สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดข้อมูล Fast Fashion กับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (รายงาน ภาวะสังคมไทย ไตรมาสสอง 2567 เมื่อ 26 ส.ค.ที่ผ่านมา)
โดยมีข้อมูลที่น่าสนใจว่า Fast Fashion คือ เทรนด์แฟชั่น ที่มาไวไปไวจากความต้องการของผู้บริโภคที่หลากหลายส่งผลให้อุตสาหกรรมเสื้อผ้ามีการผลิตสินค้าตามกระแส เน้นราคาถูกแต่ด้อยคุณภาพ ออกมาจำนวนมาก เพื่อให้คนสามารถหาซื้อได้บ่อยครั้ง ส่งผลให้ธุรกิจ Fast Fashion เติบโตอย่างรวดเร็ว โดยสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและการจ้างงานได้อย่างมาก
มูลค่าตลาดของธุรกิจ Fast Fashion ปี 2567 อยู่ที่ 142.06 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา +15.5% และคาดว่าในปี 2571 จะมีมูลค่าสูงถึง 197.05 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และในปี 2566 อุตสาหกรรม Fast Fashion ทำให้เกิดการจ้างงานมากถึง 300 ล้านคน
ทว่าในอีกด้านหนึ่ง Fast Fashion กำลังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมในวงกว้าง เช่น
การใช้น้ำเป็นจำนวนมาก และมลภาวะทางน้ำและอากาศที่มาจากกระบวนการย้อมและตกแต่ง ยกตัวอย่าง เช่น เสื้อเชิ้ตฝ้าย 1 ตัว ใช้น้ำในการผลิต 2,700 ลิตร ปริมาณน้ำสำหรับดื่มของคน 1 คน ในระยะเวลากว่า 2.5 ปี
นอกจากนั้น กระบวนการผลิตของอุตสาหกรรม Fast Fashion สร้างมลภาวะทางน้ำที่สูงมาก โดยเฉพาะในกระบวนการย้อมและตกแต่งเพราะมีการใช้สารเคมีที่เป็นพิษและอันตรายในการผลิต ซึ่ง 1 ใน 5 ของปริมาณน้ำเสียทั่วโลก มาจากอุตสาหกรรม Fast Fashion
การเพิ่มขึ้นของขยะที่ย่อยสลายยาก ทั่วโลกผลิตเสื้อผ้าประมาณ 1 แสนล้านตัว หรือจำนวน 92 ล้านตันที่กลายเป็นขยะ และคาดว่าภายในปี 2576 จะมีขยะปีประมาณ 134 ล้านตันต่อปี
เสื้อผ้าแฟชั่นมีส่วนประกอบของขยะพลาสติกที่ย่อยสลายได้ยากโดยเฉพาะไมโครพลาสติกจากสิ่งทอประเภทสังเคราะห์ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตในแหล่งน้ำตามธรรมชาติ
นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่ง UNFCC ระบุว่า อุตสาหกรรมแฟชั่นปล่อยก๊าซคาร์บอนฯประมาณ 1.7 พันล้านตันต่อปี หรือราว 10% ของการปล่อยคาร์บอนฯ ทั่วโลก มากกว่าอุตสาหกรรมการบิน + การขนส่งทางเรือรวมกันซึ่งอยู่ราว 4%
ขณะที่ ประเทศไทย อุตสาหกรรมแฟชั่นปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ประมาณ 4 - 8% อีกทั้งขยะที่เกิดจากอุตสาหกรรมดังกล่าวประมาณ 85% ถูกทิ้งโดยเปล่าประโยชน์
นอกจากนี้ ยังสร้างวัฒนธรรมการบริโภคเกินพอดี (Overconsumption) โดย 40% ของคนไทย ใส่เสื้อผ้าครั้งเดียวแล้วทิ้ง โดยเหตุผลส่วนใหญ่มาจากรู้สึกเบื่อ มีตำหนิ และคิดว่าไม่เหมาะสม (การสำรวจพฤติกรรมการซื้อเสื้อผ้าของคนไทยของบริษัท YouGov ในปี 2560 จากกลุ่มตัวอย่าง 1,137 คน) เพราะการบริโภคนิยมทำให้คนไม่ตระหนักถึงคุณค่าของสินค้า กระตุ้นในคนซื้อมากกว่าความจำเป็นในการใช้งาน
ขณะเดียวกัน ยีงมีเรื่องของการละเมิดลิขสิทธิ์ เพราะมีความหลากหลายเปลี่ยนแปลงเร็ว และเกิดขึ้นง่ายและบ่อยครั้งโดยเฉพาะการคัดลอกดีไซนของแบรนด์อื่นๆ หรือ ดีไซเนอร์ชื่อดังมาผลิตสินค้าในราคาที่ถูกกว่า แม้จะผิดกฎหมาย
ปัญหาสุขภาพ เพราะไมโครพลาสติกเป็นส่วนประกอบและอาจเสี่ยงเข้าสู่ร่างกายในปริมาณกว่า 2,000 ชิ้น เทียบเท่ากับบัตรเครดิต 1 ใบ หรือประมาณ 240 กรัมต่อปี
การละเมิดสิทธิแรงงาน ปี 2565 94% ของโรงงานผลิตใช้แรงงานเกินเวลา ไม่ให้คำตอบแทนที่เหมาะสม แรงงานผู้หญิง 14% เคยถูกลวนลาม ข่มขืน แรงงานเด็กจำนวนมากต้องอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม