xs
xsm
sm
md
lg

คณบดีคนใหม่ วิทยาลัยการออกแบบ ม.รังสิต มุ่งผลิตนักออกแบบพันธุ์ใหม่ “คิด+คราฟท์”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สิรดา ไวยาวัจมัย
แม้ว่าจะมีสถาบันการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยหลายแห่งเปิดสอน ด้านศิลปะและการออกแบบ ทว่าแต่ละแห่งมีข้อดีเด่นแตกต่างกันไป สำหรับวิทยาลัยการออกแบบ ม.รังสิต เป็นมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งแรกที่เปิดสอนในด้านนี้ มีการผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ความสามารถมากมายมาถึงรุ่นที่ 37 แล้ว ออกไปฝากฝีมือสร้างชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก ในวงการศิลปะและการออกแบบ ได้รับคัดเลือกเสนอให้รับรางวัลจากผลงานออกแบบ รวมทั้งการได้รับรางวัลชนะเลิศทั้งในและต่างประเทศจากรุ่นสู่รุ่นอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ล่าสุด มีการแต่งตั้ง “ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สิรดา ไวยาวัจมัย” ขึ้นเป็น คณบดีวิทยาลัยการออกแบบคนใหม่ เข้ารับตำแหน่งเมื่อเร็วๆ นี้

“ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สิรดา” เป็นศิษย์เก่า ที่ไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโทจากออสเตรเลีย มีโอกาสได้กลับมาเป็นอาจารย์ที่นี่ยาวนานถึง 17 ปีแล้ว และศึกษาต่อในปริญญาเอกจากคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อนเข้ารับตำแหน่งคณบดี ได้เป็นรองคณบดีฝ่ายวิชาการ ดูแลหลักสูตรและทิศทางการบริหารอยู่แล้ว จึงมีประสบการณ์และความเข้าใจวัฒนธรรมของที่นี่เป็นอย่างดี “ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สิรดา” กล่าวถึงการผลิตบัณฑิตของวิทยาลัยฯ ว่า มีเป้าหมายให้นักศึกษามีจุดเด่นด้วยการเป็นทั้ง “นักคิดและนักคราฟท์” โดยเริ่มด้วยการปูพื้นฐานให้ทุกคนเรียนรู้ศาสตร์แห่งศิลป์ต่างๆ และต่อยอดโดยเน้นการใช้กระบวนการคิดเชิงออกแบบ หรือ Design Thinking ทำให้นักศึกษาเข้าใจโจทย์ด้านการออกแบบมีความคิดสร้างสรรค์ พร้อมที่จะพัฒนาศักยภาพของตนเองให้สูงขึ้น

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สิรดา ไวยาวัจมัย
๐ “นักคิด” ควบคู่ “นักคราฟท์”

เมื่อนำกระบวนการคิดเชิงออกแบบมาใช้ ทำให้นักศึกษาสามารถนำการเรียนในสายออกแบบมาพลิกหรือปรับใช้กับความสนใจใหม่ๆ หรือตามโจทย์ที่ได้รับได้เสมอ เช่น การเรียนในสาขาออกแบบนิเทศศิลป์ มีวิชาที่เกี่ยวกับการออกแบบการสื่อสาร มีการทำ Branding การออกแบบกราฟิก การทำ Visual Communication เป็นการออกแบบภาพเพื่อการสื่อสารซึ่งสามารถไปเรียนรู้เพิ่มเติมในด้านเทคโนโลยี เช่น Generative AI หรือการทำแพลทฟอร์มออนไลน์ต่างๆ ดังนั้น การออกแบบกราฟิกในวันนี้จึงมีความหมายกว้างขึ้น เช่น การออกแบบเพื่อสื่อสารด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อชุมชน การสร้างความเข้าใจประเด็นต่างๆ ของสังคม ซึ่งสามารถประยุกต์ไปสู่การร่วมทำงานได้หลากหลายมิติทั้งในสายสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี สร้างสรรค์นวัตกรรมด้านการออกแบบหรือการทำธุรกิจสร้างแบรนด์ได้

นอกจากนี้ การผลิตนักศึกษาในปัจจุบันยังมีจุดเด่นที่แตกต่างจากอดีตซึ่งมุ่งเน้นผลิตนักออกแบบเพื่อแก้ปัญหาให้สังคม แต่ปัจจุบันเรามุ่งผลิตบัณฑิตที่มองเห็นและเข้าใจสถานการณ์ของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้น นักศึกษาในวันนี้จึงไม่เพียง เป็นนักแก้ปัญหา แต่ยังสามารถหยิบยกประเด็นในสังคมและวัฒนธรรมที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วมาสร้างสรรค์ผลงาน โดยผนวกกับการต่อยอดเทคโนโลยีใหม่ที่ทันสมัย เพื่อทำให้สังคมและวัฒนธรรมนั้นน่าอยู่หรือดีขึ้นได้ นี่คือนักออกแบบที่มีความเป็น “นักคิด”

บรรยากาศการเรียนการสอน วิทยาลัยการออกแบบ ม.รังสิต
สำหรับการเป็น “นักคราฟท์” ขณะที่ปัจจุบันในหลายหลักสูตรมุ่งเน้น “ความทันสมัย” หลายแห่งอาจเน้นใช้คอมพิวเตอร์ เพียงอย่างเดียว โดยไม่ได้ให้ความสำคัญกับทักษะศิลปกรรมในกระบวนการแบบดั้งเดิม แต่สำหรับที่นี่ เน้น “ความร่วมสมัย” โดยยังคงรักษาความเป็นประณีตศิลป์ เน้นการใส่ใจรายละเอียดและความ ละเอียดอ่อนในงานนั้นๆ โดยให้มือ สมอง หัวใจ ทั้งหมด สัมพันธ์ไปด้วยกัน นอกจากดีไซน์ สะดุดตาแล้ว ฟังก์ชั่นต้องเด่น ใช้งานได้จริงด้วย เช่น การนำ เอกลักษณ์ วัฒนธรรมไทย ไปสร้างความแตกต่างได้ โดยทำอย่างไรให้มีความร่วมสมัยและเป็นสากล ไปพร้อมกัน นอกจากมีหัวใจ สุนทรียศิลป์แล้ว ยังเข้าใจถึงกระบวนการและวิธีคิดของช่างศิลป์ว่าทำไมต้องใช้เวลา ต้องประณีต และเห็นคุณค่าในสายงานอาชีพของตน แม้ว่าจะไม่มีการสอนในสาขาจิตรกรรม วิจิตรศิลป์ หรือทัศนศิลป์แล้ว แต่ความรู้เหล่านี้ยังแทรกอยู่ในทั้ง 5 สาขาวิชาระดับปริญญาตรี คือ สาขาวิชาศิลปะภาพถ่ายและสื่อทัศนภาพ สาขาวิชาการออกแบบภายใน สาขาวิชาการออกแบบนิเทศศิลป์ สาขาวิชาการออกแบบ และสาขาวิชาแฟชั่นดีไซน์

ส่วนการสอนระดับปริญญาโทในสาขาวิชาการออกแบบ เป็นหลักสูตรที่เปิดกว้างสำหรับผู้เรียนที่จบการศึกษาในระดับปริญญาตรีจากหลากหลายสาขาวิชาชีพ ที่ต้องการเรียนรู้และฝึกฝนทักษะวิธีคิดโดยการใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบภายใต้โจทย์และสถานการณ์ต่างๆ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาศักยภาพและค้นหาแนวทางการแก้ปัญหาการออกแบบใหม่ๆ ซึ่งถือเป็นนวัตกรรมการออกแบบ โดยผู้สำเร็จจากหลักสูตรนี้ จะสามารถประยุกต์ใช้ทักษะและความรู้ดังกล่าวกับการสร้างโอกาสทางวิชาชีพและธุรกิจที่หลากหลาย เช่น ธุรกิจบริการ การศึกษา การออกแบบผลิตภัณฑ์ การออกแบบกราฟิก การออกแบบสถาปัตยกรรมและการออกแบบสื่อดิจิทัล เป็นต้น

บรรยากาศการเรียนการสอน วิทยาลัยการออกแบบ ม.รังสิต
๐ 3 คุณลักษณะสำคัญ
มืออาชีพ – เป็นพลเมืองโลก - อ่อนน้อม


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สิรดา เพิ่มเติมว่า วิทยาลัยฯ ยังมุ่งบ่มเพาะ 3 คุณลักษณะสำคัญของนักศึกษา ประกอบไปด้วย หนึ่ง “การเป็นมืออาชีพ” ดังนั้น ในกระบวนการเรียนการสอน จึงนำสิ่งที่นักออกแบบใช้ในปัจจุบันและตามที่คาดการณ์ในอนาคตมาสอน เพื่อให้นำไปใช้จริงได้มากที่สุด สอง “การมีคุณลักษณะของการเป็นพลเมืองโลก” (global citizen) ต้องรู้บทบาท เข้าใจหน้าที่ และเป็นพลเมืองโลกที่ดีด้วย ไม่ใช่แค่รู้ว่าจะต้องประพฤติปฏิบัติต่อคนไทยอย่างไร แต่ต้องรู้ว่าโลกหรือคนทั่วโลกคิดอย่างไรกับประเด็นนี้ สิ่งไหนที่ควร/ไม่ควรพูดหรือควร/ไม่ควรทำ ศึกษาและเข้าใจความต่างทางวัฒนธรรม เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ การสื่อสารระหว่างกัน และความสำคัญในเรื่องความเป็นสากล และสาม “การมีทักษะของการอ่อนน้อม” เพื่อให้เกิดความเข้าใจใหม่ว่า นักออกแบบที่ดีต้องรู้จักถ่อมตัวให้มากที่สุด ต้องรับฟังและเคารพความคิดผู้อื่น แต่ไม่ลดคุณค่าตัวเอง

“เราบ่มเพาะให้เขามีศักยภาพหรือทักษะที่ฝังอยู่ในตัวให้สามารถเรียนรู้ตลอดชีวิต ด้วยการเปิดรับสิ่งใหม่ได้เสมอ และสามารถวางความรู้เดิมได้ถ้าล้าสมัย โดยเราพยายามบ่มเพาะตั้งแต่เข้ามาเป็นนักศึกษาปี 1 เน้นการสร้างแรงบันดาลใจ ไม่ว่าจะด้านใด เราจะไม่ปิดกั้นความคิดนักศึกษา เพราะเราเน้นให้ค้นหาตนเองในเวอร์ชั่นที่ดีที่สุด และ พร้อมร่วมงานข้ามศาสตร์ได้”

นอกจากนี้ วิทยาลัยฯ ยังช่วยเพิ่มศักยภาพด้านการสื่อสาร ด้วยการเปิดสอนวิชา English for design เพื่อเปิดโอกาสให้นักศึกษาพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษให้สามารถนำเสนอผลงานได้ เพราะแม้จะมีความคิดสร้างสรรค์ดีแค่ไหน แต่เมื่อไม่สามารถสื่อสารให้เข้าใจได้ก็จะเสียโอกาสที่ดี นอกจากนี้ยังมีวิชา Design for Happy life and society หรือ การออกแบบความสุขเพื่อตนเองและสังคม เพราะเห็นว่า นักออกแบบไม่ใช่แค่มองปัญหา แก้ปัญหา หรือหยิบยกปัญหาเท่านั้น แต่ต้องสามารถออกแบบสังคมแห่งความสุขได้ด้วย เช่น การใช้ positive design ไปสู่เรื่องของ well-being การใช้ความสุขผสานเข้าไปในงานออกแบบ ซึ่งเป็นวิชาเลือกเสรีที่เปิดกว้างให้นักศึกษาต่างคณะสามารถเรียนรู้ศาสตร์แห่งศิลปะเพื่อสร้างความสุขบรรเทาความเครียด เช่น การใช้ศิลปะบำบัด โดยไม่จำเป็นต้องมีพื้นฐานความรู้ด้านศิลปะ แต่สามารถสร้างสมดุลให้เกิดความสุขได้

(คนกลาง) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สิรดา ไวยาวัจมัย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สิรดา กล่าวเสริมว่า “เรายังมีจุดเด่นอยู่ที่ทีมอาจารย์ผู้สอนที่ได้รับการยืนยันจากผู้ทรงคุณวุฒิ/กรรมการภายนอกหลายท่านว่าทีมเราแข็งแกร่ง และเมื่อได้โอกาสมาบริหาร จึงเน้นในเรื่อง Well-being หรือสุขภาวะของคณาจารย์ในวิทยาลัยเป็นอย่างมาก เราดูแลกัน และทำงานด้วยความสุข ด้วยมิตรภาพอันดี ทำให้นักวิชาการและนักวิชาชีพที่มีชื่อเสียงในแวดวงการออกแบบยินดีร่วมทีมเป็นอาจารย์ประจำอาจารย์พิเศษซึ่งหลายท่านมีบริษัทออกแบบของตนเองด้วย การให้ความสำคัญด้านสุขภาวะจึงเป็นการสร้างสมดุลของความสุขในการทำงาน ทั้งสุขภาพกายและใจ สภาพแวดล้อม อาคารสถานที่ การสื่อสารระหว่างกัน มิตรภาพ และความเห็นอกเห็นใจกันที่ช่วยให้เราผ่านวิกฤตและปัญหาต่างๆ ได้”

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สิรดา ย้ำถึงเป้าหมายของวิทยาลัยฯ ว่า “วิทยาลัยการออกแบบจะผลิตบัณฑิตสายออกแบบที่มีศาสตร์และศิลป์อย่างมืออาชีพ เป็นกำลังสำคัญให้กับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และเข้าใจกระบวนการสร้างให้เกิดซอฟท์พาวเวอร์ หรือมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนวัฒนธรรมด้านบวกและสังคมให้น่าอยู่ขึ้น”


กำลังโหลดความคิดเห็น