โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายประถม โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม และคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นเจ้าภาพจัดงานสาธิตวิชาการ ครั้งที่ 9 “จรณทักษะจำเป็นสำหรับอนาคต” (Essential Soft Skills for the Future) เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2567 ณ ห้องพูนทรัพย์ นพวงศ์ ณ อยุธยา คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ โดยมี นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม เป็นประธานกล่าวเปิดงานและปาฐกถาพิเศษเรื่อง “จรณทักษะจําเป็นสําหรับอนาคต” นอกจากนี้ มีการปาฐกถาเรื่อง “ความสำคัญของจรณทักษะกับการสร้างนวัตกรรมเพื่อสังคม” โดย ศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร ผู้รักษาการอธิการบดี จุฬาฯ การปาฐกถาเรื่อง “ความสำคัญของจรณทักษะกับการศึกษา” โดย รศ.ดร.ศิริเดช สุชีวะ ผู้รักษาการรองอธิการบดี และคณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ และการเสวนาทางวิชาการหัวข้อ “Soft Skills in School” โดย ชยพล หลีระพันธ์ ผศ.ดร.เอกก์ ภทรธนกุล ดร.ศุภศรณ์ สุวจนกรณ์ และ ดร.รุ่งนภา จิตรโรจนรักษ์
นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ปาฐกถาพิเศษเรื่อง “จรณทักษะจําเป็นสําหรับอนาคต” (Essential Soft Skills for the Future) โดยกล่าวว่าทรัพยากรมนุษย์เป็นทรัพยากรที่ทรงคุณค่า การศึกษาของเยาวชนจะช่วยขับเคลื่อนประเทศให้เจริญก้าวหน้า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้จัดการศึกษาขั้นพื้นฐานในรูปแบบโรงเรียนสาธิต เพื่อพัฒนานวัตกรรมการศึกษาและยกระดับศักยภาพนักเรียนสาธิต
ความสำเร็จนี้เกิดจากการพัฒนาหลักสูตรและการสอนที่มีประสิทธิภาพ ปัจจุบันโลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ยูเนสโกได้ปรับเป้าหมายการศึกษาเป็นการเรียนรู้ร่วมกันและเน้นการสื่อสารที่เข้าใจและเคารพความแตกต่างทางวัฒนธรรม การพัฒนาจรณทักษะ Soft Skills จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการส่งเสริมให้นักเรียนมีผลการเรียนดี มีความสุข กระทรวง อว. จะเดินเคียงข้างมหาวิทยาลัยและโรงเรียนสาธิตทุกแห่งในการพัฒนาและนำนวัตกรรมการศึกษามาเป็นแบบอย่างเพื่อสร้างเยาวชนที่มีความรู้ความสามารถและมั่นคงในหน้าที่การงาน
รศ.ดร.ศิริเดช สุชีวะ ผู้รักษาการรองอธิการบดี และคณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวถึงความสำคัญของจรณทักษะกับการศึกษาว่า งานสาธิตวิชาการ ครั้งที่ 9 ในหัวข้อ “จรณทักษะจำเป็นสำหรับอนาคต” เป็นความร่วมมือของโรงเรียนสาธิตทุกสถาบันที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาการศึกษาให้สอดคล้องกับศตวรรษที่ 21 โดยเน้นพัฒนาคุณภาพการศึกษา การปรับตัวให้ทันการเปลี่ยนแปลงของโลก และระบบเศรษฐกิจฐานความรู้ มุ่งเน้นการพัฒนามนุษย์ การวิจัย และการสร้างนวัตกรรมเพื่อการเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติจริง เชื่อมโยงการศึกษาเข้ากับการดำเนินชีวิตและการทำงาน คณาจารย์ต้องสร้างระบบการเรียนการสอนที่เน้นจรณทักษะ ตั้งแต่การออกแบบหลักสูตร กิจกรรมการเรียนการสอน และการประเมินผล เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต ความร่วมมือระหว่างโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและโรงเรียนสาธิตทุกสถาบันที่ร่วมจัดงานนี้และแลกเปลี่ยนนวัตกรรมการศึกษา จะเป็นต้นแบบให้สถาบันการศึกษาอื่นๆ นำไปปรับใช้ เพื่อพัฒนาการศึกษาและสร้างอนาคตที่ดีให้เยาวชนซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาสังคมและประเทศชาติต่อไป
“Soft Skills in School” เป็นหัวข้อการเสวนาทางวิชาการที่น่าสนใจในงานสาธิตวิชาการครั้งที่ 9 และเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการศึกษา วิทยากรผู้ร่วมเสวนาเน้นความสำคัญของการหาความสมดุลระหว่าง Soft Skills และHard Skills การฝึกคิดเชิงวิเคราะห์ (Analytical Thinking) เป็นทักษะที่จำเป็นสำหรับคนไทยทุกคน การคิดอย่างมีเหตุผลและเป็นระบบเพื่อประเมินข้อมูลหรือสถานการณ์ต่างๆ อย่างละเอียดถี่ถ้วนเป็นสิ่งที่สำคัญมาก นอกจากนี้ การสร้างสมดุลในห้องเรียนระหว่างผู้สอนและผู้เรียนผ่านการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น การทำงานร่วมกันเป็นกลุ่มและการเปลี่ยนกลุ่มเพื่อฝึกปรับตัวก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน การฝึกสังเกต Soft Skills ของผู้อื่นเป็นอีกหนึ่งวิธีการเรียนรู้ที่ดี
ทักษะ Resilience หรือความสามารถที่จะรับมือกับความล้มเหลว ความผิดหวัง ที่จะทำให้กลับมาสู่สภาวะปกติ เป็นสิ่งสำคัญสำหรับนักเรียนที่ต้องเรียนรู้และรู้วิธีรับมือกับความท้าทายต่างๆ การมี Growth Mindset ที่เชื่อว่าทักษะและความสามารถสามารถพัฒนาได้ผ่านการเรียนรู้และความพยายามจะส่งเสริมให้นักเรียนไม่ย่อท้อและพัฒนาตนเองอยู่เสมอ
ลักษณะของคนที่มี Soft Skills จะเปิดกว้างสามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ดี มีความเคารพและให้เกียรติซึ่งกันและกัน มี
Empathy หรือความเห็นอกเห็นใจ สามารถเข้าใจและแบ่งปันความรู้สึกของผู้อื่นโดยไม่ตัดสิน และแสดงความเข้าใจอย่างแท้จริง นอกจากนี้ ความคิดสร้างสรรค์ (Creative Thinking) และการสื่อสาร (Communication) เป็นทักษะสำคัญที่ต้องพัฒนาเพื่อการเติบโตที่ยั่งยืนในอนาคต
ในด้านการวัดและประเมินผล (Evaluation) ไม่ควรเน้นเฉพาะผลลัพธ์ปลายทาง แต่ควรครอบคลุมทั้งกระบวนการเรียนรู้และผลลัพธ์ และไม่วัดผลเป็นคะแนนหรือตัวเลขแบบเดิม เพื่อให้การประเมินสามารถสะท้อนถึงความก้าวหน้าและการพัฒนาทักษะของนักเรียนได้อย่างแท้จริง
งานสาธิตวิชาการ ครั้งที่ 9 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 8 – 9 สิงหาคม 2567 ณ โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นโดยความร่วมมือของโรงเรียนสาธิตภายใต้การกํากับดูแลของคณะครุศาสตร์ คณะศึกษาศาสตร์ ในสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมทั้ง 22 สถาบัน เพื่อให้โรงเรียนสาธิตทุกสถาบันได้นําเสนอผลงาน ความก้าวหน้าและแลกเปลี่ยนความรู้ด้านวิชาการระหว่างกลุ่มโรงเรียนสาธิตทั่วประเทศในรูปแบบของกิจกรรมทางวิชาการต่างๆ ได้แก่ นิทรรศการนําเสนอผลงาน การจัดการเรียนสอน นวัตกรรม บทความวิจัย และบทความวิชาการที่เน้นการพัฒนาจรณทักษะให้กับนักเรียน รวมถึงการเสวนา การบรรยาย การอบรมเชิงปฏิบัติการและการแข่งขันทักษะทางวิชาการ
ทั้งนี้ สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ www.satitacademic9.chula.ac.th