xs
xsm
sm
md
lg

จาก ‘สามเหลี่ยม-เขยื้อนภูเขา’ สู่ ‘สามวง-นวัตสังคม’ / ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์





ผมได้รับหนังสือ ทฤษฎีและการปฏิบัติการของนวัตกรรมสังคม จาก ดร.สุนทร คุณชัยมัง ซึ่งเป็นผู้แต่งหนังสือเล่มนี้ ในฐานะอาจารย์ผู้สอนวิชาทฤษฎีและการปฏิบัติการของนวัตกรรมสังคม ที่วิทยาลัยผู้นำและนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต

แม้หนังสือเล่มนี้ จะใช้เป็นเอกสารประกอบการเรียนการสอนของวิชาเรียนในหลักสูตรระดับปริญญาเอก แต่ก็เป็นหนังสือที่อ่านไม่ยาก โดยได้ประมวลความรู้ที่เกี่ยวกับนวัตกรรมสังคมที่ครอบคลุมทั้งมิติของนวัตกรรมที่เป็นเรื่องของเทคโนโลยี กระบวนการและแบบแผนของการจัดการ และมิติของสังคมที่เป็นเรื่องของความสัมพันธ์ทางสังคม ทุนทางสังคม ปทัสถานทางสังคม และโครงสร้างทางสังคม ความหนาทั้งหมด 245 หน้า

เนื้อหาที่น่าสนใจในหนังสือเล่มนี้ นอกจากการประมวลที่มาและประวัติศาสตร์ของนวัตกรรมสังคมในส่วนที่หนึ่งซึ่งมี 3 บท รวมทั้งรูปแบบต่าง ๆ ของนวัตกรรมสังคม รวมทั้งกรณีศึกษาที่น่าสนใจประจำบท ในส่วนที่สองซึ่งมีถึง 8 บทด้วยกัน ผมให้ความสนใจเนื้อหาในส่วนที่สามที่เกี่ยวกับ Soft Power กับการปฏิบัติการเชิงนวัตกรรมสังคม และการขับเคลื่อนนวัตกรรมสังคม ซึ่งเป็น 2 บทสุดท้ายของหนังสือ

โดยการปฏิบัติการเชิงนวัตกรรมสังคม ด้วยการใช้ Hard & Soft Power จะมีความแตกต่างกัน ตามลักษณะของพฤติกรรม เริ่มจาก Hard Power จะใช้รูปแบบสั่งการหรือใช้อำนาจ และการกำหนดระเบียบปฏิบัติ โดยอาศัยมาตรการบังคับและการลงโทษ ขณะที่ Soft Power จะใช้รูปแบบการนำเสนอด้วยวาระหรือบทบาทที่ถูกกำหนดขึ้น และการดึงดูดให้ปฏิบัติตามความสมัครใจ โดยอาศัยการผลักดันให้เป็นค่านิยม วัฒนธรรม และนโยบาย

ทั้งนี้ ในหนังสือยังชี้ให้เห็นถึงการจัดแบ่งอำนาจ ออกเป็น 3 รูปแบบ ได้แก่ อำนาจในรูปแบบทางทหาร (Military Power) ด้วยการบีบบังคับ การป้องปราม และการคุ้มครอง โดยใช้การขู่ขวัญและแสนยานุภาพเป็นกระแสหลัก อำนาจในรูปแบบทางเศรษฐกิจ (Economic Power) ด้วยการจูงใจและการบีบคั้น โดยใช้การให้คุณให้โทษเป็นกระแสหลัก และอำนาจในรูปแบบที่นุ่มนวล (Soft Power) ด้วยการดึงดูดและการกำหนดให้เป็นวาระ โดยใช้ค่านิยม วัฒนธรรม นโยบาย และการทำให้เป็นสถาบัน เป็นกระแสหลัก

ซึ่งหากพิจารณาบริบทในสังคมยุคใหม่ที่ได้รับอิทธิพลอย่างกว้างขวางจากแพลตฟอร์มที่เป็นสื่อสังคมออนไลน์ประกอบเข้าด้วยแล้ว การแพร่กระจายของนวัตกรรมสังคมหนึ่ง ๆ ไปยังสังคมวงกว้างหรือสู่สังคมโลก ย่อมสามารถเกิดขึ้นโดยการใช้ Soft Power ได้อย่างสะดวกง่ายดายกว่าในยุคก่อน ๆ มาก อาทิ กระแส Korean Wave ที่เป็นกรณีตัวอย่างในหนังสือ ซึ่งได้แจกแจงให้เห็นถึงการปฏิบัติการทั้งการผลิต การสร้างสรรค์ และการร่วมผลิต และร่วมสร้างสรรค์ของผู้บริโภค/ผู้ชม และแฟนคลับ (จากประเทศต่าง ๆ) รวมไปถึงการเชื่อมโยงเรื่องของการสื่อสารของงานวัฒนธรรมไปสู่การทำหน้าที่เป็นเครื่องมือส่งเสริมการท่องเที่ยวทั้งทางตรงและทางอ้อม

สำหรับการขับเคลื่อนนวัตกรรมสังคม ผู้เขียนได้ชี้ให้เห็นถึงการปฏิบัติการทางสังคมใน 3 รูปแบบ ได้แก่

แบบ Niche (วิถีเฉพาะ) เป็นกรณีที่มีการสร้างสรรค์นวัตกรรมในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เกิดขึ้นในพื้นที่หนึ่ง ๆ ด้วยเงื่อนไขที่มีความเฉพาะเจาะจง แล้วนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงขยายตัวใน 3 แนวทาง ประกอบด้วย การขยายวง (Scale Out) โดยการทำซ้ำและการแพร่กระจายเพื่อเพิ่มจำนวนผู้คนหรือชุมชนที่ได้รับผล การขยายไต่ระดับ (Scale Up) โดยการเปลี่ยนแปลงเชิงสถาบันขึ้นไปถึงระดับนโยบาย กฎระเบียบ และกฎหมาย และการขยายลงฐานราก (Scale Deep) โดยการเปลี่ยนความเชื่อ ค่านิยม วัฒนธรรม และมโนคติ

แบบ Regime (ระบอบ) เป็นการจัดการตามชุดความสัมพันธ์และโครงสร้างทางสังคมที่ยึดโยงกับเทคโนโลยีและความรู้ โดยที่การเปลี่ยนแปลงตามแบบแผนนี้จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมีเทคโนโลยีและความรู้ชุดใหม่ที่เป็นปัจจัยจากภายนอกไปกดดัน-บังคับ-สร้างผลต่อการเปลี่ยนการรับรู้บรรทัดฐานและกฎกติกาในทางปฏิบัติที่มีอยู่เดิมของสังคม

แบบ Landscape (ภูมิภาพ) เป็นเรื่องพื้นฐานความยั่งยืนของสังคม มีความเกี่ยวข้องทั้งเรื่องการจัดการกายภาพสิ่งแวดล้อม ไปจนถึงการเมือง วงจรเศรษฐกิจ และกระแสทางสังคม เป็นเสมือนเงื่อนไขพื้นฐานของทรัพยากรที่จะสนับสนุนและเป็น Big Idea ที่ทรงอิทธิพล ที่จะแสดงผ่านความก้าวหน้าของประชาธิปไตย ระบบทุนนิยม และวิทยาศาสตร์

ท้ายที่สุด ผู้เขียนสรุปให้เห็นถึงองค์ประกอบของนวัตกรรมสังคม ที่ต้องประกอบด้วย

1) วิถีทาง (Means) ซึ่งเป็นกลไกการทำงานที่นำไปสู่การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ บริการ และกระบวนการที่ไปตอบสนองต่อการแก้ปัญหาสังคมให้แล้วเสร็จ

2) จุดหมายปลายทาง (Ends) ซึ่งเป็นความแล้วเสร็จของประเด็น/ปัญหาทางสังคมที่แก้ไขได้เป็นผลให้ระบบเศรษฐกิจและสังคม มีทุนก้อนใหม่ ที่มีขีดความสามารถทางการแข่งขันมากกว่าเดิม ตามนัยของการเปลี่ยนแปลงทางสังคม

3) พื้นที่ดำเนินงาน (Space) ในที่นี้ หมายถึง พื้นที่ชุมชน เมือง ประเทศ ซึ่งเป็นพื้นที่ปฏิบัติจริงภาคสนาม (ที่แตกต่างจากพื้นที่ทางวิชาการทั่วไป-นามธรรม) รวมทั้งการยืนยันความเป็นพื้นที่ในแง่มุมของวิธีดำเนินการตั้งแต่การคิด ลงมือทำ ไปจนถึงความสำเร็จ และผลของความสำเร็จต่อการเปลี่ยนแปลงของระบบ

จากแนวคิด สามเหลี่ยม-เขยื้อนภูเขา ที่มีองค์ประกอบ 3 ด้าน ได้แก่ การสร้างความรู้ การเคลื่อนไหวทางสังคม และการเชื่อมต่อกับการเมือง ซึ่งถูกนำเสนอโดย ศ.นพ.ประเวศ วะสี เมื่อปี 2545 ในฐานะที่เป็นเครื่องมือการปฏิรูปซึ่งมีฐานคิดอยู่บนเงื่อนไขและบริบทของสังคมในขณะนั้น หนังสือเล่มนี้ได้เสนอแนวคิด สามวง-นวัตสังคม ตามที่ ดร.สุนทร คุณชัยมัง ชี้ให้เห็นว่าต้องพิจารณาทั้งวิถีทาง พื้นที่ดำเนินงาน และจุดหมายปลายทาง ที่นำไปสู่การผลิต “ทุนก้อนใหม่” ตามนัยของการเปลี่ยนแปลงทางสังคม และรวมความถึงพื้นที่ความสัมพันธ์ทางสังคมดิจิทัลที่ผลักดันให้เกิดปรากฏการณ์ทางสังคมในรูปแบบใหม่ ๆ อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

สำหรับผู้ใดที่สนใจหนังสือเล่มนี้ ปัจจุบัน มีจำหน่ายตามศูนย์หนังสือในมหาวิทยาลัยทั่วไป และร้านออนไลน์ของศูนย์หนังสือจุฬา ซึ่งมีทั้งแบบเล่มหนังสือและอีบุ๊ก ให้ได้ศึกษาค้นคว้าและทำความเข้าใจในเรื่องนวัตกรรมสังคมอย่างรอบด้าน


บทความโดย ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ประธานสถาบันไทยพัฒน์


กำลังโหลดความคิดเห็น