สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์
ปี 2567 ด้านการพัฒนาตลาดทุนยั่งยืนมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีแนวทางการส่งเสริมการซื้อขายคาร์บอนเครดิต
ในประเทศไทยเป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญ เพื่อสนับสนุนตลาดคาร์บอนเครดิตในไทยเติบโตมากขึ้น และทำให้มี
การซื้อขายคาร์บอนเครดิตในวงกว้างมากขึ้น
ทั้งนี้การพัฒนา “ตลาดทุนยั่งยืน” เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้ประเทศบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายภาครัฐในการส่งเสริม “เศรษฐกิจสีเขียว” และส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านการซื้อขายคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) ของอาเซียน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนให้ประเทศไทยมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero)
ล่าสุด ก.ล.ต. ได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์กำกับดูแล “Utility Token พร้อมใช้” ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้ว เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2567 ส่งผลให้การให้บริการซื้อขายโทเคนดิจิทัลที่มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อการอุปโภคบริโภค หรือเป็นการรับรองหรือแทนเอกสารสิทธิใด ๆ (consumption-based utility token) ซึ่งรวมถึงโทเคนดิจิทัลที่นำไปใช้แลกเป็นคาร์บอนเครดิตที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐานและพร้อมที่จะนำไปใช้ชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (tokenized carbon credit) สามารถทำได้โดยไม่ต้องขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล นายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล และผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล ยังไม่สามารถให้บริการ consumption-based utility token ซึ่งจะมีการเสนอคณะกรรมการ ก.ล.ต. เพื่อพิจารณายกเว้นต่อไป
นอกจากนี้ ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย อยู่ระหว่างหารือเกี่ยวกับการให้บริการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในรูปแบบอื่น ๆ ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. รวมทั้งเตรียมความพร้อมโดยการปรับปรุงกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องเพื่อรองรับการให้บริการซื้อขายดังกล่าวด้วย
ภายใต้ความมุ่งมั่นผลักดันของ ก.ล.ต. เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการเป็นศูนย์กลางด้านการซื้อขายคาร์บอนเครดิต ของอาเซียนนั้น จะต้องมีการประสานความร่วมมือกับกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์กรมหาชน) (อบก.) และตลาดหลักทรัพย์ฯ รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง