วานนี้ (20 มิถุนายน 2567) นายอลงกรณ์ พลบุตร ฉายา “มิสเตอร์เอทานอล” (Mr.Ethanol) และรองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ พรรคประชาธิปัตย์ ได้โพสต์ข้อความในเฟสบุ๊ค อลงกรณ์
พลบุตร เรื่อง “อย่าทอดทิ้งเอทานอล พลังงานไทยจากหยาดเหงื่อเกษตรกร“ เนื่องจากแสดงความกังวลต่อนโยบาย “เอทานอล” ของกระทรวงพลังงาน พร้อมเสนอ 5 มาตรการเดินหน้าอุตสาหกรรมเอทานอล
ผมกังวลใจที่ทราบว่ากระทรวงพลังงานจะไม่สนับสนุนเอทานอลน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพที่ผลิตจากอ้อยและมันสำปะหลังโดยการจำหน่ายน้ำมันจะเหลือเพียง น้ำมันเบนซินและน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 (E10) ทั้งที่ในแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) สนับสนุน E20 จะทำให้อุตสาหกรรมเอทานอลล่มสลายเกษตรกรล่มจม
การใช้เอทานอลลดลงถึง 50% กระทบต่อเกษตรกรและอุตสาหกรรมเอทานอลที่ประเทศไทยเริ่มมาตั้งแต่ปี 2544 จนปัจจุบันประเทศไทยมีโรงงานเอทานอล 28 โรง มีกำลังการผลิต 6.8 ล้านลิตรต่อวัน เป็นอันดับ 7 ของโลก ซึ่งทุกวันนี้ผลิตเพียง 3.1-3.2 ล้านลิตรต่อวัน หากในอนาคตปรับเหลือแค่ E10 ก็จะลดลงไปอีก50% อาจถึงการล่มสลายของอุตสาหกรรมเอทานอลและเกษตรกรล่มจม
“เมื่อปี 2543 เกิดวิกฤตการณ์น้ำมันประเทศไทยกระทบรุนแรงเพราะนำเข้าน้ำมันถึง 90% ผมเสนอให้ประเทศไทยผลิตน้ำมันเอทานอล (แอลกอฮอล์) จากพืชซึ่งมีโรงงานต้นแบบของในหลวงในวังสวนจิตรลดาจึงได้รับแต่งตั้งจากรัฐมนตรีวิทยาศาสตร์ฯ.(ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์) เป็นประธานโครงการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพจากพืชในต้นปี 2544 และเสนอรายงานต่อคณะรัฐมนตรี(ฯพณฯ.ชวน หลีกภัย) ให้ความเห็นชอบให้ผลิตเอทานอลเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2544 เพื่อลดการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ ลดคาร์บอนและสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อยชาวไร่มันสำปะหลังซึ่งเป็นวัตถุดิบในการแปรรูปเป็นน้ำมันเอทานอลที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจนได้รับฉายา "มิสเตอร์เอทานอล"
นับเป็นเวลากว่า 20 ปีที่อุตสาหกรรมเอทานอลเติบโตและมีน้ำมันแก๊สโซฮอล์ (เบนซิน-แก๊สโซลีนผสมเอทานอล-แอลกอฮอล์)จำหน่ายทุกปั้มทั่วประเทศ มีน้ำมัน E10 E20 และ E85 (E คือ Ethanol, E10 คือ เอทานอล10% เบนซิน90% E20 และ E85 มีส่วนผสมเอทานอล 20% และ 85%) โดยอุตสาหกรรมยานยนต์ยอมรับการปรับแต่งเครื่องยนต์และอุตสาหกรรมน้ำมันก็ให้การสนับสนุน
การที่รัฐบาลปัจจุบันโดยกระทรวงพลังงานจะลดการส่งเสริมสนับสนุนจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเอทานอลและเกษตรกรชาวไร่อ้อยชาวไร่มันสำปะหลังประสบความเดือดร้อนอย่างรุนแรงเพราะเพียงแค่มีข่าวว่าจะลดเหลือเพียงน้ำมัน E10 ชาวไร่ก็ถูกกดราคาแล้ว
ผมจึงขอเสนอมาตรการให้รัฐบาลโดยเฉพาะกระทรวงพลังงานพิจารณา ดังต่อไปนี้
1. ส่งเสริมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง E20 เป็นน้ำมันพื้นฐานและยังคงจำหน่ายน้ำมัน E85
2.ขยายเวลาการบังคับ “มาตรการยกเลิกชดเชยราคาน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพ” ตาม พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 รอบ 2 เป็นเวลา 2 ปี ซึ่งปัจจุบันราคาน้ำมันกลุ่มเบนซิน-แก๊สโซฮอล์ ก็เป็นราคาตามกลไกตลาดโลกและต้นทุนของเอทานอลอยู่แล้ว โดยกองทุนน้ำมันฯ ไม่ได้นำเงินไปช่วยชดเชยราคาแต่อย่างใด และยังเรียกเก็บเงินจากผู้ใช้น้ำมันส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ อีกด้วย
3.ส่งเสริมเอทานอลเกรดอุตสาหกรรมให้สามารถนำไปใช้ในอุตสาหกรรมอื่นได้ อาทิ ไบโอพลาสติก,อุตสาหกรรมยา,อุตสาหกรรมสีทาบ้านและอุตสาหกรรมเคมี เป็นต้นโดยแก้ไขหรือยกเลิก พระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. 2493 เพราะปัจจุบันเอทานอลไม่สามารถนำมาใช้ด้วยเกรงจะถูกนำไปผลิตเป็นเหล้าเถื่อนกระทบบริษัทผลิตเหล้าและองค์การสุราทั้งที่มีมาตรการป้องกันได้เหมือนการนำเอทานอลมาใช้เป็นน้ำมันเชื้อเพลิง
4.ส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมไบโอรีไฟนารี่(Biorefinery)คืออุตสาหกรรมพลังงานและเคมีชีวภาพซึ่งเป็นอุตสาหกรรมแห่งอนาคตเพื่อต่อยอดเพิ่มมูลค่าเอทานอล
5.เพิ่มศักยภาพการส่งออกเอทานอล โดยภาครัฐสนับสนุนการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต (Productivity) ของโรงงานและชาวไร่ให้มีผลผลิตสูงขึ้นสามารถแข่งขันชิงตลาดโลกได้
ประเทศของเราผลิตเอทานอลได้เกือบ 7 ล้านลิตรต่อวันแต่กลับหยุดส่งออกเอทานอลตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2556 หรือ 11ปีมาแล้วโดยรัฐบาลขณะนั้นออกมาตรการระงับการส่งออกด้วยเกรงเอทานอลจะไม่พอใช้ในประเทศ โดยยกเว้นให้ส่งออกเป็นบางกรณี เช่น เดือนมีนาคม 2557 มีการส่งออกจำนวน 4 ล้านลิตร และเดือนธันวาคม 2563 ส่งออกเพียง 5.4 หมื่นลิตร มีตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น และอังกฤษ ปัจจุบันกำลังการผลิตใช้เพียงครึ่งเดียวเหลือวันละ 3 ล้านลิตร หากส่งออกได้ก็จะเพิ่มกำลังผลิตได้เต็มกำลังการผลิตจริง
รถจดทะเบียนสะสมมีกว่า 44 ล้านคัน ส่วนรถไฟฟ้ามีแสนกว่าคัน ดังนั้นน้ำมันสำหรับรถสันดาปภายในยังมีความต้องการอีกมาก การผลิตน้ำมันชีวภาพ(Biofuel)ทั้งเอทานอลและไบโอดีเซลมีประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม กระทรวงพลังงานและรัฐบาลใช้กองทุนน้ำมันอุดหนุนราคาดีเซลและแก๊สกว่าแสนล้านบาทโดยไม่ได้อุดหนุนราคาแก๊สโซฮอลล์มิหนำซ้ำกลับจะทำลายรากฐานของการพึ่งพาตัวเองของประเทศที่เราสามารถพัฒนาอุตสาหกรรมเอทานอลจนเติบใหญ่เป็นอันดับ 7 ของโลกและช่วยลดการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ เรามาไกลเกินกว่าจะหันหลังกลับ
“ผมขอให้กระทรวงพลังงานและรัฐบาลทบทวนนโยบายเสียใหม่ อย่าทอดทิ้งเอทานอล พลังงานไทยจากหยาดเหงื่อของเกษตรกรกว่า 1 ล้านครัวเรือน”
บทความโดย อลงกรณ์ พลบุตร
รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ พรรคประชาธิปัตย์