xs
xsm
sm
md
lg

ดิจิทัลอาร์ต ม.รังสิต ปั้นบัณฑิต “DigiCraft” ด้วย Activity Based Learning

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


คณะดิจิทัลอาร์ต ม.รังสิต
สถานการณ์อุตสาหกรรมดิจิทัลอาร์ตของประเทศไทยในวันนี้ โดยภาพรวมมีความต้องการมากขึ้น มีบัณฑิตที่ทำงานทั้งด้านแอนิเมชัน ซึ่งแยกเป็นงานผลิตแอนิเมชันประเภท IP หรือเป็นทรัพย์สินทางปัญญา ที่มาจากผู้ผลิตเจ้าของผลงานเป็นแอนิเมชันสตูดิโอไทย เช่น เรื่องเก้าศาตรา และเรื่องนักรบมนตรา อีกแบบหนึ่งคืองานรับจ้างผลิตจากต่างประเทศ ทั้งที่เห็นในช่องสตรีมมิ่งต่างๆ หลายสตูอิโอในไทยรับผลิตแอนิเมชันซีรี่ส์ให้ต่างประเทศอยู่แล้ว ดังนั้น การที่บอกว่าตลาดเติบโตขึ้น เพราะความต้องการให้คนเข้าไปทำงานด้านนี้ยังมีโอกาสมีงานไปเรื่อยๆ ใน 2-3 ปีข้างหน้า

อย่างไรก็ตาม ทิศทางในอนาคตสำหรับภาพยนตร์แอนิเมชันที่ฉายในโรงภาพยนตร์น่าจะไม่ใช่รายได้หลัก เพราะวิถีของคนไทยในการดูภาพยนตร์แอนิเมชันในโรงภาพยนตร์มีกลุ่มเป้าหมายไม่กว้าง แต่ช่องทางสตรีมมิ่ง เช่น Netflix เป็นโอกาสของผู้สร้างงานรายย่อยและรายกลางเข้าไปแบ่งเงินทุนจากช่องทางนี้เพื่อเผยแพร่งานของตนเองได้ง่ายขึ้น งานแอนิเมชันที่หลากหลาย ไม่ใช่แค่ฟีเจอร์ฟิล์มที่เป็นภาพยนตร์ยาวเป็นชั่วโมง อีกเรื่องคือ “สไตล์งาน” มีงานแบบไฮบริดแอนิเมชัน เช่น เรื่อง Spider-Man: Across the Spider-Verse ที่ผสมผสานทั้งงานแอนิเมชัน 2D และ 3D รวมทั้งงานดิจิทัลเพ้นท์ ทำให้เด็กรุ่นใหม่เกิดภาพจำที่เห็นแอนิเมชันว่าไม่จำเป็นต้องเป็นเทคนิคเดียว แต่มีหลายเทคนิคผสมผสานไปตามความชอบของผู้สร้าง ทำให้ได้ความหลากหลายของกลุ่มเป้าหมาย เพราะอาจจะมีคนที่ไม่ชอบเทคนิคใดเทคนิคหนึ่งก็จะไม่ดู แต่เมื่อมีหลายเทคนิครวมกันก็จะดูมากขึ้น

ทว่า แอนิเมชันต้องไม่ใช่แค่เรื่องเทคนิคน่าดู แต่ต้องมีการเล่าเรื่อง หรือ Story Telling ที่ดีด้วย เพราะการดูหนังเรื่องหนึ่งไม่ใช่แค่ดูว่าเทคนิคสวยหรือไม่ แต่การเล่าเรื่องทำให้ผู้ชมกลับมาดูและพูดถึงความประทับใจได้ ดังนั้น ช่องสตรีมมิ่งต่างๆ จึงต้องการเนื้อเรื่องที่ดี มีความใหม่ เล่าในเรื่องที่ไม่มีใครเคยพูดถึง เช่น Disney ทำซอฟท์พาวเวอร์ในเชิงความเป็นไทย มีคาแรคเตอร์ไทยแฝงอยู่ เพราะแอนิเมเตอร์หรือคนคิดเรื่องเป็นคนไทย ทำให้หลายประเทศมีโอกาสแสดงตัวตนอยู่ในช่องเหล่านั้น ดังนั้น จุดขายที่ต้องคำนึงคือต้องมีเนื้อเรื่องที่ดีก่อน จึงจะทำให้มีคนดู เพราะเทคโนโลยีส่งเสริมได้หมดแล้วในตอนนี้

อ.นัฐวุฒิ สีมันตร คณบดีคณะดิจิทัลอาร์ต ม.รังสิต
๐ เท่าทันเทคโนโลยี สร้างงานดีควบคู่ความประณีต

สำหรับการเรียนการสอน อ.นัฐวุฒิ สีมันตร คณบดีคณะดิจิทัลอาร์ต ม.รังสิต กล่าวว่า Digital Craftmanship หรือที่คณะย่อเป็น “DigiCraft” เป็นแนวทางหลักในการบ่มเพาะบัณฑิตของคณะดิจิทัลอาร์ต เพราะเราอยู่ในโลกยุคดิจิทัล เราต้องใช้เทคโนโลยีเป็น แต่ความประณีตหรือ craftmanship ก็เป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องทำให้ได้ด้วยตนเอง จะอยู่ก่อนหรือหลังก็ต้องผสมผสานกันให้ได้ ต้องมี 2 DNA อยู่ในตัว ทั้งการวาด การปั้น การเพ้นท์ ต้องเข้าใจศิลปะจากการปฏิบัติจริง รู้จักเนื้อสีจริงๆ ว่าเป็นอย่างไร โดยไม่ได้ใช้แอปฯ หรือ AI ตั้งแต่แรก แม้ว่านักศึกษาจะมีไอแพด แต่ทุกคนต้องใช้ดินสอวาดได้ ต้องเหลาดินสอเป็น เข้าใจธรรมชาติของอุปกรณ์ในการวาดและเนื้อกระดาษ เพราะดินสอแท่งเดียวกันแต่กระดาษต่างกันก็ได้ลายเส้นต่างกัน เพื่อให้ได้มีมุมมองก่อนที่จะไปใช้ Digital Tool การที่ต้องมีพื้นฐานเช่นนี้ เพราะศิลปะบางอย่างคือการชื่นชมและซึมซับด้วยสัมผัส

“อย่างเช่นการลงสีพลาด ก็จะเรียนรู้ว่าทำแล้วจะเป็นแบบนี้ เมื่อเราใช้มือแล้วพลาดก็คือพลาด ต้องเข้าใจว่าเราจะ Undo ไม่ได้ เราใช้ Hand ก่อน แล้วค่อยใช้ Head เขาจะได้เลอะได้เปื้อนก่อน ส่วนแอปฯ ก็มีรออยู่ เพราะ Material ทางอาร์ตมีความหลากหลาย เราอยากให้เขาซึมซับ สีน้ำ สีไม้ สีน้ำมัน ฯลฯ และจะได้เข้าใจโลกของแสงจริงๆ ว่า ถ้าแสงน้อยเป็นอย่างไร แล้วค่อยใช้ Photoshop ช่วยให้สมบูรณ์ขึ้นอีกที”

“เราอยากให้เด็กรู้จักพื้นที่สุนทรียภาพ เพราะเป็นสิ่งสำคัญของคนเรียนศิลปะ ต้องมองดิจิทัลเป็นเครื่องมือ แต่อาร์ตมันอยู่กับตัว ดังนั้น การมีอาร์ตจะทำให้มีความสร้างสรรค์โดยไม่ต้องมีแอปฯ และสามารถสร้างงานจากศูนย์ได้ พื้นฐานจึงสำคัญ แม้จะมีแอปฯ ให้ใช้มากมายอยู่แล้ว สถาบันทางวิชาการต้องให้สิ่งนี้เป็นเรื่องสำคัญในการหล่อหลอม ศิลปะถ้าไม่มีรากเหง้าก็จะไม่เข้าใจมันจริงๆ ก็จะเป็นเพียงผู้ใช้ หรือ User ไปตลอดกาล แต่ถ้ารู้พื้นฐานมีรากฐานที่ดีก็เหมือนมีของอยู่กับตัว วาดรูปเหมือน ขี่จักรยาน หรือว่ายน้ำ ทำได้คือทำได้ แต่ซอฟท์แวร์ถ้าไม่ใช้เป็นประจำก็จะลืมได้”

สำหรับการเรียนรู้และพัฒนาทักษะที่คณะดิจิทัลอาร์ตเราใช้วิธีการสอนผ่าน “Activity Based Learning” ยึดกิจกรรมเป็นหลัก ด้วยการพานักศึกษาออกนอกห้องเรียน โดยร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เช่น มิวเซียมสยามหรือ TCDC ไปทำกิจกรรมกับชุมชน ไปสอนแอนิเมชัน ใช้ความสามารถทางศิลปะ ใช้ไอแพดทำแอนิเมชันง่ายๆ ก็ได้ ทำให้รู้สึกว่าการเรียนรู้เป็นการให้ไปพร้อมกัน

“การฝึกทักษะชีวิตคือจุดสำคัญที่เน้นให้นักศึกษายุคใหม่ต้องมี เราใช้การออกไปข้างนอกแล้วฟัง เพราะมีประเด็นหนึ่งคือ การฝึกให้ใช้ Soft Skill เป็นการใช้ชีวิตร่วมกับผู้คนในสังคมต่างๆ ได้แก้ปัญหาเฉพาะหน้า เป็นทักษะการใช้ชีวิตเพื่ออยู่รอดได้ เป็นทักษะความรู้ที่ต้องมาสัมผัสด้วยตนเอง เป็นประสบการณ์ตรง เรื่องการสื่อสารในทีม การสื่อสารกับคนอื่น ทักษะการเห็นอกเห็นใจ การเข้าใจกัน เคารพความคิดเห็นกัน ซึ่งจะไม่ค่อยเกิด ถ้าอยู่ในห้องเรียน หรืออยู่หน้าจอคอมฯ เพราะกิจกรรมนอกห้อง ทำให้เห็นความยากลำบากบางอย่าง การสื่อสารบางอย่าง การยอมรับความคิดเห็นบางอย่าง ได้เรียนรู้สังคมที่แท้จริง สัมผัสความเป็นมนุษย์ สื่อสารให้คนอื่นๆ เข้าใจเราได้ เพราะเราอยู่กับเทคโนโลยีเยอะมาก ดิจิทัลทำให้ห่างไกล ทำให้รู้สึกว่าไม่ต้องการใครก็ได้ หรืออยู่ในโลกคนเดียวก็ได้ ส่วน hard skill เป็นทักษะด้านวิชาความรู้ เช่น การวาดภาพ การใช้คอมฯ ซึ่งใช้เวลาฝึกคนเดียวได้”

คณะดิจิทัลอาร์ต ม.รังสิต
๐ เปิดประสบการณ์เพื่อรู้จักตนเอง - เข้าใจสังคม

สำหรับการเรียนการสอน คณะดิจิทัลอาร์ต ม.รังสิต เริ่มการเรียนปี1 เทอม1 แบบรวมกัน แต่ปี1 เทอม 2 จะแยกตามความสนใจ โดยแบ่งเป็น 3 แขนงวิชา ได้แก่ แขนง 3D Animation and Visual Effects แขนง 2D Animation and Motion Graphic และแขนง Digital illustration and Comic การแบ่งแบบนี้ทำให้การเรียนชัดเจนขึ้น เป็นหลักสูตรเหมือนในต่างประเทศที่ผลิตบัณฑิตเฉพาะทาง จะทำงานได้ตรงตามที่อยากเป็น นี่คือจุดแข็ง เพราะนักศึกษาที่นี่รู้อยู่แล้วว่าอยากทำอะไร และรู้จักที่นี่อยู่แล้ว ซึ่ง Digital illustration and Comic เป็นแขนงที่นิยมที่สุด เพราะจบงานคนเดียวก็ได้ เช่น วาดการ์ตูนขายในออนไลน์ บางคนมีรายได้ดีมาก มีตัวตนก่อนมาเรียนที่นี่ เพราะมีกลุ่มลูกค้าหรือแฟนคลับอยู่แล้ว หรือทำอาร์ตทอย หรือทำสติ๊กเกอร์ เพราะไม่ต้องไปทำแอนิเมชันหรือทำหนัง ซึ่งต้องหาทีมทำงานเพราะจบงานคนเดียวไม่ได้

“ในสาขานี้ เรามักจะได้เด็กที่มี Skill Set ประมาณหนึ่งเป็นเด็กระดับหัวกะทิ จะมารวมกันอยู่ที่นี่ เป็นคอมมูนิตี้ที่ชอบเหมือนๆ กัน เหมือนอยู่ถูกที่ถูกทาง ก็สบายใจที่มาอยู่ตรงนี้ เขารู้ว่าเราคือใคร เพราะเราเปิดการเรียนการสอนมาตั้งแต่ปี 2542 เรามีรุ่นพี่ทั้งที่เรียนอยู่และศิษย์เก่าที่เรียนจบไปแล้ว คอยมาตอบคำถามน้อง ๆ คุยภาษาเดียวกัน และมีอาจารย์เรียนจบสายตรงทั้งอเมริกา ยุโรป เรามีชื่อวิชาชัดเจนมากเพราะมั่นใจว่ามีคนสอน เช่น การจัดแสงเพื่องาน 3 มิติ ฯลฯ ส่วนอาจารย์พิเศษจะมาช่วยตอนปีสูงซึ่งต้องการประสบการณ์ตรงจากมืออาชีพในบริษัทดังๆ เช่น วิชากลุ่ม 3D 2D หรืออาร์ตทอย เราใช้ศิลปินที่ทำงานจริงมาสอน เด็กจะได้รู้กระบวนการทำงานทั้งหมด รู้จักการพรีเซ้นต์เพื่อให้ได้ลูกค้า ทำให้เด็กเห็นทั้งสองโลก”

การเข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัย เป็นประสบการณ์ที่ทำให้รู้ตัวเองและเข้าใจสังคมที่เขาชอบ ทำให้เขาเห็นว่างานของเขามีคุณค่า สามารถไปโชว์ในที่ต่างๆ ไม่จำเป็นต้องไปอยู่ในโรงภาพยนตร์ การที่ผลงานของเขาไปอยู่ที่ไหนก็ได้ ทำให้เขามีตัวตนอยู่ในพื้นที่นั้นด้วย เช่น ในการจัดงานหรือออกบูทร่วมกับพันธมิตรก็สามารถมีผลงานเด็กไปปรากฏอยู่ ทำได้ถี่ขึ้น ทำให้ได้เสียงสะท้อนกลับมา ช่วยให้เขาพัฒนาทั้ง Hard Skill หรือ วิชาการ และ Soft Skill หรือวิชาคน เพราะการเรียนสาขานี้มีเรื่อง “ความงาม” ซึ่งเป็นความรู้สึกหรือมุมมองที่แตกต่างกันได้ในแต่ละคน ทำให้เด็กต้องพร้อมรับคำวิจารณ์ต่อผลงานได้ด้วย

คณะดิจิทัลอาร์ต ม.รังสิต
ดังนั้น ที่คณะจึงเปิดวิชา Thinking and Creativity เพื่อช่วยให้เข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้น ช่วยให้กลับมามองตัวเอง มีการคิดวิเคราะห์หลายรูปแบบ เป็น Project based learning และ Problem based learning ให้ได้เห็นภาพว่า งานมีทั้งแบบมีลูกค้าและไม่มีลูกค้า ถ้างานที่คิดแบบศิลปินคือไม่แคร์ว่าใครจะชอบหรือไม่ แต่ถ้างานที่มีกลุ่มเป้าหมายที่ต้องไปเข้าใจให้ได้ก่อนจึงจะออกแบบได้ นักศึกษาจะต้องคิดอีกแบบหนึ่ง ใช้วิธีคิดต่างกัน ต้องเข้าใจทั้งสองบทบาทว่าจะเป็น “อาร์ติสต์” ก็ได้ หรือจะเป็น “ดีไซเนอร์” ก็ได้ อาจารย์หรือผู้สอนจะไม่แตะเรื่องสไตล์หรือความชอบ แต่สุดท้ายนักศึกษาต้องตอบตัวเองได้ว่าสร้างมาเพื่ออะไร เสริมให้ขายงานเป็น ซึ่งเป็นก้าวที่ท้าทายผู้สอนมากกว่าที่เด็กทำผลงานสวยรึป่าว ต้องเป็นว่าเด็กขายงานเก่งด้วยหรือเปล่ามากกว่า เรายังมีวิชาเลือก The Pitch สอนให้เด็กต้องบอกให้ได้ว่าผลงานของเราดีกว่าของคนอื่นอย่างไร ทำไมคนซื้อต้องซื้อ ต้องกล้าพูดกล้ามีตัวตน

อ.นัฐวุฒิ ทิ้งท้ายว่า “ไม่ว่าเราจะ Input เข้าไปแค่ไหน เราก็ต้องพร้อมจะถูก Disrupt ตลอดเวลา เราไม่รู้หรอกว่าวันหน้าอาชีพนี้มันอาจจะหายไปเร็วช้าแค่ไหน แต่ Skill Set คือเขาวาดรูปได้ มีศิลปะในหัวใจ ขายงานเป็น และไม่ยึดติด เพราะโลกทุกวันนี้เปลี่ยนเร็วมากเขาจะต้องปรับตัวและอยู่รอดในสายดิจิทัลอาร์ตให้ได้”


กำลังโหลดความคิดเห็น