ในความเป็นบริษัทที่มีบุคคลภายนอกเข้ามาเกี่ยวข้องหรือมีการระดมทุนจากประชาชน บทบาทของเจ้าของเงิน บริษัท และฝ่ายจัดการ มักแยกออกจากกัน เจ้าของเงินหรือผู้ถือหุ้นมิได้เป็นผู้บริหารกิจการโดยตรง แต่มีการแต่งตั้งกรรมการเป็นผู้แทนเพื่อบริหารบริษัทในรูป ‘คณะกรรมการ’ (Board of Directors) ซึ่งส่วนใหญ่ คณะกรรมการก็มิได้จัดการบริษัทเอง แต่มอบหมายให้ ‘ฝ่ายจัดการ’ (Management) ทำหน้าที่บริหารจัดการบริษัทอีกต่อหนึ่ง
คณะกรรมการในฐานะผู้แทนของผู้ถือหุ้น จึงมีหน้าที่และความรับผิดชอบในการกำกับดูแลให้ฝ่ายจัดการ บริหารกิจการให้เป็นไปเพื่อประโยชน์ที่ดีที่สุดของผู้ถือหุ้น (ซึ่งเป็นเจ้าของเงิน) ให้สมกับความเป็นผู้ที่ได้รับความไว้วางใจ (Fiduciary Duty) ด้วยความระมัดระวัง ซื่อสัตย์สุจริต โดยปราศจากผลประโยชน์ทับซ้อน
ในสภาพการณ์ปัจจุบันที่ปัจจัยความยั่งยืนทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ได้กลายมาเป็นวาระหลักในการขับเคลื่อนธุรกิจ การคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียเพียงเพื่อให้กิจการมีความยั่งยืนในระยะยาวนั้น ไม่เพียงพอต่อการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการอีกต่อไป
หน้าที่ของกรรมการในการกำกับดูแลกิจการที่ส่งเสริมเรื่องความยั่งยืน นอกเหนือจากการกำกับดูแลให้กิจการมีความยั่งยืนและผู้ถือหุ้นให้ความไว้วางใจ จำเป็นต้องพิจารณาผลกระทบจากการดำเนินธุรกิจที่ส่งผลต่อความยั่งยืนของสังคมและสิ่งแวดล้อมและผู้มีส่วนได้เสียของกิจการให้การยอมรับ ภายใต้บทบาทของ ‘กรรมการพิชาน’ (Impact Directors)
คำว่า พิชาน ตามพจนานุกรม แปลว่า ความรู้สึกตัว, การรับรู้อารมณ์หรือสิ่งเร้า กรรมการพิชาน ในที่นี้ มุ่งหมายถึง ผู้ซึ่งปฏิบัติหน้าที่กรรมการได้สมกับความเป็นผู้ที่ได้รับความไว้วางใจ (Fiduciary Duty) ด้วยความระมัดระวัง ซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ต่อผู้ถือหุ้น โดยมีความตระหนักรู้ในผลกระทบด้านความยั่งยืน (Sustainability Impacts) ที่มีต่อตัวกิจการและที่มีต่อผู้มีส่วนได้เสียของกิจการอย่างรอบด้าน
คุณลักษณะเด่นของกรรมการพิชาน คือ สามารถที่จะประเมินผลกระทบด้านความยั่งยืนในสองทาง ทั้งผลกระทบที่มีต่อตัวกิจการเอง (Outside-in) ซึ่งจะส่งผลต่อความยั่งยืนของกิจการ และผลกระทบจากกิจกรรมขององค์กรที่มีต่อโลกภายนอก (Inside-out) ซึ่งจะส่งผลต่อความยั่งยืนของสังคมและสิ่งแวดล้อมโดยรวม
ผลจากการประเมินดังกล่าว จะทำให้ได้มาซึ่งประเด็นสาระสำคัญ 2 ชุด ที่เรียกว่า ชุดสารัตถภาพเชิงการเงิน (Financial Materiality) ซึ่งเป็นความเสี่ยงและโอกาสที่มีต่อตัวกิจการ และชุดสารัตถภาพเชิงผลกระทบ (Impact Materiality) ซึ่งเป็นผลกระทบที่มีต่อส่วนรวม รวมเรียกว่า ทวิสารัตถภาพ (Double Materiality) ที่ประกอบขึ้นจากผลกระทบ ความเสี่ยงและโอกาส (Impacts, Risks and Opportunities: IROs) ที่เป็นสาระสำคัญของกิจการนั้น ๆ
ทั้งนี้ ข้อมูลที่เป็นสาระสำคัญทางการเงิน สำหรับใช้จัดทำรายงานทางการเงินที่เป็นงบดุล งบกําไรขาดทุน งบกระแสเงินสด จะมีความแตกต่างจากข้อมูลที่เป็นสาระสำคัญทางการเงิน สำหรับใช้จัดทำรายงานแห่งความยั่งยืน ในส่วนที่เป็นการเปิดเผยผลทางการเงินที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากความเสี่ยงและโอกาสที่สำคัญ ซึ่งมิได้ถูกรวมอยู่ในรายงานทางการเงิน ณ วันที่เผยแพร่ เนื่องจากมิใช่ข้อมูลสาระสำคัญตามเกณฑ์การบันทึกบัญชีการเงินในรอบการรายงานปัจจุบัน แต่จัดเป็นข้อมูลสาระสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลทางการเงินในอนาคต
กล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ รายงานทางการเงินอิงการเปิดเผยชุดข้อมูลสาระสำคัญที่สะท้อนความเสี่ยงและโอกาสจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีต (past events / historical information) ขณะที่รายงานแห่งความยั่งยืน ยังคำนึงถึงการเปิดเผยชุดข้อมูลสาระสำคัญที่สะท้อนความเสี่ยงและโอกาสจากเหตุการณ์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต (forward-looking information) เพิ่มเติม
นอกจากนี้ ขอบเขตการเปิดเผยข้อมูลสาระสำคัญในรายงานแห่งความยั่งยืน ยังได้ขยายครอบคลุมไปถึงความเสี่ยงและโอกาสที่เกิดจากความสัมพันธ์ทางธุรกิจ อาทิ ในสายคุณค่า (value chain) ทั้งฝั่งต้นน้ำ / ปลายน้ำ นอกเหนือจากตัวกิจการเอง ที่ซึ่งในรายงานทางการเงิน อาจมิได้จัดเป็นข้อมูลที่เป็นสาระสำคัญทางการเงินที่ต้องเปิดเผยตามมาตรฐานการบัญชีและแนวปฏิบัติทางการบัญชี
จะเห็นว่า บทบาทของกรรมการ จากเดิมซึ่งทำหน้าที่กำกับดูแลเพื่อพิทักษ์ประโยชน์ของผู้ถือหุ้นและผู้ลงทุนเป็นหลัก จำเป็นต้องเสริมสร้างขีดสมรรถนะและเพิ่มพูนคุณสมบัติให้สามารถทำหน้าที่กำกับดูแลกิจการในบทบาทใหม่ โดยยังประโยชน์ทั้งแก่ผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้เสียในวงกว้าง เพื่อตอบโจทย์ความยั่งยืนทั้งต่อกิจการและต่อส่วนรวมควบคู่ไปพร้อมกัน
ทั้งนี้ บทบาทใหม่ด้านความยั่งยืน ของผู้ที่เป็นกรรมการพิชาน ตามความหมายในที่นี้ จะต้องมีคุณสมบัติที่ประกอบด้วย
1) เข้าใจเรื่องผลกระทบสองทาง เนื่องจาก ปัจจัยด้านความยั่งยืน ก่อให้เกิดความเสี่ยงและโอกาสทางธุรกิจที่ส่งผลต่อความยั่งยืนของกิจการ (Outside-in) ขณะเดียวกัน ยังก่อให้เกิดผลกระทบสู่ภายนอกที่ส่งผลต่อความยั่งยืนของสังคมและสิ่งแวดล้อมโดยรวม (Inside-out)
2) รู้จักเครื่องมือ Double Materiality สำหรับใช้ประเมินความเสี่ยงและโอกาสที่เป็นชุดประเด็นสารัตถภาพเชิงการเงิน (Financial Materiality) และใช้ประเมินผลกระทบที่เป็นชุดประเด็นสารัตถภาพเชิงผลกระทบ (Impact Materiality) เพื่อระบุผลกระทบ ความเสี่ยงและโอกาส (IROs) ที่เป็นสาระสำคัญ สำหรับกรรมการในการกำกับดูแลและติดตาม
3) สามารถจัดทำ Impact Statement สื่อสารกับผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อบอกกล่าวถึงประเด็นสาระสำคัญที่เป็นผลกระทบ ความเสี่ยงและโอกาส (Material IROs) ของกิจการ รวมถึงการกำกับดูแล (Governance) ในบทบาทของกรรมการพิชาน พร้อมการเปิดเผยถึงตัววัดและผลลัพธ์ (Metrics and Results) ในรอบปี
ข้อแถลงผลกระทบ (Impact Statement) ที่จัดทำขึ้น สามารถใช้เป็น ‘สารจากกรรมการ’ ที่บรรจุไว้ในรายงานแห่งความยั่งยืน เพื่อแถลงถึงความคืบหน้าในการปฏิบัติหน้าที่กรรมการพิชานประจำปี เพิ่มเติมจากที่กิจการมี Income Statement ไว้สื่อสารกับผู้ถือหุ้นและผู้ลงทุน (ซึ่งในรายงานประจำปีบริษัท มักจะมีการจัดทำ Message from President หรือ ‘สารจากประธาน’ เพื่อบอกกล่าวความเคลื่อนไหวสำคัญในรอบปีถึงสิ่งที่เผชิญ การดำเนินงานโดยสรุป และภารกิจที่จะผลักดันต่อไป)
สถาบันไทยพัฒน์ เล็งเห็นความสำคัญในการสร้างให้เกิดความรู้และเข้าใจบทบาทในการกำกับดูแลประเด็นความยั่งยืนที่ส่งผลกระทบต่อบริษัท และที่ส่งผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้เสียและสิ่งแวดล้อม จึงได้จัดทำหลักสูตรกรรมการพิชาน หรือ Impact Directors Program (IDP) ด้วยวัตถุประสงค์ที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการกำกับดูแลกิจการภายใต้บทบาทใหม่ จาก ‘กรรมการ’ เปลี่ยนผ่านสู่ ‘กรรมการพิชาน’ ตามแนวทางที่สอดรับกับมาตรฐานสากล โดยบริษัทหรือหน่วยงานที่สนใจ จัดหลักสูตร Impact Directors ให้แก่กรรมการ สามารถศึกษาข้อมูลได้ทางเว็บไซต์ transition.school ได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
บทความโดย ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ประธานสถาบันไทยพัฒน์