xs
xsm
sm
md
lg

มุ่งสู่ความยั่งยืนทางอาหาร!! ซีพีแรม ชูยุทธศาสตร์ “Food 3S” ยกระดับ “เกษตรกรคู่ชีวิต”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ซีพีแรม พัฒนาต่อเนื่อง เดินหน้าโครงการ “เกษตรกรคู่ชีวิต” ตามยุทธศาสตร์ "Food 3S" เชื่อมโยงเป้าหมาย SDGs ของสหประชาชาติ โชว์เกษตรกรตัวอย่าง พัฒนาความรู้ เพิ่มคุณภาพ รักษามาตรฐาน GAP สร้างสังคม เศรษฐกิจ วางรากฐานชุมชน ก้าวอย่างมั่นคงและยั่งยืน

โครงการ “เกษตรกรคู่ชีวิต” โดย บริษัท ซีพีแรม จำกัด ผู้นำอุตสาหกรรมอาหารพร้อมรับประทาน ขับเคลื่อนมาอย่างต่อเนื่อง กว่า 17 ปี เนื่องจากเล็งเห็นความสำคัญของเกษตรกรในชุมชนรอบโรงงานซีพีแรมทุกแห่งซึ่งตั้งอยู่ครอบคลุมทุกภูมิภาคทั่วประเทศ โดยโครงการฯ ได้ส่งเสริมการสร้างงานและอาชีพการเพาะปลูกกะเพราให้แก่เกษตรกร ด้วยการมุ่งเน้นการพัฒนาระบบการเพาะปลูกและถ่ายทอดเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อยกระดับเกษตรกรในพื้นที่เพาะปลูกให้ได้คุณภาพและมีมาตรฐาน รวมถึงส่งเสริมการรับรองระบบมาตรฐาน GAP เพื่อให้ชุมชนเกิดความมั่นคงและยั่งยืน


การดำเนินโครงการ “เกษตรกรคู่ชีวิต” เป็นไปตามยุทธศาสตร์ Food 3S ของซีพีแรม คือ ความปลอดภัยทางอาหาร (Food Safety) ความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) และความยั่งยืนทางอาหาร (Food Sustainability) สำหรับส่วนหนึ่งของผลลัพธ์ที่ได้จากโครงการฯ ปัจจุบันเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น กว่า 25 ครัวเรือนที่เข้าร่วมโครงการฯ มีการดำเนินการอย่างเป็นระบบ มีประสิทธิภาพ เป็นเกษตรกรที่มีคุณภาพสามารถยกระดับการเพาะปลูกได้ตามมาตรฐาน GAP 100% และมีรายได้รวมกว่า 250,000 บาทต่อเดือน สอดรับกับการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ดังกล่าว และเชื่อมโยงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ หรือ SDGs

นางสาวอาภาภรณ์ พรหมเชยธีระ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพีแรม จำกัด
นางสาวอาภาภรณ์ พรหมเชยธีระ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพีแรม จำกัด กล่าวถึงโครงการ “เกษตรกรคู่ชีวิต” ว่า ข้าวกะเพราเป็นเมนูพร้อมรับประทานที่ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องทั่วทุกภาคในประเทศไทย รวมทั้งภาคอีสาน กะเพราจึงเป็นพืชอีกชนิดหนึ่งที่ซีพีแรมได้พัฒนาจนได้สายพันธุ์กะเพราที่มีความหอม มีรสชาติเผ็ด แตกต่างจากกะเพราทั่วไป และตรงกับความต้องการของซีพีแรม เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการผลิตที่ทันสมัยรองรับการเติบโตของตลาดในภาคอีสาน ปัจจุบันโรงงานผลิตอาหารพร้อมรับประทานที่ขอนแก่นมีกำลังการผลิต 180,000 ถาดต่อวัน เพื่อวางจำหน่ายในร้านเซเว่นอีเลฟเว่นประมาณ 1,900 สาขาครอบคลุม 20 จังหวัดในภาคอีสาน โดยมีนวัตกรรมการผลิตอาหารพร้อมรับประทานที่เป็นไปตามมาตรฐานโลก พร้อมทั้งมีการวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง สำหรับเมนูข้าวกะเพรามียอดขายประมาณ 10-20% โดยเมนูข้าวกะเพราคั่วไก่และข้าวกะเพราหมูสับสามารถจำหน่ายได้มากที่สุด ดังนั้น เกษตรกรผู้ปลูกกะเพราจึงมีส่วนสำคัญ โดยได้รับการดูแลและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

นายประหยัด อุสาย เกษตรกรต้นแบบของโครงการเกษตรกรคู่ชีวิตในจังหวัดของแก่น
นายประหยัด อุสาย เกษตรกรต้นแบบของโครงการ "เกษตรกรคู่ชีวิต" จังหวัดของแก่น กล่าวว่า ที่ผ่านมา เคยเพาะปลูกพืชผักสวนครัวต่างๆ หลากหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็น ผักคะน้า ผักสลัด ผักกาด ผักชี และกะเพรา ฯลฯ เพื่อส่งขายในท้องตลาด แต่ต้องประสบกับปัญหามากมาย ทั้งราคาซึ่งในหลายๆ ครั้งจำเป็นต้องขายต่ำกว่าต้นทุน และความแปรปรวนของสภาวะอากาศที่ส่งผลต่อคุณภาพผลผลิต แต่เมื่อซีพีแรมเข้ามาส่งเสริมการปลูกกะเพรา มีการแนะนำวิธีการเพาะปลูก การดูแล การให้ความรู้ใหม่ๆ ทำให้ได้ผลผลิตที่ดี และสามารถผ่านเกณฑ์การรับรองมาตรฐาน GAP พร้อมกับการรับซื้อในราคาที่แน่นอน ช่วยให้มีรายได้มั่นคง

“ก่อนหน้าที่ซีพีแรมจะเข้ามา เมื่อปลูกแล้วต้องไปหาที่ขาย ในช่วงที่ตลาดมีของมาก ไม่มีกำไรก็ต้องขาย แค่ให้ได้ทุนกลับมาก็ยังดี แต่เมื่อซีพีแรมเข้ามา มีข้อตกลงกัน เขารับซื้อแน่นอน แต่เราต้องทำให้ได้คุณภาพ เราก็รู้สึกภูมิใจที่เราทำได้ และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนที่ชอบกะเพราได้กินของดี”

กระบวนการผลิตข้าวกะเพรา

กระบวนการผลิตข้าวกะเพรา

โรงงานและการจัดส่งสินค้าของซีพีแรม


กำลังโหลดความคิดเห็น