ในการประกวดผ้าลายพระราชทาน“ผ้าลายสิริวชิราภรณ์” และงานหัตถกรรม ประจำปี 2567 เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าไทยและงานหัตถกรรม ให้มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับสู่สากล ตามแนวพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา มาต่อยอด ภูมิปัญญาท้องถิ่น องค์ความรู้ และเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อสร้างรายได้สู่ชุมชน และส่งเสริมผ้าไทยให้ทันสมัยสู่สากลเป็นที่นิยมในทุกเพศ ทุกวัย ทุกโอกาส
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการพัฒนาชุมชน ได้จัดให้มีการให้ความรู้ในเรื่องการพัฒนาลวดลายตามลายพระราชทาน (Coaching) ผู้ผลิต ประกอบการ OTOP ช่างทอผ้า และช่างหัตถกรรม เพื่อเป็นการสืบสานต่อยอดงานผ้าไทย และงานหัตถกรรม โดยจัดให้มีการประกวดผ้าลายพระราชทานและงานหัตถกรรม เพื่อเป็นการสร้างขวัญกำลังใจ การเชิดชูเกียรติให้กับ ผู้ที่สืบสานต่อยอดงานผ้าไทยและงานหัตถกรรม ส่งเสริมช่องทางการตลาดและเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ อย่างต่อเนื่อง อันจะส่งผลให้ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP มีอาชีพ และมีรายได้
โดยจัดให้มีการประกวดผ้าลายพระราชทานและงานหัตถกรรมต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 โดยในปีนี้ กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการพัฒนาชุมชน ได้จัดงานแถลงข่าวการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายสิริวชิราภรณ์” และงานหัตถกรรม ประจำปี 2567 เพื่อคัดเลือกผ้าลายพระราชทานและงานหัตถกรรมที่ส่งเข้าประกวด โดยผู้ชนะการประกวดจะได้รับเหรียญรางวัลพระราชทานจากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา โดยสามารถนำผืนผ้าไปเป็นต้นแบบให้แก่ผู้สนใจ
โดยมีนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายสยาม ศิริมงคล อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายธนันท์รัฐ ธนเสฎฐการย์ และดร.ศรินดา จามรมาน ที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก รวมถึงนายศิริชัย ทหรานนท์ นักออกแบบและเจ้าของกิจการ แบรนด์เธียเตอร์ ร่วมเปิดเผยรายละเอียดการประกวดฯ ในวันพฤหัสบดีที่ 8 สิงหาคม 2567 ณ ห้องประชุมฟินิกซ์ 1-3 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงการประกวดผ้าพระราชทาน“ผ้าลายสิริวชิราภรณ์” และงานหัตถกรรม ประจำปี 2567 ความว่า “เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงเสด็จทอดพระเนตรนิทรรศการ ณ บ้านคำปุน ตำบลคำน้ำแซบ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ได้พระราชทานแบบลายผ้า ‘ผ้าลายสิริวชิราภรณ์’ เพื่อเชิญไปมอบแก่ศิลปินช่างทอผ้า และหัตถกรรมไทยทั่วประเทศ ซึ่งผ้าลายสิริวชิราภรณ์นี้ เป็นลายที่ได้ทรงศึกษาค้นคว้าลวดลายผืนผ้าจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศ และทรงนำมาออกแบบลายพระราชทานเนื่องในปีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ครบ 6 รอบ 72 พรรษา โดยมีลายพระราชทาน หลักจำนวน 4 ลาย ได้แก่ ลายวชิรภักดิ์ ที่ได้รับแรงบันดาลพระทัยจากอักษร ‘ว’ ซึ่งเป็นอักษรพระปรมาภิไธยตัวแรก ในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ 2567 ที่ทรงออกแบบต่อยอดจากลายพระราชทานลำดับแรก ผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ลายหัวใจ สื่อถึงความรักและความห่วงใยในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่มีต่อพสกนิกรชาวไทยในทุกภาคทั่วประเทศ และลายดอกรักราษฎร์ภักดี
โดยทรงออกแบบต่อยอดจากลายพระราชทานผ้าลายดอกรักราชกัญญา สื่อถึงความรักและความภักดีของประชาชนชาวไทย ที่มีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และพระบรมราชจักรีวงศ์ โดยพระราชทานแบบตั้งต้นไว้ 4 ประเภท ได้แก่ ประเภทผ้ากาบบัว ประเภทผ้ายก, จก, ขิด, แพรวา ประเภทผ้ามัดหมี่ และประเภท ผ้าบาติก ซึ่งสามารถนำลายพระราชทานหลักทั้ง 4 ลายนี้ ไปถักทอผสมผสานกับลวดลายภูมิปัญญาพื้นถิ่น ตามความคิดสร้างสรรค์ของศิลปิน โดยได้รับพระกรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงสนับสนุนให้คณะทำงานโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก ได้มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมกระตุ้นและพัฒนาผ้าไทยให้ทันสมัยสู่สากล การ Coaching ผ้าลายพระราชทาน เพื่อให้มีผืนผ้าที่สวยงามสำหรับการประกวดฯ และสามารถต่อยอดการผลิตผืนผ้าให้เป็นที่นิยม ในทุกเพศ ทุกวัยและทุกโอกาสอีกด้วย
โดยในปีที่ผ่านมาได้มีการจัดประกวดฯ ผ้าลายพระราชทาน ลายต่างๆ ทำให้กลุ่มผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ประเภทผ้า เครื่องแต่งกาย มีช่องทางด้านการตลาดและเพิ่มรายได้เพิ่มขึ้น รวมทั้งการสร้างการรับรู้ การส่งเสริมการใช้และการสวมใส่ผ้าไทยให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย ซึ่งทำให้มีกลุ่มผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ประเภทผ้า เครื่องแต่งกาย ช่างทอผ้า และประชาชนทั่วไป จากทั่วประเทศ สมัครเข้าร่วมประกวดจำนวนมากขึ้นทุกปี ซึ่งกระทรวงมหาดไทย มีส่วนร่วมขับเคลื่อนขยายผลโครงการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ผ่านการสืบสาน รักษา และต่อยอดภูมิปัญญาไทย งานหัตถศิลป์และหัตถกรรมไทยเกิดความต่อเนื่อง ทำให้เกิดผลในวงกว้าง ทั้งนี้ ขอประชาสัมพันธ์เชิญชวนพี่น้องกลุ่มผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP และผู้ที่สนใจ สมัครเข้าร่วมการประกวดฯ ในห้วงเดือนนี้ถึงสิงหาคม 2567 นี้
นายสยาม ศิริมงคล อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวถึง กำหนดแผนการจัดการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายสิริวชิราภรณ์” และงานหัตถกรรม ประจำปี 2567 ว่า “ผู้ที่สนใจส่งผ้าลายพระราชทาน และงานหัตถกรรมเข้าประกวดฯ ณ สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอ และสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด ทั่วประเทศ เหลือเวลารับสมัครอีก 8 วัน ตั้งแต่วันนี้ - 15 สิงหาคม 2567 จากนั้นคณะกรรมการจะพิจารณากลั่นกรอง ตามแนวทางและหลักเกณฑ์การประกวดฯ
ก่อนรวบรวมผ้าและงานหัตถกรรมส่งเข้าประกวดในระดับภูมิภาคทั้ง 4 ภูมิภาค ประกอบด้วย 1. ภาคกลาง ในวันที่ 24 สิงหาคม 2567 จังหวัดนนทบุรี 2. ภาคเหนือ ในวันที่ 31 สิงหาคม 2567 จังหวัดเชียงใหม่ 3. ภาคใต้ ในวันที่ 7 กันยายน 2567 จังหวัดสงขลา และ 4. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระหว่างวันที่ 17 - 18 กันยายน 2567 จังหวัดอุดรธานี โดยจะจัดการประกวดรอบตัดสินระดับภาค (Quarter final) ในวันที่ 21 กันยายน 2567 ณ กรุงเทพมหานคร และรอบรองชนะเลิศ ระดับประเทศ (Semi Final) ในวันที่ 23 กันยายน 2567 ณ กรุงเทพมหานคร นอกจากนี้ กรมการพัฒนาชุมชน จะดำเนินการคัดเลือกผู้ประกอบการจำหน่ายสินค้าจำนวน 50 กลุ่ม/ราย จัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ผลงานการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายสิริวชิราภรณ์” และงานหัตถกรรม ระหว่างวันที่ 25 – 29 กันยายน 2567 ณ กรุงเทพมหานคร
“ทั้งนี้ ในวันที่ 31 ตุลาคม 2567 สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา จะเสด็จเป็นองค์ประธานตัดสินการประกวดผ้าลายพระราชทาน ‘ผ้าลายสิริวชิราภรณ์’ และงานหัตถกรรม รอบตัดสินระดับประเทศ ณ กรุงเทพมหานคร และในเดือนพฤศจิกายน 2567 กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการพัฒนาชุมชน จะจัดให้มีพิธีมอบเหรียญรางวัลพระราชทานฯ จากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา สำหรับผู้ที่ชนะการประกวดผ้าลายพระราชทาน ‘ผ้าลายสิริวชิราภรณ์’ และงานหัตถกรรม และรางวัลชนะการประกวดตามโครงการ แนวพระดำริ ‘ผ้าไทยใส่ให้สนุก’ ที่กรมการพัฒนาชุมชน ได้จัดดำเนินการเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้วต่อไป”
อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชนยังได้กล่าวถึงการประกวดผ้าพระราชทาน “ผ้าลายสิริวชิราภรณ์” และงานหัตถกรรม ในปีนี้ว่า “กรมการพัฒนาชุมชนได้จัดโครงการการประกวดผ้าลายพระราชทาน ‘ผ้าลายสิริวชิราภรณ์’ เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เกิดการแข่งขัน ตั้งแต่การคัดสรรวัตถุดิบ การย้อมสี การทอ การออกแบบลวดลาย การตัดเย็บ เพื่อผลิตชิ้นงานให้ออกมาดีที่สุด โดยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ได้พระราชทานแนวพระดำริเรื่องผ้าไทย และงานหัตถกรรม อันยังผลให้ผืนผ้าไทยได้รับการตอบรับ และเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายส่งผลให้พี่น้องประชาชนมีงาน มีอาชีพ มีรายได้ ส่งผลให้ครอบครัวและลูกหลานได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน”
ทั้งนี้ จำนวนผู้ส่งผ้าและงานหัตถกรรมเข้าร่วมประกวด ณ ปัจจุบัน จากทั้ง 4 ภาค รวม 47 จังหวัด แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ประเภทผ้า จำนวน 4,415 ผืน และงานหัตถกรรม 163 ชิ้น รวมทั้งหมด 4,578 ชิ้นงาน สำหรับผู้สนใจส่งผลงานเข้าประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายสิริวชิราภรณ์” และงานหัตถกรรม ประจำปี 2567 สามารถส่งใบสมัครเข้าประกวดผ้าและงานหัตถกรรม พร้อมแนวคิดและเรื่องเล่า (Story Telling) ณ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด และสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอ ทั่วประเทศ ตั้งแต่วันนี้ – 15 สิงหาคม 2567
นายธนันท์รัฐ ธนเสฎฐการย์ ที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก กล่าวถึงหลักเกณฑ์ การส่งผลงานเข้าประกวด ว่า “คุณสมบัติของผู้ที่จะส่งผ้าเข้าประกวดต้องเป็นผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP หรือช่างทอผ้า หรือช่างงานหัตถกรรมที่มีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดที่สมัครเข้าประกวด รวมทั้งต้องส่งผลงาน ตามภูมิลำเนาที่ผลิต ที่สำคัญผ้าที่ส่งเข้าประกวดต้องเป็นผ้าทอมือ หรือทำจากมือเท่านั้น ไม่รับพิจารณาผ้าที่ทอจากกี่กระตุกหรือระบบอุตสาหกรรม โดยต้องเป็นผ้าที่ตัดจากกี่ ไม่ผ่านการซัก อบ รีด หรืออาบน้ำยาเคมี ใด ๆ ทั้งสิ้น ยกเว้น ผ้าบาติก ผ้าพิมพ์ลาย ผ้ามัดย้อม และไม่รับพิจารณาผ้าที่เย็บเป็นถุง/เย็บริมผ้าด้วยจักร และผ้าและงานหัตถกรรมที่ส่งเข้าประกวด ต้องเป็นไหมพันพื้นบ้าน หรือฝ้ายเข็นมือ และต้องระบุแหล่งที่มาของวัตถุดิบอย่างละเอียด"
"โดยผ้าหรืองานหัตถกรรมที่ส่งเข้าประกวดสามารถนำลายโบราณของแต่ละท้องถิ่นมาผสมผสานกับผ้าลายพระราชทาน ‘ลายสิริวชิราภรณ์’ ได้ทุกประเภท - ประเภทผ้าลายพระราชทานที่ส่งเข้าประกวด แบ่งเป็น 14 ประเภท ตามเทคนิค/เอกลักษณ์ของผ้าประจำถิ่นของจังหวัดนั้น ๆ โดยต้องมีองค์ประกอบหลักของลายพระราชทานครบถ้วน รวมถึงประเภทงานหัตถกรรม เช่น งานเซรามิก งานจักสาน ฯลฯ ที่นำลายพระราชทานมาต่อยอดที่มีความโดดเด่น และยอดเยี่ยม ประกอบด้วย หัตถกรรมจากลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ, หัตถกรรมจากลายขิดนารีรัตนราชกัญญา, หัตถกรรมจากลายดอกรัก- ราชกัญญา, หัตถกรรมจากลายสิริวชิราภรณ์, หัตถกรรมและผ้าบาติกจากลายชบาปัตตานี โดยหลักเกณฑ์การให้คะแนน ประกอบด้วย ความกว้างของหน้าผ้าความเรียบร้อยและ ความสม่ำเสมอของการทอ การใช้สีธรรมชาติให้สีได้เหมาะสมกับลวดลายในผืนผ้า ความชัดเจนของลวดลาย ความสวยงามโดยรวมของผืนผ้า ความคิดสร้างสรรค์และการประยุกต์ และบรรจุภัณฑ์ (Packaging) และการนำเสนอการขายผ่าน Storytelling”
รางวัลการประกวดระดับประเทศ รับพระราชทานรางวัลการประกวด “ผ้าลายสิริวชิราภรณ์” และงานหัตถกรรม เดือนพฤศจิกายน 2567 รางวัลการประกวดแบ่งเป็น 2 ประเภทรางวัล ดังนี้ ประเภทที่ 1 รางวัลพิเศษ ประกอบด้วย Best of the Best รางวัลชนะเลิศรางวัลเดียว จากในแต่ละประเภท, การใช้สีธรรมชาติยอดเยี่ยม, ลวดลายตามแบบพระราชทาน, ประเภทงานหัตถกรรม เช่น งานเซรามิก งานจักสาน ฯลฯ ที่นำลายพระราชทานมาต่อยอดที่มีความโดดเด่น และยอดเยี่ยม ประกอบด้วย หัตถกรรมจากลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ, หัตถกรรมจากบาติกลายพระราชทาน, หัตถกรรม จากลายขิดนารีรัตนราชกัญญา,หัตถกรรมจากลายดอกรักราชกัญญา, หัตถกรรมจากลายสิริวชิราภรณ์, หัตกรรมและผ้าบาติกจากลายชบาปัตตานี และรางวัลอื่น ๆ ตามความเหมาะสมของชิ้นงาน ประเภทที่ 2 เหรียญรางวัลพระราชทาน โดยรางวัลชนะเลิศอันดับที่ 1 เหรียญทองคำ, รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 เหรียญเงิน รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 เหรียญนาก และรางวัลชมเชย ใบประกาศเกียรติคุณ
ดร.ศรินดา จามรมาน ที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก ในนามตัวแทนคณะทำงาน และที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก ผู้เชี่ยวชาญและผู้ทรงคุณวุฒิ จากหลากหลายสาขาอาชีพ อาทิ นักออกแบบ ดีไซเนอร์ที่มีชื่อเสียง ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทยและงานหัตถกรรม ซึ่งได้ร่วมลงพื้นที่ Coaching ให้กับกลุ่มผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP และช่างทอผ้า ทั้ง 4 ภาค ทั่วประเทศกล่าวว่า “ด้วยพระกรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่ทรงพระราชทานผ้าลายพระราชทานและพระราชทานพระอนุญาตให้กลุ่มทอผ้าทุกกลุ่ม ทุกเทคนิคสามารถนำไปใช้ทอผ้า ผลิตผ้าได้ ส่งเสริมตามแนวพระดำริ ‘ผ้าไทยใส่ให้สนุก’ และสนับสนุนให้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าไทย และงานหัตถกรรม ซึ่งกรมการพัฒนาชุมชน ได้จัดดำเนินงานโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าไทยและงานหัตถกรรม จำนวน 4 จุดดำเนินการ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 27 เม.ย - 25 พ.ค 2567 ได้แก่ ภาคใต้ จังหวัดกระบี่ ภาคเหนือ จังหวัดน่าน ภาคกลางจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดขอนแก่น
โดยจัดให้มีการอบรมและพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยนำลายพระราชทานลาย “ผ้าลายสิริวชิราภรณ์” มาประยุกต์ใช้ร่วมกับผ้าลาย อัตลักษณ์ หรือลวดลายอื่น ๆ ให้กับกลุ่มผู้ผลิต ผู้ประกอบการ เพื่อพัฒนาและส่งเสริมต่อยอดให้กลุ่มผู้ผลิต ผู้ประกอบการ ซึ่งได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดีมากจากกลุ่มผู้ผลิต ผู้ประกอบการ เพราะทุกราย ได้มีความตั้งใจและได้ให้ความสนใจเป็นอย่างมากในการเรียนรู้ การทำผลิตภัณฑ์ใหม่ ซึ่งทุกท่านที่เข้ารับการ Coaching มีความตั้งใจเป็นอย่างมาก ที่จะเข้าร่วมและส่งประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายสิริวชิรภรณ์” ในปี 2567 ด้วย