วานนี้ (11 กรกฎาคม 2567) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม นำโดยนายปวิช เกศววงศ์ รองอธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานในพิธี จัดกิจกรรมส่งเสริมพื้นที่ต้นแบบการจัดการขยะที่ต้นทางและพิธีเปิดศูนย์เรียนรู้โรงเรียนปลอดขยะ (Zero Waste School) ณ โรงเรียนเซนต์เทเรซา เขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร
โดยมีนางสาวระเบียบ ภูผา ผู้อำนวยการกองขับเคลื่อนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นผู้กล่าวรายงานถึงวัตถุประสงค์การจัดงาน ร่วมด้วยนายพรพรหม ณ.ส. วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร บาทหลวง ดร.เอกรัตน์ หอมประทุม ผู้อำนวยการฝ่ายการศึกษา อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ และคณะผู้บริหาร คณะครู นักเรียนเข้าร่วมกิจกรรม จำนวนกว่า 1,000 คน
ทั้งนี้โรงเรียนเซนต์เทเรซา เป็นโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน และเป็นโรงเรียนคาทอลิกในฝ่ายการศึกษาอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ ซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศโครงการโรงเรียนปลอดขยะ Zero Waste School ระดับประเทศ ถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประเภทโรงเรียนมัธยมศึกษา ประจำปี 2566 โดยได้มุ่งยกระดับการจัดการศึกษา ผู้เรียนมีคุณภาพมาตรฐานและเป็นพลเมืองโลก สร้าง สังคมแห่งการเรียนรู้ควบคู่คุณธรรมตามแนวทางขององค์สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสผู้นำสูงสุดของนิกาย โรมันคาทอลิกที่มีนโยบายว่า
“ให้ปกป้อง พิทักษ์ คุ้มครองสิ่งแวดล้อมเสริมสร้างบ้านที่เป็นบ้านร่วมกันของพวกเรา คือโลกใบนี้ช่วยกันคุ้มครองผืนแผ่นดินโลกจากการถูกเอารัดเอาเปรียบด้านทรัพยากรธรรมชาติ โดยเผาผลาญ ทรัพยากรไปอย่างสิ้นเปลือง ทำให้โลกร้อนขึ้น และเต็มไปด้วยมลภาวะ”
พร้อมกับนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้เรียนรู้ ด้วยหลัก 3 ห่วง 2 เงื่อนไข สำหรับการปลูกฝังและส่งเสริมให้นักเรียน ครู และบุคลากรมีจิตสำนึกรักษ์ในสิ่งแวดล้อม และทางโรงเรียนได้สานต่อในการปลูกจิตสำนึกและส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจในการจัดการขยะอย่างยั่งยืนและถูกวิธี โดยตระหนักถึงคุณค่าของสิ่งของ
นายปวิช เกศววงศ์ รองอธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่ากรมฯ เล็งเห็นศักยภาพและความพร้อมของโรงเรียนเซนต์เทเรซา จึงส่งเสริมและสนับสนุน พัฒนาเป็นศูนย์เรียนรู้โรงเรียนปลอดขยะ Zero Waste School พร้อมยกระดับเพื่อมุ่งสู่การเป็นศูนย์เรียนรู้สังคมคาร์บอนต่ำ ขยายองค์ความรู้ กระบวนการจัดการขยะตั้งแต่ต้นทางในโรงเรียน ให้แก่เครือข่ายสถานศึกษา ชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานอื่นๆ ที่สนใจเข้ามาศึกษาเรียนรู้ และนำไปขยายผลต่อไป มีผู้บริหาร คณะครู นักเรียนเข้าร่วมกิจกรรม จำนวนทั้งสิ้นกว่า 1,000 คน