ผลกระทบความยั่งยืน (Sustainability Impacts) ตามความเข้าใจของผู้ที่ทำงานในสาขาวิชาชีพด้านความยั่งยืน ประกอบด้วย ผลกระทบทางเศรษฐกิจ ผลกระทบทางสังคม และผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม
ผลกระทบทางเศรษฐกิจ มุ่งหมายถึง ผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับประเทศ และในระดับโลก โดยองค์กรสามารถสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจผ่านทางวิธีปฏิบัติในการแข่งขัน วิธีปฏิบัติในการจัดหา ภาษีและเงินจ่ายแก่รัฐ เป็นต้น
ผลกระทบทางสังคม มุ่งหมายถึง ผลกระทบที่มีต่อปัจเจกและกลุ่มคนที่รวมกันเป็นชุมชน กลุ่มเปราะบาง หรือสังคม ฯลฯ รวมทั้งผลกระทบที่มีต่อสิทธิมนุษยชนของผู้คนในสังคม โดยองค์กรสามารถสร้างผลกระทบต่อผู้คนผ่านทางวิธีปฏิบัติในการจ้างงาน (เช่น ค่าจ้างที่จ่ายแก่พนักงาน) ทางสายอุปทาน (เช่น เงื่อนไขสภาพการทำงานของคนงานของผู้ส่งมอบ) ทางผลิตภัณฑ์และบริการ (เช่น ความปลอดภัยและการเข้าถึงได้) เป็นต้น
ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม มุ่งหมายถึง ผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตและองค์ประกอบที่ไม่มีชีวิต รวมทั้งอากาศ แผ่นดิน น้ำ และระบบนิเวศ โดยองค์กรสามารถสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมผ่านทางการใช้พลังงาน การใช้ที่ดิน การใช้น้ำ และการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอื่น ๆ เป็นต้น
GRI (Global Reporting Initiative) เป็นมาตรฐานโลกว่าด้วยการรายงานผลกระทบ (Impact Reporting) ซึ่งถูกพัฒนามาจากความริเริ่มในปี ค.ศ. 1997 โดยมีการออกกรอบการรายงานความยั่งยืนสากลฉบับแรก เมื่อปี ค.ศ. 2000 และได้กลายเป็นรากฐานในการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนมาจวบจนปัจจุบัน
หัวใจสำคัญหนึ่งในมาตรฐาน GRI คือ การระบุและประเมินผลกระทบ (Impacts) อย่างสม่ำเสมอ ที่เอื้อให้องค์กรล่วงรู้และสามารถจัดการกับผลกระทบที่กำลังดำเนินอยู่และที่เกิดขึ้นใหม่ได้อย่างเท่าทัน เสมือนเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมประจำวัน และในระหว่างสานสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้เสียและผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้อง
ต่อจากนั้นองค์กรจึงนำผลกระทบที่ถูกระบุมาจัดลำดับโดยเลือกชุดประเด็นที่มีนัยสำคัญสูงสุดเข้าสู่กระบวนการรายงาน ซึ่งในที่นี้ เรียกว่า การกำหนดประเด็นสาระสำคัญ (Material Topics) หรือสารัตถภาพสำหรับการรายงาน
ปัจจุบัน ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก เริ่มจากกลุ่มประเทศในสหภาพยุโรป ได้นำเอาสารัตถภาพเชิงผลกระทบ หรือ Impact Materiality (ตามแนวทางในมาตรฐาน GRI) มาบรรจุไว้เป็นข้อกำหนดของการประเมินทวิสารัตถภาพ (Double Materiality) คู่กับสารัตถภาพเชิงการเงิน หรือ Financial Materiality (ตามแนวทางในมาตรฐาน IFRS) ออกเป็นมาตรฐานการรายงานความยั่งยืนในประเทศของตน
เหตุที่การประเมินประเด็นสาระสำคัญต้องพิจารณาทั้งสารัตถภาพในเชิงผลกระทบและในเชิงการเงินควบคู่กัน เพราะประเด็นสาระสำคัญเชิงผลกระทบ ใช้ตอบสนองต่อความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสียในมิติที่เป็นความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมโดยรวม ขณะที่ประเด็นสาระสำคัญเชิงการเงิน ใช้ตอบสนองต่อความคาดหวังของผู้ถือหุ้นในมิติที่เป็นการสร้างมูลค่าและความยั่งยืนของกิจการ
ฉะนั้น การที่องค์กรใด มีแนวคิดในการเปิดเผยข้อมูลการเงินที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน ตามแนวทางในมาตรฐาน IFRS อย่างเดียว แสดงว่า ยังขาดความเข้าใจในเรื่องทวิสารัตถภาพ เพราะองค์กรคงมิได้มีความมุ่งประสงค์ที่จะสื่อสารกับผู้ถือหุ้นหรือผู้ลงทุนกลุ่มเดียวอย่างแน่นอน แต่ยังคงต้องการที่จะสานสัมพันธ์กับกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง ด้วยการเปิดเผยข้อมูลผลกระทบความยั่งยืน ที่ซึ่งมาตรฐาน GRI ได้ให้แนวทางดังกล่าวไว้
ทั้งนี้ คำว่า Impact หรือผลกระทบ ในความหมายตามมาตรฐาน GRI ที่ได้ให้นิยามไว้ คือ ผลที่องค์กรมีต่อหรือที่สามารถมีต่อเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และผู้คนในสังคม รวมถึงผลที่มีต่อสิทธิมนุษยชนของคนเหล่านั้น ซึ่งเกิดจากกิจกรรมหรือความสัมพันธ์ทางธุรกิจขององค์กร
ผลกระทบ สามารถเป็นได้ทั้ง ผลที่กำลังเกิดขึ้นหรือที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ผลในทางบวกหรือในทางลบ ผลในระยะสั้นหรือในระยะยาว ผลโดยเจตนาหรือโดยไม่เจตนา และผลที่ย้อนกลับได้หรือที่ย้อนกลับไม่ได้ โดยผลกระทบเหล่านี้ แสดงถึงส่วนร่วมขององค์กร ทั้งในทางบวกและทางลบ ที่มีต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
การสานสัมพันธ์ผู้มีส่วนได้เสียที่ได้รับหรือคาดว่าจะได้รับผลกระทบอย่างครอบคลุมและทั่วถึง จึงเป็นกุญแจสำคัญในการบริหารผลกระทบความยั่งยืนให้เป็นไปตามที่คาดหวัง รวมทั้งสามารถโน้มน้าวให้ผู้มีส่วนได้เสียเข้ามาเป็นคู่ความร่วมมือ แทนการผลักไสให้กลายเป็นคู่พิพาทกับกิจการโดยไม่ตั้งใจ
บทความโดย ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ประธานสถาบันไทยพัฒน์