xs
xsm
sm
md
lg

จุฬาฯ เปิดตัว Chula MOOC Flexi นวัตกรรมการเรียนรู้แบบ "ยืดหยุ่น" เพื่อทุกคน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เปิดตัว Chula MOOC Flexi โครงการโซลูชันการเรียนรู้ตลอดชีวิตแบบดิจิทัล
ศูนย์การศึกษาทั่วไป จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดตัว Chula MOOC Flexi โครงการโซลูชันการเรียนรู้ตลอดชีวิตแบบดิจิทัล (Digital Lifelong Learning Solutions for all) สามารถสะสมหน่วยกิตได้ตามความสะดวก ด้วยการเรียนรู้รูปแบบใหม่ที่ยืดหยุ่น ปรับเวลาและทางเลือกให้เหมาะสมกับผู้เรียน ตอบโจทย์ทักษะแห่งอนาคต เพื่อส่งเสริมความรู้และทักษะด้านดิจิทัลแก่ผู้เรียนทุกกลุ่ม นิสิต นักศึกษา บุคลากร รวมถึงผู้ที่สนใจจะพัฒนาทักษะดิจิทัล 

งานแถลงข่าวเปิดตัว Digital Lifelong Learning Solutions for all “Chula MOOC Flexi” จัดขึ้นเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2567 ณ ห้องประชุม 801 อาคารเฉลิมราชกุมารี 60 พรรษา (อาคารจามจุรี 10) โดยมี ศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร ผู้รักษาการอธิการบดีจุฬาฯ กล่าวต้อนรับและเปิดโครงการฯ ศ.ดร.ปาริชาต สถาปิตานนท์ ผู้รักษาการรองอธิการบดีจุฬาฯ กล่าวรายงาน นายณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และ รศ.ประมา ศาสตระรุจิ  ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อพัฒนาการศึกษา  ผู้แทนจากสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม กล่าวแสดงความยินดีและสนับสนุนโครงการ จากนั้น รศ.ดร.สุวิธิดา จรุงเกียรติกุล ผู้รักษาการแทนผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาทั่วไป จุฬาฯ และหัวหน้าโครงการโซลูชันการเรียนรู้ตลอดชีวิตแบบดิจิทัล พร้อมด้วย รศ.ดร.อติวงศ์ สุชาโต รองคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ และอาจารย์ผู้สอนในโครงการฯ นำเสนอแพลตฟอร์ม Digital Lifelong Learning Solutions for all “Chula MOOC Flexi” 

ศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร ผู้รักษาการอธิการบดีจุฬาฯ
ศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร ผู้รักษาการอธิการบดีจุฬาฯ กล่าวว่า "การเสริมสร้างทักษะดิจิทัลเป็นสิ่งที่จำเป็นในยุคปัจจุบันที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว หลักสูตร Chula MOOC Flexi เป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในการเตรียมความพร้อมด้าน Digital & AI Literacy ให้กับนักเรียน นิสิต นักศึกษา รวมถึงบุคลากร หน่วยงานภาครัฐ และประชาชน ในการเผชิญกับความท้าทายของยุคดิจิทัล Chula MOOC Flexi ไม่ได้เป็นเพียงแค่การให้ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีเท่านั้น แต่ยังมุ่งเน้นการสร้างความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในชีวิตประจำวันและการทำงานในตลาดงานที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ความรู้เหล่านี้จะช่วยให้ทุกคนสามารถปรับตัวและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ และขับเคลื่อนสังคมไปข้างหน้าได้

"จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในยุคดิจิทัล โดยผลิตบุคลากรที่พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในด้านดิจิทัล ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาประเทศ การเรียนรู้และทักษะต่างๆ ไม่ใช่เพียงความรู้ในอดีต แต่เป็นการสร้างและเข้าใจองค์ความรู้ใหม่ๆ ที่จะนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตและสังคม ความรู้อาจล้าสมัยได้ แต่ความฉลาดไม่ล้าสมัย จุฬาฯ มีบทบาทในการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้และเสริมสร้างภูมิปัญญาเพื่อพัฒนาประเทศไทยให้ก้าวหน้าอย่างยั่งยืน" ศ.ดร.วิเลิศ กล่าว

 เปิดตัว Chula MOOC Flexi โครงการโซลูชันการเรียนรู้ตลอดชีวิตแบบดิจิทัล
รศ.ดร.อติวงศ์ สุชาโต รองคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ และอาจารย์ผู้สอนในโครงการฯ กล่าวเสริมว่า แพลตฟอร์มนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งในการเสริมสร้างศักยภาพด้านดิจิทัลและ soft skill ให้กับทรัพยากรมนุษย์ของประเทศ เพื่อพัฒนากำลังแรงงานคุณภาพที่มีความรู้ความสามารถสอดรับกับความเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัล ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้อย่างยืดหยุ่นและสะดวก เพื่อให้พร้อมรับมือกับเทคโนโลยีใหม่ๆ และมีศักยภาพในการขับเคลื่อนประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ

รูปแบบการเรียน เรียนออนไลน์ด้วยตนเอง (Self-Online Learning) ผ่านแพลตฟอร์ม Chula Neuron เข้าร่วมสัมมนา online หรือ onsite เพื่อสะสมชั่วโมงการเรียนรู้ ทั้งนี้สามารถสอบวัดผลการเรียน รับใบรับรองและเกียรติบัตรสำหรับผู้เรียนที่สำเร็จการศึกษาและสอบผ่านตามเกณฑ์ในแต่ละวิชา

การสะสมหน่วยกิต ผู้เรียนสามารถสะสมหน่วยกิตจากการเรียนในโครงการนี้ และเทียบโอนเป็นรายวิชาศึกษาทั่วไปของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้โดยต้องเรียน และสะสมชั่วโมงการเรียนไม่น้อยกว่า 40 ชั่วโมงในแต่ละรายวิชา

ทั้งนี้ มีการวางแผนร่วมกับโครงการ Thai MOOC กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อผลิตเนื้อหาการเรียนรู้เกี่ยวกับ Digital & Artificial Intelligence (AI) Literacy บนแพลตฟอร์มคลังความรู้ดิจิทัล Chula Neuron ในอนาคต

“โครงการนี้เป็นนวัตกรรมทางด้านการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่จะช่วยสร้างความสามารถในการจ้างงานตลอดชีพ (Lifetime Employability) ให้กับประชาชนคนไทยทุกคน และยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการยกระดับความสามารถในการแข่งขัน (Competitive Advantage) ของประเทศในเวทีโลก” รศ.ดร.สุวิธิดา จรุงเกียรติกุล ผู้รักษาการแทนผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาทั่วไป จุฬาฯ และหัวหน้าโครงการโซลูชันการเรียนรู้ตลอดชีวิตแบบดิจิทัล กล่าว


ในงานมีการเสวนา “เปิดโลกการศึกษา : การเรียนรู้ที่ยืดหยุ่นด้วย Chula MOOC Flexi” โดย ดร.รัฐศาสตร์ กรสูต รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รศ.ภก.ดร.อนุชัย ธีระเรืองไชยศรี รองผู้อำนวยการโครงการมหาวิทยาลัยไซเบอร์ไทย สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ผศ.ดร.พลรพี ทุมมาพันธ์ รองเลขาธิการคุรุสภา รศ.ดร.วิทยา วัณณสุโภประสิทธิ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ดร.ชนกพร พัวพัฒนกุล ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้แบบบูรณาการชีวิต มหาวิทยาลัยมหิดล และ คุณสมภพ สันติวัฒนกุล ผู้อำนวยการฝ่าย Corporate Strategy and Innovation Division (CSI.) ธนาคารกสิกรไทย

ผู้สนใจสามารถลงทะเบียนเรียนรายวิชาต่างๆ ในโครงการ Chula MOOC Flexi และติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://cuneuron.chula.ac.th/cumooc-flexi


กำลังโหลดความคิดเห็น