xs
xsm
sm
md
lg

โรงเรียนสาธิตทั่วประเทศ เตรียม “เด็กไทย” เติมเต็มทักษะสำคัญ พร้อมเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพ / ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศทางการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
โรงเรียนเป็นสถาบันการศึกษาสำคัญที่ช่วยบ่มเพาะเด็กๆ ให้พัฒนาและมีความพร้อมทุกด้าน ไม่เพียงวิชาความรู้เพื่อทักษะด้านวิชาชีพ หรือ “Hard Skill” หรือ 3 R ที่จะนำไปประกอบอาชีพสร้างงานสร้างรายได้ แต่ต้องมีทักษะด้านสังคม การสื่อสาร การทำงานเป็นทีม เป็นทักษะการใช้ชีวิต เพราะปัจจุบันในโลกยุคดิจิทัล ทำให้การใช้เวลากับคนในสังคมน้อยลง เด็กๆ ขาดทักษะที่เรียกว่า “Soft Skill” หรือ 8 C จึงจำเป็นต้องได้รับการบ่มเพาะทักษะด้านนี้ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของทักษะในศตวรรษที่ 21 ที่จำเป็นในโลกปัจจุบันและอนาคต ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

โรงเรียนสาธิตที่จัดตั้งขึ้นภายใต้การดูแลของคณะครุศาสตร์และคณะศึกษาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยต่างๆ ในสังกัดของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม เพื่อเป็นแหล่งศึกษา ค้นคว้า ทดลอง และวิจัยของคณาจารย์ โดยโรงเรียนสาธิตของหลายสถาบันเป็นสถาบันการศึกษาที่ใช้เป็นการฝึกประสบการณ์วิชาชีพทางการศึกษา และฝึกปฏิบัติงานของนิสิต ก่อนที่จะสำเร็จการศึกษา ทั้งนี้ เพื่อสร้สงความเข้มแข็งทางด้านวิชาการที่หลากหลาย โรงเรียนสาธิตแต่ละสถาบันมีศักยภาพและจุดเด่นแตกต่างกัน จึงทำให้โรงเรียนสาธิตแต่ละแห่งมีความเป็นเลิศด้านวิชาการที่สามารถเป็นต้นแบบในการจัดการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ให้แก่สถาบันการศึกษาอื่นๆ ได้รับรู้ และนำไปใช้ประโยชน์พัฒนาการจัดการศึกษาของประเทศ ให้มีคุณภาพมากขึ้น

งานแถลงข่าว การจัดงานสาธิตวิชาการ ครั้งที่ 9
ด้วยเหตุนี้ โรงเรียนสาธิตสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม จึงมีมติร่วมกันในการสร้างความร่วมมือด้านวิชาการ ให้มีการประชุมเชิงปฏิบัติการสาธิตวิชาการ โดยกำหนดให้มีการจัดโครงการทุก 2 ปี และในการจัดแต่ละครั้ง โรงเรียนสาธิตแต่ละแห่งจะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพ โดยมีรูปแบบการจัดการด้วยการเผยแพร่นวัตกรรมทางการศึกษาจากโรงเรียนสาธิตทั่วประเทศ และนำเสนอผลงานวิจัยทางการศึกษากับการแก้ปัญหาการพัฒนาการเรียนการสอน พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความรู้ ทางการศึกษาแบบครบวงจร ประกอบด้วย การจัดนิทรรศการแสดงผลงานจากโรงเรียนสาธิตทั่วประทศ การเสนอผลงานวิจัย และผลงานทางวิชาการ การสร้างและพัฒนานวัตกรรมทางการศึกษา การเสวนาทางวิชาการ การอบรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ และการแสดงด้านศิลปวัฒนธรรมของนักเรียน ปีการศึกษา 2567 โดยโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยฝ่ายประถม และโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยฝ่ายมัธยม ได้เป็นเจ้าภาพงานสาธิตวิชาการ ครั้งที่ 9 ภายใต้แนวคิด “จรณทักษะที่จำเป็นสำหรับอนาคต Essential Soft Skill for the Future” ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 8-9 สิงหาคม 2567 โดยมุ่งหวังให้การจัดงานครั้งนี้ จะนำมาซึ่งความก้าวหน้าของโรงเรียนสาธิตต่างๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการศึกษาของกลุ่มโรงเรียนสาธิตและเป็นต้นแบบให้กับสถาบันการศึกษาอื่นๆ ต่อไป


๐ Soft Skill ควบคู่ Hard Skill

อาจารย์ศรียา เนตรน้อย ผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายประถม กล่าวว่า การนำ “Soft Skill” มาเป็นแนวคิดในการจัดงานครั้งนี้ เนื่องจากนักเรียนของโรงเรียนสาธิตมีความรู้ในเรื่อง “Hard Skill” เพื่อใช้ในการประกอบวิชาชีพอยู่แล้ว แต่การจะทำให้การใช้ชีวิตในอนาคตมีความสุขมากขึ้น จึงต้องมี “Soft Skill” เช่น ทักษะการปรับตัวเช้ากับผู้อื่น ทักษะการสื่อสาร ทักษะการทำงานเป็นทีม ฯลฯ สำหรับ “Soft Skill” ในเรื่องการเรียนการสอนยิ่งมีความจำเป็นมาก เพราะนักเรียนแต่ละคนที่จะประสบความสำเร็จในชีวิตได้ ต้องมีทักษะจำเป็นหลายด้านประกอบกัน ไม่เพียงความสามารถในเรื่องความรู้ แต่ต้องสามารถอยู่รอดในสังคมได้ ดังนั้น Soft Skill ในเรื่องต่างๆ เช่น ความฉลาดทางอารมณ์ ความคิดสร้างสรรค์ การจัดการตนเอง ฯลฯ เป็นเรื่องในปัจจุบันที่เด็กๆ ต้องเผชิญอยู่แล้ว ซึ่งเมื่อโรงเรียนทำให้เด็กๆ ได้เรียนรู้และเข้าใจทักษะเหล่านี้ จะทำให้เด็กๆ มีแนวทางรับมือที่ดี

สำหรับการจัดงานสาธิตวิชาการ ครั้งที่ 9 นี้ อาจารย์พรพรหม ชัยฉัตรพรสุข ผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม กล่าวว่า งานครั้งนี้มีไฮไลท์มากมาย เช่น การแข่งขันทางวิชาการ เรามีหลายกลุ่มสาระ และเราให้นักเรียนได้ลงมือทำกิจกรรมจริง เพราะ Soft Skill คือการลงมือทำ นักเรียนเป็นผู้ร่วมจัดงาน เพื่อจะได้เรียนรู้ว่าการจะได้งานงานหนึ่งที่สมบูรณ์ จะต้องผ่านอะไรมาบ้าง ไม่ใช่เห็นเพียงภาพตอนจบงานที่สวยงาม ดังนั้น การให้นักเรียนลงมือทำร่วมกับคุณครู ตั้งแต่ระดับประถมถึงมัธยม จึงเป็นส่วนหนึ่งของการฝึกทักษะ Soft Skill


นอกจากนี้ กิจกรรมวิชาการที่น่าสนใจ เช่น การแข่งขันพาราชู้ด เป็นส่วนหนึ่งให้เด็กได้เรียนรู้หลายด้าน ทั้งความรู้ที่ได้และเห็นภาพใหญ่ของการเชื่อมโยงกับการสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs หลายข้อ ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญระดับโลกด้วยเช่นกัน เช่น SDG 13 การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นต้น ขณะเดียวกัน ยังมีกิจกรรม Hackathon ปีนี้มีความพิเศษแตกต่างจากเดิม เพราะในหนึ่งกลุ่มมีหลายโรงเรียนสาธิต เพื่อสร้างความสามัคคี ความร่วมมือกับเพื่อนใหม่ เราไม่แบ่งแยกแต่ละโรงเรียน นี่ก็เป็นส่วนหนึ่งที่เกี่ยวกับ Soft Skill”

“การจัดงานครั้งนี้จะเป็นต้นแบบการเผยแพร่ทั้งด้านวิชาการและนวัตกรรมการศึกษา เพื่อให้นักเรียน คณาจารย์ ตลอดจนผู้ที่สนใจทั่วไป ได้รับความรู้ที่โรงเรียนในเครือสาธิตร่วมกันพัฒนาและจัดทำขึ้น ขณะที่ นักเรียนสามารถพัฒนาทักษะการดำเนินชีวิตให้อยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข ยิ่งหากสามารถเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง หรือ Change Agent ได้ เขาจะสามารถส่งต่อสิ่งที่ดีให้เพื่อนและผู้คนในสังคม ก้าวไปสู่อนาคตที่ดีด้วยกัน และช่วยนำโลกไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน”

๐ เริ่มจากครู มุ่งสู่ความเสมอภาค


อาจารย์พรพรหม ย้ำว่า จากสถานการณ์โดยรวมของเด็กและเยาวชนไทยในวันนี้ ยังมีความไม่เข้มแข็งเพียงพอในการเผชิญปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นรอบด้านในทุกวันนี้ ดังนั้น หากเราไม่เตรียมความพร้อมให้เด็กไทยตั้งแต่ยังเล็ก แน่นอนว่าครอบครัวเป็นส่วนสำคัญ แต่โรงเรียนมีความสำคัญมากเช่นกัน จึงเป็นหน้าที่ที่ต้องทำให้เด็กๆ ได้เรียนรู้สิ่งที่ต้องเผชิญตามลำดับขั้นของอายุ เพื่อให้เด็กๆ เรียนรู้ว่าจะต้องเตรียมตัวอย่างไร ซึ่งกลุ่มโรงเรียนสาธิตมองว่าเด็กแต่ละช่วงวัยมีการเตรียมตัวต่างกัน เราจึงจัดให้เขานำเสนอสิ่งที่แต่ละช่วงวัยควรเตรียมตัว แม้แต่การใช้เทคโนโลยีที่ต้องรู้จักใช้ให้เกิดประโยชน์ เช่น การใช้สมาร์มโฟน การโพสต์ลงในสื่อโซเชียล เป็นประเด็นมากมายซึ่งคนทั่วไปคิดว่าเด็กๆ น่าจะรู้ได้จากการอ่าน แต่ในความเป็นจริง เด็กๆ ไม่ได้สังเคราะห์ข้อมูลที่ได้รับมา จึงเป็นหน้าที่ของครูหรือผู้ใหญ่ที่ต้องสังเคราะห์และตกตะกอนเพื่อให้ได้สิ่งที่ถูกต้องก่อนนำไปบอกกล่าวกับเด็กๆ และนำไปสู่พฤติกรรมที่ดีต่อไป

ปัจจุบัน เราเห็นเด็กเล็กๆ คุยตอบโต้กันไปมาในหลายๆ เรื่อง เหมือนกับว่าเด็กมีความคิดที่ดี แต่ในหลายๆ ครั้ง เด็กๆ จำเป็นต้องรู้ว่าความเหมาะสมในสิ่งที่กำลังจะพูด รู้ว่าอะไรควรหรือไม่ควรพูดอย่างไร แม้ว่าการเป็นครู เราสั่งเขาได้ แต่ต้องมีเหตุผล และเขาต้องตกตะกอนในเรื่องนั้นจากการบอกเล่าด้วย ไม่ใช่การทำตามคำสั่ง เพื่อว่าอนาคตเขาจะได้รู้วิธีที่ดีในการสั่งคนอื่นเมื่อเขาต้องสั่ง นี่เป็นตัวอย่างของเรื่องเล็กๆ แต่เชื่อว่าหลายครอบครัวไม่ได้ให้ความสำคัญ

“เรามุ่งหวังให้เด็กมีทั้งความรู้และความคิด มีทักษะการใช้ชีวิตอย่างครบถ้วน เพื่อให้เขามีความสามารถในการสร้างงานสร้างอาชีและมีความสุขควบคู่กันไป เราเคยจัด Hackathon และพบว่าไอเดียเด็กดีมากๆ ซึ่งถ้าเราสร้างช่องทางที่ดี เช่น งานสาธิตวิชาการ เป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้เผยแพร่ ซึ่งเขาอาจจะได้ก้าวต่อไปเป็นผู้ประกอบการในอนาคต เดี๋ยวนี้เด็กๆ คิดเร็ว จนเรารู้สึกว่า เราต้องรีบป้อนแบบมีความระมัดระวัง ทำให้เราและครูโรงเรียนสาธิตต้องพัฒนาตัวเองให้ทันโลกยุคดิจิทัล ทั้งการใช้เครื่องมือต่างๆ และเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น Chat GPT ฯลฯ รวมทั้งการปรับแนวความคิด หรือ mindset เพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว”


ที่ผ่านๆ มา งานสาธิตวิชาการ มักจะเน้นด้านความรู้ทางวิชาการ แลกเปลี่ยนว่าจะมีวิธีการเรียนการสอนอย่างไรให้เก่งด้านวิชาการหรือ content แต่งานนี้จะเป็นการนำร่องการเพิ่มหรือเติมเต็มทักษะทางสังคม จะทำให้เห็นว่าต้องใช้กิจกรรมนี้เพื่อให้ได้ทักษะนี้ เมื่อเห็นในทางปฏิบัติมากขึ้น ก็จะเกิดการใส่ทักษะเหล่านี้เข้าไปในการเรียนการสอนด้วย เช่น หลักสูตรฐานสมรรถนะของกระทรวงฯ ที่สอดรับกับเรื่องนี้

“เราคาดหวังว่า ความรู้ที่เกิดขึ้นจากงานนี้จะส่งต่อให้กับบุคลากรทางการศึกษา ทั้งผู้บริหารสถานศึกษา ครูอาจารย์ รวมทั้งนักเรียน ได้นำความรู้จากงานนี้ไปใช้จริง นอกจากนี้ ยังคาดหวังว่าเด็กๆ จะมีเครือข่ายเพื่อนๆ มีสังคมที่ไม่ได้หยุดอยู่เฉพาะหน้าจอดิจิทัลเท่านั้น และมองให้ไกลออกไปอีก คือ SDG 4 “ความเสมอภาคทางการศึกษา” แม้ว่ากลุ่มโรงเรียนสาธิตจะมีหลากหลายทั้งที่อยู่ในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ในแง่นี้อาจจะไม่เสมอภาคกันทั้งหมด แต่งานนี้ทำให้เกิดความเสมอภาคเพราะทุกคนสามารถมาเรียนรู้และใช้โอกาสได้เหมือนกันทั้งหมด เป็นความยั่งยืนทางการศึกษาที่ส่งต่อถึงกัน โดยเริ่มในกลุ่มโรงเรียนสาธิต แล้วขยายไปยังโรงเรียนอื่นๆ เพราะเราไม่สามารถจัดงานใหญ่ให้ทุกคนได้มาทั้งหมด แต่สามารถเชื่อมโยงและถ่ายทอดต่อกันไปได้”


๐ 4 นวัตกรรมตอบโจทย์ SDGs

การจัดงานสาธิตวิชาการ ครั้งที่ 9 มีการนำเสนอผลงานนวัตกรรมมากมาย โดยมี 4 ตัวอย่างผลงานนวัตกรรมเด่นที่ตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs ดังนี้

1. Narcolepsycue (SDG 3)
อุปกรณ์ป้องกันการหลับใน โดยจะมีกล้องตรวจจับใบหน้า บริเวณดวงตา เเละมีการกำหนดจุดไว้รอบเปลือกตา หากจุดบน จุดล่างมาชนกัน จะถือว่าเป็นการกระพริบตา เเละมีเกณฑ์ในการตรวจจับใบหน้า หากระบบตรวจพบว่า ง่วง ตัวระบบก็จะสั่งงานให้พ่นสเปรย์วาซาบิมาบริเวณใบหน้า


2. The Brainny Booster (SDG 3)
นวัตกรรมเครื่องเล่นชะลอความเสื่อมทางสมองของผู้สูงอายุ โดยไม่กระทบการมองเห็นผ่านหน้าจอ ช่วยเพิ่มปฏิสัมพันธ์ทางสังคม สามารถเล่นคนเดียวหรือเล่นเป็นกลุ่มได้ มีหลายด่านและหลายระดับความยาก ทำให้ไม่เบื่อง่าย ปุ่มกดใหญ่ มีสีสันชัดเจนเหมาะกับผู้สูงอายุ

Touchless Eco-Sink (SDG 6)
3. Touchless Eco-Sink (SDG 6)
ซิงค์น้ำไร้สัมผัส สามารถแยกน้ำได้สองประเภทเป็นน้ำดี น้ำเสีย น้ำดี สามารถนำกลับมาใช้ในการรดน้ำต้นไม้ หรือ ใช้งานต่าง ๆ ในบ้านได้ เช่น เมื่อล้างแก้วน้ำปกติโดยไม่ใช้น้ำยา น้ำที่ใช้แล้วจะแยกท่อไปน้ำดี หากเป็นน้ำที่ปนเปื้อน ก็จะเป็น black water คือลงท่อน้ำทิ้งปกติ

Justplaster (SDG 15)
4. Justplaster (SDG 15)
พลาสเตอร์ติดแผลชนิดย่อยสลายได้ โดยผลิตจากเส้นใยผักตบชวา และใช้ใบสาบเสือเป็นส่วนผสมของตัวยาบนพลาสเตอร์ ช่วยในการบรรเทาอาการบาดเจ็บเบื้องต้น


กำลังโหลดความคิดเห็น