการลดก๊าซเรือนกระจกนั้น ทำได้ 2 แนวทางคือ การลดจากแหล่งปล่อยโดยตรงและการเพิ่มการดูดกลับให้มากขึ้น ผ่าน 2 กลไก คือ การพัฒนาใช้เทคโนโลยีการดักจับคาร์บอน และการเพิ่มพื้นที่ป่าซึ่งเป็นแนวทางที่ยั่งยืน ทำให้ความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกในอากาศไม่ส่งผลกระทบสิ่งมีชีวิต รวมถึงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
“ป่าเป็นส่วนสำคัญในแผนยุทธศาสตร์ของประเทศที่จะต้องเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ได้ 323 ล้านไร่ และ “ป่าชุมชน” ยังเป็นโมเดลสำคัญที่เกิดจากความร่วมมือของทุกฝ่าย เพื่อลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม สร้างคุณภาพชีวิตที่ดี และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง"
ในเรื่องของศักยภาพการดูดกลับก๊าซเรือนกระจกในสาขาป่าไม้และการใช้ประโยชน์ที่ดิน ประเทศไทยมีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าต้องการเพิ่มจำนวนพื้นที่ป่าเท่าไหร่ เมื่อมองแยกย่อยมาว่าพื้นที่ป่าอนุรักษ์ตอนนี้ก็มีพื้นที่ป่าชุมชนร่วมด้วย ซึ่งในปี 2570 กรมป่าไม้ วางแผนไว้แล้วว่าจะเพิ่มพื้นที่ป่าประมาณ 10 ล้านไร่
นอกจากนี้ป่าชุมชน เรามี พ.ร.บ.ป่าชุมชน ปี 2562 ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและประชาชนในการดูแล ออกกฎระเบียบ ตามวัตถุประสงค์หลัก คือ ทำให้เป็นป่าท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ประชาชนสามารถเก็บของป่าได้ นำไม้ไปใช้ทำที่อยู่อาศัย เรียกว่าสามารถใช้บริการทางนิเวศ และข้อสำคัญ ปลูกจิตสำนึกคนเพื่อสร้างความตระหนักในการดูแลรักษาผืนป่า
ปลูกป่า ปลูกคน: ทางเลือก ทางรอด
หม่อมหลวงดิศปนัดดา ดิศกุล เลขาธิการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวในเวทีเสวนา Mae Fah Luang Sustainability Forum 2024 หัวข้อ 'ปลูกป่า ปลูกคน: ทางเลือก ทางรอด' ตอกย้ำความสำเร็จการขับเคลื่อนโครงการมาตลอด 36 ปี
เขาบอกว่า “การมีป่าเพียงอย่างเดียวกำลังจะไม่เพียงพอ เพราะโลกกำลังต้องการ 'ป่าที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ' ขณะที่ป่ากับความหลากหลายจะยั่งยืนได้ก็ต้องมีคนคอยดูแล ซึ่งก็คือชุมชนนั่นเอง ดังนั้น การเดินไปสู่เป้าหมายของประเทศจะต้องมีทั้งสองปัจจัยนี้ และจะแยกจากกันไม่ได้”
หนึ่งใน Best Practice ของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ คือ การขับเคลื่อนโครงการปลูกป่าบนดอยตุง โดยตลอดกว่า 3 ทศวรรษที่ผ่านมา สามารถฟื้นฟูป่าได้ราว 9 หมื่นไร่ สร้างอาชีพที่ดีแก่ประชาชนกว่าหนึ่งหมื่นคน และได้รับการรับรองปริมาณคาร์บอนเครดิต จากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) กว่า 4.19 แสนตัน Co2e รวมทั้งร่วมกับกรมป่าไม้ และภาคีทั้งรัฐและเอกชน ร่วมกันฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าชุมชนกว่า 258,186 ไร่ โดยตั้งเป้าขยายโครงการไปยังป่าชุมชน 1 ล้านไร่ ภายในปี 2570 จากพื้นที่ป่าชุมชนทั้งหมด 6.8 ล้านไร่ในปัจจุบัน
โครงการป่าชุมชน เป็นหนึ่งโมเดลในการแก้วิกฤตสภาพอากาศ ตามข้อตกลงปารีส รวมทั้งขับเคลื่อนเป้าหมายประเทศไทยในการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี 2050 และคาร์บอนเป็นศูนย์ ในปี 2065
ขณะเดียวกันยังตอบโจทย์ Global Biodiversity Framework ตามกรอบความร่วมมือคุนหมิง-มอนทรีออล เพื่อหยุดยั้งการสูญเสียและฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งมีเป้าหมายในการเพิ่มพื้นที่อนุรักษ์ทางบก ทางทะเล และน้ำจืดให้ได้ร้อยละ 30 ภายในปี ค.ศ. 2030 หรือ พ.ศ. 2573 – หรือเป้าหมาย 30x30
การจะบรรลุเป้าหมายเหล่านี้ จำเป็นต้องใช้กระบวนการทางธรรมชาติในการบำบัด และการมีส่วนร่วมของชุมชน เพื่อเป็นทางรอดจากหายนะจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ซึ่งสามารถพิสูจน์ความสำเร็จได้จาก Best Practice การปลูกป่าบนดอยตุงของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ที่ดำเนินมาครบ 36 ปี
ทุกวันนี้การขับเคลื่อนโครงการป่าชุมชนช่วยลดปัญหาไฟป่า ในพื้นที่ลงได้อย่างมีประสิทธิภาพจากเฉลี่ย 22% เหลือเพียง 0.86% ซึ่งเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า ชุมชนเป็นส่วนสำคัญของความสำเร็จในการดูแลรักษาสภาพแวดล้อม เพราะ คน ธรรมชาติ และสภาพอากาศ มีความเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะคน เป็นส่วนสำคัญที่สุดในการทำหน้าที่ดูแลรักษาธรรมชาติ เพื่อฟื้นฟูและคืนสภาพอากาศที่ดีให้โลก
สอดคล้องกับพระบรมราโชบาย 'ปลูกป่า ปลูกคน' สะท้อนแนวทางการแก้ปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งปัญหาหมอกควัน โดยเฉพาะปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่เป็นหนึ่งปัญหาสำคัญในปัจจุบัน ช่วยเพิ่มพื้นที่ป่า พร้อมทั้งสร้างอาชีพและรายได้ที่มั่นคงให้ชุมชน รวมถึงการเพิ่มโอกาสจากกลไกคาร์บอนเครดิตคุณภาพสูง จากการยกระดับการรับรองคาร์บอนเครดิตที่เข้มข้นมากขึ้น เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานโลกและป้องกันปัญหาการฟอกเขียว