xs
xsm
sm
md
lg

เต็ดตรา แพ้ค เปิดรายงานความยั่งยืน เชื่อมโยง 5 ประเด็นหลัก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เต็ดตรา แพ้ค ผู้นำด้านโซลูชันการแปรรูปและบรรจุภัณฑ์อาหารชั้นนำของโลก เปิดเผยรายงานความยั่งยืนฉบับที่25 ประจำปี 2566 เพื่อนำเสนอความความก้าวหน้าที่ได้ดำเนินการตามวาระความยั่งยืนที่กำหนดไว้ โดยรายงานได้ระบุกรอบแนวทางที่เชื่อมโยงกันใน 5 ประเด็นหลัก ได้แก่ ระบบอาหาร, การหมุนเวียนทรัพยากร, สภาพอากาศ, ธรรมชาติ และความยั่งยืนทางสังคม

เต็ดตรา แพ้ค ยังเน้นย้ำถึงบทบาทของความร่วมมือในอุตสาหกรรมอาหารเพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนในระบบอาหารโลก โดยในส่วนของประเทศไทย เต็ดตรา แพ้ค ให้ความสำคัญลำดับแรกในการจัดเก็บรวบรวมและรีไซเคิลกล่องเครื่องดื่มที่ใช้แล้ว ซึ่งเป็นตัวอย่างหนึ่งของความมุ่งมั่นด้านความยั่งยืนของเรา

รายงานความยั่งยืนฉบับล่าสุด ยังเผยถึงความคืบหน้าของบริษัทฯ ตั้งแต่ปี 2562 ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดทั้งห่วงโซ่คุณค่า ได้มากกว่า 20% และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิตได้กว่า 47% ซึ่งผลที่ได้นี้แสดงให้เห็นว่าการทำงานของเต็ดตรา แพ้ค เป็นไปในทิศทางที่ถูกต้องตามเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในการดำเนินงานของบริษัทภายในปี 2573 และสอดคล้องกับความมุ่งมั่นระยะยาวของบริษัทฯ ในการทำงานร่วมกับซัพพลายเออร์ ลูกค้า และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ และมุ่งไปสู่การบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ตลอดห่วงโซ่คุณค่าภายในปี 2593

อีกหนึ่งความสำเร็จครั้งสำคัญในปีที่ผ่านมา คือ การเปิดตัวกล่องเครื่องดื่มแบบปลอดเชื้อที่มีชั้นปกป้องทดแทนอะลูมิเนียมที่ผลิตจากเยื่อกระดาษ ที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงได้ถึง 33% หรือหนึ่งในสามเมื่อเทียบกับบรรจุภัณฑ์ดั้งเดิม ถือเป็นอีกก้าวแห่งความสำเร็จที่เข้าใกล้เป้าหมายของเต็ดตรา แพ้ค ในการพัฒนาบรรจุภัณฑ์อาหารที่ยั่งยืนที่สุดในโลก การพัฒนาดังกล่าวเป็นผลมาจากการลงทุนไปกว่า 100 ล้านยูโร หรือกว่า 3,900 ล้านบาท ในการวิจัยและพัฒนาบรรจุภัณฑ์ในปี 2566 โดยเต็ดตรา แพ้ค ยังมีแผนในการลงทุนในทุกๆ ปีด้วยงบประมาณเดียวกันตลอดช่วงห้าถึงสิบปีข้างหน้า

นอกจากนั้น เต็ดตรา แพ้ค ยังสนับสนุนการพัฒนาโซลูชันหมุนเวียนทรัพยากร ด้วยการออกแบบบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มที่สามารถรีไซเคิลได้ และขยายการจัดเก็บและรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์เพื่อเพื่อดึงวัสดุที่ใช้แล้วออกจากหลุมฝังกลบ สำหรับในประเทศไทย เต็ดตรา แพ้ค ได้ขับเคลื่อนโครงการรีไซเคิลกล่องเครื่องดื่มที่ทำให้มีการรวบรวมกล่องเครื่องดื่มใช้แล้วกลับมารีไซเคิลได้มากกว่า 3,900 ตันในปี 2566 อีกทั้ง บริษัทฯ ยังจับมือกับพาร์ทเนอร์ในอุตสาหกรรมเดียวกันในการก่อตั้งเครือข่ายองค์กรความร่วมมือจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน(Packaging Recovery Organization Thailand Network) หรือ “PRO-Thailand Network” เพื่อส่งเสริมการจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืนในประเทศอีกด้วย

โครงการเก็บกล่องสร้างบ้าน
โครงการเก็บกล่องสร้างบ้านเพื่อมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของโครงการที่นำแนวคิดการนำกลับมาใช้ใหม่และการสร้างความยั่งยืนในสังคมมาปรับใช้ ภายในปี 2566 สามารถรวบรวมกล่องเครื่องดื่มใช้แล้วได้มากกว่า 50 ตัน จากจุดรับกล่องของพันธมิตรกว่า 150 แห่ง โดยนำมาผลิตเป็นแผ่นหลังคา วงกบประตู และแผ่นไฟเบอร์ซีเมนต์ เพื่อนำไปช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประสบภัยในประเทศไทย

ปฏิญญา ศิลสุภดล ผู้อำนวยการฝ่ายความยั่งยืน บริษัท เต็ดตรา แพ้ค (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “เต็ดตรา แพ้ค ตระหนักถึงความสำคัญของการร่วมมือเพื่อสร้างเครือข่ายด้านความยั่งยืนที่แข็งแรงและมีประสิทธิภาพ การก่อตั้ง PRO-Thailand Network และความสำเร็จของโครงการเก็บกล่องสร้างบ้าน ที่ได้นำกล่องเครื่องดื่มใช้แล้วกลับสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นตัวอย่างของความมุ่งมั่นของเรา เราตั้งเป้าที่จะทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนในห่วงโซ่คุณค่าทั้งในระดับท้องถิ่นไปจนถึงระดับโลก ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิตอาหาร ผู้จัดจำหน่าย ผู้กำหนดนโยบาย ไปจนถึงผู้บริโภค เพื่อสร้างอนาคตที่ยั่งยืนให้แก่อาหาร ผู้คน และโลกต่อไป”

รายงานความยั่งยืนประจำปี 2566 ยังกล่าวถึงความสำเร็จอื่นๆ ของ เต็ดตรา แพ้ค ในปีที่ผ่านมา รวมไปถึงโครงการที่กำลังดำเนินการอยู่ เพื่อปกป้องอาหาร ผู้คน และโลก ได้แก่:

การขยายโครงการโภชนาการในโรงเรียน: บริษัทฯ มีส่วนช่วยให้เด็กนักเรียนกว่า 64 ล้านคนใน 49 ประเทศได้เข้าถึงนมและเครื่องดื่มที่มีคุณค่าทางโภชนาการผ่านโครงการโภชนาการในโรงเรียน

การเร่งขับเคลื่อนการรีไซเคิล: มีการรวบรวมกล่องเครื่องดื่มกลับมารีไซเคิลเพิ่มสูงขึ้นกว่า 7% ทั่วโลกเมื่อเทียบกับปี 2565 โดยการรีไซเคิลเศษพลาสติกและอะลูมิเนียมหรือ polyAl เพิ่มขึ้นถึง 14%

การได้รับการยกย่องเป็นองค์กรชั้นนำด้านการดำเนินงานที่โปร่งใสและมีประสิทธิภาพ: เต็ดตรา แพ้ค ได้รับการจัดอันดับอยู่ในระดับ 'A List' ด้านป่าไม้ของซีดีพี (CDP) หรือ Carbon Disclosure Project เป็นปีที่ 8 ติดต่อกัน นอกจากนี้ ยังจัดอยู่ในระดับ “A-” ในด้านความมั่นคงด้านทรัพยากรน้ำ ซึ่งนับเป็นปีแรกของซีดีพีที่มีการทำรายงานในด้านนี้

การดำเนินการอย่างแข็งขันตามหลักการชี้แนะแห่งสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (UN Guiding Principles on Business and Human Rights: UNGPs)


กำลังโหลดความคิดเห็น