xs
xsm
sm
md
lg

ชำแหละ แผน PDP 2024 สองเวที ปชช. ติดเบรก “ไม่ยั่งยืน”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คนไทยอยู่ตรงไหนในร่างแผน PDP : แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2567-2580 สองวงเสวนา เวทีแรก (19 ก.ค.67) ทีดีอาร์ไอ เปิดบทวิเคราะห์ พร้อมชง 3 ข้อเสนอ อีกเวที (31 ก.ค.67) จากงาน “A Better World is Possible: ถกถามแผน PDP2024 เพื่อประชาชนและโลกที่ดีกว่าเดิม” โดยเครือข่ายเพื่อพลังงานที่ยุติธรรมสำหรับทุกคน พร้อมจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี

เมื่อพูดถึงแผนพลังงานแห่งชาติ สำหรับคนทั่วไปไม่ได้เกาะติดสถานการณ์ อาจมองเป็นเรื่องที่ไกลตัวมาก แต่รู้หรือไม่! ว่าเจ้าแผนพลังงานแห่งชาตินี่แหละจะเป็นตัวกำหนดว่าเราต้องจ่ายค่าไฟแพงหรือถูก นั่นล่ะถึงเริ่มมีคนใส่ใจและพยายามทำความเข้าใจกันมากขึ้น
แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือ PDP เป็นแผนระยะยาว 15-20 ปี ที่วางทิศทางการผลิตไฟฟ้าของไทย และ เป็น 1 ใน 5 แผนพลังงานภายใต้กรอบแผนพลังงานชาติ (National Energy Plan) ที่กำกับทิศทางการพัฒนานโยบายพลังงานของประเทศ ร่วมกับ แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) แผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP) แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (Gas Plan) และ แผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง (Oil Plan)

ดร.อารีพร อัศวินพงศ์พันธ์
เวทีแรก “PDP 2024 เร่งหรือรั้ง พาไทยสู่เป้าหมายพลังงานสะอาด”

ดร.อารีพร อัศวินพงศ์พันธ์ นักวิชาการด้านนโยบายพลังงาน ทีดีอาร์ไอ นำเสนอบทวิเคราะห์ต่อร่างแผนดังกล่าว เปิดเผยว่าประเด็นด้านบวกในร่างแผนใหม่ พบว่าภาครัฐได้เพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาดมากขึ้น จากเดิมเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานอยู่ที่ 36% ได้เพิ่มเป็น 51% ภายในปี พ.ศ.2580

แม้จะมีความก้าวหน้าขึ้น แต่จะดีกว่านี้หากผลักดันให้มีการดำเนินการที่รวดเร็วกว่าระยะที่วางไว้ เนื่องจากระหว่างทางไปสู่ปี พ.ศ.2580 มีหลายภาคส่วนต้องการใช้ไฟฟ้าพลังงานสะอาดค่อนข้างมาก อย่างในปี พ.ศ.2569 (ค.ศ.2026) เป็นปีที่เริ่มบังคับใช้มาตรการเก็บภาษีคาร์บอนข้ามพรมแดนจากยุโรป (CBAM) ย่อมจะเป็นต้นทุนที่มีผลต่อภาคอุตสาหกรรม และภาคส่งออก
“ถ้าเราไม่ใช้พลังงานสะอาดในการผลิตไฟฟ้าเร็วขึ้น แล้วมีการปล่อยคาร์บอนจากการผลิตเกินมาตรฐานที่กำหนดจากยุโรป เราก็ต้องเสียภาษีตามมาตรการ CBAM อีกทั้งความล่าช้าของแผนยังมีโอกาสสูงที่จะกระทบต่อการย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่น เช่นเวียดนามที่มีการใช้ไฟฟ้าพลังงานมากกว่าไทย”

นอกจากนี้ในร่างแผน ค่อนข้างไม่อัปเดต มีการคาดการณ์ไฟฟ้าสูงเกินจริง และพบว่ายังจะมีการสร้างโรงไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่เพิ่มเติมอีก 8 แห่ง ทว่าปัจจุบันโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่ไม่ได้เดินเครื่องราวครึ่งหนึ่งมาจากโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ ขณะเดียวกันในแผนมีการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG)สูงขึ้น และการสร้าง LNG เทอร์มินัลเพิ่มเติมซึ่งอาจจะส่งผลต่อต้นทุนและกระทบต่อค่าไฟในที่สุด

3 ข้อเสนอปรับแผน เร่งเข้าสู่เป้าหมายพลังงานสะอาด

ดร.อารีพร กล่าวว่าโดยภาพรวมของร่างแผน PDP เป็นตัวรั้งมากกว่าช่วยเร่งให้ไทยรักษามูลค่าทางเศรษฐกิจและความสามารถทางการแข่งขัน รวมถึงการบรรลุเป้าหมายพลังงานสะอาดเพื่อไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนและ Net Zero โดยมีข้อเสนอใน 3 ประเด็น คือ 

1.ปรับการคาดการณ์ความต้องการไฟฟ้าใหม่โดยการคาดการณ์ GDP ที่เป็นปัจจุบันมากขึ้น

2.ใช้ศักยภาพของ Energy technology มากขึ้น โดยการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ร่วมกับ energy storage มากขึ้นเนื่องจากต้นทุนลงมาก รวมถึงการพัฒนาระบบไมโครกริด และ Demand Response

3.ปรับระบบการผลิตและซื้อขายไฟฟ้า โดยการระบุบทบาทการผลิตไฟฟ้าจากภาคเอกชนให้ชัดเจน ระบุการผลิตไฟฟ้าจากโครงการโซลาร์ภาคประชาชนให้ชัดเจน อนุมัติระบบ Net Metering หรือปรับราคารับซื้อในระบบ Net Billing และเร่งเปิดตลาดไฟฟ้าเสรีด้วยพลังงานสะอาด


ทั้งนี้เมื่อเดือนมิถุนายน 2567 สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ได้จัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2567-2580 โดยไม่มีการเปิดเผยเนื้อหาฉบับเต็มเกี่ยวกับร่าง PDP 2024 ให้แก่สาธารณชนรับรู้ก่อนวันรับฟังความคิดเห็น เปิดเผยเพียงเอกสารการนำเสนอ อีกทั้งกระบวนการรับฟังใช้เวลาเพียง 12 วันและจำกัดการมีส่วนร่วมของประชาชนเพียงช่องทางออนไลน์ โดยจำกัดให้ในส่วนประชาชนทั่วไปสามารถแค่ร่วมแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมได้ทางช่องทางออนไลน์ของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เท่านั้น ซึ่งทางภาคประชาชนมองว่าไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามหลักการมีส่วนร่วมของประชาชนที่ถูกบัญญัติรับรองไว้ทั้งในรัฐธรรมนูญและกฎหมาย

ภายหลังจากเปิดรับฟังความคิดเห็นดังกล่าวตามขั้นตอนแล้ว ก็จะเสนอเข้าที่ประชุมคณะอนุพีดีพี จากนั้นจะเสนอไปยังที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) และที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาตามลำดับ ซึ่งคาดว่าจะประกาศใช้แผน PDP 2024 ได้ภายในเดือน ก.ย.นี้

ทีดีอาร์ไอ จัดเสวนาประเด็นร้อน ร่างแผน PDP 2024 เร่งหรือรั้งไทย สู่เป้าหมายพลังงานสะอาด

รศ.ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ (ขวา) ชวนอ่านจม.เปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี
เวทีสอง ชูแผน PDP ที่มั่นคง ยั่งยืนและเป็นธรรมกับประชาชน 

ในวงเสวนาชวน Talk ทวงถาม : ภัยความมั่นหลักทำแผน PDP2024 จากงาน “A Better World is Possible: ถกถามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (PDP2024) เพื่อประชาชนและโลกที่ดีกว่าเดิม” โดยเครือข่ายเพื่อพลังงานที่ยุติธรรมสำหรับทุกคน นำโดย รศ.ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ จาก SDG Move นายรพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์ จาก Climate Finance Network Thailand และธารา บัวคำศรี จากกรีนพีซ ประเทศไทย

รศ.ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ ศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) กล่าวว่า “ปัญหาสำคัญของร่างแผน PDP 2024 ฉบับนี้คือ กระบวนการยอมรับจากภาคประชาชน เพราะทุกครั้งที่มองย้อนกลับไปที่ปัญหาของค่าไฟฟ้าแพง ล้วนมีสาเหตุมาจากการวางแผน PDP ที่ผิดพลาดทั้งสิ้น ได้แก่ การพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าที่สูงเกินจริง เพราะไม่ได้ประเมินรวมสัดส่วนของผู้ที่ผลิตพลังงานใช้เองที่เพิ่มมากขึ้น เลือกวิธีการสร้างโรงไฟฟ้าฟอสซิลที่กำลังเป็นของล้าสมัย และทำให้เกิดวิกฤตโลกเดือดเพิ่มขึ้น และเป็นการบดบังความสามารถในการพัฒนาพลังงานหมุนเวียน หากเราพัฒนาพลังงานหมุนเวียนได้ไว โรงไฟฟ้าฟอสซิลก็จะถูกใช้น้อยลง เชื้อเพลิงฟอสซิลก็จะไม่คุ้มค่า ทำให้เกิดค่าไฟฟ้าแพงมากขึ้นเลยปิดกั้นการพัฒนาพลังงานหมุนเวียน ในขณะฟอสซิลที่มีอยู่ปัจจุบันก็ล้นระบบอยู่แล้ว

ในแผน PDP 2024 นี้ไม่ได้มีเป้าหมายโซลาร์รูฟท้อป (solar rooftop) จริง ๆ แล้วมันเป็นวิธีการพึ่งพาตนเองในการผลิตพลังงาน และไม่จำเป็นที่เราจะผูกขาดให้ใช้ไฟฟ้าจาก กฟผ. เท่านั้น ถ้าเราส่งเสริมด้านนี้ให้มาก ๆ มันก็จะช่วยลดการใช้สายส่ง เพราะผลิตไฟที่ไหนก็ใช้ที่นั้น อีกทั้งไม่ต้องนำเข้าก๊าซ LNG จากต่างประเทศที่แพงและราคาไม่แน่นอน ดังนั้นถ้ารัฐมองหาความมั่นคงด้านพลังงานต้องหันมาส่งเสริมให้เกิด Solar Rooftop ในแผน PDP นี้ด้วย”

รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์
นายรพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์ เครือข่ายการเงินเพื่อรับมือกับภาวะโลกรวน (CFNT) กล่าวว่า “ร่างแผน PDP2024 กำลังพาไทยไปเจอปัญหาด้านเศรษฐกิจ 3 ประการ อย่างแรกคือต้นทุนที่ผันผวนจากสัดส่วนการพึ่งพาการนำเข้า LNG ที่เพิ่มขึ้น อย่างที่สองคือต้นทุนที่แพงจากเชื้อเพลิงฟอสซิลที่อาจเผชิญกับการเรียกเก็บภาษีคาร์บอน หรือต้องพึ่งพาเทคโนโลยีราคาแพงอย่างการดักจับและกักเก็บคาร์บอน อย่างที่สามคือเขียวไม่พอ เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเท่ากับศูนย์ของไทยล่าช้าที่สุดในอาเซียน ความล่าช้านี้กำลังทำให้เราเสียเปรียบในการแข่งขันเพราะนอกจากจะไม่ดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากบริษัทที่ให้ความสำคัญด้านการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแล้ว ภาคส่งออกของเรายังเผชิญกับกำแพงภาษีจากมาตรการคาร์บอนข้ามพรมแดนซึ่งเริ่มบังคับใช้แล้วในสหภาพยุโรป ส่วนแคนาดา ออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกาก็กำลังพิจารณาเดินหน้ากฎหมายดังกล่าวเช่นกัน ทางออกที่เป็นไปได้ในปัจจุบันคือการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเปลี่ยนผ่านการพึ่งพาการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซฟอสซิลสู่พลังงานแสงอาทิตย์ เพราะต้นทุนพลังงานแสงอาทิตย์มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังปล่อยคาร์บอนต่ำ และประเทศไทยยังโชคดีที่มีศักยภาพด้านพลังงานแสงอาทิตย์อย่างมหาศาลอีกด้วย”

นายธารา บัวคำศรี
ด้านนายธารา บัวคำศรี กรีนพีซ ประเทศไทย กล่าวว่า “แม้ประเทศไทยประกาศเป้าหมาย Net Zero ภายในปี 2608 แต่ร่างแผน PDP 2024 ยังไม่หลุดพ้นไปจากการครอบงำของผลประโยชน์อุตสาหกรรมฟอสซิล ซ้ำร้าย ยังไม่ได้กำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนในการสนับสนุนพลังงานหมุนเวียนที่สะอาด มีเพียงระบบพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดเต็มร้อยเท่านั้นหากประเทศไทยต้องการไปถึงความเป็นกลางทางคาร์บอน และ Net Zero ตามที่ประกาศไว้ อย่างไรก็ตาม เนื้อแท้ของแผน Net Zero ของไทยนั้น นอกจากจะเอื้อให้อุตสาหกรรมฟอสซิลเดินหน้าสำรวจ ขุดเจาะ สกัดและเผาไหม้ถ่านหิน ก๊าซและน้ำมันต่อไปแล้ว ก็ยังใช้กลยุทธ์ฟอกเขียวโดยการปลูกป่าชดเชยคาร์บอน (carbon offset) หรือใช้เทคโนโลยีดักจับและกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture and Storage) ที่ต้นทุนสูงลิบลิ่วและไม่ได้รับการพิสูจน์”

หากร่าง PDP 2024 ไม่ได้รับการแก้ไขให้เกิดความเป็นธรรมต่อประชาชน ค่าความเสียหายจากการวางแผนที่ผิดพลาดของภาครัฐจะถูกผลักภาระมาที่ประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าทุกคน

จึงขอชวนร่วมลงชื่อเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลไทยทบทวนกระบวนการและร่างแผน PDP2024 ที่ไม่มั่นคง แพง และไม่นำประเทศสู่การบรรลุเป้าหมาย Net zero ได้ที่ https://act.gp/pdp-petition


กำลังโหลดความคิดเห็น