xs
xsm
sm
md
lg

ลดพลาสติกใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง “อียู-ไทย” กับมาตรการที่ห่างชั้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ถึงวันนี้ประเทศไทยคงใช้ “มาตรการขอความร่วมมือ” ลดพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง (single-use plastic product: SUP) แม้ว่าในปี 2567 เข้าสู่ครึ่งทางของ โรดแมปจัดการขยะพลาสติก 

หากเปรียบเทียบกับสหภาพยุโรป (อียู) ที่ใช้ไม้แข็งผ่านมาตรการทางกฎหมายด้วย ตั้งแต่สั่งห้าม เก็บเงิน (คิดค่าถุง) รวมถึงการนำ “ระบบมัดจำคืนเงินบรรจุภัณฑ์” กลับมาใช้ ซึ่งนับว่าตอบโจทย์รักษ์โลกรุดหน้ากว่า ตามที่ UNEP ประกาศแนวคิดธีมปีนี้ "Planet VS Plastics : ลดพลาสติก กู้วิกฤตโลกเดือด"

ปัจจุบันยักษ์ใหญ่ของโลกอย่างจีนและอียู ต่างตระหนักถึงผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมจากขยะพลาสติกพร้อมกับนโยบายลดการใช้พลาสติกออกมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นสัญญาณตอกย้ำว่า ภาครัฐ - เอกชน และอุตสาหกรรมพลาสติกของประเทศไทยจะต้องเร่งปรับตัวเพื่อให้สอดคล้องกับแนวโน้มการบริโภคของโลกที่ต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

เนื่องสินค้าและบรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืนในยุคนี้ นับวันยิ่งต้องปรับเปลี่ยนให้มีคุณสมบัติที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ หรือรีไซเคิลได้ หรือเลือกใช้วัตถุดิบทางเลือกจากธรรมชาติอย่างพลาสติกชีวภาพ

โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ทำจากพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง (single-use plastic product: SUP) ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมและสุขอนามัยที่ร้ายแรงทั่วโลก ในสหภาพยุโรป (EU) SUP พบเป็นขยะอยู่ตามชายหาดมากที่สุดคิดเป็นร้อยละ 70 ของขยะที่ถูกทิ้งลงทะเลในประเทศสมาชิก




ปัจจุบัน อียูมีกฎหมายเฉพาะสำหรับบรรจุภัณฑ์พลาสติก คือ ข้อบังคับเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์และของเสียที่เกิดจากบรรจุภัณฑ์ฉบับใหม่ (Directive (EU) 2015/720 on Packaging and Packaging Waste) ซึ่งมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 26 พฤษภาคม 2558

อียูส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) โดยออก Directive (EU) 2019/904 มาตั้งแต่ปี 2562 สั่งห้ามการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ทำจาก SUP 10 ประเภท ตั้งแต่ 3 ปีที่ผ่านมา ( 3 กรกฎาคม 2564) ได้แก่ 1) ไม้พันสำลี 2) ช้อน/ส้อม จาน หลอด อุปกรณ์สำหรับกวน 3) ลูกโป่งและก้านลูกโป่ง 4) ภาชนะบรรจุอาหาร 5) ถ้วยสำหรับเครื่องดื่ม 6) ภาชนะบรรจุเครื่องดื่ม 7) ก้นบุหรี่ 8) ถุงพลาสติก 9) บรรจุภัณฑ์หรือผลิตภัณฑ์สำหรับห่อหุ้ม 10) กระดาษชำระชนิดเปียกและผลิตภัณฑ์สุขอนามัย

ข้อบังคับฉบับใหม่พบประเด็นสำคัญ คือ การบังคับให้ประเทศสมาชิกต้องมีมาตรการคิดเงินค่าถุงพลาสติก ณ จุดขาย สำหรับถุงพลาสติกที่มีความหนาน้อยกว่า 50 ไมครอน (หรือ 0.05 มิลลิเมตร) หรือที่คนไทยคุ้นเคยกันดีในชื่อ “ถุงก็อบแก๊บ” ภายในปี 2561 และต้องจำกัดปริมาณการใช้ถุงพลาสติกประเภทดังกล่าวไม่เกิน 90 ใบต่อคนต่อปี ภายในปี 2562 และ 40 ใบต่อคนต่อปี ภายในปี 2568

จากข้อบังคับดังกล่าวทำให้หลายประเทศในอียูได้ทยอยประกาศยกเลิกการใช้ถุงและบรรจุภัณฑ์พลาสติกบางประเภทแล้ว เช่น ฝรั่งเศสประกาศยกเลิกการใช้ถุงพลาสติกตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2559 และบรรจุภัณฑ์พลาสติกสำหรับผักและผลไม้ตั้งแต่เดือนมกราคม 2560 ส่วนกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม ได้ประกาศยกเลิกการใช้ถุงพลาสติกตั้งแต่เดือนกันยายน 2560 ในขณะที่ร้านซุปเปอร์มาร์เก็ตข้ามชาติขนาดใหญ่ของยุโรป อย่างห้าง Aldi ก็ได้ประกาศเลิกใช้ถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวตั้งแต่ปี 2560 และหันมาใช้ถุงกระดาษและถุงพลาสติกรีไซเคิลแทน เป็นต้น

ต่อจากนั้นอียูออกมาตรการเพิ่มเติม เพื่อจำกัดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวประเภทอื่นๆ อีก เช่น ก้นกรองบุหรี่ ขวดและฝาขวดน้ำดื่ม ก้านไม้พันสำลี ผ้าอนามัย ถุง/กระเป๋า บรรจุภัณฑ์ห่อขนมขบเคี้ยว หลอดและที่คนกาแฟ บอลลูนและก้านพลาสติกบอลลูน ผลิตภัณฑ์บรรจุอาหาร ถ้วยพลาสติกและฝาถ้วย รวมถึงช้อนและส้อมพลาสติก รวมทั้งพิจารณาแก้ไขระเบียบเรื่อง Ecodesign เพื่อเพิ่มเงื่อนไขให้สินค้าที่มีส่วนประกอบของพลาสติกต้องสามารถรีไซเคิลได้ โดยเฉพาะอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (ดูได้ที่เว็บไซต์ thaieurope.net)


ไทยใช้มาตรการขอความร่วมมือมาแล้ว 6 ปี

ปีนี้เมื่อวันปลอดถุงพลาสติกสากลที่ผ่านมา (3 ก.ค.ของทุกปี) ไทยประกาศเจตนารมณ์ ลดการใช้ถุงพลาสติกอีกครั้ง (ประกาศทุกปีมาตั้งแต่ปี 2562) พร้อมกับดึงภาคเอกชน งดแจกถุงพลาสติก แต่กลับพบว่าตัวเลขการใช้ของคนทั่วโลกยังน่าห่วง (คนทั่วโลกใช้ถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ทุก 1 นาที พบการใช้ถุงพลาสติก 1 ล้านใบ)

ปี 2567 ถึงครึ่งทางของ โรดแมป จัดการขยะพลาสติกที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2561 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ดึง 45 หน่วยงานภาคเอกชน เข้าร่วมประกาศเจตนารมณ์ พร้อมตั้งเป้าจะจบให้ได้ภายในปี 2573 กลุ่มนี้มีตั้งแต่ ห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ 23 บริษัท ธุรกิจร้านกาแฟ 13 บริษัท เครือข่ายสมาคม และหน่วยงานสนับสนุน 9 องค์กร ที่มีสถานประกอบการรวม 31,000 สาขาทั่วประเทศ

ซึ่งในระยะที่เหลืออีกครึ่งทาง ทส.มุ่งยกระดับให้เท่ากับปัญหาสิ่งแวดล้อม และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเป้าหมาย ลด เลิกใช้พลาสติก และรีไซเคิลขยะพลาสติก กลับมาใช้ประโยชน์ให้ได้ 100% ภายในปี 2570

นายพิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช
นายพิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ทุกบริษัทที่เข้าร่วม ต้องจัดหาผลิตภัณฑ์อื่นมาทดแทนการใช้พลาสติก อย่างถุงก๊อบแก๊บ ถ้วย แก้ว และหลอด รวบรวมขยะพลาสติกเพื่อส่งเข้าระบบรีไซเคิลให้ได้ 100% ภายในปี 2570

“แต่ยอมรับว่ากังวลกับผลิตภัณฑ์พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง เพราะพบการใช้มากถึง 45,000 ล้านใบต่อปี เท่ากับเป็นขยะพลาสติก 80 ล้านใบต่อวัน หรือ ทุก 1 นาที จะมีการใช้ถุงพลาสติก 1 ล้านใบ"

"แต่ละปีจะมีตัวเลขเป้าหมาย และจะติดตามเป็นรายปี เพื่อดูว่าปี 2570 จะบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้หรือไม่ โดยเฉพาะ SUP เป็นปัญหายากที่สุดในการจัดการ ทิ้งแล้วกลับคืนยาก"

"ส่วนปัญหาการนำเข้าระบบรีไซเคิลแบบ 100% ไม่ค่อยห่วงมาก เพราะส่วนใหญ่เป็นพลาสติกที่ทิ้งแล้ว และยังมีคุณค่า เช่น ขวดพลาสติก กล่องพลาสติก"

ทั้งนี้ปริมาณขยะพลาสติกที่ไม่เข้าระบบกำจัด เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ไทย ติดอันดับ 10 ของโลกที่ปล่อยขยะลงทะเล ข้อมูลนี้มาจากงานวิจัยของนาย ลอเรนส์ ไมเยอร์ (Lourens Meijer) หัวหน้าฝ่ายข้อมูลและการติดตาม ดิ โอเชียน คลีนอัป (The Ocean Cleanup) เมื่อ ก.พ.2566 มีขยะลงทะเล ถึง 23,000 ล้านตันต่อปี

ขณะที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) เคยจำแนกขยะทะเลที่ดักเก็บได้ อันดับ 1 และ 2 คือ ผลิตภัณฑ์จากพลาสติก ขวดน้ำและถุงพลาสติก ที่สร้างอันตรายต่อสัตว์ทะเลรุนแรง ทั้งทางตรงที่กินเข้าไป และทางอ้อมจากการย่อยสลายเป็นไมโครพลาสติกที่พบแทรกซึมในเนื้อสัตว์ทะเล


EU บังคับใช้ฝาขวดพลาสติกแบบใหม่ (ฝาติดกับขวด)

ตัวอย่างล่าสุด เมื่อ อียู บังคับใช้ฝาขวดพลาสติกแบบใหม่ (ฝาติดกับขวด) ตอบรับมาตรการ Eco-design เงื่อนไขให้สินค้าที่มีส่วนประกอบของพลาสติกต้องสามารถรีไซเคิลได้ หรือรีไซเคิลได้สะดวกมากขึ้น

คำสั่งใหม่ของสหภาพยุโรปอนุมัตินโยบายที่กำหนดให้ต้องติดฝาขวดพลาสติกทั้งหมดกับภาชนะที่มีความจุน้อยกว่า 3 ลิตร
โดยเริ่มมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการในสหภาพยุโรปเมื่อ 3 ก.ค.ที่ผ่านมา (ตรงกับวันปลอดถุงพลาสติกสากล) ซึ่งเป็นหนึ่งจากคำสั่งของสหภาพยุโรปที่เคยประกาศไว้ในปี 2018 ตามเป้าหมายลดขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวที่มักถูกทิ้งเป็นขยะทะเลอยู่เกลื่อนชายหาดจนยากต่อการจัดเก็บ

การเปิดเครื่องดื่มจากขวดพลาสติกเย็นๆ ในวันที่อากาศร้อนถือเป็นความสุขอย่างหนึ่งของชีวิต แต่จากนี้ไปจะเป็นประสบการณ์ที่แตกต่างออกไป เพราะว่าขวดพลาสติกในยุโรปกำลังเปลี่ยนแปลงไปอันเป็นผลจากกฎใหม่ของสหภาพยุโรป

การออกแบบใหม่ค่อนข้างตรงไปตรงมา แทนที่จะใช้ฝาปิด เรากลับคุ้นเคยกับการบิดเปิดฝาขวดจนสุดแล้วยกดื่ม หรือใช้หลอดดูด แต่นับจากนี้ขวดพลาสติกกับมีแถบพลาสติกพิเศษที่เชื่อมต่อฝาปิดเข้ากับขวด ผู้ผลิตจะต้องดำเนินการโดยเร็วเนื่องจากเริ่มมีผลบังคับทั่วทั้งสหภาพยุโรป แม้กระทั่งสหราชอาณาจักรที่ไม่ได้อยู่กับอียูก็เอาด้วย

ทั้งนี้ Coca-Cola เป็นหนึ่งในบริษัทแรกๆ ที่ยอมรับการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากพวกเขาได้เปิดตัวการออกแบบนี้ไปทั่วยุโรปในปีที่แล้ว

Agnese Filippi ผู้จัดการของ Coca-Cola Ireland กล่าวว่าการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ น้อยๆ นี้มีศักยภาพที่จะส่งผลกระทบครั้งใหญ่ โดยทำให้มั่นใจได้ว่าผู้บริโภคจะรีไซเคิลขวดของเรา และไม่เหลือฝาปิดใดๆ เลย


กำลังโหลดความคิดเห็น