รองนายกฯ เดินหน้าจัดตั้ง TCDC โคราช พร้อมส่งเสริมความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ยกระดับย่านถนนจอมพลสู่ย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของภูมิภาค
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมย่านถนนจอมพล จังหวัดนครราชสีมา พร้อมตรวจเยี่ยมอาคารที่เป็นพื้นที่จัดตั้งศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบโคราช (TCDC โคราช) ซึ่งจะเปิดให้บริการในปี 2568 โดยขั้นตอนต่อไป สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ได้เชิญชวนนักออกแบบจากทั่วประเทศมาร่วมประกวดแบบ "ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบแห่งใหม่ (New TCDC) ใน 10 จังหวัด" ซึ่งได้รับความสนใจจากสถาปนิกและนักออกแบบเป็นอย่างมาก และได้ประกาศปิดรับสมัครไปเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา โดยจะประกาศผลการคัดเลือกรอบแรก 30 ทีม (จังหวัดละ 3 ทีม) ในวันพุธที่ 3 กรกฎาคม 2567 นี้ สำหรับ TCDC โคราช เป็น 1 ใน 4 TCDC แห่งใหม่ของภาคอีสาน ประกอบด้วยอีก 3 จังหวัด ได้แก่ ศรีสะเกษ สุรินทร์ และอุบลราชธานี ร่วมกับภูมิภาคอื่น ๆ อีก 6 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย ปัตตานี พิษณุโลก แพร่ ภูเก็ต และอุตรดิตถ์ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาและยกระดับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศไทยในรอบ 20 ปี
นายพิชัย กล่าวว่า การจัดตั้งศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบแห่งใหม่ (New TCDC) เป็นนโยบายที่รัฐบาลให้ความสำคัญ ซึ่งจะขยายการจัดตั้ง TCDC แห่งใหม่ในหลายพื้นที่ให้ครอบคลุมทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศ โดยรัฐบาลจะให้การสนับสนุนเรื่องงบประมาณ เพราะเล็งเห็นความสำคัญของสินทรัพย์ท้องถิ่นที่จะนำมาต่อยอด (Empowering Local Stories) ให้เป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างและเสริมพลังวัฒนธรรมสร้างสรรค์ นำไปสู่การต่อยอดสินค้าและบริการ ที่ผู้บริโภคชื่นชอบและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล
“ทั้งนี้ รัฐบาลมีความเชื่อมั่นว่าการจัดตั้ง TCDC แห่งใหม่ จะเป็นหนึ่งในแรงขับเคลื่อนและหมุดหมายสำคัญของจังหวัด ภาคการศึกษา ภาคธุรกิจ นักสร้างสรรค์และกลุ่มคนรุ่นใหม่ ให้เป็นพื้นที่สร้างโอกาส พัฒนาศักยภาพและต่อยอดโอกาสทางอาชีพ ที่มาจากพลังแห่งความคิดสร้างสรรค์ท้องถิ่น TCDC แห่งใหม่ จึงเป็นการสร้างสมบัติที่ดีให้กับประเทศ ซึ่งรัฐบาลพร้อมให้การสนับสนุนเป็นอย่างดี” นายพิชัย กล่าว
สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA เป็นหน่วยงานภายใต้การดูแลของรองนายกรัฐมนตรี (นายพิชัย ชุณหวชิร) โดยในภาคอีสานมีสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ขอนแก่น (CEA ขอนแก่น) ทำหน้าที่ดูแลระบบนิเวศสร้างสรรค์ทั้ง 20 จังหวัดในภาคอีสาน ผ่านการขับเคลื่อนและพัฒนาใน 3 มิติ ได้แก่ 1) ธุรกิจสร้างสรรค์ 2) เมืองและย่านสร้างสรรค์ และ 3) กลุ่มคนสร้างสรรค์ พร้อมการส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่โดดเด่นในแต่ละพื้นที่โดย TCDC เป็นหนึ่งในแพลตฟอร์มของการพัฒนาคนและธุรกิจให้มีทักษะในการสร้างสรรค์และขับเคลื่อนธุรกิจด้วยไอเดียและองค์ความรู้ใหม่ ๆ นอกจากนี้ CEA ยังได้ศึกษาแผนการพัฒนาย่านถนนจอมพล จังหวัดนครราชสีมาไว้แล้ว โดยมุ่งหวังให้เกิดธุรกิจและพื้นที่สร้างสรรค์ ตั้งแต่ประตูชุมพลไปตลอดแนวถนน 1 กิโลเมตร และส่งเสริมให้เกิด “Faith(tival)” City เทศกาลสายมูย่าโม่ เป็นการ Refresh โคราชให้มีภาพจำใหม่บนฐานต้นทุนวัฒนธรรมดั้งเดิม และดึงดูดเม็ดเงินหมุนเวียนให้กับเมืองโคราชอีกด้วย
สำหรับ TCDC โคราช จะมีรูปแบบบริการใหม่เป็นห้องปฏิบัติการ ‘Creative Lab’ ในด้าน ‘Creator Lab’ พื้นที่การสร้างและออกแบบประสบการณ์ (Experience Design) ให้กับกลุ่มเป้าหมายครีเอเตอร์ชาวโคราช ผ่านการเล่าเรื่องใหม่ให้กับสินค้าและบริการท้องถิ่นที่มีเอกลักษณ์ ทั้งนี้ จังหวัดนครราชสีมาเป็นจังหวัดขนาดใหญ่ที่มีประชากรมากกว่า 2.6 ล้านคน มีความเจริญก้าวหน้าด้านอาหารพื้นถิ่น การแสดงพื้นบ้าน ผ้าทอพื้นถิ่น ศิลปะและวัฒนธรรม ดนตรีพื้นบ้าน ประเพณี แหล่งท่องเที่ยว และมรดกภูมิปัญญาที่จับต้องได้และจับต้องไม่ได้ มีนักคิด นักเขียนรุ่นใหม่ ๆ ในการออกแบบดีไซน์โดยใช้ทุนวัฒนธรรมเดิมให้คงอยู่และมีการสร้างสรรค์ให้เข้ากับยุคสมัย
“เห็นได้ชัดว่า จังหวัดนครราชสีมามีศักยภาพในการสร้างระบบนิเวศสร้างสรรค์ พร้อมพัฒนาย่านเศรษฐกิจให้เป็นศูนย์กลางในการบ่มเพาะนักออกแบบสร้างสรรค์รุ่นใหม่ ให้ได้พบปะ ปล่อยของ เพื่อจุดประกายแนวคิดใหม่ๆ มากมาย ประกอบกับ TCDC มีผู้เชี่ยวชาญมากประสบการณ์ ในการพัฒนาเมืองสร้างสรรค์มาแล้ว TCDC จึงจะเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงเพื่อร่วมกันพัฒนาเมืองโคราชให้เติบโต และตอบรับกับวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งต่อไป” นายพิชัย กล่าวทิ้งท้าย