xs
xsm
sm
md
lg

เปิดภาพอันซีน! “ควายป่าฝูงสุดท้าย” ต้อนรับทริปแรกทีมสำรวจที่ห้วยขาแข้ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ควายป่า หรือมหิงสา ฝูงสุดท้าย
กลุ่มงานวิชาการ สบอ.12 หน่วยพิทักษ์ป่าเขาบันได เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี รายงานผลทริปแรก “โครงการสำรวจประชากรและชนิดพืชอาหารของควายป่า” ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี ระหว่างวันที่ 7-12 พ.ค.ที่ผ่านมา พบว่าฝูงควายป่า หรือมหิงสา พากันออกมาส่องทีมสำรวจทั้งในระยะใกล้-ไกล 

ชมคลิปในลิ้งก์ https://www.facebook.com/reel/427500660016309 และ https://www.facebook.com/reel/1602223957233964

โครงการดังกล่าวดำเนินการโดย กลุ่มงานวิชาการ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่12 หรือ กวก. สบอ.12 (นครสวรรค์) โดยความร่วมมือปฏิบัติการกับ สถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ซึ่งมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เป็นหน่วยงานสนับสนุนทุนวิจัย

เป้าหมายโครงการนี้ ต้องการรู้ถึงจำนวนควายป่าที่มีการกระจายอยู่ใน ขสป.ห้วยขาแข้ง ด้วยการใช้กล้องดักถ่ายติดตั้งชายป่าลำห้วยขาแข้งซึ่งเป็นถิ่นอาศัยหลักของควายป่า สำหรับพืชอาหารของควายป่าได้ใช้การวางแปลงสำรวจและเก็บข้อมูลด้วย twig count method

สำหรับการสำรวจระหว่างวันที่ 7-12 พฤษาคม 2567 ที่ผ่านมา นับเป็นการออกปฏิบัติการครั้งแรกของทีมสำรวจ ซึ่งในครั้งนี้เป็นการเข้าพื้นที่เพื่อการติดตั้งกล้องดักถ่ายให้ครบทุกจุดตามที่ได้กำหนดไว้

จากการติดตั้งกล้องบริเวณสองฝั่งลำห้วยขาแข้งในครั้งนี้ นอกจากเจอกับสภาพอากาศที่ร้อนระอุแล้ว ยังได้พบเห็นว่า ลำห้วยขาแข้งนั้นมีน้ำขังเป็นบางช่วงบางตอน สภาพพื้นผิวลำห้วยแตกระแหง แต่แท้จริงแล้วด้านล่างเป็นโคลน เมื่อนักวิจัยเหยียบย่ำลงไปก็มีสภาพตามที่เห็นในรูปประกอบ

“นอกเหนือจากการเหยียบย่ำลำห้วยในหน้าแล้งแล้ว ทริปนี้มีความพิเศษสุดๆ ครับ เมื่อฝูงมหิงสา พากันออกมาต้อนรับ ทั้งในระยะใกล้และระยะไกล จนทำให้พวกเราได้บันทึกภาพมาฝากให้ได้ชื่นชม”

ส่องมองทีมสำรวจอย่างสนใจ

ทีมสำรวจ เตรียมติดตั้งกล้องบริเวณสองฝั่งลำห้วยขาแข้ง

ลำห้วยขาแข้งนั้นมีน้ำขังเป็นบางช่วงบางตอน สภาพพื้นผิวลำห้วยแตกระแหง แต่แท้จริงแล้วด้านล่างเป็นโคลน




“ควายป่าคู่สายน้ำ” ฝูงสุดท้ายที่ขสป.ห้วยขาแข้ง

มูลนิธิสืบนาคะเสถียร เผยข้อมูล “ควายป่า หรือ มหิงสา“ (Wild Water Buffalo) หนึ่งในสัตว์ป่าสงวน 19 ชนิดของไทย ที่จัดอยู่ในกลุ่มสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ ปัจจุบันควายป่าในธรรมชาติของไทย คงเหลือให้ชื่นชมอยู่เพียงฝูงเดียวและฝูงสุดท้าย ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี เท่านั้น

ลักษณะภายนอกที่อาจดูคล้ายควายบ้าน แต่มีขนาดลำตัวที่ใหญ่กว่า ล่ำสัน มีวงเขาตีโค้งกว้างกว่าควายบ้าน เมื่อตัวโตเต็มวัยมีความสูงที่ไหล่ประมาณ 2 เมตร น้ำหนักมากกว่า 1,000 กิโลกรัม ลักษณะลำตัวโดยทั่วไปเป็นสีเทา สีดำหรือสีน้ำตาลดำ ขาทั้ง 4 สีขาวแก่หรือสีเทาคล้ายใส่ถุงเท้าสีขาว ด้านล่างของลำตัวเป็นลายสีขาวรูปตัววี (V) ควายป่ามีเขาทั้ง 2 เพศ

ด้านอุปนิสัยของควายป่า มีความว่องไวดุร้ายกว่าควายบ้านมาก พบว่าชอบอยู่รวมกันเป็นฝูง ออกหากินในเวลาเช้าและเวลาเย็น กินอาหารจำพวก ใบไม้ หญ้า และหน่อไม้ หลังจากกินอาหารอิ่มแล้ว ควายป่าจะนอนเคี้ยวเอื้องตามพุ่มไม้ หรือนอนแช่ปรักโคลนตอนช่วงกลางวัน ศูนย์กลางการกระจายพันธุ์ของควายป่าในประเทศไทย พบว่าเป็นควายป่าพันธุ์ไทย ที่มีขนาดใหญ่กว่าควายป่าแหล่งอื่น ๆ และคาดว่ายังมีควายป่าแท้ ๆ หลงเหลืออยู่บ้างในบางประเทศ เช่น เนปาล รัฐอัสสัม และโอริสสาของอินเดีย

ปัจจุบันสถานภาพควายป่าถูกขึ้นบัญชีเป็นสัตว์ป่าต้องห้ามบัญชี 3 Appendix III ของอนุสัญญา CITES โดยสาเหตุของการเสี่ยงต่อการใกล้สูญพันธุ์ของควายป่ามีปัจจัยภัยคุกคาม เช่น การถูกล่าเพื่อเอาเนื้อและเอาเขาที่สวยงาม การถูกบุกรุกทำลายพื้นที่อยู่อาศัย การผสมพันธุ์กันเองในระหว่างเครือญาติ และเป็นพื้นที่เกษตรกรรม อาจเสี่ยงต่อการผสมข้ามสายพันธุ์ระหว่างควายป่าและควายบ้าน

เนื่องจากสถานภาพควายป่า ซึ่งเป็นสัตว์ป่าสงวนของประเทศไทย มีประชากรหลักที่เหลือเพียงกลุ่มประชากรเดียวและกลุ่มสุดท้ายในพื้นที่ขสป.ห้วยขาแข้ง ที่เหลืออยู่เพียง 40-60 ตัว (ข้อมูลปี พ.ศ. 2566) และค่อนข้างคงที่ตั้งแต่การรายงานการพบควายป่าครั้งแรกในปี พ.ศ. 2523 และจากการประเมินอยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์ (Endangered) ตามบัญชี IUCN Red List ซึ่งคาดว่าทั่วโลกมีประชากรเหลืออยู่ไม่เกิน 4,000 ตัว

ปัญหาสำคัญที่ทำให้ควายป่าอยู่ในสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ เกิดจากขาดการจัดการแหล่งที่อยู่อาศัยเพื่อรองรับประชากรควายป่า การผสมพันธุกรรมระหว่างควายป่าและควายบ้าน รวมถึงปัญหาการผสมพันธุ์กันในเครือญาติ ทำให้เกิดปัญหาเลือดชิด (Inbreeding)

คำถามที่หลายคนสงสัยว่าเราจะอนุรักษ์ควายป่าไว้ทำไม? เพราะมันก็เหมือนกับควายบ้าน และอีกคำถามคือเราจะรักษาประชากรควายป่าไว้ได้อย่างไร

จากการประชุมเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม ปีที่ผ่านมา มูลนิธิสืบนาคะเสถียรร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์ป่า จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ร่วมกันหารือแนวทางการฟื้นฟูประชากรควายป่าและถิ่นอาศัยในประเทศไทย ณ ห้องประชุมศูนย์ควบคุมมาตรฐานการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 นครสวรรค์

ซึ่งเป็นการตั้งธงเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูล สถานการณ์ องค์ความรู้เกี่ยวกับควายป่าและถิ่นที่อยู่อาศัย พิจารณาแนวทางการทำงานเพื่อการฟื้นฟู ดูแล ประชากร รวมถึงการจัดทำข้อเสนอให้กับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ว่าเราจะเดินหน้าไปอย่างไร

ทั้งนี้สามารถสรุปประเด็นการหารือได้ดังนี้

1. จะต้องมีการศึกษาความชัดเจนเรื่องของพันธุกรรมควายป่าและควายบ้าน ว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร เพื่อนำไปสู่การอนุรักษ์อย่างถูกวิธี สำรวจประชากรควายป่าโดยการติดปลอกคอ ร่วมกับการใช้เทคโนโลยีการบินโดรนร่วมสำรวจ และรวมถึงโอกาสในการนำประชากรในถิ่นอาศัยมาเพาะขยายพันธุ์เพื่อเพิ่มความหลากหลายทางพันธุกรรม

2. จัดการและพัฒนาแหล่งอาหาร ถิ่นอาศัย เพื่อรองรับประชากรควายป่า

3. การจัดการโรคปศุสัตว์สู่ประชากรควายป่าในธรรมชาติ

4. การสร้างความรู้ ความเข้าใจ การมีส่วนร่วมของชุมชนและสาธารณชนในการอนุรัษ์และใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน

5. แผนการจัดการควายป่าในอนาคต

อย่างไรก็ตามการประชุมในครั้งนั้นเป็นจุดเริ่มต้นของการอนุรักษ์ควายป่าเพื่อให้เกิดแนวทางการทำงานร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรมและต่อเนื่อง และเพื่อเป็นการอนุรักษ์ประชากรควายป่าชนิดพันธุ์ดั้งเดิมกลุ่มสุดท้ายที่อยู่ในป่าธรรมชาติ

อ้างอิง https://www.seub.or.th/bloging/work/2023-222/

ที่มา : สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า Wildlife Conservation Office, Thailand สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 นครสวรรค์ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง : Huai Kha Khaeng Wildlife Sanctuary , มูลนิธิสืบนาคะเสถียร



กำลังโหลดความคิดเห็น