อะกริเทคนิก้า เอเชีย และฮอร์ติ เอเชีย จัดขึ้นโดยสมาคมเกษตรกรรมเยอรมัน (DLG – The German Agricultural Society) และ บริษัท วีเอ็นยู เอเชีย แปซิฟิค จำกัด (VNU Asia Pacific Co. Ltd.) โดยมีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นเจ้าภาพร่วม ถือเป็นเวทีเพื่อการเรียกร้องอย่างเร่งด่วนในการแก้ไขวิกฤติที่กำลังทวีความรุนแรงขึ้นในอุตสาหกรรมการเกษตรและทั่วโลก ภาวะโลกร้อน มลพิษจากการเผาไม้ในที่โล่ง และการขาดแคลนอาหารไม่ใช่ภัยคุกคามที่ห่างไกลอีกต่อไป แต่เป็นความจริงที่ส่งผลกระทบต่อผู้คนนับล้าน
คณะผู้บริหารระดับสูงจากวงการเกษตรต่างให้ความสำคัญต่อการจัดงานครั้งนี้ นำโดย ดร.วนิดา กำเนิดเพ็ชร์ ผู้อำนวยการสำนักการเกษตรต่างประเทศ, เอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีประจำกรุงเทพฯ ดร. Ernst Reichel, Mrs. Katharina Staske กรรมการผู้จัดการ DLG เอเชียแปซิฟิก, ศาสตราจารย์ ดร. สัตวแพทย์หญิง แคทารีน่า รีห์น รองประธานและประธานกรรมการ สมาคมเกษตรกรรมเยอรมัน, นายอรรถกร ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แห่งประเทศไทย, นายภูผา ลิกค์ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดการประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน), นางสาวปนัดดา ก๋งม้า รองประธานฝ่ายธุรกิจ บริษัท วีเอ็นยู เอเชีย แปซิฟิค จำกัด และนายอิกอร์ เพาก้า กรรมการผู้จัดการ บริษัท วีเอ็นยู เอเชีย แปซิฟิค จำกัด
ศาสตราจารย์ ดร. สัตวแพทย์หญิง แคทารีน่า รีห์น (Prof. Dr. Med. Vet. Katharina Riehn) รองประธานและประธานกรรมการ สมาคมเกษตรกรรมเยอรมัน กล่าวว่า "ความร่วมมือคือหัวใจหลักของการแก้ไขปัญหา นั่นคือที่มาของธีมการจัดงานในปีนี้ ‘การร่วมสร้างสรรค์และเครือข่ายที่ยั่งยืน’ (Co-Creation and Sustainable Networks) สำหรับการจัดงาน อะกริเทคนิก้า เอเชีย และฮอร์ติ เอเชีย ประจำปี 2567 ได้สร้างสถิติใหม่ ด้วยการขยายขนาดของพื้นที่การจัดแสดงเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพิ่มขึ้นเท่าตัวจากการจัดงานในครั้งผ่านมา"
อัดโปรแกรมสัมมนาแน่น เพื่อแลกเปลี่ยนและถ่ายทอดองค์ความรู้ โดยความร่วมมือระหว่างคณะผู้จัดงานฯ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการจัดเวทีเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญด้านการเกษตรระดับโลกให้กับเกษตรกรไทยกว่า 1,000 คน ผ่านการนำชมงานเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และประสบการณ์ที่มีค่า รวมถึงแนวทางการปฏิบัติโดยการนำนวัตกรรมไปประยุกต์ใช้เพื่อปรับปรุงเทคนิคการทำฟาร์มให้เหมาะสมกับพื้นที่ในท้องถิ่น
ไฮไลท์หัวข้อการสัมมนา “เกษตรยั่งยืน” กำลังมาแรง
1.หัวข้อ: เทคโนโลยีสำหรับการเกษตรที่ยั่งยืนของเกษตรกรรายย่อย จัดโดย องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (Deutsche Gesellschaft für Internationale Zusammenarbeit (GIZ) GmbH) และสถาบันความร่วมมือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขง (Mekong Institute)
2.หัวข้อ: การลดมลพิษทางอากาศผ่านการหลีกเลี่ยงการเผาไหม้ในที่โล่งทางการเกษตร จัดโดย เฟรนด์ ออฟ ไทย อะกริคัลเชอร์ (FTA)
3.หัวข้อ: แนวคิดการสร้างรายได้จากเครดิตคาร์บอนในภาคพลังงานและการเกษตร จัดโดยธนาคารโลก
4.การอภิปรายโดยสถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ (International Rice Research Institute - IRRI) โดยสถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ
นายอรรถกร ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แห่งประเทศไทย, กล่าวว่า “รู้สึกภูมิใจในฐานะเจ้าภาพร่วมการจัดงานสำคัญในครั้งนี้ ด้วยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนจะสามารถกำหนดอนาคตของภาคการเกษตรให้ตอบสนองต่อความต้องการในปัจจุบันได้ ในขณะเดียวกันจะยังสามารถช่วยรักษาทรัพยากรไว้สำหรับวันข้างหน้าได้ ความมุ่งมั่นต่อการพัฒนาและประยุกต์ใช้ของเทคโนโลยีอัจฉริยะและนวัตกรรมด้านการเกษตรถือเป็นกุญแจสำคัญในการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความมั่นคงทางอาหารทางกระทรวงฯ พร้อมที่จะสนับสนุนโครงการที่ส่งเสริมการปฏิบัติทางการเกษตรที่ยั่งยืนและนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อประโยชน์ของเกษตรกรชาวไทย”
การจัดงานครั้งนี้ เกษตรกร ผู้ประกอบการด้านการเกษตร รวมถึงผู้เข้าร่วมงานทุกท่านจะได้มีโอกาสในการสำรวจนวัตกรรมด้านการเกษตรที่ทันสมัยและหลากหลาย รวมถึงการเข้าร่วมฟังการสัมมนาที่ให้ความรู้ อีกทั้งยังสามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้นำในอุตสาหกรรม นี่เป็นโอกาสของเกษตรกรและผู้ประกอบการด้านการเกษตรในการใช้ประโยชน์จากเวทีนี้ในการเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนการสร้างผลกระทบที่ยั่งยืนต่อการเกษตรและโลกของเรา อย่างก้าวหน้าและยั่งยืน
นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดการประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน), กล่าวเพิ่มเติมว่า “งานอะกริเทคนิก้า เอเชีย และฮอร์ติ เอเชีย กำลังมอบโอกาสให้กับอุตสาหกรรมเกษตรของเรา การรวบรวมนวัตกรรมและเทคโนโลยีการเกษตรและพืชสวนล่าสุดจากประเทศไทยและทั่วเอเชีย ทำหน้าที่เป็นเวทีสำคัญในการแลกเปลี่ยนความรู้ องค์ความรู้ทางเทคโนโลยี เครือข่ายของผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อการขยายและเชื่อมต่อธุรกิจ การจัดงานครั้งนี้ดึงดูดผู้เชี่ยวชาญทั้งในระดับนานาชาติและระดับท้องถิ่นที่กระตือรือร้นที่จะแบ่งปันแนวปฏิบัติที่ดีที่สุด เรียนรู้นวัตกรรมใหม่ และสร้างความร่วมมือที่จะขับเคลื่อนการเติบโตของภาคเกษตรในอนาคต”
รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับงานสามารถเข้าชมได้ที่ www.agritechnica-asia.com and www.horti-asia.com