xs
xsm
sm
md
lg

โหมโรง INC-5 ยุติวิกฤตพลาสติก จับตามาตรการลดการผลิต โปร่งใส-เป็นธรรม?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ภาคประชาสังคมด้านสิ่งแวดล้อม Break Free from Plastic และกรีนพีซ จับตาก่อนเข้าสู่การเจรจารอบสุดท้าย สนธิสัญญาพลาสติกโลกครั้งที่ 5 หรือ INC-5 ที่ประเทศเกาหลีใต้ ตั้งวงเสวนา ชี้ผู้นำของโลกต้องยอมรับ หนทางเดียวที่จะจัดการกับวิกฤตมลพิษพลาสติกได้ คือการให้ความสำคัญกับการลดการผลิตและยุติการใช้พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง

ภายหลังการประชุมระหว่างสมัย (Intersessional Work) จัดขึ้นที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 24-28 สิงหาคมที่ผ่านมาจบลง ซึ่งเป็นการจัดก่อนการประชุมเจรจารอบสุดท้ายสนธิสัญญาพลาสติกโลก (Global Plastic Treaty) หรือ INC-5 ที่เมืองปูซาน ประเทศเกาหลีใต้ ระหว่างวันที่ 25 พฤศจิกายน – 1 ธันวาคม 2567

การประชุมระหว่างสมัย หารือในมาตรการด้านมลพิษพลาสติกและสิ่งแวดล้อมทางทะเล ที่มีผลผูกพันทางกฎหมายระหว่างประเทศ เนื่องจากสนธิสัญญานี้คือความหวังในการยุติวิกฤตมลพิษพลาสติกของโลก ทว่าการประชุมครั้งนี้ กลับขาดผู้สังเกตการณ์ และการขาดการมีส่วนร่วมในกระบวนการระหว่างการประชุมจากภาคประชาสังคม ผู้ถือสิทธิ รวมถึงชนพื้นเมือง การขาดการมีส่วนร่วมของกลุ่มเหล่านี้ ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนพื้นฐานในการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นสิทธิที่สำคัญ โดยเฉพาะต่อกลุ่มผู้ที่จะได้รับผลกระทบโดยตรง

พิชามญชุ์ รักรอด
นางสาวพิชามญชุ์ รักรอด หัวหน้าโครงการรณรงค์ยุติมลพิษพลาสติก กรีนพีซ ประเทศไทย เปิดเผยว่า “ผู้นำของโลกต้องยอมรับว่าทางเดียวที่จะจัดการกับวิกฤตมลพิษพลาสติกได้ คือการให้ความสำคัญกับการลดการผลิตและยุติการใช้พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง 


นอกจากนี้ การเจรจาในอนาคตต้องโปร่งใสและรับฟังเสียงของภาคประชาสังคม ชนพื้นเมือง และชุมชนที่ได้รับผลกระทบเป็นสำคัญ เพื่อสร้างข้อตกลงที่ยุติธรรมและมีประสิทธิภาพ ผู้นำโลกต้องเลือกที่จะให้ความสำคัญกับประชาชนและสิ่งแวดล้อม มากกว่าการแสวงหาผลกำไรระยะสั้นของอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ต้องการผลิตพลาสติกเพิ่มขึ้น”


ประชาสังคมเรียกร้อง ออกมาตรการใช้ซ้ำ-การเติม ยุติใช้ซองซาเช่

วงเสวนาผู้นำภาคประชาสังคมด้านสิ่งแวดล้อม (เมื่อ 23 ส.ค.67) เรียกร้องความโปร่งใสและการมีส่วนร่วมมากขึ้น รวมถึงการให้มีการกำหนดเกณฑ์ที่เข้มงวดเพื่อยุติผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ก่อมลพิษและสารเคมีที่เป็นพิษในการผลิต

เช่น พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง และซองพลาสติกที่เรียกว่า “ซองซาเช่” (sachet) ซึ่งเป็นซองบรรจุภัณฑ์พลาสติกขนาดเล็กที่จำหน่ายสินค้าแบบแบ่งปริมาณ (ขนาดทดลอง) ทำให้ระบบการจัดการขยะล้นเกินและส่งผลให้เกิดมลพิษทางทะเลและไมโครพลาสติก โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา



วอน เฮอร์นานเดซ
นายวอน เฮอร์นานเดซ ผู้ประสานงานระดับโลกของ Break Free From Plastic (BFFP) กล่าวว่า“มลพิษจากพลาสติกเป็นวิกฤตระดับโลก ที่เกิดจากการพึ่งพาพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ทางแก้ไขคือการกำจัดผลิตภัณฑ์ที่ไม่จำเป็นเหล่านี้ และนำระบบการใช้ซ้ำ (Reuse) และการเติม(Refill) กลับมาใช้ ซึ่งเคยมีอยู่ก่อนที่สังคมของเราจะเต็มไปด้วยซองและพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง การผลิตซองซาเช่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และระบบการจัดการขยะของเราก็ล้นเกินอยู่แล้ว เราจำเป็นต้องเปลี่ยนไปสู่ระบบการใช้ซ้ำและการเติมโดยด่วน”

ซองซาเช่ เข้ามาแทนที่ผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม บริษัทข้ามชาติในอุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคบริโภค (Fast-moving Consumer Goods – FMCG) ได้ส่งเสริมการใช้ซองซาเช่ในประเทศกำลังพัฒนา ส่งผลให้เกิดปัญหาขยะล้นและมลพิษทางทะเลอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน การตรวจสอบแบรนด์ที่ดำเนินการโดย BFFP พบว่าซองซาเช่เป็นหนึ่งในประเภทของขยะพลาสติกที่พบมากที่สุดในแอฟริกา และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ศลิษา ไตรพิพิศิริวัฒน์
นางสาวศลิษา ไตรพิพิศิริวัฒน์ นักรณรงค์อาวุโสและผู้จัดการโครงการพลาสติกแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จาก Environmental Justice Foundation กล่าวว่า “การลดปริมาณพลาสติกสามารถทำได้โดยการส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานที่สนับสนุนการใช้ซ้ำอย่างจริงจัง และนำแนวปฏิบัติการใช้ซ้ำมาใช้อย่างแพร่หลาย สนธิสัญญาพลาสติกโลกครั้งนี้ถือเป็นโอกาสพิเศษในการสร้างกรอบงานระดับโลกที่เข้มแข็ง ซึ่งให้ความสำคัญกับการใช้ซ้ำ โดยการกำหนดเป้าหมายทางกฎหมายที่ชัดเจนและบังคับใช้ได้จริง 

สนธิสัญญานี้จะเป็นแรงผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่จำเป็นในด้านโครงสร้างพื้นฐาน กฎหมาย และแนวปฏิบัติเพื่อสนับสนุนระบบการใช้ซ้ำ ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหามลพิษจากพลาสติกตั้งแต่ต้นทางด้วยการลดความต้องการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งและลดปัญหาที่ตามมาในการจัดการขยะ”

ธารา บัวคำศรี
นายธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการกรีนพีซ ประเทศไทย เรียกร้องถึงรัฐบาลไทยว่า “เราควรใช้โอกาสนี้ในการยุติวิกฤตมลพิษพลาสติก โดยผลักดันสนธิสัญญาพลาสติกระดับโลกที่จำกัดการผลิตและการห้ามใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง เราไม่ควรเชื่อข้ออ้างของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและเชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งมีเป้าหมายในการแสวงหาผลกำไรมากกว่าสวัสดิภาพส่วนรวมในการใช้เทคโนโลยีที่ไม่เหมาะสม เช่น พลาสติกเครดิต และการรีไซเคิลทางเคมี 

เราจึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยผ่านกฎหมายการจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน จัดทำแผนการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิตอย่างครบถ้วน แผนลดการใช้และผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกที่เป็นปัญหาและไม่จำเป็น และส่งเสริมการลดปริมาณพลาสติก การออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ และการใช้ซ้ำ รัฐบาลไทยจำเป็นต้องแก้ไขปัญหานี้ให้ถูกต้อง เพราะสุขภาพ สภาพภูมิอากาศ และสิ่งแวดล้อมของเรากำลังอยู่ในความเสี่ยง”


ดร.ชาห์เรียร์ ฮอสเซน ผู้เชี่ยวชาญที่เข้าร่วมการประชุมที่กรุงเทพฯ เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการมีสนธิสัญญาพลาสติกโลก เพื่อยุติการใช้สารเคมีที่เป็นอันตรายและสนับสนุนการพัฒนาทางเลือกที่ไม่เป็นพิษว่า “สารเคมีมากกว่า 13,000 ชนิดถูกใช้ในพลาสติก โดยมีมากกว่า 3,200 ชนิดที่ถูกจัดประเภทเป็นสารอันตราย ซึ่งหมายความว่าสารเหล่านี้มีความเป็นพิษ มีความคงทน หรือมีคุณสมบัติที่น่ากังวลอื่นๆ หากไม่แก้ไขปัญหานี้ พลาสติกจะทำให้วิกฤตสภาพภูมิอากาศ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และมลพิษรุนแรงขึ้น”


กลไกทางการเงิน : กุญแจสำคัญ

ความสำเร็จของสนธิสัญญาพลาสติกระดับโลกที่จะเกิดขึ้นหรือไม่นั้น นายอนา โรชา ผู้อำนวยการองค์กรกายา ซึ่งเป็นโครงการพลาสติกของพันธมิตรระดับโลกเพื่อทางเลือกอื่นแทนการเผาขยะ (Global Alliance for Incinerator Alternatives-GAIA) กล่าวว่า “กลไกทางการเงินที่เป็นธรรมและมีประสิทธิภาพ เป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้สนธิสัญญาสามารถบรรลุเป้าหมายในการยุติมลพิษพลาสติก นอกจากนั้น กลไกทางการเงินต้องสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นธรรมและสร้างโครงการเพื่อสนับสนุนให้มีการปฏิบัติตามข้อกำหนดเพื่อช่วยประเทศกำลังพัฒนาในการปฏิบัติตามพันธกรณีภายใต้สนธิสัญญานี้ด้วย”

องค์กรภาคประชาสังคมยังวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการขาดผู้สังเกตการณ์ และการขาดการมีส่วนร่วมในกระบวนการระหว่างการประชุม (เห็นจากการประชุมระหว่างสมัย (Intersessional Work) จัดขึ้นที่กรุงเทพฯ) และได้ส่งจดหมายถึงสำนักเลขาธิการ INC เพื่อเรียกร้องให้มีการเผยแพร่การประชุมสู่สาธารณะ

ด้าน นายธรเมศ ชาห์ จากพันธมิตรภาคประชาสังคมและผู้ถือสิทธิในสนธิสัญญาพลาสติก กล่าวถึงเรื่องการขาดผู้สังเกตการณ์ และการขาดการมีส่วนร่วมในกระบวนการระหว่างการประชุม และได้ส่งจดหมายถึงสำนักเลขาธิการ INC เพื่อเรียกร้องให้มีการเผยแพร่การประชุมสู่สาธารณะ

เขาย้ำว่า “ภาคประชาสังคม ผู้ถือสิทธิ รวมถึงชนพื้นเมือง ต้องได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่สำคัญ เรารู้สึกผิดหวังอย่างมากที่สำนักเลขาธิการ INC และ UNEP ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงท่าทีต่อการมีส่วนร่วมของผู้สังเกตการณ์ แม้ว่าภาคประชาสังคมและกลุ่มผู้ถือสิทธิจะได้เรียกร้องประเด็นนี้แล้วหลายครั้ง การขาดการมีส่วนร่วมของกลุ่มเหล่านี้ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนพื้นฐานในการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นสิทธิที่สำคัญ โดยเฉพาะต่อกลุ่มผู้ที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด”


กำลังโหลดความคิดเห็น