เทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการแพทย์เป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่ช่วยให้การดูแลรักษาผู้ป่วยมีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกเหนือจากบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความรู้ความสามารถและความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง ดังนั้น โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ จึงนำเทคโนโลยีทางการแพทย์อันทันสมัยมายกระดับการดูแลรักษาผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง ซึ่ง “เทคโนโลยีแขนหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าข้อสะโพกเทียม” อ้างอิงจากภาพกระดูก 3 มิติ โดยใช้เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เป็นตัวอย่างเทคโนโลยีทันสมัยที่ช่วยให้ผู้ป่วยโรคข้อเสื่อมกลับมาใช้ชีวิตได้เป็นอย่างดี
ศ.นพ.ณัฐพล ธรรมโชติ หัวหน้าภาควิชาออร์โธปิดิกส์ และรองผู้อำนวยการ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ กล่าวว่า “การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าข้อสะโพกเทียมด้วยวิธีเดิม” จะทำการประเมินลักษณะความรุนแรงของโรคและวางแผนการผ่าตัดจากภาพถ่ายรังสีเอกซเรย์ ซึ่งเป็นภาพ 2 มิติ ทำให้มีข้อจำกัดในการประเมินและวางแผนการใส่ข้อเทียม ในขณะผ่าตัดแพทย์ใช้อุปกรณ์ในการกำหนดตำแหน่งของข้อเทียม วัดขนาดข้อเทียม การตัดผิวกระดูกจะถูกควบคุมโดยอาศัยสายตาของแพทย์ทั้งหมด การกำหนดตำแหน่งอาจคลาดเคลื่อนได้ประมาณ 3-5 องศา หรือประมาณ 2-3 มิลลิเมตรเพราะมีเนื้อเยื่ออ่อนคลุมกระดูกอยู่ ในกรณีที่ผู้ป่วยมีข้อเข่าที่ผิดรูปมากภาพ 2 มิติจากเอกซเรย์อาจมีความไม่เที่ยงตรงได้มากขึ้น การปรับสมดุลเนื้อเยื่อรอบเข่า ต้องอาศัยประสบการณ์และความชำนาญของแพทย์อย่างสูง ในส่วนของการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม การเหลาเบ้าสะโพกรวมถึงการวางตำแหน่งของข้อเทียมจะอาศัยสายตาของแพทย์ในการกำหนดจุดวางข้อสะโพกเทียมที่เหมาะสม ซึ่งมีความละเอียดได้เพียง 5-10 องศา โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีความผิดรูปของเบ้าสะโพกจากปกติมาก หรือมีดัชนีมวลกายมาก
สำหรับ “การผ่าตัดข้อเข่าข้อสะโพกเทียมแบบใหม่” อาศัยเทคโนโลยีหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด โดยก่อนผ่าตัดจะทำการถ่ายภาพข้อเข่าข้อสะโพกของผู้ป่วยโดยใช้เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) ซึ่งจะได้ภาพออกมาเป็น 3 มิติทำให้ประเมินลักษณะความผิดปกติของข้อเข่าข้อสะโพกของผู้ป่วยได้อย่างถูกต้องแม่นยำสูง รวมถึงสามารถทราบขนาดของข้อเทียม ตำแหน่งการวางข้อเทียม และกำหนดแนวขาได้ตั้งแต่ก่อนการผ่าตัด ในขณะผ่าตัดจะมีแขนกลซึ่งควบคุมโดยแพทย์มาช่วยในการตัดกระดูก ทำให้เกิดความผิดพลาดจากการตัดกระดูกไม่เกิน 1 มิลลิเมตร และแพทย์สามารถปรับตำแหน่งการตัดกระดูกตามลักษณะจำเพาะของเข่าของผู้ป่วยแต่ละคนโดยที่มีความแม่นยำสูง การปรับสมดุลเนื้อเยื่อรอบเข่าจะแสดงตัวเลขออกมาให้เห็นเป็นระดับมิลลิเมตรทำให้แพทย์สามารถจัดสมดุลเอ็นและเนื้อเยื่อรอบข้อเข่าได้ดียิ่งขึ้น ทำให้ข้อเข่ามีความมั่นคง ในส่วนของการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม จะช่วยลดข้อผิดพลาดในการกำหนดตำแหน่งเบ้าสะโพก วางตำแหน่งที่เหมาะสมกับลักษณะทางกายวิภาคของผู้ป่วยแต่ละคน ทำให้ได้ข้อสะโพกที่มีความมั่นคง ลดโอกาสการหลุดของข้อสะโพกเทียม ได้ความยาวขาที่เท่ากันหลังผ่าตัด และกลับมาใช้งานได้เป็นปกติ
โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ ได้นำ “เทคโนโลยีแขนหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าข้อสะโพกเทียม” มาใช้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2564 มีผู้ป่วยเข้ารับการผ่าตัดด้วยเทคโนโลยีนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบันมีการผ่าตัดไปแล้วมากกว่า 500 ข้อ นอกจากนี้ การเป็นโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยชั้นนำ มีผู้ป่วยมากขึ้นทุกปีและเคสผู้ป่วยที่มีความซับซ้อนได้รับการส่งต่อมารักษาเพิ่มขึ้น ประกอบกับการจัดตั้งศูนย์ข้อเทียมธรรมศาสตร์ทำให้สามารถรองรับผู้ป่วยได้เพิ่มขึ้นและให้บริการได้อย่างไร้รอยต่อโดยอาศัยทีมแพทย์และพยาบาลเฉพาะทาง อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีนี้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มจากสิทธิ์การเบิกต่างๆ ทำให้ผู้ป่วยต้องร่วมจ่าย แต่รพ.ธรรมศาสตร์ฯ เป็น รพ.ของรัฐที่ให้บริการการผ่าตัดด้วยแขนหุ่นยนต์แบบนี้ในราคาไม่แสวงหากำไรเป็นหลัก ทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงเทคโนโลยีที่ทันสมัยนี้ได้ในราคาถูกกว่ารพ.เอกชนมากพอสมควร
โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ พร้อมเป็นที่พึ่งให้ประชาชนที่มีปัญหาด้านข้อเข่าข้อสะโพกสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีที่ทันสมัยนี้ได้ ปัจจุบันการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าข้อสะโพกเทียมประสบความสำเร็จสูง มีภาวะแทรกซ้อนน้อย และช่วยลดความทุกข์ทรมานให้ผู้ป่วย ทำให้คุณภาพชีวิตผู้ป่วยดีขึ้น และจากการที่ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ กล่าวคือมีประชากรที่มีอายุมากกว่า 60 ปีถึง 20%ของประชากรทั้งหมด ทำให้ผู้ป่วยโรคข้อเข่าข้อสะโพกเสื่อมมีปริมาณเพิ่มขึ้น การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าข้อสะโพกเทียมจึงสูงขึ้นตาม ซึ่งการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมที่มีคุณภาพในครั้งแรกมีความสำคัญมาก เพราะผู้ป่วยจะสามารถใช้ข้อได้ดีและต้นทุนต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับการผ่าตัดแก้ไขความล้มเหลวของข้อเทียมที่ไม่ประสบความสำเร็จจากการผ่าตัดครั้งแรก
ด้วยเล็งเห็นถึงความสำคัญของการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าข้อสะโพกเทียมซึ่งคาดว่าจะมีแนวโน้มสูงขึ้น จึงมีการจัดตั้ง “ศูนย์การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมธรรมศาสตร์” ขึ้นในปี 2565 โดยมีห้องผ่าตัดที่ทันสมัยระดับสากล มีแผ่นกรองอนุภาคที่ดีกว่าห้องผ่าตัดทั่วไป 10 เท่า ทำให้ลดโอกาสการติดเชื้อของข้อเทียม ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงและต้องใช้ค่าใช้จ่ายในการรักษาสูง ทั้งยังมีอุปกรณ์การผ่าตัดที่ทันสมัย อาทิ แขนหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด เป็นต้น และนอกจากศักยภาพด้านการผ่าตัดรักษาผู้ป่วยแล้ว ยังเน้นการทำวิจัย ต่อยอดนวัตกรรมเกี่ยวกับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าข้อสะโพกเทียม เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับประสบการณ์การผ่าตัดที่ดีที่สุด ทั้งนี้ ศูนย์ฯ ตั้งเป้าหมายการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าข้อสะโพกเทียมปีละประมาณ 3,000 ข้อ
ศ.นพ.ณัฐพล ทิ้งท้ายว่า “เทคโนโลยีแขนหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดนี้ถือเป็นเมกะเทรนด์ของโลก สำหรับศูนย์ผ่าตัดเปลี่ยนข้อฯ นอกจากให้บริการที่มีคุณภาพและสร้างประสบการณ์ที่ดีต่อผู้ป่วยแล้ว ยังเป็นแหล่งเรียนรู้ของแพทย์เฉพาะทางด้านกระดูกและข้อที่ต้องการพัฒนาศักยภาพการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียม รวมถึงเป็นศูนย์การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพื่อให้การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมของประเทศไทยสามารถแข่งขันได้ในระดับสากล และในอนาคตการผ่าตัดแบบนี้จะขยายไปสู่ข้ออื่นๆ ในร่างกาย อาทิ ข้อไหล่ หรือกระดูกสันหลัง อีกด้วย เพื่อดูแลคุณภาพชีวิตของผู้คน”